ยืนหนึ่งด้านแฟชั่น ที่ Fair กับโลก

รวม 7 ไอเดียสร้างสรรค์ก่อนพิธีเปิดจะเริ่ม! ใน ปารีส 2024 โอลิมปิก

Last updated on ส.ค. 4, 2024

Posted on ก.ค. 26, 2024

🇲🇫 🌎 ‘ปารีส’ เมืองแห่งแฟชันที่หลายคนนึกถึง มีแบรนด์เนมมากมาย เป็นอีกเมืองขึ้นชื่อด้านงานศิลปะ มีศิลปินระดับโลกมากมาย แต่รู้ไหมว่าปารีสไม่ได้มีดีแค่นี้นะ!

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับมหกรรมกีฬาระดับโลก แต่ในอีกด้านของที่สุดไม่ได้มีดีแค่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเท่านั้น แต่เบื้องหลังก่อนที่จะมี Olympic และ Paralympic Games Paris 2024 เมืองปารีสแห่งนี้ถูกดีไซน์ และให้ความสำคัญอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ของโลก!

เพราะนี่คือหนึ่งในโมเดล ‘new sustainable urban vision’ ที่น่าสนใจ เหตุเพราะคณะกรรมการปารีส 2024 ได้ตั้งเป้าหมายที่กล้าหาญในช่วงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ โดยสัญญาว่าจะ ‘ลดการปล่อยคาร์บอน’ หรือลดการปล่อยมลพิษให้ได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคำสัญญา และมาตรการใหม่นี้คือ “ปารีส เขาทำได้อย่างไร” และในแต่ละสิ่งมหัศจรรย์ที่เขาได้ลงมือทำนั้น มีความน่าสนใจอย่างไร

เราไปกันดูดีกว่าว่า ไอเดียเหล่านี้น่าสนใจอย่างไร แล้ว 7 เรื่องที่ว่าจะมีอะไรบ้าง ไม่แน่ว่าไอเดียเหล่านี้จะสามารถนำไปจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ให้กับธุรกิจของคุณได้เช่นกัน

🇲🇫 🌳 1. พิธีเปิดโอลิมปิกปีนี้! ลดการปล่อยมลพิษทางน้ำ

ในปีนี้ปารีสจะไม่จัดพิธีเปิดในสนามกีฬาที่เราคุ้นเคยกัน แต่จะจัดขึ้นบนแม่น้ำแซน (Seine) ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นอกจากจะทำให้พิธีเปิดเข้าถึงผู้คนทั่วโลกรู้สึกว้าวไม่รู้จบแล้ว ยังช่วยเรื่องของการลดการปล่อยมลพิษทางน้ำ ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประเทศแห่งนี้

👉 ในระหว่างพิธีเปิดจะมีเรือจำนวนกว่า 90 ลำ ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อนที่ยั่งยืน เช่น พลังงานไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้า, เซลล์เชื้อเพลิง, ไฮโดรเจน และระบบขับเคลื่อนแบบผสม เป็นต้น โดยมีการนำเรือเก่าระบบน้ำมันดีเซล มาสร้างใหม่เป็นเรือไฟฟ้า มีการผลิตเรือใหม่เพิ่มเติม ซึ่งการขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าจะช่วยลดการปล่อยมลพิษภายในประเทศ และยังช่วยให้อากาศสะอาดขึ้น เสียงรบกวนน้อยลง และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยต่อสุขภาพสำหรับผู้อยู่อาศัย และนักท่องเที่ยว

👉 พิธีเปิดจะมีเรือ Mistinguett ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า Torqeedo Deep Blue 100i จำนวน 2 ตัวและแบตเตอรี่ Deep Blue Battery 80 ใหม่จำนวน 6 ชุด รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 248 คน ซึ่งจะใช้ขนส่งนักกีฬาระหว่างพิธีเปิดในโอลิมปิกนี้ รวมไปถึงในด้านความปลอดภัยก็เรียกได้ว่าหายห่วง โดยบริษัท Torqeedo หนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกที่ผลิตเครื่องยนต์ท้ายเรือและเครื่องยนต์ในเรือที่ยั่งยืน การันตีด้านการพัฒนาระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบกำหนดเองมานานกว่า 19 ปี ดังนั้นมั่นใจได้ว่าพิธีเปิดในครั้งนี้จะปลอดภัย

👉 แต่ใช่ว่าเรือเหล่านี้จะถูกใช้เพียงแค่พิธีเปิดเท่านั้น การผลิตเรือไฟฟ้าคือหนึ่งในเป้าหมายของปารีสที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2037 เพื่อจุดประสงค์นี้ จึงเริ่มมีการติดตั้งสถานีชาร์จไฟสำหรับเรือไฟฟ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป นับว่าน่าสนใจทีเดียวที่เราจะได้เห็นพิธีเปิดเป็นใบเบิกทางแรกของเรือไฟฟ้าเหล่านี้


🇲🇫 🌳 2. เก้าอี้นั่งชมกีฬา ทำจาก “พลาสติก”

พื้นที่นั่งของผู้ชม จะถูกดีไซน์ด้วยวัสดุที่มาจากพลาสติกเหลือใช้จากคนในชุมชน ผ่านกระบวนการรีไซเคิลและเกิดเป็นที่นั่งจำนวนมากสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยแนวคิดนี้ช่วยลดผลกระทบทางคาร์บอนของภาคการก่อสร้างซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกของประเทศฝรั่งเศส ได้ถึง 23%

👉 จุดเริ่มต้นถูกพัฒนาจากบริษัทสตาร์ตอัพ Le Pavé® โดยใช้ผลิตภัณฑ์เรือธงซึ่งเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า SoftSurface™ เป็นการนำขยะพลาสติกทั้งจากขยะหลังกระบวนการผลิตสินค้าอื่น เช่น เศษวัสดุจากการผลิตเก้าอี้ พวกเศษเหลือใช้จะถูกนำมาพัฒนาที่ Le Pavé® รวมไปถึงขยะหลังการบริโภค เช่น ขวดน้ำ, ขวดแชมพู, กระป๋อง หรือฝาน้ำอัดลม ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยลดการใช้พลังงาน และลดการสร้างขยะใหม่ได้มหาศาล

👉 ที่นั่งถูกผลิตสูงถึง 11,000 ที่นั่งในโอลิมปิกปีนี้ ทำจากวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด และการจะได้ 1 ที่นั่ง ต้องใช้ขยะ 100 ตัน ซึ่งมาจากขยะสีเหลือง ถังรีไซเคิล ในเขต Seine-Saint-Denis

👉 สิ่งนี้จะเกิดไม่ได้เลย หากไม่ได้ความร่วมมือกับประชาชน หนึ่งในเทคนิคที่ทำให้เก้าอี้ที่นั่งเกิดขึ้นจริง มาจากการทำโครงการเก็บพลาสติกภายในโรงเรียนในแต่ละภูมิภาค และได้เก็บฝาขวาดน้ำอัดลมกว่า 5 ล้านชิ้น ในการนำมารีไซเคิล และยังช่วยให้ผู้คนตระหนักเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


🇲🇫 🌳 3. สร้าง Aquatics Centre ศูนย์กีฬาคาร์บอนต่ำ

สถานที่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับกีฬาทางน้ำ ในปีนี้หากใครที่ชื่นชอบกีฬาว่ายน้ำ เราจะได้รับชมถ่ายทอดสดจากสนามแห่งนี้นั่นเอง แต่สิ่งที่น่าสนใจลงลึกไปอีกคือถูกออกแบบด้วยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมและมีการประหยัดพลังงานขั้นสุด

👉 ภายในอาคารมีการใช้ไม้ 2,300 ลูกบาศก์เมตร เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือปริมาณเทียบเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ ไป-กลับ 1 รอบ ซึ่งการที่ใช้ไม้นั้นจะช่วยลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากคอนกรีต และเหล็กได้ดี

👉 ในส่วนของหน้าอาคารจะมีรูปร่างโค้งเว้าใหญ่ กว้างประมาณ 90 เมตร และถูกปกคลุมด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก เรียกได้ว่าเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ดังนั้นไฟฟ้าส่วนใหญ่จึงมาจากธรรมชาติทั้งหมด

👉 ภายในสนามมีที่นั่งมากถึง 5,000 ที่นั่ง และทุกที่นั่งภายในอาคารแห่งนี้ ถูกดีไซน์จากขวดน้ำพลาสติกทั้งหมด ซึ่งเก็บรวบรวมมาจากคนในพื้นที่ มาทำเป็นที่นั่ง ซึ่งทางปารีสเองก็เน้นเรื่องของ “reduce, repurpose and re-use” หรือลดการใช้ - ปรับใช้ใหม่ และใช้ซ้ำ

👉 อีกเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจคือ พื้นที่ตรงนี้คือเขต Seine-Saint-Denis ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปารีส ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจน โดยเด็กมัธยมต้นกว่าครึ่งว่ายน้ำไม่เป็น ดังนั้นพื้นที่นี้จึงไม่ใช่แค่สนามกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่โอกาสสำคัญให้เด็ก ๆ ได้มีสิทธิ์เข้าถึง และฝึกทักษะทางกีฬาด้วยเช่นกัน


🇲🇫 🌳 4. อาหารเกือบทั้งปารีส จะเน้นไปที่วัตถุดิบจากพืชของคนท้องถิ่นมากขึ้น

ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก จะมีการเสิร์ฟอาหารรวมทุกมื้อกว่า 13 ล้านครั้ง ด้วยวิธีที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีองค์กรกว่า 120 แห่ง รวมถึงเกษตรกร, ผู้ผลิต, ผู้ให้บริการทางด้านอาหาร และนักโภชนาการ ตลอดจนนักกีฬา 200 คน ร่วมกันวางแผนเรื่องอาหาร และเมนูสุดครีเอตจากกรุงปารีส

👉 เพิ่มสัดส่วนวัตถุดิบจากพืชเป็นสองเท่า และเพิ่มตัวเลือกอาหารจากพืชในการบริการผู้ชม และพนักงานในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกในปีนี้

👉 ใช้วัตถุดิบ 80% จากการเกษตรในท้องถิ่น โดย 1 ใน 4 ผลิตในรัศมี 250 กิโลเมตรจากสถานที่จัดงาน

👉 ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในการให้บริการอาหารลงครึ่งหนึ่ง และนำอุปกรณ์ในการให้บริการอาหารทั้งหมดกลับมาใช้ซ้ำหลังจบการแข่งขัน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท Coca-Cola พันธมิตรระดับโลกของโอลิมปิก จะติดตั้งตู้น้ำดื่มและน้ำอัดลม 700 ตู้ทั่วงานปารีส 2024 และผู้จัดงานจะติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มฟรี โดยผู้ชมทั่วโลกสามารถนำขวดน้ำแบบใช้ซ้ำของตัวเองเข้าสถานที่จัดงานได้ทุกแห่ง


🇲🇫 🌳 5. ระบบขนส่งที่ลดการปล่อยคาร์บอน

ระยะทางที่สั้น จะลดการปล่อยคาร์บอนน้อยลง ในด้านของการขนส่งเอง ปารีสก็ใส่ใจมาก ๆ โดยผู้จัดงานปารีส 2024 ได้มีการปลูกต้นไม้ใหม่ 300,000 ต้น รวมถึงวางแผนการจัดการแข่งขันโดยใช้ประโยชน์จากระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่แล้ว

👉 สถานที่แข่งขันกีฬาโอลิมปิกมากกว่า 80% อยู่ในรัศมี 10 กิโลเมตรจากหมู่บ้านนักกีฬา เพื่อช่วยลดเวลาเดินทางของนักกีฬา

👉 ในปีนี้มีการเพิ่มเส้นทางจักรยานใหม่อีกกว่า 400 กิโลเมตร เพื่อการเดินทางด้วยจักรยานที่มากขึ้น นอกจากเป็นการออกกำลังกายและตื่นตัวแล้ว ยังเป็นอีกวิธีที่สร้างความปลอดภัยบนท้องถนน และช่วยลดการปล่อยมลพิษได้ดีมาก ๆ

👉 ทุกสถานที่จัดการแข่งขันสามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะวางแผนที่จะเพิ่มบริการรถเมล์, รถไฟใต้ดิน และรถไฟในเขตปารีสขึ้น 15% เมื่อเทียบกับช่วงฤดูร้อนปกติ

👉 รถยนต์ที่ใช้สำหรับนักกีฬาและผู้เข้าร่วมงานที่ได้รับการรับรอง จะประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งจัดหาโดยทาง Toyota พันธมิตรระดับโลกของโอลิมปิก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น จำนวนรถที่ใช้จะถูกปรับให้เหมาะสม โดยจะใช้รถน้อยลงประมาณ 40% เมื่อเทียบกับการแข่งขันในครั้งก่อน ๆ


🇲🇫 🌳 6. ‘โต๊ะจิบกาแฟยามเช้า’ ที่ทำจากลูกขนไก่

หมู่บ้านโอลิมปิกที่ปารีสในปีนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขัน และเป็นพื้นที่สำหรับนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก ถึงทำให้สถานที่แห่งนี้มีผู้คนอาศัยจำนวนมาก โดยจากข้อมูลของ NBC ระบุว่ามีนักกีฬาจากโอลิมปิก จำนวน 14,250 คน และอีกราว 8,000 คนในพาราลิมปิก ดังนั้นการออกแบบในแต่ละห้องอาจจะไม่ได้หวือหวาเหมือนโรงแรม 5 ดาว แต่สิ่งสำคัญคือต้องเรียบง่าย และใช้วัสดุที่ช่วยลดมลพิษต่อโลก รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวตลอดเส้นทางในหมู่บ้านแห่งนี้

👉ในหมู่บ้านนักกีฬาเฟอร์นิเจอร์แทบทุกชิ้นใช้วัสดุจากการรีไซเคิล อย่างโต๊ะจิบกาแฟของนักกีฬาทุกห้อง ถูกนำมาสร้างใหม่ด้วยการนำลูกขนไก่ที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้แล้ว มารีไซเคิล

👉 รวมไปถึงเก้าอี้ที่มีความนุ่ม นั่งสบายในแต่ละห้อง ทำมาจากผ้าร่มชูชีพที่เหลือใช้ผ่านการรีไซเคิล มีเก้าอี้ทั่วไปที่ถูกทำมาจากขวดทั่วไป ผ่านกระบวนการรีไซเคิลเช่นกัน และโซฟาในแต่ละห้อง แท้จริงแล้วถูกสร้างมาจากแผงกั้นจราจรผ่านการรีไซเคิลเช่นกัน


🇲🇫 🌳 7. สนามหญ้าเทียมคาร์บอนเป็นศูนย์ แห่งแรกของโลก

สนามกีฬาแห่งนี้คือสนามแข่ง ฮอกกี้ จะถูกเล่นบนสนามหญ้าเทียบที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศเป็นครั้งแรกของโลกที่มีชื่อว่า ‘Poligras Paris GT zero’ โดยผลิตภัณฑ์นี้ถูกพัฒนาเป็นพิเศษ โดยบริษัท Polytan ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตพื้นผิวกีฬาสังเคราะห์กลางแจ้งชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังได้รับการรับรองจาก FIH Innovation สำหรับการเล่นฮอกกี้แบบแห้งอีกด้วย

ในการผลิตเส้นใยของหญ้าเทียมจะใช้พลาสติกที่เรียกว่า ‘I'm Green™’ ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาโดยบริษัท Braskem จากบราซิล ทำมาจากอ้อยนั่นเอง ซึ่งอ้อยที่ใช้เป็นอ้อยที่ถูกบดในครั้งที่ 3 หมายถึงอ้อยที่ไม่เหมาะจะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลนั่นเอง ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้มาจากอ้อยที่จะกลายเป็นขยะนั่นเอง รวมไปถึงกากอ้อยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการบดอ้อย ยังถูกนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้อีก เพื่อปิดวงจร เถ้าที่เกิดจากการเผากากอ้อยก็ถูกนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในไร่อ้อยอีกด้วย

👉 การใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบชีวภาพมาเป็นเส้นใย ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 73 ตัน เมื่อเทียบกับหญ้าเทียมแบบเดิม รวมไปถึงการใช้ปริมาณน้ำ

👉 มีการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Turf Glide ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลดแรงเสียดทานบนพื้นผิว ด้วยเทคโนโลยีนี้จึงทำให้ลดการใช้น้ำน้อยลงเมื่อเทียบกับสนามหญ้าเทียมทั่วไป เหตุเพราะการเล่นกีฬาฮอกกี้ทุกครั้งต้องมีการใช้น้ำปริมาณมากในการลดสนาม เพราะน้ำจะช่วยทำให้ลดอาการบาดเจ็บของนักกีฬาได้ ดังนั้นสนามแห่งนี้จึงใช้น้ำในปริมาณที่น้อยลง และยังช่วยลดอาการบาดเจ็บของนักกีฬาได้

สุดท้ายนี้สิ่งที่น่าคิดต่อ คือปารีสไม่ได้เป็นเมืองที่คิดเพื่อโอลิมปิกเพียงอย่างเดียว แต่เขาคิดการณ์ไกลในเรื่องสิ่งแวดล้อม บางครั้งถ้าเปรียบเทียบการทำธุรกิจ การจัดโอลิมปิกในครั้งนี้ก็เสมือนกับการทดลองของใหม่ ไม่มีอะไรมาการันตีได้เลยว่า โมเดลนี้จะสำเร็จ ผู้คนในเมือง นักท่องเที่ยวจะชอบหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป


แต่วิธีคิดที่กล้าลงมือทำ เพื่อสร้างความแตกต่าง นับเป็นไอเดียที่น่าสนใจ ในการต่อยอดเรื่องของ Sustainability เพราะปารีสแห่งนี้เบิกทางให้เห็นแล้วว่ามันทำได้จริง! 


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

ข้อ 1

ข้อ 2

ข้อ 3

ข้อ 4 - 5

ข้อ 6

ข้อ 7

trending trending sports recipe

Share on

Tags