บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่า งานที่กำลังทำอยู่ มันจะช่วยสร้างทักษะใหม่ ๆ หรือเพิ่ม Productivity ให้เราได้มากน้อยแค่ไหน เพราะทุกวันนี้เวลามีงานอะไรเข้ามาก็ตามแต่ เราก็มักจะรับ รับ รับ เป็นเดอะแบกที่ถืองานไว้ทั้งหมด จนลืมคิดว่าแท้จริงแล้ว “คุณถนัดอะไร แล้วอะไรคือจุดแข็งในการทำงานของคุณ”
Embrace Your A Work ตัวช่วยเพิ่มความสุขให้การทำงาน และรับรู้ว่าเราเก่งในเรื่องไหน!
สำหรับเทคนิค Embrace Your A Work นั้นคือแนวทางการจัดการงานด้วยวิธีที่จะจำแนกงานออกมาตามความเชี่ยวชาญ เพื่อลำดับความสำคัญงานนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะการแบ่งงานไปที่ ‘A Work’ จะช่วยให้เราสามารถทำงานได้คล่องตัวขึ้น เพราะเราถนัดงานนั้น ๆ และมีพลังที่จะทำมัน รักกับงานที่ทำอยู่จริง ๆ ด้วยการนำความสามารถของตัวเองหรือทักษะที่มี มาใช้ให้เกิดงานที่มีคุณภาพขึ้น แถมยังได้เรื่องของการจัดการระบบความคิด ลำดับการทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งส่งผลไปถึงสภาพจิตใจที่ดีขึ้นด้วย
วิธีทำ Embrace Your A Work ถูกแบ่งออกเป็น 5 งาน ดังนี้
ก่อนจะเริ่มลำดับทั้ง 5 งาน อยากให้เพื่อน ๆ ลองหยิบ Post-it หรือโน้ตจดใส่กระดาษ เพื่อตั้งคำถามว่า “เรามีทักษะ หรือทำงานประเภทไหนได้ดีบ้าง”
ยกตัวอย่าง Checklist เช่น
👉 ทำ SEO
👉 ทำ Marketing
👉 ทำ Graphic Design
👉 สามารถแก้ปัญหาได้ดี มีทักษะการจัดการ
👉 ประสานงานสิบทิศ เรื่องประสานงานไว้ใจฉัน
👉 เขียนคอนเทนต์
👉 ถ่ายภาพ
👉 ตัดต่อวิดีโอ
👉 วาดรูป
หลังจากที่เราลิสต์ทุกข้อแล้ว มาดูกันว่าเราจะจัดหมวดหมู่งานของเราไว้ในส่วนไหนบ้าง
🎯 1. งาน A (A Work)
งานประเภท A นั้นจะต้องนึกไว้เสมอว่า นี่คืองานที่เรา “ถนัดที่สุด และรักที่จะทำที่สุด” งานประเภทนี้เรามักจะทำได้เต็มที่ และเต็มไปด้วยความท้าทายที่อยากจะจัดการงานเหล่านี้ หรือลองทำ รู้สึกว่าทำแล้วจะสำเร็จได้ ซึ่งจะทำให้เราเต็มที่กับการทำงานแบบไม่มีเงื่อนไข!
😊 ตัวอย่างเช่น
หากดูจาก Checklist ที่วางไว้ เราอาจจะตอบตัวเองได้ทันทีว่า “ประสานงานสิบทิศ เรื่องประสานงานไว้ใจฉัน” คืองานที่เราถนัดที่สุด เป็นคนชอบจัดการ มั่นใจที่สุด และสนุกที่จะได้เรียนรู้พบเจอประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อทำให้ทีมงานของเรา หรือคนที่เราทำงานด้วยรู้สึกอุ่นใจที่มีเราคอยช่วยประสานงาน หรือหากมีทักษะอื่นที่เกี่ยวข้องกับ A Work ก็สามารถแปะเพิ่มได้
🎯 2. งาน B (B Work)
งานประเภท B คืองานที่รองลงมาจากงาน A หมายถึง “เราทำงานนี้ได้นะ แต่ไม่ได้ชื่นชอบเป็นพิเศษ” เท่ากับงาน A แต่ก็ต้องจัดการงานในกลุ่มนี้ให้ได้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสิ่งที่ขาดหายไปของงานกลุ่มนี้คือ คุณต้องพยายามหาแรงบันดาลใจให้กับตัวเองในการทำงานประเภท B มากขึ้น ซึ่งแรงบันดาลใจนั้นอาจจะเป็นเรื่องของ เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ หรือ เราได้พัฒนาทักษะใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
😊 ตัวอย่างเช่น
เรามี Soft Skill ในด้านการแก้ปัญหาที่ดี ซึ่งเป็นผลมาจากเราชอบงานประสานงาน มันทำให้เราได้คุยกับคนเยอะขึ้น และฝึกการแก้ปัญหาระหว่างทางไปด้วย ซึ่งบางครั้งเราก็เหนื่อยนะ ที่จะแก้ปัญหาทุกโปรเจกต์ แต่หากเรามองในแง่การพัฒนาตัวเอง งานนี้อาจจะต่อยอดให้เราเป็นคนจัดการปัญหาได้เก่งขึ้นในอนาคต ไม่แน่ว่าเราอาจจะต้องเป็นคนมาคุมโปรเจกต์นี้เอง และต้องบริหารจัดการปัญหา การฝึกแก้ปัญหาในช่วงที่ฝึกได้นับว่าสำคัญมาก สู่การพัฒนาต่อยอดในอนาคต ซึ่งการคิดแบบนี้ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เราอยากทำงานประเภท B Work มากขึ้น เพราะเรามีจุดมุ่งหมาย และเป้าหมายนั่นเอง
🎯 3. งาน C (C Work)
งานประเภท C คือ “งานที่อยู่ในระดับกลาง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่งานประเภทนี้มักจะน่าเบื่อ” และทำให้ขาดแรงจูงใจในการทำงาน เพราะงานกลุ่มนี้จะสร้างนิสัยผัดวันประกันพรุ่งให้กับคนทำงาน เพราะไม่ได้สร้างแรงกระตุ้นอะไร หรือทำให้อยากทำงานนี้สักเท่าไหร่
😊 ตัวอย่างเช่น
จากตัวอย่างหากเราเป็นคนประสานงานเก่ง แก้ปัญหาเก่ง ชอบจัดการให้ทุกอย่างเป็นตามแผน แต่กลับโดนจับไปทำงาน Marketing ซึ่งเราอาจจะพอมีความรู้นะ แต่ไม่ได้เก่งมาก รู้กลาง ๆ พอช่วยได้ งานประเภทนี้เราอาจจะทำแค่เพียงหน้าที่ชั่วคราว ซึ่งต้องลำดับความสำคัญดี ๆ ว่าสุดท้ายแล้วงานประเภทนี้ เรามองเห็นโอกาสในการต่อยอดหรือไม่ ถ้ามองเห็นแล้วว่าจริง ๆ เราชอบนะ เราอยากเรียนรู้เรื่อง Marketing มากขึ้น เราก็อาจจะลำดับประเภทงานให้สูงขึ้นได้
🎯 4. งาน D (D Work)
งานประเภท D คือ “งานที่มีความท้าทายสูง” งานประเภทนี้คนส่วนใหญ่จะกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะกลัวที่จะพบเจอกับความล้มเหลว เป็นงานที่ทำเมื่อไหร่เตรียมรับแรงกระแทกข้อผิดพลาดได้เลย และต้องใช้ระยะเวลานานกว่าคนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะทำได้เร็วกว่าเรา
😊 ตัวอย่างเช่น
งานประเภท D Work คืองานอะไรก็ตามที่เราคิดว่า “มีความท้าทายมากที่สุด” ในลิสต์ที่แปะมาอาจจะเป็นเรื่องการถ่ายภาพ เราอาจจะเป็นคนถ่ายภาพไม่เก่ง ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกว่ายาก หรือคนอื่นถ่ายได้ดีกว่าเรา ทำไมเขาทำแล้วดูเป็นเรื่องง่าย งานประเภทนี้เราต้องจัดการดี ๆ ว่ามีความสำคัญในชีวิตเราขนาดไหน หากเรามองว่าสำคัญและอยากพัฒนาต่อ งานประเภทนี้จะเป็นก้าวใหญ่ให้เราได้ล้มแล้วลุกขึ้นมาจนกว่าจะสำเร็จได้ หรือหากงานที่เราลิสต์มาแล้ว ดูไปต่อไม่ได้ หรือทักษะนี้ไม่ได้ตอบโจทย์เรา ก็สามารถลบงานประเภทนี้ได้ทันทีเช่นกัน
🎯 5. งาน F (F Work)
งานประเภท F คือ “งานที่เรียกได้ว่าถ้าวิ่งหนีได้ หรือหลีกเลี่ยงได้ ก็วิ่งหนีให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้” เพราะเป็นที่ดูดพลังงานชีวิต มันอาจจะเป็นงานที่เราฟังแว๊บแรกแล้วรู้ทันทีว่า ในแง่ของการพัฒนาตัวเองเราจะไม่ได้อะไรจากสิ่งนี้เลย นอกจากเสียเวลาแล้ว เราอาจจะเสียสุขภาพจิต เกิดความท้อแท้ในชีวิตได้ในที่สุด
😊 ตัวอย่างเช่น
เราอาจจะรู้ตัวมาเสมอว่า ‘การวาดรูป’ คือจุดอ่อนที่สุดในชีวิต ซึ่งถ้ารู้ตัวเร็วก็สามารถตัดทิ้งได้ทันที แต่หากรู้ตัวช้า ให้มองว่างานประเภท F Work ไม่ได้ส่งผลดี หรือทำให้เราเก่งขึ้น มีทักษะใหม่ ๆ มากขึ้น ถ้าเจอก็ตัดทิ้งได้ เพราะเราไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่เราค่อย ๆ เปิดใจกับเรื่องที่เรามั่นใจก่อนจะดีที่สุด
ไม่มีงานไหนที่เราจะทำได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้น Embrace Your A Work จึงถูกออกแบบมาเพื่อทำให้เราจัดสรรปันส่วน บริการทั้งในด้านการทำงาน และในด้านการจัดการเวลาได้ละเอียดขึ้น แถมเรายังรู้อีกว่า ทักษะแบบเรานั้น เหมาะกับการทำงานประเภทไหน เพื่อรู้จุดแข็งของตัวเอง และทำในสิ่งที่เราถนัดที่สุดก่อนเสมอ
แต่ถ้างานไหนเราไม่ถนัดจริง ๆ อย่าฝืนรับไว้ เราสามารถกระจายงานเหล่านั้นไปให้คนที่มีความสามารถมากกว่า หรือมีทักษะที่เหมาะสมกับงานชิ้นนั้น เพื่อให้เขาได้ทำงานประเภท A แบบเดียวกับเพื่อน ๆ นั่นเอง เผลอ ๆ เราอาจจะได้เห็นพรสวรรค์บางอย่างจากเพื่อนที่เรามอบหมายงานให้ก็ได้นะ
หวังว่าเทคนิคนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนและสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้น๊า 😊 ✌️
แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา