13 ประเภทของลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับธุรกิจ Creative Business

Last updated on ม.ค. 29, 2021

Posted on ม.ค. 28, 2021

หลังจากไปเขียนซีรี่ย์ เรื่องเล่า Culture มาสักพัก ครั้งนี้กลับมาเขียนเรื่องการรันธุรกิจ Agency หรือ Creative Business กันต่อนะครับ 

(ติดตามอ่านเนื้อหา เรื่องเล่า Culture ทั้งหมดได้ที่นี่)

จากงาน CTC2020 ครั้งที่แล้วที่มีน้อง ๆ เจ้าของกิจการรุ่นใหม่ ๆ มาปรึกษาเรื่องของการบริหาร Creative Business ขนาดเล็กใน Session Mentoring เลยคิดว่าน่าจะกลับมาเขียนเรื่องราวเหล่านี้อีกครั้งครับ ดังนั้นในบทความนี้จะแนะนำลูกค้า 13 แบบที่ควรหลีกเลี่ยง ซึ่งได้ไอเดียมาจากโพสต์ใน LinkedIn ของคุณ Chris Do เจ้าของ The Futur ซึ่งถือว่าเป็นศาสดาแห่งการบริหารธุรกิจดีไซน์และครีเอทีฟเลยก็ว่าได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มเปิดบริษัทเองหรือแม้แต่ฟรีแลนซ์ที่รับงานออกแบบและผลิตงานจากความคิดสร้างสรรค์นะครับ 

จริง ๆ ที่คุณ Chris Do ระบุไว้มีทั้งหมด 23 ประเภท แต่ผมเลือกมาแค่ 12 ประเภทที่ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมคนไทยและอีก 1 ประเภทจากประสบการณ์ตรงมาสรุปให้ฟังครับ

1. เจ้าสาว(บ่าว)ผู้กลัวฝน (Commitment Phobia) 

ลูกค้าที่ช่วงแรกตื่นเต้นอยากรีบเริ่มทำ แต่พอต้องให้จ่ายมัดจำหรือแค่เซ็นใบเสนอราคากลับไม่ยอมเซ็น และคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้รับคือ เดี๋ยวขอดูก่อนจะติดต่อกลับ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ติดต่อกลับมาเลย

2. ผู้ที่มองว่าทุกอย่างเป็นเรื่องง่าย ๆ (Trivial Pursuits)

ลูกค้าประเภทนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้ประโยคที่ว่า “แค่ทำ..” “แค่ปรับนิดหน่อย” “เอาแบบง่าย ๆ” “งานไม่ยากเลย”

3. ผู้ให้สัญญากลวง ๆ (Empty Promiser) 

ลูกค้าที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกแต่ต่อราคาต่ำ ๆ แล้วบอกว่าขอราคาเท่านี้ก่อนจะได้ทำกันยาว ๆ หรือ “งานนี้พี่ขอราคาแค่นี้ก่อน เดี๋ยวครั้งหน้าค่อยจ่ายเรทปกติของน้อง”

4. ญาติพี่ก็ทำได้ (Family Guy) 

มีญาติที่ทำงานออกแบบได้เหมือนกัน และคิดราคาแค่ครึ่งเดียวด้วย เลยบอกให้เราคิดราคาเท่ากับญาติของเขาก็พอ

5. ผู้ที่ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้เลย (In-Decider) 

ไม่ว่าจะเป็น ต้องให้นายดูก่อนหรือเอาคนที่ไม่เกี่ยวข้องมาช่วยคอมเมนต์งาน ลูกค้าประเภทนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะเราจะปิดงานได้ยากมาก

6. ผู้ท่องกาลเวลา (Time Traveler) 

ต้องการงานตั้งแต่เมื่อวาน ทุกอย่างดูเร่งไปหมด เพราะเจ้าตัวบริหารเวลาของโปรเจกต์ตัวเองได้ไม่ดีพอ แล้วโยนความเร่งด่วนมาให้คนรับงาน สำหรับลูกค้าประเภทนี้ แนะนำว่าหากค่าจ้างงาม คุ้มกับงานเร่ง และความเครียดกดดันขั้นสูงสุด ก็สามารถรับได้ครับ แต่ถ้างานเร่งสุด ๆ แล้วยังกดราคาแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงครับ

7. นักจี้ทุกจุด (Puppet Master)

ลูกค้าที่ต้องการควบคุมและ Micro-manage ทุกอย่าง ไม่ไว้ใจเราทั้ง ๆ ที่จ้างเราในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ถ้าเราบริหารจัดการจำนวนครั้งแก้งานไม่ดีพอ สุดท้ายเราจะใช้เวลาทำงานเกินค่าจ้างที่ได้รับครับ

8. นักต่อราคาขั้นสูงสุด (Bottom Feeder)

กดราคาเก่งมากและมีเวลาพอที่จะไปหาหลาย ๆ เจ้าเพื่อเทียบราคา ต่อแม้กระทั่งจำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้ารับราคาได้ก็ทำครับ แต่ถ้าไม่ได้ให้ยืนยันในเรทเราอย่างสุภาพ

9. นักหลบกระสุนปืน (NEO) 

ชื่อนี้ได้มากจากหนังเรื่อง The Matrix กับฉากสร้างชื่อที่ตัวเอก NEO หลบกระสุนปืนแบบเหนือมนุษย์ เปรียบเทียบกับลูกค้าที่หลบเลี่ยงการตอบคำถามแบบตรง ๆ ได้เก่งมาก มักจะให้คำตอบแบบไม่ชัดเจน ทำให้เราทำงานได้อยากมากเพราะต้องคอยแงะความต้องการเขาออกมา เพื่อให้เรานำโจทย์ไปทำงานออกแบบต่อได้ อย่างไรก็ดี ส่วนตัวถ้าเจอลูกค้าแบบนี้เราควรทำตัวเป็นที่ปรึกษาเขาด้วยครับ เพราะตัวเขาเองยังไม่รู้ว่าอยากได้อะไรหรือควรทำอะไร ถ้าดูแลกันดี ๆ ลูกค้าแบบนี้มีสิทธิ์จะอยู่กับเรายาว ๆ เพราะชอบที่เราช่วยแนะนำเขานั่นเองครับ

10. ผู้อยู่ในภวังค์ (The Paradox)

มักจะบรีฟแบบขัดแย้งตัวเอง เช่น อยากได้แบบโมเดิร์น แต่ยังคงความดั้งเดิมอยู่ อยากได้แบบซีเรียสจริงจัง แต่มีความตลก อยากได้แบบเรียบ ๆ หรูดูดีแต่ปัง ๆ 

11. นักลอก (Mimic)

ลูกค้าที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความสามารถของเราเลย ขอแค่ให้เราลอกแบบตามตัวอย่างที่เขาหามาเท่านั้น ลูกค้าประเภทนี้ถ้าไม่คิดอะไรมากก็รับทำงานให้ได้ครับ แต่เราจะไม่ได้พัฒนาอะไรเลย แถมเผลอ ๆ อาจจะโดนจับผิดโดยชาวโซเชียลว่าเราลอกงานออกแบบคนอื่นมาก็ได้ แล้วความซวยจะมาอยู่ที่เราแทน

12. อยู่ดี ๆ ก็หาย (The Ninja)

ตอนมาบรีฟงานก็เร่ง ๆ อยากรีบได้งาน พอเราเริ่มทำให้กลับหายไปดื้อ ๆ โทรไปไม่โทรกลับ อยู่ ๆ ก็หาย ไลน์ไม่ตอบ หรือแม้เจอหน้ากันภายหลังกลับไม่พูดถึงงานที่เคยทำเสนอให้เลยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

13. คนใจโหด (The Reneger)

จะพูดประโยคประมาณว่า “เนื่องจากงานที่ทำเสร็จแล้วไม่ได้ถูกนำไปใช้จริง จึงขอไม่จ่ายเงินที่เหลือ” ซึ่งตามหลักไม่ใช่ความผิดเราเลย เรารับบรีฟ ตกลงเซ็นใบเสนอราคา และทำงานไปแล้ว การที่บอกแบบนี้คือไร้ความรับผิดชอบมาก ๆ แต่เชื่อเถอะมันมีคนแบบนี้อยู่! ทำมาก่อน เรื่องเงินอย่าเพิ่งคุย ข้อนี้ผมขอเพิ่มเอง จะมาแนวบรีฟเรา พอเราเสนอราคาและคุยเรื่องการจ่ายเงินกลับบ่ายเบี่ยง บอกแต่ว่าให้ทำ ๆ มาก่อนเดี๋ยวค่อยคุยเรื่องเงิน และด้วยวัฒนธรรมของคนไทย ฝ่ายที่รับงานมักจะเกรงใจและอยากได้งานเลยยอมรับทำให้ก่อน แต่อยากจะเตือนว่า ลูกค้าที่ดีจะคุยเรื่องเงินกับเราเลย เพราะพวกเขาจะมีความเป็นมืออาชีพและให้เกียรติคนทำงานครับ

วิธีการรับมือกับลูกค้า 13 ประเภทนี้

ถ้าไม่นับว่ามีคนเตือนหรือคนในวงการบอกต่อ ๆ กัน การที่เราจะรู้ได้ว่าลูกค้าเป็นลูกค้าประเภทไหนก็ต่อเมื่อเราได้เริ่มพูดคุย หรือได้เคยลองทำงานกับพวกเขาแล้ว หากเป็นไปได้ แนะนำอยากให้หลีกเลี่ยงประเภทลูกค้าที่อยู่ในลิสนี้ครับ ถ้าเคยเจอมาแล้วก็อย่ากลับไปให้โดนซ้ำ ๆ อีก โดยปฏิเสธรับงานอย่างสุภาพ เราไม่จำเป็นต้องไปบอกเหตุผลว่าที่เราไม่รับงาน เพราะเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มีวิธีการปฏิเสธด้วยเหตุผลอื่นมากมาย เช่น ติดงานอื่นอยู่ ระยะเวลาไม่ได้ หรือแม้แต่เรทที่ลูกค้าต้องการเราทำไม่ได้จริง ๆ 

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราเองในฐานะนักออกแบบและนักสร้างงานจากความคิดสร้างสรรค์ เราต้องเคารพอาชีพตัวเองด้วยเช่นกันครับ ทุกครั้งที่เรารับงานมาแล้ว เราต้องทำงานทุกชิ้นให้สุดความสามารถของเรา ผลิตงานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกครั้ง ให้คุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้ามาจ้างเรา อย่าให้เขาไปพูดต่อได้ว่าเราทำงานไม่ดีไม่มีความเป็นมืออาชีพ และอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ อย่ากลัวที่จะปฏิเสธลูกค้าที่จะสร้างความเดือดร้อนและทำให้เราหัวเสียแบบ 13 ข้อนี้ ถ้าเราเชื่อว่างานของเราดีจริง อย่างไรเสียต้องมีลูกค้าดี ๆ มาจ้างเราแน่นอนครับ

คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

เรื่อง: ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา CEO & Co-Founder TWF Agency

trending trending sports recipe

Share on

Tags