ในงาน CTC2019 ปีนี้ พอมี Topic เรื่องดนตรี “Polycat” คือชื่อแรกที่เข้ามาในการพูดคุยนี้ทันที เพราะพวกเขาเป็นอีกหนึ่งวงที่มีความ Creative ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในคอนเซปต์ดนตรีและเนื้อเพลงที่กลายเป็นปรากฏการณ์ของวงการเพลงในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น
“ฉันยังอาวรณ์อยู่ Baby I want you” ในเพลง อาวรณ์
“มันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” ในเพลง ดูดี
หรือ
“เธอเป็นคนเดียวที่ไม่ควรเสียใจ…Alright”
ที่ทำให้คำว่า “Alright ” ติดปากกันทั่วบ้านทั่วเมือง
ก่อนหน้านั้นก็ยังมีคอนเซปต์ของการปล่อยเพลงแบบ 3 เพลงพร้อมกันที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน กับดนตรีที่มีกลิ่นอายของ 80’s แถม MV ก็ตอกย้ำความเป็น 80’s โดยนำเอาฟุตเทจของภาพยนต์เรื่อง “พริกขี้หนูกับหมูแฮม” เวอร์ชั่นในปี 2532 ที่นำแสดงโดยขจรศักดิ์ รัตนนิสัย และจันทร์จิรา จูแจ้ง มาตัดต่อเป็นเรื่องราวต่อกันในเพลง
Chapter 1 เพื่อนไม่จริง, Chapter 2 เวลาเธอยิ้ม และ Chapter 3 พบกันใหม่
นั่นทำให้ชื่อของพวกเขาถูกพูดถึงในวงกว้างแทบจะในทันที
แต่ใครจะรู้ว่า กว่าจะประสบความสำเร็จได้อย่างในวันนี้ พวกเขาก็ใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองนานเกือบ 10 ปี ในงานครั้งนี้เราจึงอยากชวน Polycat มาเล่าให้ฟังถึง Creativity ที่ทำให้ผลงานของเขานั้นก้าวไปอีกขั้น
ดนตรีคือคณิตศาสตร์
ประเด็นสำคัญที่ Polycat พูดไว้ได้อย่างน่าสนใจในเรื่องของการทำเพลง เริ่มที่อัลบั้มแรก “05.57” ที่พวกเขาเล่าว่า ตั้งใจจะทำเพลงเพื่อเอาใจคนฟัง โดยเริ่มที่การหาข้อมูลรวมถึงทำการบ้าน ว่าปัจจัยที่เพลงหรือศิลปินจะดังนั้นต้องทำอย่างไร โดยทำตารางวิเคราะห์วงดัง ๆ จากต่างประเทศและเพลงฮิต ว่าโน้ตชุดไหนที่ใช้กัน ระยะห่างระหว่างจังหวะ การขึ้นลงของโน้ตแบบไหน แล้วก็หาค่าเฉลี่ย และใช้ข้อมูลนั้นมาทำเป็นเพลงของพวกเขา นอกจากนั้น พอคิดถึงตอนที่จะเล่นสด ก็อยากรู้ว่าคนจะสนุกไปกับเพลงหรือเปล่า ก็เลยให้เพื่อนในวงมาลองกระโดดดู ว่าจังหวะมันโอเค มันกระโดดแล้วรู้สึกสนุกไหม ซึ่งอัลบั้ม 05.57 ก็ทำให้คนกลุ่มนึงเริ่มรู้จัก Polycat
เพลงฮิตจากเพลงไม่ฮิต
แต่พอจบอัลบั้มแรก พวกเขาก็คิดใหม่ มาทำเพลงที่ตัวเองอยากทำจริง ๆ โดยใช้ความชอบของพวกเขาเป็นตัวตั้งดูบ้าง และก็มาถึงอัลบั้ม 80 Kisses นี้ ที่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้ชื่อ Polycat นั้นมีชื่อเสียงในวงกว้างมากขึ้น ซึ่งพวกเขาก็ได้เล่าให้ฟังถึงอัลบั้มนี้ต่อว่า ครั้งนี้ยังคงนำ Structure ของเพลงฮิตมาวางเรียงกันดูเหมือนเดิมว่าทำไมเพลง ๆ นี้ถึงได้ฮิต ใช้คอร์ดอะไร ใช้เมโลดี้แบบไหน ใช้จังหวะอย่างไร แต่คราวนี้พวกเขาทำทุกอย่าง Inverse กับสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดเลย แล้วพอทำออกมาแล้วพวกเขาก็จะได้ ‘ก้อนที่ไม่มีทางจะดังแน่ ๆ’ นี้มา จากนั้นก็จะมาทำการบ้านกันต่ออีกทีอย่างหนักว่า จะทำอย่างไรให้ไอ้ก้อนนี้มันเพราะที่สุด ซึ่งความสำคัญและความท้าทายมันก็อยู่ตรงการจัดการกับก้อนนี้แหละ เพราะถ้าทำมันไม่ดี มันก็จะกลายเป็นเพลงที่ ‘ไม่ดังแน่ ๆ’
ต่างอย่างดูดี
พูดถึงท่อนนึงของเพลง “ดูดี” ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา นั่นคือ “มันดูดีที่สุดเลยเว้ยแก” ซึ่งคำว่า “แก” นั้นไม่ค่อยมีใครมาใช้ในเพลงเท่าไหร่ Polycat เล่าให้ฟังว่า
ครั้งแรกที่คุณเพียว (มือเบส) ได้ยินก็รู้สึกตกใจเหมือนกัน คือมันดูรุนแรง แบบ เว้ยแก เลยเหรอพี่ แต่พอฟังทั้งหมดแล้วก็ถึงได้เข้าใจว่า มันคือบริบทและความรู้สึกเวลาเราคุยกับเพื่อนที่สนิทกันจริง ๆ คุณนะ (นักร้องและแต่งเพลง) เสริมอีกว่า เขาชอบเพลง “Wonderful Tonight” ของ Eric Clapton มีท่อนสร้อยตอนจบที่ชอบมากอย่าง “And then she asked me, do I look alright? And I said yes, You look wonderful tonight” จึงอยากจะทำเพลงที่มีตอนจบแบบนี้บ้าง เขาจึงเล่าเรื่องในแบบเดียวกันแต่ในคนละบริบท คือไม่ได้เป็นคนรักกันแต่เป็นเพื่อนที่แอบรักแทน ก็เลยได้เป็นท่อนนี้
นอกจากนั้นยังมีเรื่องเกี่ยวกับ Storytelling ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การเปิดมาด้วยการเล่าตอนสรุปของเพลงตั้งแต่ต้นเลย ซึ่งคล้ายกับวิธีคิดของภาพยนต์ที่เขาชอบหลาย ๆ เรื่อง จึงลองเล่าแบบนี้ในเพลง “พบกันใหม่” ที่เปิดมาแบบตีหัวเลยว่า
“และแล้วก็รู้ว่าคนที่จบกันไป ด้วยคำที่บอกว่าเราจะมาพบกันใหม่ มักจะไม่พบกันอีก”
คือเปิดมาให้คนสงสัยก่อนเลยว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้เขาอยากติดตามในท่อนต่อ ๆ ไป ว่าทำไมถึงมีตอบจบแบบนั้น
Detail is Everything
คุณนะเล่าว่า เขาเป็นคนชอบเก็บดีเทลต่าง ๆ ในชีวิต จากนั้นก็จะค่อย ๆ หาว่าตรงไหนที่เหมาะกับอะไรแล้วลองใส่ลงไป อย่างท่อนนึงจากเพลง ‘อาวรณ์’ ที่ร้องว่า
“ถ้าพรของฉันที่จะให้ไป ศักดิ์สิทธิ์กว่าพระอาจารย์ที่ใด จะขอให้เธอ ได้มีพลัง รู้ความในใจ ให้เธอรู้ไว้ ว่ายังมีใคร ที่รอเสมอ”
เพลงนี้จริง ๆ แล้วเขียนจากเรื่องที่เกิดขึ้นในวันเกิดของแฟนเก่า แต่ท่อนนี้กลับนำมาจาก อีกเหตุการณ์ที่มีแฟนเพลงมาขอให้คุณนะ อวยพรให้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งเขาก็จะบอกแฟน ๆ ที่ให้เขาอวยพรเสมอว่า “ผมไม่ใช่พระอาจารย์ ผมไม่มีพรที่จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้นหรือสวยขึ้นได้จริง แต่ถ้าอยากให้ผมอวยพร ผมจะพูดให้ก็ได้” ก็เลยเป็นที่มาของท่อนนี้
ซึ่งในด้านของการเขียนเนื้อเพลง คุณนะบอกว่าเลิกเพลย์เซฟมานานแล้ว ไม่อยากจะเขียนอะไรที่มันกลาง ๆ เพราะมันจะไม่สุด ถึงแม้ว่าสุดท้ายจะออกมาแย่ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นเพลงที่ตัวเองชอบ และก็ทำให้รู้สึกว่าได้สร้างอะไรไว้ให้วงการนี้
เก็บ – วิเคราะห์ – ย่อย
บางครั้งความสำเร็จนั้นก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว บางคนอาจรู้สึกว่า การทำงานศิลปะควรใช้อารมณ์และความชอบเป็นหลัก บางคนอาจจะบอกว่าต้องอยู่นอกกรอบ
แต่ Polycat คือตัวอย่างที่ดีของความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากการ “เก็บข้อมูล–วิเคราะห์–ย่อย” ออกมาว่าสิ่งใดที่เขาสามารถนำมาใช้กับงานของพวกเขาได้บ้าง ซึ่งก็ผ่าน การศึกษาสิ่งที่อยู่ในกรอบจนเข้าใจมากพอ และลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน จนวันนึงที่พวกเขากล้าที่จะออกมาจากกรอบเดิม ๆ ก็ยังใช้ Creativity บนพื้นฐานของการวิเคราะห์และหาข้อมูลอย่างเป็นระบบ และแน่นอนว่ารวมไปถึงการวางแผนที่ดีด้วยเช่นกัน
ติดตามคลิปย้อนหลังงาน CTC2019 ได้ที่
Main Stage : AIS PLAY
ห้องอื่น ๆ ติดตามได้ที่เพจ Creative Talk Live หรือ Youtube CREATIVE TALK
สำหรับใครที่ชอบฟัง Podcast ติดตามได้ที่ APPLE PODCAST / SPOTIFY / SOUNDCLOUD