และอาจมีหลายคนเช่นกันที่ยังกล้าๆ กลัวๆ แม้จะอยากออกจากงานที่ทำอยู่แล้วก็ตาม วันนี้ Creative Talk เลยมี 4 เรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนงานที่น่าสนใจมาแชร์ สำหรับใครก็ตามที่อยากจะย้ายงานแต่ยังไม่มั่นใจ ให้ลองเอาไปปรับใช้ เพื่อให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมกับการปรับตัวสู่งานใหม่ในปี 2022
อย่างที่รู้ว่าการเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพถือเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ และยิ่งเป็นเรื่องใหญ่หากเรารู้สึกว่างานใหม่ที่จะทำนั้นเป็นงานที่เรายังขาดประสบการณ์อยู่ ทว่าหากคุณกำลังรู้สึกว่าตัวเองถูกปัดออกจากงานประจำที่ทำอยู่ หรือตกอยู่ในภาวะ burnout เวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการจะมองหางานใหม่ หรือเปลี่ยนสายงาน ซึ่งความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดกับคุณเพียงคนเดียว เพราะเมื่อเดือนกันยายนปี 2021 มีคนทำงานกว่า 4.4 ล้านคนทั่วโลกที่ลาออกจากงานของตัวเอง ดังนั้นหากคุณกำลังอยากจะเปลี่ยนงานนี่คือ 4 คำแนะนำดีๆ ที่เราคัดมาจากเว็บไซต์ fastcompany
‘4 คำแนะนำก่อนย้ายงานในปี 2022’
1. ทำตัวให้สบายๆ กับความเสี่ยง
ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อาจเป็นโมเมนต์ที่พอเหมาะพอดีที่เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวเอง แต่ถ้าคุณกำลังจะเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดไปสู่สายงานใหม่ หรือขอบเขตงานใหม่ คุณก็อาจจะต้องยอมรับความเป็นจริงที่ว่ามันจะมีความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
และการพิจารณางานใหม่หรือโอกาสใหม่ ก็มีส่วนช่วยในเรื่องของการค้นพบตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้เราทำการตัดสินใจไปสู่หนทางข้างหน้าได้ดีขึ้น แต่ถ้าคุณอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจเปลี่ยนงาน อาจลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดูว่า คุณมีความสบายใจในการที่จะเสี่ยงอยู่มากน้อยแค่ไหน หรือคุณจะรับมืออย่างไรกับการเผชิญหน้ากับสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ได้ หรือว่าในตอนนี้คุณกำลังยึดติดกับงานที่ทำอยู่ เพียงเพราะว่าคุณกลัวที่จะไม่มีความมั่นคงหรือเปล่า ลองเช็คตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้ดู อาจช่วยให้คุณไตร่ตรองโอกาสที่มาใหม่ได้ดีขึ้น
2. เอาชนะความรู้สึกที่ฉุดรั้งตัวคุณเอาไว้
จากการสำรวจในเดือนสิงหาคม 2021 คนทำงานหลายคนบอกว่าพวกเขาทำงานที่ตัวเองไม่ได้พอใจ หรือทำงานในสายงานที่ตนเองไม่ได้ชอบ เนื่องจากมีความมั่นใจต่ำ และกลัวความท้าทายจากการออกจากงานที่ตนไม่ได้มีส่วนร่วม
หรือมีความคิดต่อตัวเองว่า ‘ฉันไม่ใช่คนที่พวกเขากำลังมองหา’ หรือ ‘ทำไมพวกเขาถึงได้จ้างคนอย่างฉัน? ถ้าคุณพบว่าตัวคุณกำลังบอกกับตัวเองเช่นนี้ล่ะก็ ให้ดึงสติตัวเองกลับมาจากคำพูดทำลายความมั่นใจพวกนั้น เพราะวิธีเดียวที่จะเอาชนะความรู้สึกแบบนี้ได้ ก็คือการถามตัวเองว่า ความก้าวหน้าแบบไหนหรือการเติมเต็มชีวิตแบบไหนที่คุณจะได้รับจากการรักษางานที่คุณกำลังทำอยู่
ถ้าแรงจูงใจที่คุณกำลังโหยหาเพื่อทำงานที่ยิ่งใหญ่นั้นรวมถึงงานใหม่ พร้อมด้วยเงื่อนไขของการทำงานที่ดีขึ้น รวมถึงความยืดหยุ่นเพื่อรักษาชีวิตที่คุณสร้างขึ้น จงมองถึงคุณค่าต่างๆ เหล่านี้ที่เป็นหลักให้คุณอยากลงมือทำ อย่าปล่อยด้านที่ไม่แน่นอนของคุณห้ามคุณจากการลองอะไรใหม่ๆ และจงลงมือสร้างแผนและลุยเพื่อมันดู
3. แสดงให้เห็นว่าตัวคุณมีทักษะที่ ‘ใช่’
บางครั้งเราอาจยังไม่มีสกิลเฉพาะที่จำเป็นกับงานในสายใหม่ หรือองค์กรใหม่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณไม่มีสิ่งที่จะต่อรอง หรือนำเสนอพวกเขา สิ่งสำคัญคือจงแสดงให้ผู้จ้างงานเห็นว่าสกิลอะไรบ้างของคุณที่สามารถขยับขยายหรือต่อยอดจากงานเก่าได้
เพราะจากรีพอร์ตของ Linkedin เครืองข่ายหางานระดับโลก พบว่า สกิลที่โดดเด่นในปี 2021 ก็คือเรื่องของความยืดหยุ่น หรือ resilience ตามด้วยสกิลทั่วไป เช่นการสื่อสารกับทีมหรือความฉลาดทางอารมณ์ แสดงให้พวกเขาเห็นว่าคุณมี soft skills เหล่านี้ เพราะมันถือเป็นคุณสมบัติสำคัญไม่ว่าคุณจะทำงานในวงการไหนหรือทีมไหนก็ตาม
แต่ทั้งหมดแล้วไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ต้องไปสนใจถึงสัญญาณที่บอกว่าคุณไม่ตรงกับคุณสมบัติในตำแหน่งนั้นๆ แต่คุณควรเป็นผู้สมัครที่สามารถปรับตัวและปรับสไตล์การทำงานได้เพื่องานงานนั้น และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญก็คือแสดงให้เห็นว่าคุณมีความกระหายที่จะเรียนรู้ และมีความมั่นใจ รวมถึงมีความต้องการที่จะยกระดับความสามารถของตัวเอง
4. ทบทวนให้ดีว่าคุณมีความพร้อมทางการเงินแค่ไหน
แน่นอนว่าการย้ายงานแบบหุนหันพลันแล่นต้องใช้พลังงานสูง และมันก็ยังเป็นเรื่องของความท้าทายทางการเงินด้วย เพราะถ้าคุณมีเงินเก็บมากพอ คุณอาจสามารถออกจากงานไดเแม้ไม่มีงานรออยู่ หรือคุณก็อาจอยากทำงานปัจจุบันก่อนแล้วค่อยมองหางานอื่นในเวลาว่าง
แต่ไม่ว่าอย่างไร อย่าลืมว่า แม้คุณจะลาออกแล้ว แต่การใช้จ่ายต่างๆ จะยังคงอยู่ในชีวิตคุณ ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษาพยาบาลเวลาป่วยไข้ ค่าประกันต่างๆ หรือค่าครองชีพที่คุณต้องใช้จ่ายอยู่ประจำ สิ่งเหล่านี้คือความเสี่ยงทางการเงินที่คุณต้องมั่นใจให้ได้ว่าคุณสามารถจัดการมันได้หลังจากลาออกแล้ว และบางครั้งการตัดสินใจของคุณก็อาจส่งผลกระทบถึงคุณที่คุณยังต้องดูแลด้วย การไตร่ตรองเรื่องการเงินให้ดีก่อนออกจากงานจึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจไม่มั่นคงเช่นนี้
อ้างอิงเนื้อหาจาก fastcompany