ผู้ถามที่ดีเป็นอย่างไร ผู้ฟังที่ดีเป็นแบบไหน หรือบทสนทนาที่ดีคือบทสนทนาอะไร ท่ามกลางโลกแห่งการสื่อสารแบบไร้รอยต่อ แต่เรากลับเข้าใจคู่สนทนาของเราน้อยลงไปเรื่อยๆ
I Will Podcast “จะทำทั้งที ต้องทำให้ได้” เลยขออาสาเป็น Trainer ช่วยให้เหล่า I Will ที่อยากเริ่มมิตรภาพดีๆ กับเพื่อนใหม่ หรือใครที่อยากเป็นคนที่สื่อสารดีขึ้น ให้กลายเป็นคู่สนทนาที่ใครก็อยากคุยด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้พูดหรือผู้ฟัง ด้วยหลักการ 4 ข้อที่คุณใช้ได้ตลอดทั้งชีวิต
1. เข้าใจความหมายของ บทสนทนาที่ดี
บทสนทนาที่ดีคือบทสนทนาที่สร้างความสบายใจให้กับทั้งสองฝ่าย และควรที่จะชี้ชวนให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือความคิด เพื่อต่อยอดสู่สิ่งใหม่ และสำคัญที่สุดคือคุณต้องเป็นผู้ถามที่ดี ถามในเรื่องที่อีกฝ่ายสบายใจที่จะตอบและเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์และชวนให้เกิดความรู้ใหม่ๆ และในฝ่ายของผู้ฟังก็ควรที่จะรับฟังความเห็นหรือคำตอบอย่างตั้งใจ เพื่อให้การสนทนานั้นไปต่อได้อย่างราบรื่น
ฟังดูอาจจะทำให้รู้สึกว่าซับซ้อน แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นใคร เราต่างก็อยากคุยในบทสนทนาที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็สบายใจที่จะฟัง
2. ทำให้การพูดคุยครั้งแรกเป็นบทสนทนาที่ดี
ไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้พูดคุยกับคนที่เรารู้จักอยู่แล้ว แต่ตรงกันข้ามในโลกปัจจุบันที่การสื่อสารทำให้คนใกล้กันมากขึ้น เรื่องการรู้จักคนใหม่ๆ แทบจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
หลักสำคัญในการเริ่มต้นพูดคุยกับใครก็ตาม คือการเอาใจใส่กับอีกฝ่ายให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ถามก็ควรจะเป็นเรื่องที่น่าคุยต่อ ไม่เน้นไปที่เรื่องส่วนตัวจนเกินไป แต่ควรเน้นเรื่องสิ่งต่างๆ รอบตัวเขา เช่น ความสนใจในช่วงนี้ของเขา สิ่งที่เขาติดตัวมา หรือแม้แต่การลองถามในความสนใจของคุณก่อนก็เป็นได้ แต่สำคัญที่สุดคือการสร้างบรรยากาศที่ชวนสบายใจ เพื่อให้เขาและคุณได้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกัน และส่งผลให้การสนทนานั้นราบรื่น
3. จงฟังเขาอย่างตั้งใจและใส่ใจในคำถาม
เมื่อบทสนทนาเกิดขึ้นต่อเนื่อง สิ่งที่จะตามมาคือความเห็นและเรื่องราวที่ลึกขึ้นของคู่สนทนา เพราะเมื่อเขาเริ่มวางใจกับเรา เขาก็จะเปิดใจให้เราตามไปด้วย ในช่วงเวลาแบบนี้ สิ่งที่ควรจะทำสำหรับผู้ฟังคือให้ฟังเขาอย่างตั้งใจ หรือที่เรียกว่า ‘Deep Listening’
Deep Listening คือการรับฟังทุกคำตอบและความเห็น แล้วจึงตามหาว่าแท้จริงแล้วคู่สนทนาของเราต้องการสื่อสารอะไรกันแน่ หรือเขามีตัวตนจริงๆ เป็นอย่างไร เช่น การที่คู่สนทนาพูดถึงเรื่องของข้อบกพร่องในตัวเองอยู่หลายครั้ง เขาอาจจะซ่อนความจริงที่ว่า ตัวเขานั้นไม่ได้มีความมั่นใจในเรื่องนั้นอยู่เท่าไหร่ เราจึงควรตอบกลับให้เขารู้สึกสบายใจมากขึ้น อาจจะเป็นการชี้ให้เห็นถึงข้อดีในเรื่องดังกล่าว หรือแค่รับฟังอย่างตั้งใจ และถามในคำถามที่เหมาะสม เพื่อให้เขาได้ระบายความรู้สึกออกมานั่นเอง
4. ออกทะเลไปบ้างก็ได้ แต่ออกประเด็นคงไม่ดี
ถ้าเราเอาแต่พูดคุยกันในเรื่องที่จะเกิดสาระหรือต้องหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ตลอดเวลา ก็อาจจะทำให้คู่สนทนาเกิดความรู้สึกอึดอัดขึ้นมาได้ ดังนั้นการที่เราชวนเขาคุยเล่นเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นหลักไปเลยบ้าง ก็ถือเป็นเรื่องที่ควรทำและทำได้ เพียงแต่คุณต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายสำคัญในการพูดคุยครั้งนั้นคืออะไร เป็นเรื่องการหาทางออกของปัญหาใดอยู่หรือเปล่า เป็นเรื่องการเรียนรู้อะไรอยู่ใช่ไหม ถ้าเป็นแบบนั้น คุณก็ควรที่จะกลับเข้าประเด็นให้ได้ เพื่อให้ทั้งคุณและคู่สนทนาได้คำตอบในสิ่งที่ต้องการ
แต่ทั้งนี้ทุกคนก็ต้องไม่ลืมนะว่า การพูดคุยหรือการสร้างบทสนทนานั้น ไม่ใช่เป็นเรื่องของเราฝ่ายเดียว คู่สนทนาก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันเลย ถ้าเกิดคุณรู้สึกว่าตัวเองสื่อสารได้ไม่ดี แต่ก็ได้ผ่านการคิดและลองมาก่อนแล้ว ก็ขอให้รู้ว่าอีกฝ่ายเองก็ต้องเปิดใจให้กับเราด้วยเหมือนกัน
สิ่งสำคัญที่สุด คือการที่เรารู้ว่าตัวเองยังเรียนรู้และฝึกฝนได้ รวมถึงตัวเรานั้นไม่ได้มีเจตนาร้าย นั่นก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดเท่าที่เราจะคาดหวังได้จากใครสักคนที่กำลังพูดคุยกับเราอยู่แล้วล่ะครับ
และทั้งหมดนี้ คือส่วนหนึ่งของการเป็นผู้ถามที่ดีและผู้ฟังที่ตั้งใจ หากใครมีวิธีไหนที่นอกเหนือจากนี้ก็แนะนำกันได้นะ หรือจะลองเข้าไปฟัง I Will Podcast เต็มๆ ก็ได้อีกเช่นกัน
I Will Podcast “จะทำทั้งที ต้องทำให้ได้” โปรเจกต์ใหม่จาก CREATIVE TALK x Cigna Thailand ที่ร่วมมือกันสร้างสรรค์รายการที่จะพาเหล่า I WILL ผู้ตั้งใจพิชิตเป้าหมาย มาเจอกับ I WIN ผู้เชี่ยวชาญหรือตัวจริงในแต่ละสาขาที่จะมาให้คำแนะนำและแบ่งปันประสบการณ์ให้คุณใกล้เป้าหมายมากขึ้น
ติดตาม EP.05 : I WILL…ผู้ถามที่ดีและเป็นผู้ฟังที่ตั้งใจ และฟังรายการย้อนหลังตอนอื่นได้ที่
🎧 SoundCloud: https://bit.ly/3pK9Wzd
🎧 Spotify: https://spoti.fi/3zmsJEW
🎧 PodBean: https://bit.ly/3weDWFH
🎧 Apple Podcasts: https://apple.co/3weiLnq