การเสียชีวิตของชาวผิวดำ จอร์จ ฟลอยด์ (Geoge Floyde) ระหว่างการถูกจับกุมอย่างโหดร้ายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวในรัฐมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ได้ปลุกกระแสการต่อต้านและการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงทางสีผิวที่มีมาอย่างยาวนานในสหรัฐ ผ่านแฮชแท็ก #BlackLiveMatters หรือ ‘ชีวิตคนดำก็มีค่า’ ไปทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้เห็นการปรากฏตัวขึ้นของการประท้วงตามท้องถนนและภาพของฝูงชนที่โกรธแค้นที่นับวันก็เริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
เรื่องราวทั้งหมดนี้ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงสารคดี ‘41 Shots’ ตอนที่สามของซีรีส์สารคดี Trial by Media ทาง Netflix ว่าด้วยการเสียชีวิตของชายผิวดำ อามาดู ดิอาโล (Amadou Diallo) ชาวกีนีในนครนิวยอร์ก ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กผิวขาว 4 นายระดมยิงใส่ 41 นัด ระหว่างที่เขากำลังไขกุญแจประตูอพาร์ตเมนต์ของตัวเอง
*บทความด้านล่างนี้มีการเล่าถึงเนื้อหาสำคัญของสารคดี*
เรื่องราวเริ่มต้นในเช้าวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1999 ย่านบรองซ์ นิวยอร์กซิตี้ ขณะที่อามาดูกำลังจะไขประตูอะพาร์ตเมนต์ของเขา และเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์ก 4 นายกำลังลาดตระเวนอยู่นั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สังเกตเห็นอามาดูและตัดสินใจเดินเข้าไปหาเพื่อตรวจสอบ เมื่อนั้นเองที่กระสุน 41 นัดได้ถูกยิงเข้าไปที่ลำตัวของอามาดูและบริเวณโถงทางเดิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคิดว่า อามาดูเอามือล้วงกระเป๋าเพื่อจะหยิบปืนมาตอบโต้ แต่แท้จริงแล้ว เขาจะหยิบกระเป๋าสตางค์เท่านั้น
เหตุการณ์การเสียชีวิตของอามาดูกลายเป็นประเด็นร้อนทันที ผู้คนจำนวนมากต่างโกรธแค้นกับการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ดูเหมือนว่าพวกเขา ‘เลือกปฏิบัติ’ และ ‘กระทำเกินกว่าเหตุอันเนื่องมาจากอคติทางสีผิวและเชื้อชาติ’ ความโกรธของพวกเขาก็ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อเจ้าหน้าที่ทั้งสี่ก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะรับผิดชอบหรือรู้สึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ตลอดเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงต่อมา เราจะได้เห็นภาพของการประท้วงเพื่อต่อต้านและประณามความรุนแรงทางสีผิวในนครนิวยอร์ก และการทำข่าวของสื่อมวลชน ในการตั้งคำถามกับนโยบายลดอาชญากรรมอันก้าวร้าวของ รูดี้ จูลิอานิ (Rudy Giuliani) นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กได้ขณะนั้น ว่าด้วยการมอบอำนาจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบในการตรวจตราและจับกุมอาชญากรรมที่เกิดบนท้องถนน นำมาสู่การกระทำเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะกับกรณีคนผิวดำ ซึ่งสื่อมวลชนต่างก็รีบเข้ามาเล่นประเด็นนี้กันอย่างหนัก มีการเฝ้าติดตามทั้งฝั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ รายงานความเคลื่อนไหวของการประท้วง และการสัมภาษณ์เพื่อนบ้านและคนผิวดำที่เคยประสบเหตุการณ์เช่นเดียวกับอามาดูทางโทรทัศน์
ระหว่างนั้นเอง แม่ของอามาดู คาดิอาทู ดิอาโล (Kadiatou Diallo) ได้เดินทางจากกีนีมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ลูกชาย เธอตัดสินใจเข้าร่วมการประท้วงกับ คุณพ่ออัล ชาร์ปตัน (Reverend Al Shapton) แกนนำการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นความรุนแรงทางสีผิว ซึ่งสารคดีจะนำเราเข้าไปอยู่ในขบวนการต่อสู้ของพวกเขา โดยแก่นสำคัญในการประท้วง คือ ให้มีการดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบนโยบายอันรุนแรงของรูดี้ และเรียกร้องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ซึ่งการเคลื่อนไหวของ คาดิอาทู และคุณพ่ออัล ชาร์ปตัน เองก็กลับกลายเป็นบทละครอันยอดเยี่ยมของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปที่หิวกระหายเรื่องราวที่เต็มไปด้วยดราม่านี้ เราจึงได้เห็นการนำเสนอข่าวประเด็นดังกล่าวแทบจะตลอดเวลา
สถานการณ์ระหว่างผู้ประท้วงและรัฐบาลเริ่มตึงเครียด เริ่มมีการจับกุมผู้เข้าร่วมประท้วงที่ก่อความเสียหายสถานที่รัฐ หลังความโกรธแค้นของฝ่ายประชาชนและผู้ประท้วงเริ่มถูกปลุกเร้า ด้วยการพาดหัวข่าวของสื่อมวลชนที่เต็มไปด้วยอารมณ์ เช่น “สังหารชายไม่มีอาวุธอย่างเลือดเย็น” และ “ยิง 41 นัด” จนกระทั่งวันที่ 25 มีนาคม 1999 เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายก็ถูกนำตัวไปพิจารณาคดีข้อหาฆาตกรรม และอาจต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวกลับตาลปัตร เมื่อทนายฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายเกรงว่า ลูกความของพวกเขาจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการไต่สวนที่นครนิวยอร์ก เนื่องจากมีแรงกดดันมหาศาลของมวลชนที่โกรธแค้นและการนำเสนอข่าวที่เอนเอียนไปทางฝั่งผู้เสียชีวิต การพิจารณาคดีจึงถูกย้ายไปไต่สวนที่ อัลเบอร์นี (Alberny) เมืองที่มีความอนุรักษนิยมมากกว่าแทน
แน่นอนว่า การย้ายสถานที่ไต่สวนความผิดของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวออกจากพื้นที่ที่ประเด็นปัญหาความรุนแรงทางสีผิวรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐ ณ ขณะนั้น ไปในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวผิวขาว กลายเป็นเชื้อไฟที่โหมความโกรธแค้นให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ในท้ายที่สุด สารคดีก็พาผู้เขียนเข้าไปนั่งฟังคำพิพากษาพร้อมกับแม่ของอามาดูในศาลเมืองอัลเบอร์นี และพาผู้เขียนดิ่งไปกับความรู้สึกผิดหวังรุนแรงเมื่อ ศาลพิจารณาว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวทั้ง 4 นายนั้น “ไม่มีความผิด”
กล่าวได้ว่า สารคดีนี้สามารถทำให้ผู้เขียนเข้าใจความโกรธแค้นและปัญหาความรุนแรงทางสีผิวในสหรัฐได้ชัดเจนมากขึ้น ผ่านเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากอคติทางเชื้อชาติและสีผิวที่น่าเศร้าใจที่สุด อย่างไรก็ตาม ตอนท้ายของสารคดี ก็ฉายให้เห็นภาพของ คาดิอาทู แม่ของอามาดู ที่ยังคงพูดอย่างมีความหวังว่า เธอขอบคุณทุกคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของลูกชายและยืนหยัดในความเท่าเทียมของชีวิตเคียงข้างกับเธอมาโดยตลอด และเธอจะยังคงยืนหยัดที่จะพูดถึงปัญหาความรุนแรงทางสีผิว การเหยียดเชื้อชาติ และการเลือกปฏิบัติตลอดไป เพราะเธอเชื่อว่า นี่คือภารกิจของเธอที่ช่วยให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเสียที หลังจากมันได้พรากชีวิตลูกชายของเธอไปตลอดกาล และพรากชีวิตของคนอื่น ๆ รวมไปถึง จอร์จ ฟลอยด์ ด้วยเช่นกัน
กระแส ‘Black Lives Matter’ ที่กำลังร้อนแรงไปทั่วโลกในขณะนี้ สะท้อนให้ว่า พวกเขาจะไม่อดทนต่อความอยุติธรรมและความรุนแรงทางเชื้อชาติ และพวกเขาจะไม่รีรอที่จะส่งเสียงและส่งต่อเรื่องราวที่พวกเขาเคยประสบให้สังคมรับรู้อีกต่อไป โดยการประท้วงในครั้งนี้ โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นเครื่องมือหลักในการเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้ทุกคนสามารถเขียนเรื่องราวผ่านมุมมองของตนเองได้อย่างอิสระ ทุกคนจึงกลายเป็น ‘กระบอกเสียง’ ของตัวเองโดยสมบูรณ์ และทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ถูกขับเคลื่อนด้วยความโกรธแค้นที่สะสมมาเป็นเวลานาน
แต่ประเด็นสำคัญอีกประเด็นที่สารคดีนี้ฉายให้เราเห็น คือ ความขัดแย้งระหว่างผลตัดสินของศาลกับความคาดหวังของประชาชน เมื่อท้ายที่สุด ระบบยุติธรรมไม่อาจเป็นที่พึ่งได้ในสายตาของประชาชน เพราะศาลไม่อาจตัดสินให้ผลออกมาตามความคิดเห็นของคนหมู่มาก ประเด็นนี้จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องชวนถกเถียงกันต่อ ทั้งในประเด็นการใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และการวางตัวของศาลที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน
กล่าวได้ว่า สารคดีนี้สามารถทำให้ผู้เขียนเข้าใจความโกรธแค้นและปัญหาความรุนแรงทางสีผิวในสหรัฐได้ชัดเจนมากขึ้น ผ่านเหตุการณ์ที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากอคติทางเชื้อชาติและสีผิวที่น่าเศร้าใจที่สุด และชวนให้ผู้เขียนได้กลับมาทบทวนบทบาทของกระบวนการยุติธรรมและสื่อมวลชนในปัจจุบัน
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ
- เมื่อป๊อปคัลเจอร์เกาหลีบุกอเมริกา – การเดินทางของคลื่นวัฒนธรรมสู่โลกตะวันตก
- ชวนดู 5 สารคดีดีไซน์ฟรีจาก Gary Hustwit ผู้สร้างสารคดี Helvetica อันโด่งดัง
- 5 รายการพาเที่ยวรอบโลกแม้คุณจะ Stayhome อยู่ก็ตาม
เรื่อง : Creative Talk