5 วิธีรับมือกับคนล้ำเส้น

Last updated on พ.ค. 8, 2023

Posted on มี.ค. 29, 2022

หากเจอคนล้ำเส้น ไม่ว่าจะเป็นการล้อเลียน พูดคำหยาบ แสดงอาการไม่ให้เกียรติ คุณจะทำอย่างไร 

เดินไปตบหน้าอีกฝ่ายเลย
ต่อว่าอีกฝ่ายอย่างเจ็บแสบ
หรือเดินหนี

ไม่มีใครอยากเจอกับคนล้ำเส้น แต่ข้อมูลจาก Harvard Business Review ปี 2020 พบว่า คนมากกว่า 98% พบพฤติกรรมไม่น่ารักในที่ทำงาน เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับคนประเภทนี้ เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมอารมณ์และสติ วันนี้เรามี 5 เทคนิคในการรับมือกับคนที่ไม่ให้เกียรติเราอย่างมืออาชีพ 


เข้าใจว่าการล้ำเส้นไม่ใช่เรื่องใหม่

การล้ำเส้นเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์เราถกเรื่องนี้กันตั้งแต่ยุคโบราณ แม้กระทั่ง Plato เองก็เคยบ่นเรื่องคนรุ่นใหม่ที่ไม่ให้เกียรติหรือแสดงพฤติกรรมแย่ๆ หลายๆ ครั้ง พฤติกรรมหยาบคายเหล่านี้กลายเป็นนิสัยได้โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ และหลายๆ ครั้งเราลืมวิธีการแสดงความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ หรือ ความเข้าใจซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม หากเราเห็นพฤติกรรมลบๆ เหล่านี้แล้วมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ความสุข และสุขภาพทั้งกายและใจของเรา เรามีแนวโน้มที่จะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้นโดยธรรมชาติเช่นกัน แต่นั่นไม่ได้แปลว่าถ้าเราเจอพฤติกรรมไม่ให้เกียรติแบบนี้ แล้วเราจะปล่อยให้มันดำเนินต่อไปและรอให้มันจบไปเอง 


หยุดวงจรการล้ำเส้นด้วยความเข้าใจ

พฤติกรรมล้ำเส้นสามารถติดต่อกันได้เหมือนโรค หากปล่อยไว้ หนึ่งพฤติกรรมที่ไม่น่ารักจะส่งต่อเป็นพฤติกรรมที่ไม่น่ารักต่อๆ ไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คุณเจอคนขับรถไร้มารยาทปาดหน้าคุณ ทำให้คุณรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจ คุณอาจเก็บเอาอารมณ์ขุ่นมัวนี้ไว้ และไประเบิดอารมณ์ใส่เพื่อนร่วมของคุณที่อาจสร้างความไม่พอใจแค่เพียงเล็กน้อย จากนั้นเพื่อนร่วมงานคนนั้นก็เกิดอารมณ์ไม่ดีเพราะการระเบิดอารมณ์ของคุณ และส่งต่อความขุ่นเคืองนี้ไปยังเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ต่ออีก 

ดังนั้นคุณสามารถหยุดวงจรนี้ได้ด้วยการเพิ่มความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายสักนิด หากคุณสามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจว่าคุณเข้าใจและแคร์อีกฝ่าย เขาอาจรู้สึกเชื่อมโยงกับคุณและรู้สึกว่าเขาไม่ได้กำลังเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป การที่คุณเข้าใจเขาอาจทำให้เขาเริ่มเอะใจถึงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของตัวเองก็ได้


อย่าเก็บเอาการล้ำเส้นมาใส่ใจ

สิ่งแรกที่เราต้องคิดโดยอัตโนมัติเมื่อมีคนล้ำเส้นเราคือ อย่าถือเอามาเป็นเรื่องส่วนตัว อย่าลืมว่าเราทุกคนต่างก็ต้องมีวันแย่ๆ กันบ้าง และเวลาเกิดเหตุการณ์แย่ๆ เราก็มักจะเอาคืนด้วยการแสดงอาการเกรี้ยวกราดหยาบคายใส่คนใกล้ตัวในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์แย่ๆ นั้น ปล่อยผ่านมันเสีย ให้เวลาเขาได้ไตร่ตรองสติและอารมณ์ของตัวเองก่อน อย่าเพิ่งรีบตอบโต้ด้วยการสาดเรื่องลบกลับ เพราะมันจะเป็นการสุมไฟให้สถานการณ์เลยเถิดไปกว่าเดิม อีกอย่างคุณเองจะเป็นฝ่ายที่ดูไม่ดี หากคุณไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ 


พูดตรงๆ กระตุ้นให้อีกฝ่ายเห็นพฤติกรรมของตัวเอง

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยหยุดวงจราการล้ำเส้น คือ ชี้แจงให้อีกฝ่ายเห็นเลยว่าเขากำลังแสดงพฤติกรรมแบบใดอยู่ และบอกให้เขาหยุดพฤติกรรมนั้นเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคนนั้นยังคงแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ใส่คุณเป็นประจำ คุณยิ่งต้องบอกเขาตรงๆ ให้เขาเห็นพฤติกรรมของตัวเอง จากนั้นบอกความรู้สึกของคุณต่อพฤติกรรมนั้น หากไม่แน่ใจ ลองถามกลับเพื่อรีเช็คว่าสิ่งที่เขาแสดงออกหรือพูดนั้นตรงกับที่คุณเข้าใจหรือไม่ อย่าลืมแจ้งว่าหากเขายังทำพฤติกรรมแบบนี้ต่อไป คุณจำเป็นต้องแจ้งหัวหน้าของเขา แสดงจุดยืนที่ชัดเจน อย่าปล่อยให้พฤติกรรมแย่ๆ นั้นไปต่อ เพราะทุกคนสมควรได้รับการให้เกียรติ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหนก็ตาม


หลีกเลี่ยงคนล้ำเส้น

หากทำทุกวิถีทางแล้วไม่ได้ผล บางทีการเดินหนีอาจเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากคุณทำให้อีกฝ่ายเห็นพฤติกรรมไม่น่ารักของเขาแล้ว แต่เขายังไม่สนใจ และคุณก็แสดงความเห็นอกเห็นใจมองจากมุมของเขาแล้ว นั่นแปลว่าคงเป็นสิ่งที่เขาแก้ไม่ได้ และไม่อยากแก้ การหลีกเลี่ยงคนที่ล้ำเส้นคนอื่นเป็นประจำ คือ คุณจะต้องไม่ให้ค่าคนประเภทนี้ หากคนรอบตัวเริ่มสุงสิงกับเขาน้อยลง เขาอาจเริ่มรู้ตัวเอง 


สุดท้ายแล้วสิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือกับการโดนคนล้ำเส้น คือ การควบคุมสติอารมณ์ของตัวเราเอง การดึงตัวเองให้ช้าลงและคิดถึงผลลัพธ์ให้มากกว่าแค่ระบายอารมณ์ออกไปทันที เพราะทุกครั้งที่เกิดการเผชิญหน้าแบบนี้ เราสามารถเลือกได้ว่าจะตอบโต้ให้สาแก่ใจเพียงชั่วคราว แต่ต้องเสีย ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ หรือ อาจจะตำแหน่งงานไปเลย หรือจะเลือกการโดนกระทบจิตใจเพียงไม่กี่นาที แต่คุณได้รักษาความสงบสุขทางใจ รวมถึงสิ่งอื่นๆ ในได้ระยะยาว ก็สุดแล้วแต่คุณจะเลือก 


ที่มาของข้อมูล

trending trending sports recipe

Share on

Tags