เมื่อโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” อย่างเต็มตัว

Last updated on พ.ค. 10, 2023

Posted on ส.ค. 22, 2022

โอกาสใหม่ที่เหล่า Startup และ SME ควรจับตามอง

KATALYST TALK กับหัวข้อ “Aging Society ช่องทางธุรกิจที่ไม่โรยรา” ในคราวนี้ซึ่งได้รับเกียรติจาก คุณหมอตั้ม หรือ นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ CEO บริษัท Health at home ที่เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกทำธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุโดยตรง มาร่วมแบ่งปันมุมมองว่าทำไมถึงสนใจตลาดนี้ รวมถึงแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการมุ่งเป้าตลาดผู้สูงวัย


“กลุ่มผู้บริโภควัยเกษียณที่มั่งคั่ง” 

คุณหมอตั้มเล่าว่าความน่าสนใจของกลุ่มผู้สูงอายุ คือมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา กลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านคนเป็น 12 ล้านคน เพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาขึ้น ทำให้อายุขัยโดยเฉลี่ยยืนยาวขึ้น ในขณะเดียวกันอัตราการเกิดกลับลดลง ดังนั้นภายในปี 2030 กลุ่มวัยเกษียณอย่าง Baby Boomer จะกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม แถมยังเป็นกลุ่มคนที่มีทรัพย์สินมากที่สุดด้วย


สุขภาพและผู้สูงอายุ

การเติบโตของกลุ่มวัยเกษียณ คือ โอกาสในการทำธุรกิจมหาศาล เพราะปัจจุบันโครงสร้างทางสังคมยังไม่มีการรองรับอย่างเหมาะสม รัฐบาลยังไม่มีแผนที่ชัดเจนในการดูแลและจัดการกับคนกลุ่มนี้ ทำให้เอกชนสามารถคว้าโอกาสนี้เพื่อทำธุรกิจได้ง่ายๆและนั่นเป็นที่มาของธุรกิจ Health at Home ธุรกิจที่ผนวกเอาเทคโนโลยีมาตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยวัยเกษียณแบบใกล้ชิด ในขณะที่ผู้ป่วยเองก็สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสบายใจที่สุดได้ 

แต่ความยากของกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุโดยเฉพาะในธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ คือ มีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน เพราะส่วนใหญ่คนที่เสียเงินซื้อบริการไม่ใช่ผู้สูงอายุเอง ทำให้ผู้ให้บริการต้องสื่อสารหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นคนที่จ่ายเงิน (ลูกหลาน) ผู้รับบริการ (ผู้สูงอายุ) และคนใกล้ชิด (คนที่ดูแลผู้สูงอายุอยู่แล้ว เช่น ญาติ หรือ แม่บ้าน) 

ความซับซ้อนของการให้บริการยังรวมไปถึงการพยายามจับคู่ผู้สูงอายุ กับ ผู้ดูแลที่ทาง Health at Home ส่งไปด้วย เนื่องจากมีรายละเอียดปลีกย่อยค่อนข้างเยอะ เช่น อาการป่วยของผู้สูงอายุ กับ ทักษะที่ผู้ดูแลมี การสื่อสารอย่างเหมาะสม ลักษณะนิสัย รวมถึงสภาพแวดล้อมของบ้านผู้สูงอายุ อย่างเลี้ยงสัตว์ไหม ผู้ดูแลแพ้หรือกลัวสัตว์เลี้ยงบางประเภทหรือเปล่า 


โอกาสทางธุรกิจกับตลาดผู้สูงอายุด้านอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอตั้มแนะนำว่า ช่องทางในการทำธุรกิจของกลุ่มผู้สูงอายุไม่ได้จำกัดแต่เรื่องทางการแพทย์หรือสุขภาพเท่านั้น เพราะคนที่ต้องการการพึ่งพิงหรือเจ็บป่วยนั้นมีเพียง 5 – 10% เท่านั้น ผู้สูงอายุอีกกว่า 90% ยังเป็นคนสุขภาพดีและแข็งแรง เป็นกลุ่มคนที่มีทั้ง “เวลา” “เงิน” และ “แรง” 

เราต้องเข้าใจก่อนว่าลักษณะของผู้สูงอายุรุ่นใหม่ไม่ใช่แบบพิมพ์นิยมที่เราเคยวาดภาพไว้ว่า ผู้สูงอายุจะต้องนั่งเก้าอี้โยก รำไทเก๊กที่สวนลุม แถมยังโลว์เทค  ความจริงคนกลุ่มนี้ก็คือ คนที่มีรสนิยมความชอบที่หลากหลาย มีไลฟ์สไตล์แตกต่างกันไป เพียงแค่อายุเยอะเท่านั้น ใครที่อยากทำธุรกิจกับคนกลุ่มนี้ สามารถเจาะกลุ่มเฉพาะหาสิ่งที่พวกเขาชอบ และพยายามสังเกตการใช้ชีวิตของผู้สูงวัยแบบที่พวกเขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่แค่ที่เราคิดเอาเอง เพื่อหา Customer Insight แบบใกล้ชิด ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุรุ่นใหม่


สุดท้ายแล้วคุณหมอตั้มเน้นย้ำว่าช่องทางในการทำธุรกิจกับกลุ่มคนวัยเกษียณยังมีอีกมากมายรอให้คนที่มีไอเดียเข้าไปเติมเต็มความต้องการของพวกเขา ที่สำคัญเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังทรัพย์มากเสียด้วย ดังนั้นใครสามารถคว้าโอกาสนี้ไปก่อน ย่อมครองตลาดใหญ่ในอนาคตนี้ได้แน่นอน 


เรื่อง: แพรว – ณัฐธยาน์ รุ่งรุจิไพศาล นักเขียนตัวเปี๊ยกหัวโต ผู้รักสัตว์เป็นชีวิตจิตใจ วิ่งไล่ผีเสื้อในทุ่งลาเวนเดอร์
trending trending sports recipe

Share on

Tags