ทำความรู้จัก 5 ศิลปินระดับโลกที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ

Last updated on ก.ค. 1, 2020

Posted on ก.ค. 2, 2020

อีกหนึ่งงานที่พลาดไม่ได้สำหรับนักวาดและผู้ที่สนใจในโลกของศิลปะกับการกลับมาอีกครั้งของนิทรรศการ Bangkok art Biennale นิทรรศการศิลปะระดับโลก ครั้งนี้มาในธีม Escape Routes โดยมีศิลปินจากทั่วโลกรวมถึงไทยเข้าร่วมกว่า 82 คน ซึ่งผลงานจะจัดแสดงกระจายตามจุดทั่วกรุงเทพฯ โดยนิทรรศการจะเริ่มขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ก่อนชมงานนิทรรศ เราอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับศิลปินทั้ง 5 คนที่น่าจับตามองกับการเข้าร่วมงานครั้งนี้กัน

1. อนิช คาพัวร์ (Anish Kapoor)

อนิช คาพัวร์ ศิลปินสาขาประติมากรรมชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียผู้หลงใหลกับความไม่มีที่สิ้นสุดและสีดำ เขามีผลงานเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก งานส่วนใหญ่ของคาพัวร์เป็นงานประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ และคอนเซปต์ชวล (Conceptual)  และยังเป็นคนเดียวที่มีสิทธิ์ในการใช้ สีดำ Vantablack ที่เดิมที่เป็นสีที่ใช้ในการสำรวจทางอวกาศและการทหาร ซึ่งถือว่าเป็นสารสีดำที่ดำที่สุดในโลก ใกล้เคียงกับหลุมดำที่สุด คาพัวร์ใช้สีดำนี้สร้างผลงานศิลปะและจัดแสดงหลายครั้ง  ผลงานสำคัญที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ Cloud Gate (2004-2006) ประติมากรรมขนาดใหญ่มันวาวราวกับกระจกทำจาก
สเตนเลสที่เชื่อมติดกัน สูงประมาณ10 เมตร มีลักษณะคล้ายเม็ดถั่ว จัดแสดงอยู่ที่สวนสาธารณะ Millennium Park ในชิคาโก

Cloud Gate 2004-2006
Cloud Gate 2004-2006

ด้วยขนาดที่ใหญ่และผิวมันวาว สะท้อนภาพผู้คนและทัศนียภาพรอบด้านของชิคาโกทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นจุดดึงดูดผู้คนถ่ายภาพ และตัวพื้นผิวยังทำให้รู้สึกเพลิดเพลินกับการรับรู้ที่ถูกบิดเบือนผ่านภาพสะท้อน คาพัวร์มักเป็นศิลปินที่ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างงานเสมอ ซึ่งแนวคิดของ Cloud Gate เกี่ยวกับเรื่องกระจกและเลนส์ที่เกี่ยวกับการมองเห็น ทำให้เราเห็นทั้งความจริงและสิ่งที่บิดเบือน นั่นจึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาสร้างประติมากรรมชิ้นนี้ให้มีความโค้งเว้าขึ้นมา เปลี่ยนมุมมองของผู้คนกับบริบทรอบตัว สะท้อนสิ่งที่อยู่ไกลออกไปให้ปรากฏอยู่เบื้องหน้าพวกเขาเหล่านั้นได้ 

2. โฮ รุย อัน (Ho Rui An)

โฮ รุย อันเป็นศิลปินชาวสิงคโปร์ และนักเขียนที่ทำงานในบริบทของศิลปะร่วมสมัย ทั้งภาพยนตร์ การแสดงสดและแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎี มีความสนใจเรื่องของ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สังคม การเมือง ที่มีการหมุนวนและหายไป ในโลกโลกาภิวัตน์ 

Screen Green (2015-2016)
Screen Green (2015-2016)

ด้วยผลงานที่เเฝงเเนวคิดและประเด็นไว้อย่างเเยบยลทำให้โฮ รุย อัน เป็นที่จับตามองในเวทีนานาชาติ ผลงานบางส่วนที่น่าสนใจของเขา เช่น Screen Green (2015-2016) ที่ศิลปินทำการแสดงการกล่าวปราศรัย  (performance) เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียว ธรรมชาติจำลอง และกระบวนการคิดเชิงออกแบบ(Design Thiking) นโยบายของรัฐบาลในประเทศสิงคโปร์ที่จะแก้ไขเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชนภายในประเทศ  โดยเขาทำการปราศรัยและเลียนแบบลักษณะและวิธีกล่าวคำบรรยายจาก ลี เซียน ลุง  (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยมีพื้นหลังสีเขียว (green screen) และพืชพรรณเป็นฉากหลัง ซ่อนนัยสำคัญที่เขาต้องการสื่อว่า พื้นที่สีเขียวในประเทศสิงคโปร์ส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นเองโดยมนุษย์ ถูกจำลองขึ้นมา เพราะในประเทศสิงคโปร์ไม่มีพื้นที่ที่เป็นป่าหรือธรรมชาติ จริงๆ ทุกอย่างถูกสร้างและตกแต่งขึ้นมาใหม่หมด เนื่องด้วยประเทศสิงคโปร์มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ เพื่อสร้างภาพลักษณะที่ดีของประเทศ จึงต้องสร้างภาพลักษณ์ที่สมบูรณ์ มายาคติในงานนี้คือความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในภูมิประเทศ การพยายามผลักดันให้เป็นประเทศที่เจริญแล้ว และความต้องการมีพร้อมในทุกๆ ด้าน แต่ด้วยความจำกัดทางภูมิศาสตร์ที่ต้องจำลองทุกสิ่งขึ้นมา และทำให้ทุกคนเชื่อว่าสิ่งนั้นคือความจริง

3. ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija)

ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินชาวไทย ที่เป็นที่รู้จักในการทำงานลักษณะศิลปะร่วมสมัยและการใช้สื่อหลากหลายประเภทสำหรับจัดแสดงผลงานอย่างไม่จำกัด ตั้งแต่ศิลปะการแสดง (Performance) ศิลปะการจัดวาง (Installation) โดยงานของฤกษ์ฤทธิ์ที่โดดเด่นคือ เขาจะมุ่งเน้นการแสดงผลงานที่ให้ผู้คนมีส่วนร่วมกับงานชิ้นนี้ และนิทรรศการที่เป็นที่พูดถึงก็คือ “ผัดไทย(1990)” ศิลปะที่กินได้ จัดแสดงที่หอศิลป์พอลลา อัลเลน (Palla Allen Gallery) โดยเขายกครัวเข้าไปในแกลเลอรี ทำผัดไทยให้คนที่มาชมงานกินฟรี แน่นอนว่าในนั้นไม่มีอะไรนอกจากแกลเลอรี่ ครัวที่ถูกยกมา ตัวเขาที่กำลังทำผัดไทยแจกผู้ชม ซึ่งผัดไทยนั้นคืองานศิลปะของเขานั่นเอง

"ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)", ภาพโดย Voraphat Kharanant
“ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)”, ภาพโดย Voraphat Kharanant

ผู้ที่เข้ามาชมงานก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของงานศิลปะของเขา  นอกจากงานนั้น มีอีกหลายชิ้นที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน และเมื่อปี 2019 ฤกษ์ฤทธิ์ได้ยกครัวของเขาไปจัดแสดงอีกครั้งในชื่อ “ไม่มีชื่อ 2547 (ต้มข่าไก่, เจ็ดเซียนซามูไร) (2562)” ในนิทรรศการ “ปฏิบัติการศิลปะไทยร่วมสมัยใน “รอยแยก” RIFTS: Thai contemporary artistic practices in transition, 1980s – 2000s” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC)

รูปแบบงานศิลปะของเขาเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างศิลปินและผู้ชมงานในสถานการณ์ที่ฤกษ์ฤทธิ์สร้างขึ้น นำกิจวัตรประจำวันที่เราคุ้นเคย มานำเสนอในรูปแบบงานศิลปะการแสดงสด คนชมงานมีส่วนร่วม ได้สัมผัสกับงานนั้น เป็นการรับประทานอาหารร่วมกันของกลุ่มคนที่มาชมงาน ทำให้เกิดการพูดคุยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ลดช่องว่างของงานศิลปะกับคนดู ฤกษ์ฤทธิ์มองว่าการทำอาหารก็เป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ความชำนาญ ทำให้ผู้คนรู้สึกอิ่มเอม พึงพอใจกับรสชาติอาหาร งานศิลปะที่ทำให้ผู้คนรู้สึกอิ่มเอมและได้รับสุนทรียก็ไม่ต่างกัน ทุกอย่างล้วนเป็นศิลปะเหมือนกัน  

4. โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono)

หลายคนคงคุ้นเคย และได้ยินชื่อศิลปินหญิงชาวญี่ปุ่นคนนี้กันมาบ้าง ด้วยรูปแบบงานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการแสดงสด ดนตรี คอนเซปต์ชวลอาร์ต แม้แต่วรรณกรรม ที่ได้รับความนิยมและการยอมรับอย่างกว้างขวาง งานศิลปะชิ้นสำคัญของโอโนะคือ “Cut Pice(1964)” โดยเธอนั่งเฉย ๆ ให้ใครก็ได้ที่มาร่วมชมงาน สามารถตัดชิ้นส่วนเสื้อผ้าของเธอทีละนิดจนเหลือเพียงร่างกายเปลือยเปล่า ชิ้นส่วนเสื้อผ้านั้นก็เป็นของที่ระลึกที่ผู้ชมจะได้มันไป

Cut pice (1964)

ระหว่างทำการแสดงสดเธอได้สังเกตพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาหาเธอ บ้างก็มีอาการลังเล ค่อยๆ ตัดชิ้นส่วนเสื้อผ้าทีละนิดจากแขนเสื้อหรือชายกระโปรง แต่บางคนกลับมุ่งเข้ามาดึงเสื้อที่ปิดส่วนด้านหน้า และตัดสายชั้นในของเธอ โดยที่ตัวโอโนะยังคงแสดงสีหน้าอาการที่เรียบเฉยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการแสดงนี้ ซึ่ง Cut pice เป็นงานที่ขึ้นอยู่กับผู้ชมและการปฏิบัติตามคำแนะนำ โยโกะ โอโนะ ต้องการสื่อถึงความเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์ สิทธิที่พึงมี และการให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วมกับศิลปะของเธอ ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญเเละเป็นศิลปินคนแรกๆในการบุกเบิกงานศิลปะที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม

นอกจากนี้ยังเเฝงความหมายเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องเพศและสตรีนิยม การถูกคุกคามของบุคคลสาธารณะ(ในที่นี้คือตัวเธอเอง) ผลงานชิ้นนี้ถูกยอมรับว่าเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะแฟมินิสต์ ปัจจุบันเธอยังคงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ดนตรีและภาพยนตร์ ทั้งยังผลักดันโครงการ Imagin place อย่างต่อเนื่องในการเรียกร้องสันติภาพ 

5. เดน มิทเชลล์ (Dane Mitchell)

เดน มิทเชลล์ ศิลปินชาวนิวซีเเลนด์ ผู้ตั้งคำถามกับวัตถุผ่านงานศิลปะ วัฒนธรรมและผู้คน เชื่อมโยงความเชื่อกับการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส ลบภาพเดิมและการรับรู้ด้วยตาเพียงอย่างเดียว เปิดประสาทสัมผัส เกิดเป็นประสบการณ์และจินตนาการใหม่กับวัตถุที่ถูกเปลี่ยนสถานะไปจากเดิม

ผลงานล่าสุดของเขาที่เพิ่งจัดแสดงไปอย่าง “Iris, Iris ,Iris(2017) เป็นผลงานศิลปะที่เกิดจากการวิจัยเกี่ยวกับธูปหอมดั้งเดิมของของญี่ปุ่น วิเคราะห์ผลที่เกิดทางวิทยาศาสตร์และกลิ่นหอมที่หลากหลาย ชื่อผลงานเป็นการเล่นคำว่า Iris ในหลากหลายความหมาย เป็นกุญเเจสำคัญที่แฝงนัยเกี่ยวกับการรับรู้ผ่านสายตาและเชื่อมโยงถึงการได้กลิ่นและโยงไปถึงตำนาน ความเชื่อ และวัฒนธรรม ห้องจัดแสดงงานถูกเซตติ้งขึ้นมาคล้ายกับห้องแล็บ วัสดุเช่น ธูป น้ำหอม ถูกผสมรวมกับองค์ประกอบอื่น เกิดการรับรู้ผ่านภาพชุดใหม่ Iris จึงเปรียบเหมือนการรับรู้ของดวงตา รูรับแสงของกล้อง เทพธิดากรีก รวมถึงในวัตถุต่างๆ ที่เกี่ยวกับความหมายของคำว่า Iris อย่างร่มดั้งเดิมของญี่ปุ่น  (Janome) ที่สร้างโดยช่างฝีมือของญี่ปุ่นเลียนแบบดอกไอริส ความหมายที่หลากหลายนี้ล้วนปรากฏอยู่ในงานของเขาและเชื่อมโยงผ่านการรับรู้ทั้งสิ้น มิทเชลล์ใช้แก๊ส โครมาโทกราฟี (Chromatoghaphy) เป็นเทคนิคสำหรับการผลิตเครื่องหอม ในโดมแก้วล้อมรอบ “ไอริส” เพื่อสร้างกลิ่นหอมขึ้นมาใหม่ให้วัตถุรอบด้าน วัดปริมาณกลิ่นที่มองไม่เห็นล้อมรอบดอกไอริส 

Iris Iris Iris 2017
Iris Iris Iris 2017

ศิลปินทั้ง 5 คนที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งที่เราสนใจและอยากแนะนำทำความรู้จักคร่าวๆ โดยงานครั้งแรกที่จัดขึ้น ปี 2560 มีแนวคิด สุขสะพรั่งพลังอาร์ต สร้างความประทับใจและตื่นตาตื่นใจกับงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อนของศิลปินจากทั่วโลก กระจายตามจุดต่าง ๆ ถึง 20 จุด ในกรุงเทพฯ ไม่ต้องบินไปดูงานไกลถึงต่างประเทศ ครั้งนี้จึงเป็นอีกครั้งที่พลาดไม่ได้ โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2563- 31 มกราคม 2564 สายอาร์ตและผู้ที่สนใจในงานศิลปะไม่ควรพลาดประสบการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง 

อ้างอิงเพิ่มเติม 

เรื่องและภาพ : สุธาทิพย์ อุปสุข

trending trending sports recipe

Share on

Tags