รวมคำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ agency จาก Mentoring Session งาน CTC2020

Last updated on ก.พ. 11, 2020

Posted on ก.พ. 4, 2020

ผมได้รับโอกาสให้เป็นหนึ่งใน mentor ในงาน Creative Talk Conference 2020 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้าวันงาน ทางทีมงาน CTC จะเปิดให้ผู้ที่มีบัตรเข้างานสามารถลงทะเบียนเพื่อขอเข้า mentoring session ได้ครับ และเนื่องจากเวลาที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถรับคนที่สมัครเข้ามาได้ทั้งหมดและจำเป็นต้องเลือกจากคำถามที่ส่งมาให้ล่วงหน้า ซึ่งในวันจริงเองนั้นจากคำถามที่ส่งมาเบื้องต้นได้ถูกต่อยอดไปยังคำถามที่เกี่ยวข้องต่อไปและเกิดบทสนทนาดี ๆ มากมาย เนื่องจากผมเห็นว่าหลาย ๆ คำถามและคำแนะนำที่ผมให้ไปนั้น น่าจะมีประโยชน์กับหลาย ๆ ท่านที่อ่านเว็บไซต์ Creative Talk Live โดยเฉพาะกับคนที่กำลังตั้งตัวเป็นเจ้าของกิจการและคนที่อยู่ในแวดวง agency ครับ ในบทความนี้จึงสรุปเรื่องที่น่าสนใจมาแบ่งปันให้กับผู้อ่าน Creative Talk Live ทุกคนครับ

1. รีบขยายทีมหรือหา outsource เมื่องานเริ่มล้นมือ (สำหรับธุรกิจ agency)

ถือว่าเป็นปัญหาคลาสสิคเลยทีเดียวครับสำหรับธุรกิจให้บริการรับจ้างแบบ agency แต่ก็เรียกได้ว่าเป็น “happy problem” นะครับ มีงานเยอะจนทำไม่ทัน ดีกว่านั่งตบยุงแล้วไม่มีงานเลย เมื่องานเริ่มล้นจนทำไม่ทันอย่างต่อเนื่องแล้ว มาถึงจุดที่เราต้องเริ่มตัดสินใจว่าจะขยายทีมเพื่อรองรับงานดีหรือจะว่าจ้าง outsource/freelance เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายดี ทั้งสองทางต่างมีข้อดีข้อเสียครับ ขึ้นอยู่กับว่ารูปแบบการทำงาน ความซับซ้อนของงาน ราคาและระยะเวลาในการทำงานเป็นอย่างไร แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีข้อที่ควรรู้ดังนี้ครับ

ทางเลือก 1 : ขยายทีม !

ข้อดี 🙂

  • สามารถควบคุมงานได้เต็มที่ 100% โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพและ timeline
  • สร้างโอกาสให้เติบโตและต่อยอดได้อีกในอนาคต จากประสบการณ์เคยมีหลาย ๆ ครั้งที่ตัดใจจ้างทีมเพิ่ม ทั้งที่ยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าการเพิ่มคนในช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นผลดีในระยะยาวไหม แต่กลับกลายเป็นว่า พอมีตำแหน่งใหม่นั้นขึ้นมาจริง ๆ งานที่ตำแหน่งดังกล่าวรองรับก็เข้ามาเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนที่ยังไม่มี อาจจะเป็นเพราะความกดดันที่ต้องหางานมาคุ้มค่าใช้จ่ายหรือความมั่นใจที่สื่อออกไปเพราะทีมเราพร้อม เราก็ได้งานมาเพิ่มขึ้นจริง ๆ

ข้อเสีย 🙁

  • มีความเสี่ยงที่เราต้องแบกค่าใช้จ่ายประจำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน

ทางเลือก 2 : จ้าง outsource !

ข้อดี 🙂

  • ถ้าได้ outsource ดี ๆ ที่เราผูกงานด้วยได้ยาว ๆ วิธีนี้ช่วยลดความเสี่ยงในการแบกรับค่าใช้จ่ายจากการจ้างทีมงานประจำ
  • หากเจ้าไหนเริ่มทำงานไม่ถูกใจ เราสามารถเปลี่ยนเจ้าได้ทันทีในงานชิ้นถัดไป (กรณีไม่มีสัญญาว่าจ้างผูกพันตามจำนวนชิ้นงานหรือระยะเวลา)

ข้อเสีย 🙁

  • การได้ outsource ดี ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย (แต่ถ้าเจอแล้วรักษาสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้นะครับ)
  • การควบคุมงานอาจจะไม่ได้ถูกใจเรา 100% ตัวอย่างเช่น ส่งงานไม่ได้คุณภาพแต่ไม่มีเวลาพอแก้ไขแล้ว หรือมีปัญหาในการตามงานยาก
  • หาก outsource ดังกล่าวรับงานตรงกับลูกค้าเจ้าอื่นด้วย และช่วงเวลาการผลิตดังกล่าวตรงกับงานที่เราว่าจ้าง แนวโน้วการลำดับความสำคัญมักจะไปอยู่ที่งานที่ทางนั้นรับตรงก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในเมื่องานนั้นเป็นงานที่เขาต้องรับมือกับลูกค้าตรง

2. การปฏิเสธงานไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ต้องอธิบายเหตุผลและรักษาสัมพันธ์ที่ดีไว้

หากงานเริ่มล้นมือแล้ว แต่เรายังไม่พร้อมขยายทีมและยังไม่อยากฝากความหวังไว้กับ outsource อีกวิธีที่ทำได้คือต้องเรียนรู้ที่จะ “say no” ครับ

หลายคนอาจจะกลัวว่า พอเราปฏิเสธงานแล้วจะเสียชื่อเสียงและลูกค้าคนดังกล่าวหรือคนอื่นจะไม่กลับมาหาเราอีก แต่เชื่อเถอะครับ จริง ๆ แล้วลูกค้าจะรู้สึกดีกว่าด้วยซ้ำที่เราจริงใจบอกไปว่าเราไม่พร้อมที่จะรับงานของเขา เพราะหากรับมาแล้วงานออกมาไม่ดีพอตามคุณภาพที่ต้องการหรือส่งงานไม่ทัน คนที่จะถูกกระทบที่สุดคือตัวลูกค้าเองครับ

เมื่อเราบอกลูกค้าว่าเราไม่พร้อมรับงานนี้ ลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเวลาและสามารถไปหาเจ้าอื่น ๆ ได้ต่อไปครับ หรือถ้าเรามีคนรู้จักที่จะแนะนำได้ ก็เป็นทางออกที่ดีเลย นอกจากนั้นเรายังควรต้องประเมินพลังตัวเองด้วยครับ อย่าโลภมากรับงานเยอะเกินจนไม่มีเวลาพักผ่อน ไม่คุ้มเลยที่เราจะป่วยจากการรับงานล้นพาลจะเสียงานในระยะยาวด้วยครับ 

อย่างไรก็ดี การปฏิเสธงานนั้นควรทำอย่างมีศิลปะและอธิบายเหตุผลให้ชัดเจนดีพอนะครับเพื่อรักษาสัมพันธ์ที่ดีไว้ ถ้างานเราดีจริง ๆ เชื่อเถอะครับว่าครั้งหน้าลูกค้าก็จะยังคิดถึงเราอยู่ สำหรับวิธีปฎิเสธอย่างสุขภาพ ลองฟัง Podcast The Organice ตอนนี้ได้ครับ “ปฏิเสธงานอย่างไรไม่ให้ผิดใจกัน”

3. เรื่องที่ต้องวางแผน หากต้องมีหุ้นส่วน

ตอนที่บริษัทยังไม่มีรายได้มากและต่างคนต่างยังมีภาระไม่มาก เรื่องเงิน (ยัง) ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทุกคนตั้งใจอยากก่อตั้งบริษัท บางคนลงแรงเป็นหลัก หรือบางคนลงเงินเป็นหลัก ตอนบริษัทยังมีรายได้ไม่มากต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ แต่เมื่อไหร่ที่เริ่มมีกำไรมากขึ้น เรื่องเงินเดือน โบนัสและส่วนแบ่งจะมีความละเอียดอ่อนมากขึ้นไปด้วยครับ ทางที่ดีควรจะตกลงกันตั้งแต่เนิ่น ๆ ใครทำอะไรหน้าที่ไหน ค่าตอบแทนจะเป็นอย่างไร การขึ้นเงินตอบแทนต่าง ๆ จะวัดด้วยอะไร ใครได้มากกว่าน้อยกว่าหรือปันผลตามสัดส่วนเงินทุนที่ลงไป เพราะต่อไปจะเกิดความรู้สึกว่าคนนี้ทำเยอะกว่าแต่ได้น้อยกว่า คนนี้ลงเงินอยากเดียวแค่ช่วงแรกแต่หลายปีที่ผ่านมาคนทำงานเป็นหลักเหนื่อยมากกว่าแต่กลับได้เงินน้อยกว่า เป็นต้น 

ดังนั้นจึงจำเป็นมาก ๆ ที่ควรตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษร และระบุทางออกไว้ด้วยกรณีถึงจุดที่ไปกันต่อไม่ได้ครับ หนึ่งในตัวอย่างที่ผมเคยอ่านเจอและคิดว่าเป็นทางออกที่ดีมากคือการใช้วิธีเสนอซื้อหุ้นตามราคาที่ตัวเองต้องการซื้อ ต่างฝ่ายต่างระบุราคาหุ้นที่ตัวเองจะซื้อขึ้นมาทั้งหมดแล้วมาเปิดดูพร้อมกัน ฝ่ายที่เสนอราคาหุ้นที่สูงกว่าต้องเป็นฝ่ายซื้อไปทั้งหมดจากอีกฝ่าย วิธีการนี้ถือว่าแฟร์มากครับ เพราะแน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างอยากขายในราคาที่สูงแต่อยากซื้อในราคาที่ต่ำ การที่ให้ปิดซองเสนอนั่นหมายความว่าราคาหุ้นที่เราเสนอไปต้องเป็นราคาที่เราซื้อไหวด้วย ถ้าราคาที่เราให้ต่ำกว่าอีกฝ่าย เราจะเป็นคนที่ได้ขายหุ้นในราคาที่สูงกว่าที่เราเสนอ วินวินกันไปทั้งหมด แต่แตกหักความสัมพันธ์หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งครับ

4. ข้อแนะนำสำหรับการรับพนักงานคนแรก

ตามตำราหลาย ๆ เล่มระบุเอาไว้ว่า culture หรือวัฒนธรรมองค์กรนั้นสำคัญมาก ๆ การเริ่มรับพนักงานคนแรกจะเป็นการเริ่มการสร้าง culture ของบริษัท เช่น เรายืดหยุ่นแค่ไหนเรื่องเวลาเข้างาน เราเปิดโอกาสให้ Feedback ซึ่งกันและกันหรือไม่แม้กับตำแหน่งที่สูงกว่า เราพูดจากันอย่างไร เราอยู่กันแบบครอบครัว หรือแบบทีมกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมายที่จะกลายเป็น culture ในระยะยาว

ดังนั้นตอนรับพนักงานคนแรกเราควรต้องเริ่มสร้าง culture อย่างที่เราอยากให้เป็นทันที เพราะต่อไปเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีคนมาร่วมเพิ่มขึ้น cutlure ที่เราสร้างไว้กับพนักงานชุดแรก ๆ จะตามไปด้วยเสมอ และตามในหลาย ๆ ตำราอีกเช่นกัน การเปลี่ยน culture นั้นทำได้ยากมาก ๆ ครับ 

5. ในฐานะ agency เล็ก ๆ ที่เพิ่งเริ่มต้น การเป็น specialist จะทำให้เราแตกต่างและแข่งขันได้

ในวงการ agency ยุคนี้ถ้าไม่มีจุดเด่นเลยว่าเราเก่งอะไรที่สุด เราจะอยู่ยากมาก ๆ ครับ ยุคนี้เป็นยุคที่คนเก่ง ๆ ล้วนออกมาทำบริษัทเล็ก ๆ กัน และเน้นงานที่ตัวเองถนัดและเด่นที่สุด การที่ลูกค้ารู้และเข้าใจว่าเราเก่งเรื่องไหนที่สุดจะเป็นประโยชน์ในการที่ลูกค้าเลือกเราทำงานให้พวกเขาในด้านนั้น ๆ วิธีนี้จะช่วยให้เราโฟกัสทิศทางการเติบโตของบริษัทและคัดเลือกพนักงานที่มีทักษะตรงกับความถนัดของบริษัทด้วยครับ ขนาด agency ใหญ่ ๆ ยังต้องทำ Marketing เล่าจุดแข็งของตัวเองเลย ถ้าเราเป็น agency เล็ก ๆ เราก็ควรดึงสิ่งที่เราเก่งที่สุดไปสู้ในตลาดครับ

6. สิ่งที่ควรบอกตัวเองเมื่อมีอุปสรรคเข้ามามากมายทำให้เริ่มท้อและหมดไฟ 

เมื่อไหร่ก็ตามที่หมดไฟและท้อเ พราะปัญหาที่เข้ามามากมายตอนที่บริษัทเราเริ่มใหญ่ขึ้น ให้บอกตัวเองเสมอว่า “Remember why you started”

จงรำลึกว่าทำไมเราเริ่มมันขึ้นมาครับ รับรองได้ว่าสำหรับเจ้าของกิจการทุกคนต้องมีวันที่ท้อแท้บ้าง แล้วถ้าวันไหนหมดไฟจริง ๆ และมีความคิดผุดขึ้นมาว่าอยากเลิก ให้กลับไปรำลึกถึงตอนที่เราออกมาทำบริษัทดูครับ ถามตัวเองอีกครั้งว่า เราทำมันขึ้นมาทำไม แล้วรับรองว่ากำลังใจจะกลับมาพร้อมสู้ต่อครับ 

อีกเรื่องที่ผมแนะนำน้อง ๆ ที่เพิ่งเริ่มทำบริษัทคื อเมื่อเลือกทางเดินนี้แล้วมันจะไม่มีคำว่า “Work-life balance” อีกต่อไปครับ มันจะมีแค่ “Work-life Flow” หรือบางคนก็เรียก “Work-life integration” ในช่วง 5-10 ปีแรก อย่าหวังว่าจะได้พักร้อนอย่างสบายใจไม่คิดเรื่องงาน เมื่อเราเลือกทางเดินนี้ ชีวิตเราจะผูกติดกับงาน 24/7 ครับ แม้ไม่ได้นั่งทำงานแต่เราจะคิดถึงเรื่องงานแทบตลอดเวลา ในฐานะเจ้าของกิจการ มันมีเรื่องที่ต้องคิดต้องทำอยู่ตลอด ยกเว้นว่าเราสร้างบริษัทมาถึงจุดที่ใหญ่มากพอจนมีคนช่วยบริหารพอสมควร ช่วงนั้นเราอาจจะพอหยุดคิดเรื่องงานได้ครับ แต่เชื่อเถอะเมื่อถึงจุดนั้นแล้วมันจะมีเรื่องอื่นตามมาอีกมายมาย อาจจะเป็นไปได้ที่เราจะหยุดพักจากงานแบบ day-to-day แล้วเพื่อให้สมองโล่ง แต่การหยุดพัก ณ จุดนั้นมันจะเป็นการกำเนิดของกลยุทธ์และทิศทางขององค์กรต่อไปนั่นเองครับ

ต้องขอบคุณทีมงาน CTC2020 อีกครั้งที่ชวนไปเป็น mentor นะครับและเชื่อว่าบทความนี้ที่ได้เนื้อหาจาก session ดังกล่าวจะมีประโยชน์กับผู้ประกอบการเริ่มตันทั้งในสายงาน agency และสายงานอื่นต่อไปครับ สู้ ๆ กันในปี 2020 ครับทุกคน!

ภาพประกอบบทความ : Ryan McGuire จาก Pixabay

คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

บทความโดย: คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา
Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

บทความอื่นที่คุณอาจสนใน

อัปเดตทุกเทรนด์ปี 2020 ได้ที่นี่

trending trending sports recipe

Share on

Tags