ปัญหาเงินๆ ทองๆ มักสร้างเรื่องยุ่งๆ ให้เราหัวหมุน ถ้าหากคุณไม่อยากเสียรู้ จำเป็นต้องรู้กฎหมายเอาไว้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของคุณ
CREATIVE TALK by CIGNA ชวน ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX หรือ ‘อาจารย์มิก’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาเปิดห้องยกตัวอย่าง 5 เคสน่าคิด ใครทีมพี่เก่ง ใครตามพี่โจ้ มาดูซิว่าคุณเข้าข้างฝ่ายไหน แล้วเข้าใจถูกๆ ผิดๆ อยู่หรือไม่
คุยสาระสนุก ยกมือนับคะแนนกันสดๆ กับชาว Clubhouse รอบรู้เรื่องกฎหมายใกล้ตัว ทุกๆ 2 ทุ่ม วันพฤหัสบดี ร่วมสร้างสรรค์การไขคดีครั้งนี้โดย Cigna Thailand ประกันภัย “คิดและทำเพื่อชีวิตที่ดีของคุณ”
[แนะนำบทความก่อนหน้านี้: 5 เคสธุรกิจ คุยเรื่องกฎหมายก่อนเปิดบริษัท และสิ่งที่พนักงานก็ควรรู้]
เคสที่ 1. เราสามารถอัดคลิปวิดีโอทิ้งไว้เป็นพินัยกรรมได้รึเปล่า
ใช้เป็นหลักฐานรับมรดกไม่ได้ เนื่องจากตามกฎหมายมรดก (ปรับปรุงล่าสุด พ.ศ.2478) ยังไม่นับการบันทึกภาพและเสียงไฟล์ดิจิทัลเป็นพินัยกรรม จึงไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานเพื่อยืนยันสิทธิ์ในมรดกนั้นได้
เคสที่ 2. สมมติคุณได้รับมรดกตกทอดเป็นทรัพย์สินมูลค่า 10 ล้านบาท และหนี้สินมูลค่า 20 ล้านบาท ทายาทผู้รับมรดกจำเป็นต้องชดใช้หนี้สินทั้งหมดแทนหรือไม่
ทายาทไม่ต้องชำระหนี้แทน เพราะตามกฎหมายไทยทายาทจะใช้หนี้ไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับ นั่นหมายความว่าในกรณีนี้ทรัพย์สินจะถูกยึดและไม่ต้องชำระหนี้สินที่เหลืออีก 10 ล้านบาท นอกเสียจากว่าจะยินยอมเซ็นเอกสารรับสภาพเป็นลูกหนี้กับเจ้าหนี้
เคสที่ 3. ถ้าไม่ได้ทำสัญญายืมคืนเงินกัน มีเพียงข้อความบอกกล่าวผ่าน Social Media เราจะสามารถใช้บทสนทนาเหล่านั้นเป็นหลักฐานแจ้งความ และฟ้องศาลเพื่อบังคับคดีให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้หรือไม่
ได้ หากบริบทของแชตไลน์แสดงให้เห็นว่าอีกฝ่ายยอมรับสถานภาพลูกหนี้ ถ้ายังไม่มีข้อความชี้ชัดในตอนแรก เราสามารถตะล่อมถามให้คู่สนทนาระบุจำนวนเงินที่ยืม และรับปากจะชำระเมื่อใดไว้ให้ชัดเจนตอนที่ยังพอคุยกันได้ และเมื่อเกิดผิดชำระหนี้ตามที่ตกลงกันไว้จริง ก็สามารถรวบรวมหลักฐานที่เคยคุยกันนั้นไปฟ้องร้องได้ และยังสามารถเก็บหลักฐานการใช้ชีวิตอู้ฟู่ของลูกหนี้มาแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้มีกำลังจะชำระหนี้ แต่บ่ายเบี่ยงที่จะชำระคืนมาเป็นหลักฐานสนับสนุนได้ด้วย
เคสที่ 4. ป้ายเตือนในลานจอดรถ แจ้งนโยบายของห้างฯ หรือตึกสำนักงานที่ประกาศว่าจะไม่รับผิดชอบทรัพย์สินและความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนั้น แล้วในทางกฎหมายล่ะว่ายังไง
กรณีนี้เข้าข่ายเป็นสถานที่รับฝากทรัพย์สิน ถ้าหากเกิดสูญหายหรือเสียหาย เจ้าของสถานที่หละหลวมในการรักษาความปลอดภัยจะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย
ประกาศที่แจ้งไว้ถือเป็นการแสดงเจตนาฝ่ายเดียว ผู้ใช้บริการไม่ได้เห็นชอบ และไม่ได้ลงนามในข้อตกลง แต่ส่วนมากเมื่อผู้เสียหายไม่ทราบกฎหมาย จึงไม่เอาความและมักเบิกค่าเสียหายกับบริษัทประกันภัยของตน ซึ่งหากมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก บริษัทประกันฯ จะรับช่วงสิทธิ์เรียกค่าเสียหายกับห้างฯ แทน
เคสที่ 5. เราอาจจะเคยเห็นร้านค้าติดป้ายขู่โจรว่า ร้านนี้มีกล้องวงจรปิด สามารถเอาผิดทางกฎหมายและจะปรับค่าเสียหาย 10-20 เท่า ของราคาสินค้าที่ขโมยไป หากว่าร้านจับโจรได้ขึ้นมาจริงๆ จะตกลงประนีประนอม ยอมปรับเงินเพียงอย่างเดียวทำได้หรือไม่
จริงๆ แล้วทางร้านจะต้องแจ้งความดำเนินคดีกับโจร เพราะถือเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดินที่ไม่อาจยอมความกันได้ และร้านไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายคืนได้จนกว่าจะจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีและเรียกค่าเสียหายตามราคาของกลาง แต่อาจเรียกค่าทำขวัญ ค่าเสียเวลาเพิ่ม จะได้ตามที่เรียกร้องหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
สนใจฟัง Session ย้อนหลังแบบเต็มๆ ผ่าน podcast ตามช่องทางต่างๆ ต่อไปนี้
🎧 SoundCloud: http://bit.ly/3kOTnzr
🎧 Spotify: http://spoti.fi/2OkVmj0
🎧 PodBean: http://bit.ly/3biKprl
🎧 Apple Podcast: http://apple.co/38cldRm