ถอดรหัส “3Ws” ช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ ๆ

โดยคุณพัทน์ ภัทรนุธาพร จาก MIT Media Lab ในงาน THACCA SPLASH : Soft power forum 2024

Last updated on ก.ค. 1, 2024

Posted on ก.ค. 1, 2024

หากเปิดลิ้นชัก นั่งไทม์แมชชีนท่องเวลาไปยังโลกอนาคตแห่งคอนเทนต์ เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนน่าจะนึกภาพของการที่ AI เข้ามาพลิกโฉมวงการนี้กันอยู่บ้าง

แต่เชื่อหรือไม่ว่าแท้จริงแล้ว แก่นสำคัญของการสร้างอนาคตที่ดี สร้างสรรค์ไอเดียไปต่อได้นั้น ไม่ใช่การโฟกัสตัว “AI” แต่เป็น “IA” หรือ Intelligence Augmentation

คือทำอย่างไรจึงจะสามารถนำเทคโนโลยีล้ำยุคเหล่านี้ มาทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์เราพัฒนาขึ้นในหลายด้าน ซึ่งเราจะมาหาคำตอบผ่านหัวข้อ อนาคตของคอนเทนต์ : AI และ มนุษย์ดิจิทัลจาก AI โดยคุณพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร MIT Media Lab ในงาน THACCA SPLASH : Soft power forum 2024

“แล้วทำอย่างไรมนุษย์ ถึงจะสามารถสร้างอนาคตแห่งคอนเทนต์ ที่ดี และทรงพลังได้อย่างไร้ขีดจำกัด!?”
อย่างแรกต้องคิดในมุม backward จาก “อนาคต” กลับมาที่ “ปัจจุบัน” ก่อน

ตั้งคำถามกันใหม่ในมุมคนทำคอนเทนต์ ด้วยการไม่มองว่าจะนำเทคโนโลยีใดมาใช้ แต่ให้มองว่าเด็ก ๆ และสังคมในอนาคต ที่จะได้เห็นคอนเทนต์เหล่านี้ เขาจะได้อะไรจากมันบ้าง?

เราจะสร้างเรื่องราวแบบไหนให้เขา?
“Make a hard impact on people life: สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตคน”

จากนั้นให้ต่อยอดด้วย “จินตนาการ” เพราะถ้าไม่มีจินตนาการ จะไม่ทำให้เราไปไหนเลย นี่คือกุญแจสำคัญของการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ พาเราให้เราหลุดกรอบไปต่อได้เรื่อย ๆ ผ่านโมเดล “3Ws: Human Flourishing” ดังนี้

1. Wisdom สติปัญญา

อย่างโดราเอมอนก็ช่วยสะกิดบอกเราว่าถ้าวันหนึ่งเดินทางไปอนาคตได้จะเป็นอย่างไร ถ้ามีเทคโนโลยีให้คุยกับตัวเองในอนาคตได้ มันจะเพิ่มศักยภาพเราไปได้อีกแค่ไหน?

อย่างโปรเจกต์ “Future You” ของ MIT Media Lab ที่ใช้ AI ป้อนข้อมูลจำลองตัวตนของตัวเราในอนาคตขึ้นมาได้ เพื่อให้เห็นทิศทางของการพัฒนา เพราะยิ่งเราจินตนาการถึงอนาคตได้เท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีแนวโน้มตัดสินใจได้ดีขึ้นเท่านั้น ทำให้เราคุยกับตัวเองจริงๆ แบบเป็นรูปธรรมในอนาคต

โดยผลวิจัยชี้ว่า 70% การที่ได้คุยกับตัวเองมากขึ้น จะทำให้คนเราเครียดน้อยลง อารมณ์ลบน้อยลง มากกว่าการคุยกับ AI ทั่วไป และสามารถ “คิดในระยะยาว” ได้มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างคุณพีในเวอร์ชันต่างๆ ทุกช่วงวัย ทุกความเป็นไปได้ตั้งแต่ชายหนุ่มไปถึงเพศทางเลือก นำข้อมูลของตัวเองมาขยายเป็นโมเดลในทิศทางต่างๆ สร้างความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด


2. Wonder ทำให้คนสงสัยมากขึ้น

“ใครชอบเรียนนาฏศิลป์บ้างครับ?” คุณพีชวนคุย พร้อมชวนตั้งคำถามถึงรูปแบบการเรียนการสอนยุคเก่าที่ทำให้วิชานี้ไม่เป็นที่สนใจ ทั้งที่วัฒนธรรมมันควรสนุก มีชีวิต อย่างซามูไรก็เป็นหุ่นกันดั้มซามูไร ปีศาจญี่ปุ่นก็ถูกต่อยอดเป็นอินุยาฉะ สัตว์ประหลาดโยไก (妖怪) ก็กลายมาเป็นไอเดียสร้างโปเกมอน ทุ่งหญ้าชนเผ่าแอฟริกาโบราณก็ถูกฉายภาพให้ล้ำยุคในหนัง Black Panther หรือหนังตะลุงก็ทำให้สนุกได้ผ่านแอปฯ มือถือ ให้ user สามารถ customize ตัวละคร เชิดหนังเล่นในนี้ได้

จนนำมาซึ่งการ “Transform” มาเป็นการเรียนนาฏศิลป์ยุค AI ที่นำทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมหาทางออกกัน มีการนำ Data มากางดูว่าสรีระการเคลื่อนไหวร่างกายขณะรำมนุษย์เป็นอย่างไร พร้อมถอดรหัสท่ารำแม่บทและนำองค์ประกอบเทคโนโลยีมาต่อยอดให้เกิดเป็นท่ารำใหม่ๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ “ทำไมการต่อเลโก้ถึงสนุก?” เพราะเราสามารถนำชิ้นส่วนต่าง ๆ มาต่อเป็นสิ่งใหม่ ๆ ได้อีก

นาฏศิลป์ยุคใหม่จึงสนุกขึ้นได้เมื่อมี AI ช่วยนำท่ารำเดิมๆ มาสร้างใหม่ เช่น ลองเปลี่ยนความเร็วท่วงท่า หรือโครงสร้างร่างกาย แม้แต่นักเต้นก็โต้ตอบกับโมเดลดิจิทัลได้จาก AI บนเวที จนได้รับเชิญไป National Theatre ที่ประเทศไต้หวัน ทำให้นาฏศิลป์ไทยเดินทางไปข้างหน้า ถูกพูดถึงในระดับโลก

ต่อยอดเป็นเว็บไซต์ “Cyber Subin Experience” ให้คนเข้าถึงประสบการณ์นาฏศิลป์แบบดิจิทัล มีโมเดลจำลองหมุนดูได้ว่าท่ารำเคลื่อนไหวอย่างไร, สามารถนำทุกท่ามาถอดรหัสว่านาฏศิลป์ทำงานอย่างไร หรือสามารถ “Customize” สร้างท่ารำของตัวเอง เอาไปแชร์ตามโซเชียลด้วยความภูมิใจ เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์นาฏศิลป์ยุคใหม่ได้จริง ๆ

สื่อให้เห็นว่าวัฒนธรรมนั้นมันสามารถพัฒนาได้ มีการเดินทาง ทำให้มันสนุก สด ใหม่ แตกต่างได้ตลอด แค่เรา Enhance + Wonder ตั้งคำถาม สงสัย และขยายกรอบไปสู่สิ่งใหม่ ๆ


3. Well-being สุขภาพที่ดีจากพฤติกรรม

หมวดนี้คุณพีบอกว่า “Health is hard” เรื่องสุขภาพค่อนข้างยาก เพราะต่อให้โลกจะมีเทคโนโลยีช่วยให้สุขภาพดี (Output) ได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้คนมีพฤติกรรม (Process) ที่จะนำไปสู่ตรงนั้น อย่างโปรเจกต์ “Wellbie” ที่ใช้ AI อวตารคาแรคเตอร์มาช่วยคอนโทรล เช่น ถ้าเราอ้วนขึ้น น้องอวตารก็จะอ้วนขึ้นให้เห็นภาพ หรือถ้าเราให้อาหารน้องด้วยสิ่งที่เรากิน AI ก็จะประมวลว่าอาหารนี้จะมีผลออกมาอย่างไร ทำให้การเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพมันสนุกขึ้น

ดังนั้นการสร้างโลกและสังคมในอนาคต จึงไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยี แต่เป็น “ปรัชญา” แนวคิด และจินตนาการที่อยู่ข้างใน

การจะทำคอนเทนต์ให้เกิดเป็น “Soft Power” ที่ดีได้ ก็ต้องอาศัย “Hard Idea” มาช่วยยกระดับชีวิตมนุษย์ให้เก่งขึ้น สงสัยขึ้น แข็งแรงขึ้น และยังต้องการ “Hard Working People” อย่างการสร้างเน็ตเวิร์คความมือ
ของคนกลุ่มต่างๆ ที่เป็น “Shape Maker” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม


“Soft Power” คืออนาคต ทุกอย่างที่จินตนาการไว้มันเป็นไปได้ ถ้าเรามีวิชั่นที่แข็งแรงพอ

trending trending sports recipe

Share on

Tags