บนสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เราหยุดการทำการตลาดก่อนดีไ?

Last updated on ก.ค. 27, 2021

Posted on ก.ค. 22, 2021

ในสถานการณ์ COVID-19 ช่วงนี้ดูไม่ดีขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะแย่ลงไปด้วย หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับรายได้ที่น้อยลง หรือบางธุรกิจถึงกับต้องปิดตัวลงไปเพราะไม่สามารถแบกรับรายจ่ายได้แบบเดิมอีกต่อไป ในขณะที่บางธุรกิจก็พอไปได้แม้จะขายหน้าร้านไม่ได้แต่ก็มียอดจากออนไลน์มาทดแทน 

หนึ่งในคำถามที่เจอเยอะขึ้นในช่วงการระบาด Wave 3 แบบนี้ จึงเป็นเรื่องที่ว่าธุรกิจที่ยังพอไปได้ ควรจะต้องลงงบประมาณการตลาดดิจิตอลไหมและควรจะใช้จ่ายอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด เพื่อให้แนวทางเพื่อตอบคำถามนี้ บทความนี้จะอ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก Facebook ที่ได้แนะนำนักการตลาดและผู้ประกอบการทั่วโลกเอาไว้นะครับ

ไม่ว่าอย่างไร อย่าหยุดการสื่อสาร

สำหรับธุรกิจที่ยังต้องสู้ต่อ อย่างไรเสียการสื่อสารกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายย่อมดีกว่าครับ อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อให้พวกเขารู้ว่า ธุรกิจของเรายังดำเนินอยู่นะ และพร้อมจะให้บริการหรือตอบความต้องการของพวกเขาได้

ยกตัวอย่างธุรกิจที่ได้ผลกระทบเยอะที่สุดคงหนีไม่พ้นร้านอาหาร สำหรับร้านแบรนด์ใหญ่ๆ เราจะสังเกตุได้ว่าแบรนด์เหล่านั้นยังคงมีการสื่อสารและทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่าน Social Media หรือผ่าน Food Delivery Platform ทั้งหลาย อย่างน้อยก็เพื่อแข่งกันเป็น Top of Mind ที่ผู้บริโภคเห็นและนึกถึงเมื่อต้องสั่งอาหารมาทานที่บ้าน 

สำหรับร้านเล็กๆ แน่นอนว่าการจะทุ่มงบประมาณไปแข่งกับเจ้าใหญ่คงแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่อย่างน้อยที่สุดร้านของเราก็ควรต้องยังมีการสื่อสารผ่าน Social Media บ้าง เช่นร้านเปิด ปิด กี่โมง ร้านที่อยู่ในห้างยังเปิดไหม สั่งส่งบ้านได้ทางไหนบ้าง สามารถมารับที่หน้าร้านได้ไหม เป็นต้น มีการอัพรูปเมนูอัพเดทบ้างและสื่อสารถึงมารตการการดูแลความสะอาดและสุขภาพของพนักงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่จะสั่งอาหารกับเราว่าถูกสุขลักษณะและปลอดภัยนะครับ

โดยเฉพาะถ้าแบรนด์เรามีช่องทางการขายบนออนไลน์อยู่แล้ว ไม่ว่าจะผ่าน E-marketplace ช่องทาง E-commerce ของตัวเอง หรือผ่าน Social Media เวลานี้จึงจำเป็นมากๆ ที่จะต้องสื่อสารอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนยอดขายที่อาจจะหายไปจากช่องทางหน้าร้าน หากสามารถนำเสนอโปรโมชั่นพิเศษๆ เพื่อดึงดูดความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมายมาสั่งซื้อทางออนไลน์ได้มากขึ้นในช่วงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่จะสื่อสารให้พวกเขาเลือกแบรนด์เราแทนที่จะเลือกคู่แข่งนะครับ

จากผลสำรวจระบุว่า ในช่วงการระบาดของ Covid-19 ผู้บริโภคอยากรู้เรื่องเหล่านี้จากแบรนด์

  • 58% ข้อมูลการขายและโปรโมชั่นต่างๆ 
  • 41% ขั้นตอนการดูแลความสะอาด สุขภาพและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค 
  • 40% ลูกค้าสัมพันธ์แบบเข้าหาลูกค้าแทนที่จะรอให้ลูกค้าติดต่อไปก่อนฝ่ายเดียว 
  • 38% ข้อมูลชี้แจงว่าทางแบรนด์ได้ให้ความช่วยเหลือสังคมและชุมชนอย่างไรจากผลกระทบของ Covid-19 
  • 33% ความโปร่งใสเรื่อง Supply Chain 
  • 33% นโยบายการดูแลสุขภาพและความปลอดภัยให้กับพนักงานของแบรนด์

พูดถึงคู่แข่ง นี่ก็เป็นอีกเหตุผลหลักที่เราไม่ควรหยุดการสื่อสารในช่วงนี้ หากเปรียบเทียบเป็นการวิ่งแข่ง หากเราหยุดการสื่อสารและการตลาดทั้งหมด ในขณะที่คู่แข่งไม่หยุด ก็เปรียบเสมือนเราหยุดวิ่งหรือเดินช้าๆ ในขณะที่คู่แข่งเราวิ่งไปอย่างต่อเนื่องแม้จะวิ่งไม่เร็วเหมือนเดิมแต่ก็ยังวิ่งอยู่ ลองคิดภาพว่าเมื่อถึงช่วงที่เราพร้อมจะกลับมาแข่งแล้ว เราต้องใช้พลังเยอะแค่ไหนที่จะวิ่งตามคู่แข่งทันครับ

เลือกใช้กลยุทธ์ Always-On บน Social Media

คำว่า “Always-On” แปลได้ตรงตัวเลยครับ นั่นคือการ “เปิดตลอด” ซึ่งในที่นี่หมายถึงการทำการสื่อสารและโฆษณานั่นเอง ภาพประกอบด้านบนอ้างอิงมาจาก Webinar ของ Facebook ที่เปรียบเทียบการทำแคมแปญการตลาดแบบเป็นเวฟ กับการทำการตลาดแบบ Always-On โดยที่ในมุมของ Facebook นั้น การทำ Social Media Marketing ที่ดี ควรเป็นการทำแบบ Always-On ที่มีการสื่อสารและโฆษณากันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน แทนที่จะทำแคมแปญเป็นช่วงๆ แบบที่ตูมเดียวมาแล้วก็หายไป เพื่อรอไปเกิดใหม่อีกทีในรอบต่อไป 

ในมุมของ Facebook เองวิธีการของ Always-On จะช่วยทำให้แบรนด์เป็น Top of Mind ได้มากขึ้นด้วย และยังสามารถตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วยที่พวกเขาออนบน Social Media ตลอดเวลา ทุกวัน ทั้งเดือน และมั่นใจได้ว่าแบรนด์ของเราจะผ่านตาและอยู่ในใจพวกเขาในช่วงปลายเดือนที่เงินเดือนออกอีกด้วย 

ที่สำคัญที่สุด การที่แบรนด์หยุดการสื่อสารและโฆษณา จากการศึกษาพบว่าอาจจะทำให้ยอดขายในช่วงที่หยุดไป ตกลงถึง 2% ในหนึ่งไตรมาสและอาจจะมากถึง 11% เมื่อคำนวนทั้งปี ดังนั้นหากอ้างอิงข้อมูลตรงนี้ การที่เราหยุดการสื่อสารและการตลาดในช่วงการระบาดรอบใหม่แบบนี้ อาจจะส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่าด้วย 

98% ของผู้บริโถคคนไทยระบุว่า พวกเขาอยากได้รับการสื่อสารจากแบรนด์
4 ใน 5 คนอยากให้ธุรกิจติดต่อพวกเขาผ่าน Social Media, Chat และ SMS

กลุ่ม Millenials ยินดีที่จะติดต่อกับแบรนด์ผ่าน Social Media 70% และผ่าน Facebook Messenger มากถึง 60%

พูดถึงอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจที่โดนผลกระทบการ Covid-19 จังๆ อย่าง AirAsia เราจะเห็นได้ว่าในแง่ของการสื่อสารและการตลาด ทาง AirAsia ยังมีทำออกมาอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด ตั้งแต่แคมเปญตั๋วเครื่องบินแบบบุฟเฟต์หรือการโปรโมทแบบ PREMIUM FLEX ที่สามารถเลื่อนเที่ยวบินได้สองครั้งไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 

รวมถึงแคมเปญ “เที่ยวช่วยไทย” ซึ่งแคมเปญเหล่านี้ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเป็นต้นมา แม้ตอนนี้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศยังไม่พร้อมบิน แต่เมื่อไหร่ที่ทุกอย่างกลับมาดีขึ้น แบรนด์ AirAsia ย่อมยังเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในใจของนักท่องเที่ยวต่อไปแน่นอน 

เพื่อสรุปบทความนี้ ขอยกประโยคที่ CEO ของ Facebook มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก กล่าวไว้ในช่วงปี 2020 หลังจากที่เกิดการเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ Covid-19

“ผมเชื่อมาตลอดว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ สิ่งที่ควรทำที่สุดคือ การลงทุนในอนาคต” 

โดยได้พูดถึงการลงทุนและการทำธุรกิจในยุคนี้ที่ผู้คนจะซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้นและ Facebook จะมาช่วยธุรกิจและนักการตลาดเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ (ติดตามเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ https://creativetalklive.com/increase-your-sales-and-business-with-facebook/)

ปิดท้ายนี้ ก็ขอส่งกำลังใจให้ผู้อ่านนักการตลาดและเจ้าของแบรนด์ทุกคนต่อไป ดูแลตัวเองและครอบครัวและประคับประคองธุรกิจให้ผ่านช่วงนี้กันไปได้ หวังว่าปลายปีเมื่อทุกคนส่วนใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศได้รับวัคซีนกันถ้วนหน้าแล้ว หวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายและธุรกิจกลับมาเติบโตต่อไปด้วยกันทั้งหมดนะครับ 

อ้างอิง
https://creativetalklive.com/advertisement-covid19/
https://www.twfdigital.com/blog/2021/01/facebook-report-what-brands-want-to-know-from-brand/
https://creativetalklive.com/do-and-dont-marketing-in-covid-19-crisis/

คุณณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา Chief Digital Officer & Co-Founder at The Flight 19 Agency

เรื่อง: ณรงค์ยศ มหิทธิวาณิชชา CEO & Co-Founder TWF Agency

trending trending sports recipe

Share on

Tags