เมื่อคนเราเชื่อต่างกัน มองต่างมุม ให้ความสำคัญกันคนละเรื่อง หรือมีจุดมุ่งหมายไปคนละทาง ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันได้ง่ายๆ CREATIVE TALK ขอให้ต่างฝ่ายต่างหายใจเข้าลึกๆ อย่าเพิ่งรีบปล่อยมือกัน ลองจูนกันให้ติดด้วย 5 วิธีชวนคุยเรื่องคิดต่างอย่างสร้างสรรค์
1. เราคือพวกเดียวกัน
ลองเริ่มจากหยิบยกประเด็นยิบย่อยใกล้ๆ ตัวขึ้นมาถามความคิดเห็นของอีกฝ่าย เพื่อศึกษาความคิดของคนๆ นั้นก่อน เพราะถึงเราเป็นเพื่อนกัน แต่เราอาจไม่เคยรู้ทัศนคติลึกๆ ของเพื่อนเรา เพราะเราถูกสอนให้หลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้งหมางใจกันได้ง่ายๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องพูดยาก เราก็ควรต้องหาจุดร่วมกับอีกฝ่าย เพื่อเชื่อมโยงให้เขาเป็นพวกเดียวกันกับเราให้ได้ก่อน แล้วค่อยชวนพลิกมุมมอง ชี้ให้เห็นถึงปัญหา ค่อยๆ พาเขาถอยออกมามองภาพใหญ่เพื่อจะเห็นความจริงอีกด้าน
2. เปิดใจรับฟัง
โน้มตัวเข้าหาคนพูด คอยสบตา แสดงให้เห็นว่าเราจดจ่อตั้งใจฟัง ระหว่างฟังความคิดเห็นของอีกฝ่าย เราอาจต้องอดทนอดกลั้น ไม่แทรกความคิดเห็นของเรา หรือค้านเขาระหว่างพูด ค่อยๆ จับจุดขัดแย้ง ที่เราไม่เห็นพ้องกับเขาอยู่ในใจ และลองทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เขามีความคิดความเชื่อเช่นนั้น
3. สะท้อนกลับความคิดของเขา
พอเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดเต็มที่แล้ว ให้ลองเล่าทวนสารของอีกฝ่าย เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจเขาถูกต้องและยังเป็นกระบวนการสะท้อนกลับให้อีกฝ่ายเห็นวิธีคิดของตัวเอง เราอาจจะตั้งข้อสังเกตในจุดที่เราไม่ค่อยเห็นด้วย งดใช้อารมณ์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา เลือกคำพูดที่เหมาะสมก่อนจะเล่าความคิดเห็นของเราโดยกระชับ ชัดเจน ตรงประเด็น ในส่วนที่เราติดใจ เสนอให้เห็นว่าอาจมีวิธีอื่นที่ตอบโจทย์เดียวกันนี้ได้ โดยอธิบายอย่างใจเย็น พูดช้าๆ น้ำเสียงต่ำหนักแน่น สุภาพ แววตาจริงจังในสิ่งที่พูด และไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเรากำลังยกตัวเหนือกว่าเขา ทำเป็นรู้ดีกว่าเขา เพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า อึดอัดไม่ปลอดภัย จนตั้งกำแพงขึ้นมาปกป้องความคิดของตัวเองได้
4. รู้ว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้
เมื่อเราหว่านล้อมโน้มน้าวอีกฝ่ายได้ด้วยดี สามารถสั่นคลอนความเชื่อของอีกฝ่ายให้อ่อนข้อ ประนีประนอม และยอมรับฟังเรามากขึ้นได้ ก็ต้องขอแสดงความยินดีกับคุณด้วย แต่ถ้าสัมผัสได้ว่าเป็นเรื่องยากจะเปลี่ยนใจเขาได้ ก็ให้ขอจบบทสนทนานั้นก่อนที่จะมีใครเริ่มโมโห ต้องเข้าใจว่าคนเราต่างที่มา จึงมักมีรากความเชื่อฝังลึก จนไม่อาจยืดหยุ่นยอมเปิดรับเรื่องใหม่ๆ ที่ขัดแย้งต่อความเชื่อเดิมได้ง่ายๆ
5. วางเฉยแต่ไม่ถอดใจ
หากเห็นว่าอีกฝ่ายเริ่มจะใช้อารมณ์ พูดโจมตีอย่างไม่มีเหตุผลที่ดีมารองรับ ใช้ประโยคเดิมๆ มากล่าวอ้างความชอบธรรม ใช้กรอบและกฎเดิมๆ ที่อาจไม่เข้ากับบริบทสังคมในขณะนั้นมาค้านหัวชนฝา ใช้น้ำเสียงในเชิงสั่งสอน เสียงดังเข้าข่ม ให้เราทำใจไว้เลยว่าเป็นธรรมดา เตรียมใจว่าจะเจอปฏิกิริยาต่อต้านไว้ตั้งแต่เริ่มบทสนทนา เพื่อเราจะสามารถวางเฉย คุณจำเป็นต้องใจกว้างมากๆ พยายามควบคุมอารมณ์ของเราเอง ไม่หงุดหงิดโมโหตามเขา และรักษาบรรยากาศไม่ให้ถึงขั้นโกรธเคืองกันเท่าที่จะทำได้ เพราะเราไม่อาจลบอคติในใจใครได้ในระยะเวลาสั้นๆ แต่คุณยังจำเป็นต้องมีความหวังเสมอ เชื่อว่าเราทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงกันได้ เพียงแต่เราอาจต้องรอเวลาที่ดอกไม้ในใจของแต่ละคนจะเบ่งบาน
อย่างน้อยๆ เราก็ได้เริ่มต้นบทสนทนายากๆ ได้ยืนหยัดในอุดมการณ์ของเรา ซึ่งอาจจุดประกายความคิดอยากเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในสังคมแวดล้อมตัวเราขึ้นได้ นำไปสู่การเจรจาหาข้อสรุปตรงกลางที่ทุกฝ่ายพอใจ
อย่าหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพียงเพื่อจะมีความสงบปลอมๆ จนเราเคยชินกับสภาวะที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง ปิดกั้นอิสระทางความคิด เลิกมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ หมดความท้าทาย ทำลายความคิดสร้างสรรค์ จนเสียโอกาสพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิงจาก :