คำว่า ‘Content’ ทุกวันนี้ก็ไม่ต่างจากคลื่นในมหาสมุทร มันมีคลื่นมากมายทั้งลูกเล็ก และลูกใหญ่ ไม่ว่าใครในโลกใบนี้ก็ต่างทำคอนเทนต์ได้อย่างอิสระ
ดังนั้นคนที่จะจับกระแสของคลื่นเหล่านั้น จึงถูกนิยามว่า “นักเล่าเรื่อง (Storyteller)” หรือกลุ่มคนที่เข้ามาจับคลื่นระหว่างกลาง ทั้งความรู้สึก, พฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า หรือเทรนด์ เพื่อสร้างคลื่น หรือการเล่าเรื่องในแบบของตัวเอง เพื่อตอบโจทย์ในงานที่เราสื่อสาร
ดังนั้นคลื่นครั้งใหม่ในปี 2025 นี้ จะมีเรื่องไหนที่ชาว Creator, เจ้าของธุรกิจ, คนทำงาน และผู้ที่อยู่เบื้องหลังงาน Creative จำเป็นต้องรู้! วันนี้เรามาคุยกับคุณพิ - พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน Co-founder Glow Story อีกหนึ่งนักเล่าเรื่องผู้อยู่เบื้องหลัง TEDxBangkok ได้มาบอกเล่าถึงเทรนด์ที่สำคัญในปี 2025 เทรนด์นั้นก็คือ“Humanize”
‘ความเป็นคน’ นั้นมีค่ามหาศาล! เทรนด์ Humanize จึงเกิดมาในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การเล่าเรื่อง (Storytelling) อยู่กับมนุษย์มานานมาก สิ่งที่เซเปียนส์แตกต่างจากสัตว์อื่น ๆ คือการสื่อสารด้วยเรื่องเล่า หรืออย่างยุคสมัยนี้การเล่าเรื่อง (Storytelling) ก็กลายเป็นหนึ่งจุดขาย แบรนด์ไหนสื่อสารได้โดนใจผู้บริโภคก็มีโอกาสที่จะชิงความได้เปรียบในตลาด ซึ่งเรื่องเล่าก็มักจะเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม
อย่างบริบทสังคมในปัจจุบันนี้ เราจะเริ่มเห็นผู้คนเป็นทุกข์กันมากขึ้น ซึ่งผลพวงนั้นมาจาก
- เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การทำงานเราต้องเร็วขึ้นตามไปด้วย
- คนทำธุรกิจเครียดเรื่องทุนจีน สินค้าจีนเข้ามา เกิดความกังวล
- การทำธุรกิจ ยอดขายน้อยลง สเกลธุรกิจยากขึ้น
- เหนื่อยทั้งใจ เหนื่อยทั้งกาย หมดไฟไปกับการทำงาน
สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้คือการมาของ Dehumanization หรือหนึ่งในกระบวนการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง เสมือนเราเป็นเครื่องจักรมากกว่าเป็นมนุษย์ กลายเป็นมนุษย์ฟันเฟืองเร่งทำงานอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ได้กลับมามองถึงคุณค่าทางจิตใจ หรือดูแลตัวเองมากพอ
การกลับมาเห็นภาวะทางสังคมและการมาของเทคโนโลยี โดยมองภาพรวมธุรกิจ และยึดคำว่า “Humanize” มันช่วยได้
โดย Humanize คือการที่เรามองคนเป็นคน มองความเป็นมนุษย์ ด้วยมนุษย์ ถ้าสิ่งนี้คือการขายของ เราก็ต้องขายของอย่างเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ หรือถ้าสิ่งนี้คือการสร้างแบรนด์ เราจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของเรามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะพูดคุย สื่อสารกับลูกค้าได้จริงใจมากพอ
นี่จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า ทำไมเทรนด์ Humanize ถึงมีความสำคัญ แล้วมีเรื่องไหนบ้างที่เราควรให้ความสำคัญในการทำการตลาด และการทำธุรกิจในปีนี้!
1. ธุรกิจเล็ก อย่าฝืนที่จะสู้ด้วย Functional แต่จงสู้อย่างสร้างสรรค์ด้วย Emotional Connection
มันไม่มีประโยชน์เลยที่เราจะทำธุรกิจโดยลงไปแข่งสงครามราคา ยังไงโรงงานจีนเขาจะถูกกว่าเราเสมอ แต่ในทางกลับกันถ้าคุณจะหาจุดต่าง อยากให้ลูกค้าหันมามองเรา อยากให้สินค้าเราสร้างความแตกต่างโดยที่ลูกค้ายังให้ความสนใจกับสินค้าเรา มันต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘Emotional Connection’ หรือการสื่อสารที่จริงใจ สื่อสารด้วยความเป็นมนุษย์ เข้าถึง Insight ผู้บริโภคอย่างแท้จริง
Emotional Connection จะช่วยได้ดีในเชิงการสื่อสารระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภค โดยที่ไม่ต้องวิ่งไปแข่งเรื่องราคา แต่ใช้ความจริงใจ ที่สามารถบอกลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ทำไมของเราถึงราคาสูง หรือทำไมของเราถึงราคาจับต้องได้ เพราะความจริงใจจะเป็นตัวพิสูจน์ให้ลูกค้ารู้สึกถึงความเป็นคนของแบรนด์เรานั่นเอง
ดังนั้นแบรนด์ไหนที่ยังไม่สามารถ Humanize แบรนด์ตัวเองให้ Connect กับ Consumer ได้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าคุณก็จะจางหายไปเอง เพราะคุณไม่ได้แตกต่าง และไม่ได้เข้าใจลูกค้ามากพอให้เขาอยากจดจำ
2. อย่าเป็นแค่ผู้นำที่พูดแต่ตัวเลข แต่ผู้นำที่จะสร้างทีมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ต้องเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ (Humanize Leader)
ผู้นำหลาย ๆ องค์กรยุคนี้เชื่อว่าเจอเคสคล้าย ๆ กันอยู่ นั่นคือ “ปัญหาของการสร้าง Engagement คนในองค์กร” ซึ่งเหตุผลก็อาจจะมาจากยุคนี้เราทำงานออนไลน์กันมากขึ้น หรือผู้นำเองก็บอกให้ทุกคนทำงานมากขึ้น หนักขึ้น เนื่องจากธุรกิจไม่ได้อู้ฟู่แบบเมื่อก่อน กลายเป็นว่าเราทำงานหนักขึ้น แต่ค่าคอมมิชชันลดลง เงินเท่าเดิม
แน่นอนว่าคนเก่ง ๆ ถ้าเกิดรู้สึกอยู่แล้วไม่ปลอดภัย ไม่ได้เฉิดฉาย เขาก็ลาออกไปเป็นปกติ คนที่อยู่ก็คือคนที่ทนได้ ปรับเปลี่ยนทำเท่าที่ได้ไป มันจึงเริ่มเกิด Gap ในองค์กร คำถามคือ “แล้วจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง” ซึ่งโดยส่วนใหญ่องค์กรก็มักจะโฟกัสเรื่องของ Business Strategy หรือกลยุทธ์ที่แตกต่างกันไป
แต่กลับกันแล้วเรื่องของคนทำงานล่ะ! เราจะนำกลยุทธ์เหล่านั้นเทิร์นกลับมาให้กลายเป็น Emotion ได้อย่างไรบ้าง เพราะกลยุทธ์เป็นสิ่งที่ดีในการขับเคลื่อนองค์กร แต่การจะขับเคลื่อนองค์กรได้ ‘คนทำงาน’ คือคำตอบของการขับเคลื่อนนั้น
นี่จึงเป็นโจทย์ที่เรียกว่า ‘ท้าทายเบอร์ต้น ๆ’ ของผู้นำองค์กรทุกคน เราไม่สามารถใช้วิธีการเดิม ๆ ในการได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีได้ ดังนั้นถ้าเราไม่คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ก็จะยากมากในการบิ้วเรื่อง Engagement จุดเริ่มต้นที่ดีคือตัวผู้นำต้องกล้าจะเปิดรับโอกาส หากรอบวิธีคิดใหม่ เพื่อสร้างโอกาสใหม่
เทคนิคสำคัญคือ: การเชื่อมั่น Trust ในทีม
เราต้องยอมรับว่าต่อให้เราเป็นผู้นำองค์กร เป็นหัวหน้า เราก็ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง บางครั้งในห้องประชุม คนในห้องยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าหน้าตาของลูกค้าจริง ๆ เป็นอย่างไร ไม่เคยไปยืนดูว่าเขาซื้อโปรดักต์เราอะไรบ้าง หรือไปฟังเสียงเขาจริง ๆ มันจึงเป็นการตัดสินใจจากบนหอคอย ซึ่งทำให้คนทำงานเหนื่อยมาก เสมือนกับการอยากจีบ GenZ แต่พี่ยังส่งสติกเกอร์แบบเดิม ๆ อยู่เลย
ดังนั้นการ Trust ในทีมสำคัญมาก ถ้าเราเป็นผู้นำที่คอยตัดสินใจยังไม่เข้าใจ เปิดใจซะ แล้วเรียนรู้ เชื่อมั่นในสิ่งที่ทีมเขาเห็น เขา Research มาแล้ว เขารู้ดีเพราะเขาอยู่ใกล้กับลูกค้ามากกว่าเรา
คุณจะเป็นผู้นำที่ขึ้นไปพูดกับทีม เพื่อบอกให้ทำงานหนัก เห็นเราเป็นเฟืองคนนึง หรือคุณจะเป็น “ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ (Humanize Leader)” คนที่รับฟังคนทำงานอย่างจริงใจ มีความเห็นอกเห็นใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้เฉิดฉาย พัฒนาได้จริง
3. เลิกเล่าทุกเรื่องได้แล้ว! แต่สิ่งที่นักสร้างสรรค์ต้องมีคือ “Sense ของภาชนะในการเล่าเรื่อง”
นี่คือยุคแห่ง Information Overload สุด ๆ เพราะคอนเทนต์มีท่วม ใครต่างก็ทำคอนเทนต์ได้เอง หรือแม้กระทั่ง Google Search เราก็ไม่ใช่แล้ว หันไปเชื่อ ChatGPT ไปหามาให้หน่อย เมื่อ Information มันเยอะ พนักงานกับผู้บริหารบางครั้งจึงทำงานด้วยกันคนละ Logic ดังนั้นการเลือกที่จะตัดอะไรบางอย่างในการเล่าเรื่อง เพราะ ความสนใจ (Attention) ของคนเองก็ไม่ได้อยากฟังอะไรมากเกินไปในเรื่องเขาไม่อยากรู้
เราไม่มีวันรู้เลยว่าโลกข้างหน้าจะบีบให้เราทำคอนเทนต์สั้น, ยาว หรือเร่งรีบแค่ไหน แต่ท่ามกลางความต้องการเหล่านี้ สิ่งที่ในฐานะคนเล่าเรื่องต้องเข้าใจ คือ “Sense ของภาชนะในการเล่าเรื่อง” เพราะการเล่าเรื่องเปรียบเสมือน ‘น้ำ’ เมื่อน้ำอยู่ในแก้วมันก็จะเป็นแก้ว หรือต่อให้มันอยู่ในรูปแบบของ ‘ขวด’ มันก็จะเป็นขวดในอีกรูปแบบหนึ่ง เรื่องเล่าที่ดี กลั่นกรองมาแล้ว ก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน มันจะไปอยู่ในภาชนะไหนก็ได้ ที่เหมาะกับบริบทนั้น ๆ มันไม่มีอีกต่อไปแล้วคอนเทนต์หรือเรื่องเล่าที่อยากจะจับทุกอย่างมาไว้ในภาชนะเดียวกันหมด
Storytelling อยู่ในทุกเมื่อเชื่อวันของมนุษย์ อยู่ใน Human Interaction ของเราอยู่แล้ว สิ่งที่มนุษย์ต้องทำที่นอกเหนือจากการเล่าเรื่อง คือการใช้เครื่องมือให้เป็น! เพราะมนุษย์มี Tools ที่ล้ำมาก อย่าง Generative AI ที่วันนี้คลิกเดียวก็สร้างสรรค์คอนเทนต์ และวิดีโอได้ด้วยตัวคนเดียว ดังนั้นหน้าที่สำคัญของนักสร้างสรรค์ทุกคนคือ
เข้าใจ ‘น้ำ’ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ว่าตัวตนของเราเป็นคนแบบไหน
การมี Sense ที่เรียกว่า ‘เข้าใจตัวเอง และเข้าใจว่าเรากำลังสื่อสารอะไรสำคัญมาก’ บางครั้งเราก็ต้องมีหมวกหลายใบในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ สิ่งที่เรียกว่าน้ำมีความยืดหยุ่นสูง เมื่อน้ำไปอยู่ในภาชนะไหน มันจะปรับตัวได้เสมอ คนสร้างสรรค์ก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- น้ำอัดลมที่ซ่า แซ่บสุด ๆ
- น้ำผลไม้ ที่เน้นประโยชน์สูงสุด มีความเป็น Authentic
- น้ำเปล่า เน้นความเป็นธรรมชาติ เรียบแต่มีระดับ
เคล็ดลับสำคัญของเรื่องนี้: Relearn คือความท้าทายในการทำสิ่งใหม่ การเรียนรู้สิ่งที่เราเคยรู้แล้วด้วยมุมมองใหม่ และตระหนักถึงคุณค่าของความรู้ที่เราได้รับจากมุมมองนั้น ๆ ไม่ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่นักสร้างสรรค์ต้องฝ่าด่านกำแพงนี้ เพราะในยุคนี้เรามีเรื่องใหม่ ๆ ที่บางครั้งต้องยอมทิ้งของเก่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ใหม่ที่ดีขึ้น
เข้าใจ ‘เครื่องมือใหม่ ๆ’ เพื่อการทำงานที่แม่นยำ รวดเร็วขึ้น
การเข้าใจเครื่องมือ จะทำให้เราได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น เราสามารถสร้าง Presentation ใหม่ ๆ เราสามารถสร้างการเล่าเรื่องที่ว้าวมากขึ้น หรือตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมไปถึงยิ่งเราสามารถเข้าใจชาแนลใหม่ ๆ ที่เราอยากจะสื่อสารออกไปได้ ก็จะยิ่งแม่นยำขึ้น เสมือนการยิงปืนนัดเดียว ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพถึง 2 อย่าง คือเก่งเครื่องมือ และเก่งการเข้าใจชาแนลหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ
4. เข้าใจแก่นการเล่าเรื่องด้วย “PIRIYA Framework”
เพราะการเล่าเรื่องที่ดีด้วย Humanize ไม่ใช่แค่ตอบโจทย์ลูกค้าเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ Business ได้จริง หรือต้องขายของให้ได้!
การเล่าเรื่องก็เหมือนกับการจีบสาว มันการันตีไม่ได้หรอกว่ามันจะสำเร็จ ในยุคนี้การเล่าเรื่องมีต้นทุนที่ต่ำ บางคนมีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวก็สื่อสารเล่าเรื่องในแบบของตัวเองได้แล้ว เมื่อใครต่างก็เล่าได้ เราต้องสร้างการเล่าเรื่องให้แตกต่าง และสื่อสารกับลูกค้าเข้าใจอย่างลึกซึ้ง โดยสูตรการเล่าเรื่อง “PIRIYA Framework”
P - Purpose (วัตถุประสงค์)
การติดกระดุมเม็ดแรกสำคัญมาก หนึ่งในเคสที่ทางคุณพิ ได้เล่าให้เราฟังถึงการสร้างแบรนด์ด้วย Humanize แล้วเกิดเป็นรายได้จริง ๆ คือการเข้าไปร่วมสร้างสรรค์ร่วมกับแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘Onetouch’ โดยการตั้งโจทย์เลยว่า เราจะทำอย่างไรให้แบรนด์นี้เป็นคนมากขึ้น! นี่แหละคือ Humanize แล้วไม่ใช่แค่ภาพลักษณ์ต้องเป็นคนมากขึ้น แต่ในเชิงการสื่อสาร หรือ Emotional Connection ก็ต้องสื่อสารอย่างจริงใจ ทำให้ผู้คนอินกับเรื่องเล่าของเรา เข้าถึงโปรดักต์อย่างลึกซึ้ง
ตั้งแต่การออกแคมเปญในการวัดขนาดน้องชาย เพราะการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลเสียได้ในระยะยาว หรืออีกเคสคือการทำงานร่วมกับ Netflix ในการผลิตหนังเรื่อง Doctor Climax ด้วยการสื่อสารแฮชแท็กที่ชัดเจนว่า ‘เพราะ #ONEนี้เรื่องเพศTOUCHได้’ ซึ่งใช้ความ Humanize ในการนำเสนออย่างจริงใจ
การสร้างสรรค์ไอเดียสุดแปลก ไปจนถึงผลลัพธ์ที่ห่วงใยสังคมอย่างแท้จริง ซึ่ง Purpose ของ Onetouch กำลังจะบอกว่านอกจากแบรนด์ได้รายได้แล้ว สังคมต้องได้เช่นกัน วันนี้เรื่องเพศเราคุยกันอย่างเสรี อย่างเหมาะสมได้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เราไม่สามารถพูดเรื่อยเปื่อยได้ แต่เราต้องคิดถึงผลกระทบต่อสังคมด้วย
I - Insight (พฤติกรรมเชิงลึก)
เมื่อ Purpose เราชัด แบรนด์และนักเล่าเรื่องต้องรู้ Insight ให้ลึกมากพอ เพราะพฤติกรรมของคนแตกต่างกัน รวมถึงแพลตฟอร์มที่เขาไปอยู่ก็มีความลึกที่แตกต่างกันไป บางที่เขาใช้สำเนียงภาษาแบบนี้ บางที่เขาคุยด้วยความทุกข์ประเภทนี้ เขาใช้ Influencer ประเภทนี้ในแต่ละแพลตฟอร์ม ดังนั้นมันมีความละเอียดอ่อนอยู่ หาให้เจอว่า Consumer ของคุณอยู่ที่ไหน แล้วลงไปเข้าใจให้ลึกมากพอจริง ๆ เพื่อเล่าเรื่องให้ถึงมากพอ
R - Relatable (การเชื่อมโยงระหว่าง Storytelling + Insight)
จะทำอย่างไรให้เราสามารถนำเรื่องเล่าระหว่าง Storytelling + Insight มาเชื่อมร่วมกันได้ เพื่อหามุมมองใหม่ ๆ ของการเล่าเรื่อง เราไม่ได้ขายของด้วย Functional เพียงอย่างเดียวนะ แต่เราจะขาย Emotional อย่างไรให้คนจดจำ และกลับมาสู่ยอดขายได้จริง
I - Imagination (จินตนาการ)
ที่ผ่านมาเราจีบเขาอย่างไร เราเล่าเรื่องอย่างไร แล้วในวันนี้มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราทำได้ดีกว่านี้ มันต้องมีอะไรบางอย่างที่เราโฟกัส เราลองจินตนาการมันใหม่อีกครั้ง ว่าในวันนี้เราเป็นคนแบบไหน หนึ่งในตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้คือเคส #ธรรมดาที่ทำมาดี ของแบรนด์ห่านคู่
ที่บอกว่า วันนี้เราขยับมาเป็นคนทั่วไปได้นะ โดยนำเสนอในมุมที่ต่างจากเดิม แล้วเราจะสามารถเล่าเรื่องใหม่ได้โดดเด่นขึ้นได้นั่นเอง นี่คือพลังของจินตนาการ มันเป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยเลิกใช้คำว่าที่ผ่านมาเราเคยเป็นแบบนี้ เราเคยทำอะไรมา อย่าพึ่งมีข้อจำกัดว่าทำไม่ได้เด็ดขาด อย่าติดอยู่ในกรอบแบบเดิม มันไม่มีทางอยู่รอดได้เลย ถ้ายังติดอยู่ในแพทเทิลเดิม ๆ
Y - Your Voice and Your Authentic (อะไรที่เป็นของแท้สำหรับคุณเท่านั้น!)
เสียงของเราที่เป็นตัวตนของเราแล้วไม่เขิน แล้วมันใช่! คืออะไร เมื่อไหร่ที่การสื่อสารของเราเป็น ของแท้ที่ใส่ความจริงใจ (Authentic) การเล่าเรื่องมันจะมีเอกลักษณ์ที่ชัด แล้วเรื่องนี้มันจะส่งผลตั้งแต่การสื่อสารภายในองค์กร หรือการไป Collaboration กับแบรนด์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่แบรนด์ก็มักจะเลือกแบรนด์ที่มี ‘Your Authentic’ ชัดเจน รวมไปถึงเรายังสามารถประเมินได้ด้วยว่า เราควรจะเลือกไปทำร่วมกับใคร อะไรที่เหมาะกับแบรนด์เราอย่างแท้จริง เมื่อไหร่ที่เราไม่รู้จัก Your Voice and Your Authentic ของตัวเอง จะยิ่งทำให้ตัวตนเราชัดน้อยลง รวมไปถึงการตัดสินใจหลาย ๆ ด้านก็จะยากขึ้น
A - Action (การกระทำของเรา)
สุดท้ายแล้วเราต้องไม่ลืมว่าเราจะสื่อสารไปเพื่ออะไร เพื่อขายของ เพื่อหา Engagement และเราต้องกลับมาที่เรื่องของภาชนะ (ในข้อ 3) ว่าในแต่ละวาระการเล่าเรื่องแต่ละครั้งมันจำเป็นต้อง Action กับคนที่ต่างกันอย่างไร นำเสนอ Action ให้ชัดด้วยภาชนะที่เหมาะสม อย่าพยายามจะเอาทุกอย่างได้ทั้งหมด มันยากนะ! เพราะแต่เดิมการเล่าเรื่องมันคือ ความสม่ำเสมอในการทำ (Consistency of action)
เมื่อเราทำซ้ำมากพอ ให้ Action ไปอยู่ในใจผู้บริโภค ทำให้เขาเห็นบ่อย ๆ มันจะเริ่มเกิดผลซึ่งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ เพื่อให้เขารอดูเนื้อหาต่อ ๆ ไปของเรา ไม่ได้เน้นขายของเพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยเรื่องของ Engagement ด้วยเช่นกัน
และทั้งหมดนี้คือ Humanize งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ได้มีองค์ประกอบเพียงแค่ความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ แต่สิ่งสำคัญที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แบรนด์ไหนที่สามารถ “เข้าใจความเป็นมนุษย์ และสะท้อนตัวตนผ่านความเป็นคนได้ตรงใจผู้บริโภค” จะได้เปรียบกว่าแบรนด์ที่ยังคงสร้างสรรค์ แต่กลับไม่ทำให้ลูกค้าเชื่อได้ เพราะ แบรนด์ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการหาเงิน แต่แบรนด์คือ Tools ที่ทำให้มนุษย์ยังเชื่อมโยงกันได้ เป็นส่วนหนึ่ง และส่วนร่วมกันระหว่างแบรนด์และผู้บริโภค
สัมภาษณ์ เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ