เปิดเคล็ดลับพิชิตธุรกิจในช่วงวิกฤต จาก 3 แบรนด์ชั้นนำ

อีกหนึ่ง Session ในงาน CTC2025 ถึงเคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนกับ 3 ธุรกิจที่เรียกความมั่นใจกลับมาได้ทันเวลา และผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้อย่างไร เขามีเทคนิคอะไรบ้าง นี่คือบทเรียนสำคัญของคนทำธุรกิจอย่างแท้จริง

Last updated on ก.ค. 8, 2025

Posted on ก.ค. 8, 2025

ในวันนี้ระเบียบโลกสั่นคลอน ไหนจะประเทศไทยเราก็สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันไปเยอะ รวมถึงปัญหาภายในทั้งสภาพเศรษฐกิจ คำถามคือในวันที่โลกสั่นคลอนแบบนี้  เราจะทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรามั่นคง และยังมีโอกาสในสถานการณ์วิกฤตนี้ได้บ้าง อีกหนึ่ง Session ในงาน CTC2025 ถึงเคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนกับ 3 ธุรกิจที่เรียกความมั่นใจกลับมาได้ทันเวลา และผ่านพ้นช่วงวิกฤตมาได้อย่างไร เขามีเทคนิคอะไรบ้าง นี่คือบทเรียนสำคัญของคนทำธุรกิจอย่างแท้จริง

ในวันที่โลกสั่นคลอนทั้ง 3 ธุรกิจ ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากที่สุดและรับมือกับเรื่องนั้นได้อย่างไร

มุมมองจาก SUPALAI

คุณเต - ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม, Managing Director, SUPALAI PLC ได้เล่าถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Business) ปีนี้เรียกได้ว่า “ยากที่สุด” และเป็นต่อเนื่องมา 2 ปีต่อเนื่องแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่จะโดนเรื่องของ GDP Growth, สภาพเศรษฐกิจที่เติบโต และความสามารถในการซื้อ นั่นคือการกู้ของลูกค้า คุณเต ยังเล่าต่อว่า การติดลบในวันนี้ให้มองเป็น 2 ลบ 

ลบแรก คือ ถ้าถามว่าช่วงนี้แย่กว่า ปี 40 ไหม คำตอบคือ ปี 40 ติดลบหลายปีกว่าก็จริง แต่พอฟื้นกลับมามันบวกเยอะ แต่ปัจจุบันเราพ้นจากโควิด เราบวกน้อย และไม่เห็นทีท่าว่าจะดีกว่าเดิม และลบต่อมาคือ ความสามารถในการซื้อ ปัจจุบันดอกเบี้ยไม่ได้แพงเท่าไหร่ แต่ความสามารถในการซื้อของลูกค้าในแง่ภาระหนี้ ซึ่งภาระหนี้แทบจะ All Time High 

ดังนั้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยกระทบทั้งนอกประเทศ, ในประเทศ, GDP, Household Debt คำถามคือแล้วเราต้องมาโฟกัสอะไรเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างมั่นคง คุณเตได้บอกอย่างชัดเจนว่า “วินัยทางการเงิน” แต่มันเป็นสิ่งที่สร้างไม่ได้ในตอนนี้ด้วย เพราะวินัยการเงินต้องสร้างมาตั้งแต่ 5-10 ปีที่ผ่านมา

  • ทำอย่างไรให้มั่นคงต่อเนื่อง
  • ทำอย่างไรให้ Cost of Funds ต่ำ
  • และทำอย่างไรให้เรามีโอกาสใช้มันอย่างถูกวิธี

รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันระยะยาว

  • เราจะทำอย่างไรให้ Research and Development ยังไปได้อยู่
  • เราจะทำอย่างไรให้ความเชื่อมั่นในมุมลูกค้ายังดีอยู่

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นธุรกิจแบบ Big Ticket size คือมียอดการซื้อต่อครั้งสูง ดังนั้นเงินก้อนใหญ่ที่สุดในชีวิตของหลาย ๆ คนนำมาซื้อบ้าน “ความเชื่อมั่น” จึงเป็นสิ่งสำคัญมากทั้งความยั่งยืนเติบโต, วินัยทางการเงินต้องดี และความสามารถทางการแข่งขันก็ต้องเดินหน้าต่อด้วยเช่นกัน 

มุมมองจาก The Coffee Club

คุณจุ๊บ - นงชนก สถานานนท์, ผู้จัดการทั่วไปจาก The Coffee Club ซึ่งเป็นธุรกิจที่ขายเครื่องดื่ม และ all day breakfast ก็โดนผลกระทบในมุมของลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น อาจจะไปทานร้านอื่นบ้าง แต่ท้ายที่สุด “ลูกค้าสำคัญที่สุด” ความพึงพอใจของลูกค้าจะทำให้เราอยู่ได้ในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งการปรับตัวเราก็ทำหลายด้านไม่ว่าจะทำ Subscriptions เพื่อทำให้ราคาต่อหน่วยลดลง ลูกค้าทานได้บ่อย 

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ลดไม่ได้เลยคือ “คุณภาพ” 

เพราะลูกค้าจ่ายเงินเพื่อให้ได้คุณภาพแบบเดิม ความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าเราจะเป็นตัวชี้วัด รวมไปถึงเราต้องยึดมั่น, รักษามาตรฐานว่าแบรนด์ของเรายึดมั่นอะไร และพร้อมจะปรับเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ

มุมมองจาก karun

คุณรัส - ธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ, ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ karun แม้จะเป็นแบรนด์น้องใหม่ แต่ในภาวะแบบนี้ก็เจอผลกระทบค่อนข้างมาก อย่างการใช้เงินอย่างชาญฉลาดเวลาจะลงทุนก็ต้องเลือกละเอียดขึ้น เป็นเรื่องของ Risk management ในทางกลับกันลูกค้าเองก็ใช้เงินชาญฉลาดขึ้น ใช้จ่ายรอบคอบขึ้น มีตัวเลือกมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นความสามารถทางการแข่งขัน คือการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาสที่จะมาข้างหน้า รวมถึงตัวตนของแบรนด์ที่ชัดเจน ทั้งในฝั่งของแบรนด์, ลูกค้า และพนักงานของเราที่จะต้องอยู่กับเราในช่วงเวลาวิกฤตครั้งนี้


เคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนในช่วงวิกฤต เราจะมีวิธีอย่างไรในการคว้าโอกาสในช่วงวิกฤต และทำให้ธุรกิจมั่นคงได้ ? 

เคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนจาก SUPALAI

วิกฤตที่หนักที่สุดของ SUPALAI คือ ‘ต้มยำกุ้ง’ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์เป็นผู้ทำให้เกิดสิ่งนี้ แต่ในวันนี้ถามว่าหนักเท่าเดิมไหม คำตอบคือ ‘ยัง’ แต่ข้อดีคือ เราเป็นบริษัทสร้างความเชื่อมั่น เราต้องเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า เอาลูกค้าเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นการเติบโตไปด้วยกัน รวมไปถึงคู่ค้าก็เช่นกัน ทั้งซัพพลายเออร์, ผู้รับเหมา

รวมถึงเป็นบริษัทที่ทำต้นทุนได้ต่ำที่สุดในตลาด ทำราคาที่ดีได้ที่สุดในตลาด ซึ่งมันเกิดจากความเชื่อใจกันทั้งคู่ค้า และลูกค้า อีกด้านที่สำคัญคือเรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เนื่องจากเราผ่านวิกฤตครั้งใหญ่อย่างต้มยำกุ้งมา จึงเป็นบทเรียนสำคัญให้เราดูแลเรื่องวินัยทางการเงินได้ค่อนข้างดีอย่างสม่ำเสมอ 

Insight ที่น่าสนใจในการมองวิกฤตเป็นโอกาส คุณเต เล่าให้ฟังว่า คอนโด 15 ปีหลังสุด ซื้อขายน้อยสุดปีไหน มันคือปีที่แล้ว! ซึ่งเราใช้โอกาสนี้แหละลุยเข้าไป เพราะคู่แข่งไม่มี โดย Insight ที่น่าสนใจจาก EIA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีการ Approved คอนโด เดือนละประมาณ 15 โครงการ ปัจจุบันเหลือแค่ 2 โครงการ นั่นหมายความว่า ถ้า Supplier หรือผู้ผลิตลดขนาดนั้น เราพร้อมที่จะทำ

การมองความเสี่ยงที่คู่แข่งไม่กล้าทำ แต่ SUPALAI เห็นโอกาสนี้แสดงให้เห็นถึง การอ่านสถานการณ์ได้ถูกจังหวะ เพราะเขาประเมินความเสี่ยงไว้แล้วว่า สถานะทางการเงินบริษัทมีความแข็งแรง สามารถซื้อที่ได้ แม้ยอดขายไม่ได้ดีเท่าเดิม แต่ไม่เลว! นั่นหมายความว่าถ้าเรามองไปข้างหน้า Supplier จะเข้ามาในตลาดไม่เยอะ นั่นหมายถึง Demand หรือ ความต้องการมันมีอยู่ ถ้าเราสามารถ Gain Market Share ได้ ยอดขายเราก็จะเพิ่ม

ดังนั้นความสำคัญของวินัยทางการเงินที่ดี ถึงสำคัญมาก เพราะในช่วงวิกฤตแบบนี้คุณจะคว้าโอกาสได้ถ้าวินัยทางการเงินคุณดีมากพอ อีกเรื่องที่สำคัญมาก ๆ คือการสร้างความเชื่อใจกับลูกค้า เราจะอยู่ไม่ได้เลยถ้าไม่มีลูกค้า คุณเตเล่าให้ฟังว่า ยอดขายการบอกต่อ มีมากถึง 15-20% ดังนั้นถ้าเราทำให้ลูกค้าไว้วางใจ เขาก็จะเกิดการบอกต่อร่วมกัน รวมไปถึงเราก็ต้องทำให้คู่ค้า และผู้ถือหุ้นไว้วางใจด้วยเช่นกัน

ในช่วงเวลาที่ยากลำบากหลังจากนี้ เราทิ้งใครไว้ข้างหลังไม่ได้ ความเชื่อใจจากทุกฝ่ายสำคัญมาก ความเชื่อใจมันไม่ได้สร้างได้ในข้ามวัน แต่มันต้องสะสมมาเรื่อย ๆ ทำให้เกิดเป็น DNA ในองค์กร อย่าเอาเปรียบใคร ความมั่นใจ ความเชื่อใจสำคัญมาก อย่างตอนแผ่นดินไหวเราก็รีบ Take action ให้จบภายใน 2 วัน ทั้ง ๆ ที่ตอนแรกแพลนไว้มากกว่านั้น เพียงเพราะเราเข้าใจลูกค้า และมันมาจาก DNA ของทีมงานที่อยากทำเรื่องนี้ให้จบเร็วที่สุด เพื่อให้ลูกค้าผ่อนคลายได้บ้าง และเชื่อใจเรา ว่าเราไม่ได้ทิ้งเขาไปไหนจริง ๆ 

เคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนจาก The Coffee Club

The Coffee Club เข้ามาในเมืองไทยกว่า 15 ปีแล้ว ถ้าถามว่าเมื่อก่อนคงมีคนรู้จักไม่เยอะ เพราะเราเน้นไปเปิดตามแหล่งท่องเที่ยวให้กับชาวต่างชาติ อย่างภูเก็ต, สมุย, พัทยา, หัวหิน ซึ่งก็ไม่เคยคิดว่าจะมาเปิดใน กทม. โดยไปเปิดตามโรงแรมต่าง ๆ ในช่วงที่เศรษฐกิจมันดี และมีการขยายสาขาเยอะมาก โดยเปิดไปได้ถึง 70 สาขา และสุดท้ายพอเจอโควิด ต้องปิดสาขาเหลือเพียง 30 สาขา (ซึ่งก็เจ็บหนักมาก)

ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เรารอด ต้องเริ่มจากการบาลานส์พอร์ตของเรา เรายังไม่อาจเปิดสาขาเพิ่ม แต่ขอภายใน 1-2 ปี เอาให้มันเท่าทุนก่อน แล้วปีที่ 3 เราถึงจะกลับมาได้กำไร โดยเป็นกำไรจาก Profitable Growth เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เผาผลาญเงิน และยังสร้างกำไรได้ในระหว่างทาง

หลังจากผ่านวิกฤตสู่การสร้างกำไรในปีที่ 3 มันเกิดจากการเริ่มหาช่องทางเติบโต เราจะไม่ขายแค่กาแฟ หรืออาหารอย่างเดียว แต่เราไปตามหา Channel ใหม่ ๆ ไปเปิดตามโรงแรม 3-4 ดาว โดยการเล็งเห็นว่า โรงแรมแถวนั้นไม่มี breakfast ซึ่งเป็นหนึ่งใน Opportunity ที่เราจะได้ลูกค้าในตอนเช้า 

ในฝั่งของกรุงเทพ มีการปรับ Scale ให้เล็กลง มีไปตามสำนักงานออฟฟิศบ้าง แต่ PainPoint สำคัญคือ การเปิดในพื้นที่ออฟฟิศลูกค้าหยุดเสาร์-อาทิตย์ หรือบางที่พนักงานออฟฟิศ WFH ทำให้ได้รายได้ไม่ต่อเนื่อง จึงเป็นที่มาในการแก้เกมต่อไป นำไปสู่การเปิดใน ‘โรงพยาบาล’ ซึ่งเปิด 7 วันเต็ม รวมไปถึงมีทั้งเมนูสุขภาพ, เมนู breakfast เรื่องของเมนูอาหารก็สำคัญมาก 

เคล็ดลับพิชิตช่วงเวลาสั่นคลอนนี้ ในมุมของคุณจุ๊บเน้นย้ำเรื่อง “การเป็นคนช่างสังเกต และปรับตัวเร็ว” การคิดไว ทำไว สำเร็จเร็ว แค่นั้นยังไม่พอ ต้องประเมินผลไว เพื่อปรับเปลี่ยนให้ไว คือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจร้านอาหาร

อีกเรื่องนึงที่สำคัญมาก ๆ คือ การมี Entrepreneurship เราต้องมีจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ พนักงานทุกคนของ minor food เองมีสิ่งนี้ปลูกฝังเสมอ ดังนั้นการคำนึงถึงผลกำไรให้บริษัทสำคัญ เพราะถ้าบริษัทอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ 

เคล็ดลับพิชิตการสั่นคลอนจาก karun

แม้แบรนด์ ‘ชา karun’ จะเป็นน้องใหม่ แต่วิกฤตก็ไม่ได้บอกว่าแบรนด์เล็กจะไม่มีโอกาสโดน คุณรัสเล่าว่าเคยมีเคสสินค้าหลุด QC ซึ่งถือเป็นความกดดันของแบรนด์เรามาก แต่ในครั้งนั้นก็ตัดสินใจ ‘ปิดโรงงาน’ แจ้งลูกค้าทันที งดขายสินค้า 1 สัปดาห์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบอย่างถึงที่สุด

ในวันนี้เราไม่ใช่แค่ร้านขายชา หรือขายเครื่องดื่ม แต่เราเป็น ‘แบรนด์’ เราต้องรับผิดชอบในข้อผิดพลาดกับลูกค้าทุกคน จึงกลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญที่เราไม่ได้มีเป้าหมายแค่ขายของ แต่เรารักษาลูกค้าของเราไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อให้เขาพึงพอใจทั้งรสชาติ มาตรฐานสินค้า และมาตรฐานการบริการ 

แบรนด์ karun เกิดขึ้นมาในช่วงก่อนวิกฤตโควิดนิดเกือบครึ่งปี! แต่ในวันนั้นก็ไม่ได้คิดจะปิด แต่มองว่ามันเป็นโอกาส เนื่องจากเราอยู่ในขาของ Food & Beverage ซึ่งลูกค้าตัดสินใจซื้อง่าย พอเขาอยู่บ้าน ก็เลยอยากหาทางเลือกใหม่ ๆ อะที่มีบริการรับส่งถึงบ้านเขาก็จะชอบ ซึ่งในโอกาสนั้นเราคือป๊อบอัปใหม่ ให้กับลูกค้าในการสั่งมาทานที่บ้าน และเป็นของใหม่ในช่วงเวลานั้นพอดี

กลับมาในปัจจุบันคุณรัสบอกว่า มันยากขึ้นกว่าเดิมนะ เพราะในวันนี้ผลกระทบมันมาถึงภาคเศรษฐกิจระดับประเทศมากขึ้น เราไม่รู้เลยว่าปัญหาจะจบลงวันไหน คุณรัสได้ให้นิยามคำนึงไว้ว่า “ในวันที่เราขายดี ในช่วงที่เศรษฐกิจมันไม่ดี” มันจะรู้สึก Insecure หรือไม่ปลอดภัย เพราะเป็นช่วงที่ตัดสินใจยาก ไม่รู้ว่าเรากำลังโตหรือเปล่า เราได้กำไรจริงไหม หรือเราควรจะเซฟเงิน เหมือนคำที่เราเคยได้ยินว่า “ขายดีจนเจ๊ง” ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับร้านอาหารและเครื่องดื่ม 

ในวันนี้ karun ประเมินจากในตลาด เราชะลอการโตได้, ชะลอการผลิตได้ ด้วยการบริหารต้นทุนที่รับไหว แต่สิ่งที่เราต้องโฟกัสให้ลึกคือพฤติกรรมผู้บริโภค อ่านความต้องการลูกค้าให้ออก การ Diversify ความต้องการลูกค้าให้หลากหลายขึ้น เราต้องปรับท่าใหม่สม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มตัวเลือกให้กับสินค้า 

การผ่านช่วงเวลาวิกฤตที่คุณรัส คำนึงถึงเสมอคือ ‘จุดยืนของแบรนด์’ สิ่งนี้มันไม่ใช่แค่บอกว่าเรายืนตรงไหน แต่มันส่งต่อไปถึงคนในบริษัทเห็นทุกอย่างเป็นภาพเดียวกันหมด เมื่อทุกคนเข้าใจเป้าหมายเดียวกัน การส่งสารแบบเดียวกันออกไปด้วยธงเดียวกันจึงแข็งแรง รวมถึงคนนอกก็เข้าใจว่าเราเป็นใคร และตอบได้ด้วยว่าที่เขาเลือกเรา เพราะแบรนด์เรามีจุดยืนที่ชัดเจน ทำให้ลูกค้ารู้สึกพึงพอใจในการมาใช้บริการเรา


ทิ้งท้ายแนวคิดที่น่าสนใจจากทั้ง 3 แบรนด์ คือทุกวิกฤตมีโอกาส วันนี้ลองกลับไปประเมินธุรกิจของตัวเอง!

จุดแข็งเราคืออะไร แล้วเสาะหาช่องว่างในตลาดที่มี มันจะกลายเป็น Success story ได้ 

ในช่วงที่เรามีเยอะ ต้องรู้จักเก็บ ประเมินให้ได้ว่าจะเจ็บตัวน้อยที่สุด เพื่อเก็บกำไรให้ได้ ในช่วงที่เราทำได้ต้องใช้อย่างสมเหตุสมผล ช่วงไหนใช้ไม่ได้อย่างวู่วาม คิดให้รอบคอบมากขึ้น บริหาร P&L (Profit and Loss Statement) ให้ดี ๆ 

เจ้าของธุรกิจทุกคน เวลาเราชนะ เราจะเฉลิมฉลองหลังคนอื่นเสมอ แต่เวลาแพ้เราคว้านท้องตัวเองก่อนคนอื่นเสมอ จงคำนึงไว้เสมออย่าฉลองเกินตัว ในวันนี้ถ้าอยากยืนหยัดต่อไปได้ จุดแรกที่ต้องมีคือจุดยืน และความแตกต่าง อย่าไปเป็นคนอื่น อย่าไปเป็นใครที่ตลาดเขามีอยู่แล้ว และพยายามมีแผนรองรับไว้เสมอ


Session: The Unshakable Business ทำอย่างไรให้ธุรกิจมั่นคง ในวันที่โลกสั่นคลอน

Speaker

  • คุณไตรเตชะ ตั้งมติธรรม, Managing Director, SUPALAI PLC
  • คุณธัญย์ณภัคช์ ศิริประภาเจริญ, ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ karun
  • คุณนงชนก สถานานนท์, ผู้จัดการทั่วไป เดอะ คอฟฟี่ คลับ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เอ็มเอฟ คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองต์ จำกัด

ใครที่อยากรับชมแบบจัดเต็ม สามารถซื้อบัตรรับชมย้อนหลังทุกเซสชันเพิ่มเติมได้ที่
👉 https://bit.ly/3TRATke

Creative Talk Conference 2025 (CTC2025) The Future Is Worth A Thousand Words | Zipevent - Inspiration Everywhere
Creative Talk Conference 2025 (CTC2025) The Future Is Worth A Thousand Words -
trending trending sports recipe

Share on

Tags