บ่อยครั้งที่เรามีไอเดียเจ๋ง ๆ ความคิดสดใหม่มั่นใจเกินร้อยเลยว่า ไอเดียนี้ไม่เหมือนใคร แต่ความคิดนี้กลับติดอยู่ในใจ ไม่กล้าพูดหรือสื่อสารออกไป อาจเพราะนิสัยส่วนตัวของเราที่เป็นเป็นคนคิดมาก หรือกลัวว่าพูดออกไปแล้วจะผิดใจกับคนในทีม
หากปล่อยให้มีสถานการณ์แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เก็บความคิดเห็นที่แตกต่างเอาไว้ในใจ ยอมให้ทุกเรื่องในที่ประชุมผ่านไปโดยไม่มีความเห็นของเรา สุดท้ายเราจะรู้สึกว่า “เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่กำลังพูดถึง ณ ตรงนั้น” หรืออาจจะบานปลายกลายเป็นเราเองที่คิดว่า “งานนี้ ไม่ได้เป็นของเราเพราะมันไม่มีส่วนหนึ่งของความเห็นจากตัวเราอยู่ในนั้นเลย”
กลายเป็นว่า เวลาเราทำงาน เราก็จะรู้สึกว่า “ไม่ต้องทุ่มเทอย่างเต็มที่” และเมื่อถึงเวลาที่เราเหนื่อยกับงานนี้ เราก็จะตอบตัวเองไม่ได้ว่า “ฉันทำงานนี้ไปเพื่ออะไร”
วันนี้เรามีสิ่งที่ควรทำ 3 เรื่อง และสิ่งที่ไม่ควรทำ 3 เรื่อง เมื่อต้องแสดงความเห็นต่างในที่ประชุมมานำเสนอ
3 สิ่งที่ควรทำ เมื่อต้องแสดงความเห็นต่างในที่ประชุม
1. บอกความเห็นที่แตกต่างของเราออกไป
ยกมือ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นจากคนในที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังจะพูดในเรื่องที่เป็นความคิดเห็นของเรา ผ่านการใช้ชุดคำพูดที่เหมาะสมและน้ำเสียงที่เป็นกันเอง
ตัวอย่างเช่น เราพูดออกไปเลยว่า “เรามีความเห็นที่แตกต่างออกไป ขอแชร์นิดนึงได้ไหม” หรืออาจจะพูดว่า “อืม…มันพอจะเป็นไปได้ไหม ที่เราพอจะพูดถึงเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่ง” หรือไม่ก็พูดตรง ๆ เลยว่า “เรื่องนี้ เราคิดแบบนี้นะ เพราะว่าแบบนี้ สาเหตุมากจากแบบนี้”
2. ทบทวนความเห็นเดิมให้แน่ใจ ว่าเราเข้าใจถูกต้อง
การที่เราทบทวนเรื่องที่พูดกันมาก่อนหน้านี้ จะเป็นการช่วยเตือนตัวเองก่อนแสดงจุดยืนออกไปว่า เราเข้าใจถูกต้อง โดยหลังจากการทวนความเห็นเดิม สามารถเสริมคำพูดแบบนี้ได้เลย “สรุปเป็นแบบนี้ใช่ไหมคะ” หรือ “หนูเข้าใจถูกไหมคะ”
ตัวอย่างเช่น การพูดทบทวนอีกทีว่า “อืม…ตอนนี้เรากำลังจะใช้วิธีโทรหาลูกค้าที่มีอยู่ในมือทั้งหมด ถูกต้องไหมคะ” ก่อนที่จะเสนอความเห็นของเราออกไปโดยการพูดว่า “แล้วถ้าเราลองแบบนี้หละคะ”
การทำแบบนี้ก็จะเป็นการทำความเข้าใจว่า “โอเค สิ่งที่เรากำลังแสดงความเห็นอยู่นี้ มันแตกต่างจาก ณ ตอนแรก ในความเข้าใจของเราอย่างไร” และถ้าหากเราเข้าใจผิด หรือว่าจับประเด็นผิด เจ้าของไอเดียเขาจะได้พูดให้เราเข้าใจ สุดท้ายเราจะได้คิดตรงกัน
3. สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา
หากเรามีความเห็นต่างจริง ๆ สามารถพูดออกไปได้เลย อธิบายให้เคลียร์ สื่อสารให้ชัดเจน ด้วยความจริงใจ อาจจะใช้วิธีการตั้งคำถาม แนะนำแนวทางอื่นๆ หรือใช้การอธิบายด้วยวิธีการของตัวเอง
การใช้คำพูดเชิงแนะนำเป็นทางเลือกที่ดีที่จะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา เช่น การพูดว่า “แทนที่จะโทรหาลูกค้า หนูว่าเราเดินทางไปหาเขาเลยจะดีกว่าไหมคะ” หรือ “แทนที่จะเดินทางไปหาเขา เราลองใช้วิธีส่งไลน์ไปก่อนไหมคะ” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ควรรีบร้อน ตัดบทหรือด่วนสรุป จนถึงขั้นพูดว่า “อืมมมม หนูว่าทำอีกแบบละกันค่ะพี่”
ผ่านไปกับ 3 สิ่งที่ไม่ควรทำ ต่อไปลองมาดูกันบ้างว่ามีอะไรบ้างที่เราไม่ควรทำ
3 สิ่งที่ไม่ควรทำ เมื่อต้องแสดงความเห็นต่างในที่ประชุม
1. อย่าคิดไปก่อนว่า “นี่จะเป็นการชวนทะเลาะ”
Mindset ในการแสดงความคิดเห็น เป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะอย่าลืมว่าเมื่อไรก็ตามที่เรามี Mindset แบบหนึ่ง มีทัศนคติบางอย่างอยู่ในใจ หรือคิดเอาไว้แล้วว่ามันจะต้องเป็นแบบนี้แน่ ๆ เรากำลังจะพูดหรือทำบนพื้นฐานของความเอนเอียง ที่เรียกว่า Confirmation Bias
ดังนั้น เราจำเป็นต้องสะกดจิตตัวเอง บอกตัวเองเสมอว่า “เราไม่ได้จะชวนทะเลาะนะ เราบอกในความเห็นที่ต่างออกไป” เพราะการคิดไปก่อนว่า “ถ้าฉันแสดงความเห็นออกไป จะต้องได้ทะเลาะกันแน่ ๆ” หากคิดแบบนี้ ก็มีแต่จะทะเลาะกันจริง ๆ
2. ไม่ควร “งัดข้อ” ให้เกิดการแพ้-ชนะ
เรื่องนี้สำคัญมาก ๆ เนื่องจากสิ่งที่เรากำลังจะทำ คือการแสดงความเห็นจาก ‘ความเห็นต่าง’ ของเรา ดังนั้น เราจำเป็นต้องพูดออกไปอย่างเปิดใจ ไม่ควรคิดว่านี่คือการแข่งกัน และที่สำคัญต้องไม่คิดว่า “ความเห็นของเราจะได้ไปต่อเสมอ ส่วนความเห็นเดิมจะต้องถูกตีตกทันที”
3. อย่าใช้คำพูดในเชิงตัดสิน
การตัดสิน เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการตัดสินความคิดเห็นคนอื่นผ่านการใช้ชุดคำพูด “ความเห็นนี้ตลก” หรือ “ความเห็นนี้ ผมว่าไม่ใช่” ไปจนถึงคำว่า “ความเห็นนี้มันประหลาด” เป็นต้น การตอบกลับไปแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากการติดป้ายประกาศบอกว่า “ความคิดนี้มันผิด”
เหตุผลคือ คนที่ได้ยินคำพูดชุดนี้เขาจะหมดกำลังใจเอาได้ง่าย ๆ และสุดท้ายเขาจะไม่อยากฟังคำพูดจากปากของเรา เพราะเราต้องไม่ลืมว่า เขาใช้เวลาคิด ใช้ผลิตไอเดียนี้มานานพอสมควร หากเขาสื่อสารความคิดใหม่ ๆ ออกไป แล้วได้คำพูดเหล่านั้นกลับมา ก็เท่ากับว่า “เขาโดนติดป้ายซะแล้ว ว่าความเห็นของเขาเป็นอย่างไร”
สุดท้ายนี้ อย่าลืมว่าเพื่อน ๆ ต้องเปิดใจที่จะฟัง อีกทั้งต้องยอมรับว่า ความเห็นของเราอาจจะไม่ใช่ความเห็นที่ดีที่สุด หรือว่าความเห็นนั้นอาจจะเป็นความเห็นเพียงมุมเดียวของเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น และกล้าที่จะพูด เพราะว่าเมื่อได้พูดออกไปแล้ว เราจะรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในที่ประชุมและอยากที่จะฝ่าฟันสิ่งเหล่านั้นไปได้ด้วยกันนั่นเอง
เรียบเรียงจาก The ORGANICE Podcast
ฟังพอดแคสต์ได้ทาง