อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ระดับตำนานของโลกเคยอ่านหนังสือมามากมายหลายเล่ม เพียงแต่ว่าหนังสือเล่มไหนบ้างที่ทำให้อัจฉริยะตลอดกาลผู้นี้ตกหลุมรักจนต้องกลับไปอ่านซ้ำ แล้วหนังสือเล่มไหนบ้างที่ส่งอิทธิพลต่อทั้งความคิดและมุมมองของเขา
ในหนังสือที่ชื่อว่า Einstein for the 21st Century ผู้เขียนได้เล่าถึงว่าในห้องสมุดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างไอน์สไตน์นั้นมีหนังสือของใครบ้าง โดยส่วนมากนั้นเป็นหนังสือภาษาเยอรมัน ซึ่งมีทั้งเนื้อหาในทางฟิสิกส์และปรัชญา ทว่ามันก็มีหนังสือจากนักเขียน 5 ท่าน ที่ไอน์สไตน์นั้นชื่นชอบเป็นพิเศษ
CREATIVE TALK จะพาทุกคนมาทำความรู้จัก ‘หนังสือ 5 เล่มที่ไอน์สไตน์หลงรัก’ แต่ละเล่มกันครับ…
1. Analysis of Sensations โดย Ernst Mach
การพัฒนาทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์นั้นได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากงานของ Ernst Mach นักฟิสิกส์และนักปรัชญาชาวออสเตรียแห่งศตวรรษที่ 19 ซึ่งในผลงานที่ชื่อว่า ‘Analysis of Sensations’ Mach ได้เขียนเกี่ยวกับธรรมชาติที่ยากจะเข้าใจในเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกมนุษย์ และความไม่แน่นอนของสิ่งที่เรียกว่า Ego (ความทะนงตน , อัตตา)
ซึ่งผลงานของ Mach ยังรวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ทฎษฎีของนิวตัน ในเรื่องของ Time and Space ซึ่งเป็นอีกแหล่งของแรงบันดาลใจที่ไอน์สไตน์ใช้ต่อยอดความคิด ซึ่ง Mach ก็มีอิทธิพลต่อไอน์สไตน์ในระดับที่ไอน์สไตน์ตั้งชื่อสมมติฐานของตัวเองว่า ‘Mach’s Principle’ หรือหลักการของมัค ซึ่งเป็นแนวความคิดที่ว่าความเฉื่อยนั้นมีต้นกำเนิดมาจากปฏิกิริยาระหว่างร่างกาย
และในจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึง Moritz Schlick ในปี 1915 เขาก็ได้อธิบายถึงสิ่งที่บรรดานักเขียนส่งอิทธิพลต่อความคิดของเขาในเรื่องของทฤษฎีสัมพัทธภาพ
‘คุณมองถูกแล้วว่ากระแสความคิดในเรื่อง ปฏิฐานนิยม (Positivism) นั้นมีอิทธิพลอย่างมากต่อความพยายามของผม โดยเฉพาะ E. Mach และ Hume ผู้เป็นเจ้าของตำราที่ผมศึกษาด้วยความศรัทธาและเลื่อมใส ก่อนที่ผมจะได้ค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ ซึ่งมันแน่นอนเลยว่าถ้าไม่มีการศึกษาด้านปรัชญาเหล่านี้ ผมคงไม่ได้ค้นพบ Solution นี้’
2. Don Quixote โดย Miguel de Cervantes
Leopold Infeld ผู้ที่เคยได้ทำงานร่วมกับไอน์สไตน์เขียนในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่ชื่อ The Quest ไว้ว่า ไอน์สไตน์นั้นหลงรักในงานคลาสสิกของ Cervantes ในเรื่อง Don Quixote หรือ ‘ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน’ เป็นอย่างมาก และไอน์สไตน์มักนอนบนเตียงพร้อมกับหนังสือเล่มนี้ ที่เขาแสนเพลิดเพลินกับมันและเขาก็ชอบอ่านมันเพื่อผ่อนคลายด้วย
3. Ethics โดย Baruch Spinoza
Baruch Spinoza คือนักปรัชญาชาวดัตช์เชื้อสายยิว แห่งศตวรรษที่ 17 ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของงานเขียนที่สร้างรากฐานให้กับยุคเรืองปัญญา (Enlightenment) และเป็นยุคแรกของการวิพากษ์วิจารณ์คัมภีร์ไบเบิลแบบร่วมสมัย ซึ่งหนังสือ ‘Ethics’ ของ Spinoza ถือเป็นส่วนสำคัญของการคิดแบบตะวันตก รวมถึงการอธิบายถึงจักรวาลวิทยาอย่างเต็มรูปแบบ และภาพของความเป็นจริง ขณะเดียวกันงานเขียนของเขาก็ยังให้คำแนะนำที่นำไปสู่ชีวิตที่มีศีลธรรมด้วย
4. A Treatise of Human Nature โดย David Hume
A Treatise of Human Nature คือผลงานของนักปรัชญาชาวสก็อตแห่งศตวรรษที่ 18 ซึ่งหากมองเพื่อทำความเข้าใจในความเชื่อมโยงระหว่างวิทยาศาสตร์และธรรมชาติของมนุษย์แล้ว จะพบว่าหนังสือเล่มนี้มีอิทธิพลต่อไอน์สไตน์อย่างมาก ซึ่งการเชื่อมต่อปรัชญาทางด้านศีลธรรมแบบเป็นวิทยาศาสตร์ ถือเป็นความสำเร็จของ Hume และหนังสือเล่มนี้ก็ดึงดูดให้คนอ่านเปลี่ยนการคาดเดาจากทาง อภิปรัชญา หรือ Metaphysics ไปสู่เรื่องของข้อเท็จจริงที่เราสามารถสังเกตได้
อ้างอิงจากงานของ Hume ซึ่งบอกว่าการสังเกตการณ์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เราเข้าใจกฎของธรรมชาติได้ ซึ่งนัยยะนี้สร้างผลกระทบต่อการพัฒนาความคิดด้านการโต้ตอบทางสัญชาตญาณของไอน์สไตน์ได้อย่างลึกซึ้ง
5. Johann Wolfgang von Goethe
โยฮัน ว็อล์ฟกัง ฟ็อน เกอเทอ หรือนักเขียนชาวเยอรมันที่อาจเป็นเจ้าพื้นที่ส่วนใหญ่ในชั้นหนังสือของไอน์สไตน์ ซึ่งรวมถึง Optics และ Faust ด้วย
ในจดหมายของปี 1932 ที่ไอน์สไตน์เขียนถึง Leopold Casper เขาเขียนว่าเขานั้นนับถือ Goethe ในฐานะนักเขียนที่ไร้เพื่อน และยกให้ Goethe เป็นหนึ่งในผู้ที่ฉลาดและหลักแหลมที่สุดตลอดกาล แม้กระทั่งความคิดที่แก่เรียนของเขาก็ควรค่าที่จะได้รับการยกย่องในระดับสูง’
แม้ว่าการได้อ่านหนังสือเหล่านี้จะไม่ได้ทำให้เราได้เป็นอัจฉริยะเทียบเท่ากับไอน์สไตน์ แต่หากได้ศึกษาหนังสือเหล่านี้ก็อาจทำให้เราได้เข้าใจอะไรหลายๆ อย่างที่ส่งอิทธิพลต่อความคิดและมุมมองบางอย่างของอัจฉริยะตลอดกาลอย่าง ไอน์สไตน์ ได้มากขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก