คุยกับจ็อบ-ปิยนันต์ ชวเลขยางกูร Thai Livestream ผู้อยู่เบื้องหลังการไลฟ์อีเวนต์ระดับประเทศ

Last updated on มี.ค. 2, 2023

Posted on เม.ย. 25, 2020

เมื่อปี 60 เราเชื่อว่ามีหลายคนไม่น้อยที่ติดตาม คอยเอาใจช่วยตูน บอดี้แสลมหรืออาทิวราห์ คงมาลัยกับไลฟ์โครงการบริจาคเพื่อ 11 โรงพยาบาลทั่วประเทศที่ชื่อว่า ก้าวคนละก้าว โดยเขาเริ่มเส้นทางวิ่งจากใต้สุดของประเทศ เบตง สู่เหนือสุดของประเทศ แม่สาย เมื่อวันที่ 1 พ.ย.-25 ธ.ค. พ.ศ. 2560 

รายการ FounderCast โดย Creative Talk คุยกับผู้อยู่เบื้องหลังไลฟ์ครั้งยิ่งใหญ่นี้ จ็อบ-ปิยนันต์ ชวเลขยางกูร CEO และ Co-Founder Thai Livestream เมื่อกันยายนปีที่แล้ว (2562) ถึงการไลฟ์ครั้งนี้และจุดเริ่มต้นของการไลฟ์ระดับประเทศต่างๆ อย่าง งานวิ่งที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศ จอมบึงมาราธอน Elle Fashion Week Fall/Winter 2017 และงานเปิดตัว ICONSIAM 

Thai Livestream

จ็อบพาเราย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของเขาตั้งแต่หลังเรียนจบ เขาเริ่มบทสนทนาด้วยการฉายภาพครันเมื่ออดีตเด็กหนุ่มวัยยี่สิบต้นๆ จ็อบบอกว่า ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนจบจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหรือบางมดหมาดๆ แต่ด้วยความที่ไม่ได้ชอบการเขียนโปรแกรมเป็นหลัก แต่สนใจเรื่องความบันเทิงอย่างดนตรี กีฬาและศิลปะ เขาจึงรับเขียนเว็บไซต์เหมือนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย และใช้ชีวิตฟรีแลนซ์อยู่นานถึง 8-9 เดือน 

“สนใจไปเรียนภาษาต่อหรือหาประสบการณ์ที่อังกฤษมั้ย?” จ็อบเล่าต่อว่า อาของเขาเปิดร้านขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อังกฤษชักชวนเขาไปเรียนต่อหรือหาประสบการณ์ที่นั้น โดยประสบการณ์นี้เรียกว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ 

“แน่นอนครับว่า เรายังเป็นฟรีแลนซ์อยู่ในตอนนั้นเลยคิดว่าไปก็ได้ ไปเรียนภาษาก่อน ถ้าเข้าที่เข้าทาง รู้สึกว่าโอเคก็จะเรียนต่อปริญญาโท” 

เพราะการใช้ชีวิตที่อังกฤษของจ็อบทำให้เขาค้นพบกับความชอบและสิ่งที่ถนัด โดยที่ก่อให้เกิดรายได้กลายเป็น ธุรกิจ Thai Livestream ในแต่ละวันจ็อบตัดสินใจแบ่งเวลาไปทำงาน และหาความรู้ในห้องสมุดเพิ่มเติม ศึกษาเรื่องต่างๆ เพิ่มเติมด้วยตนเอง เขาวางแผนตั้งแต่การเลือกหอให้ใกล้มหาวิทยาลัย ห้องสมุดและจุดที่สามารถใช้เวลาเดินทางไปทำงานได้น้อยที่สุด 

“ตอนนั้นเรียกได้ว่า ผมให้ความสำคัญกับเกรดน้อยมาก ให้เกินมาตรฐาน 2.5-2.7 ก็เพียงพอแล้ว เพราะเราเองก็เชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำงานได้ก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองให้ลูกค้าหรือนายจ้างเหมือนกัน” และชีวิตของจ็อบก็ถึงทางแยกอีกครั้ง เมื่อเรียนครบ 2 ปี ซึ่งเป็นข้อบังคับของวีซ่าการเรียนภาษาอังกฤษว่า หากคุณต้องการอยู่ต่อปีที่ 3 ต้องเรียน Pre Master หรือหลักสูตรวิชาชีพต่อจึงจะอยู่ที่นี่ต่อได้

จ็อบตัดสินใจอยู่ต่อด้วยการเรียนหลักสูตรวิชาชีพ และเริ่มหาลู่ทางเป็นงานวิชาชีพมากขึ้น โดยเอาทักษะที่อยู่ร้านคอมพิวเตอร์ของอา มาเริ่มรับซ่อมคอมตามบ้าน หรือดูแลเว็บไซต์วัดไทยที่อังกฤษ แต่การตัดสินใจนี้ไม่ใช่ทางแยกเดียว หลังจากที่เขาทำงานไปสักพักก็สามารถเก็บเงินได้ก้อนใหญ่ สายตรงจากเมืองไทยก็แจ้งข่าวที่เขาต้องตัดสินใจครั้งใหญ่กับชีวิตตัวเอง 

“พ่อเริ่มไม่สบาย ประกอบกับญาติผู้ใหญ่ที่อยู่เมืองไทยเริ่มเสียไปทีละคนสองคน ผมเองก็เป็นคนโตสุดในบ้าน เลยต้องตัดสินใจว่าจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี เสียงในหัวก็บอกเราว่า ถ้าเราเอาความรู้ที่มีตอนนี้กลับไปไทยก็น่าจะเงินได้พอๆ กับที่นี่”

หลังจากที่เผขิญชีวิตที่อังกฤษมา 3 ปี จ็อบตัดสินใจกลับไทยในปีที่ 4 หรือปี 2553 เขาเริ่มรับงานทำเว็บไซต์ทันที แต่เทคโนโลยีและคู่แข่งเองก็พัฒนาเพิ่มมากขึ้น จากเว็บไซต์ธรรมดามีการพัฒนาเป็นลูกเล่นต่างๆ เช่น Flash หรือ Template จ็อบบอกว่า เขานิ่งนอนใจ รับทำเว็บไซต์แบบเดิมๆ ไม่ได้แล้ว ต้องอัพเดทความรู้ของตัวเองให้ไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกันที่รับทำเว็บไซต์ เขาเริ่มศึกษา สำรวจตลาดเทคโนโลยีในเมืองไทยว่ามีอะไรบ้าง ณ ตอนนั้นเองคำว่าสตรีมมิ่งเป็นคำที่ใหม่มากๆ เพราะตอนอยู่ที่อังกฤษ จ็อบเล่าว่า ประเทศนี้ค่อนข้าง Advance Media ก่อนเขาจะกลับมาไทย ที่นั่นมีบริการดูวิดีออนไลน์ที่เป็น Youtube หรือการอ่านข่าวออนไลน์ คนก็รับฟังวิทยุออนไลน์แล้ว กลับกันบ้านเรายังเป็นเว็บอ่านข่าวออนไลน์อยู่เลย 

“ถ้าจะทำไลฟ์สตรีมมิ่งตอนนั้นต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์เอง รวมถึงตัว Player หรือโปรแกรมในการดูก็ต้องทำเอง” การทำไลฟ์ในยุคแรกต่างจากตอนนี้มากที่ไม่ว่าใครมีมือถือและสัญญาณอินเตอร์เน็ตก็สามารถไลฟ์ได้ จ็อบเล่าต่อว่า โปรแกรมตอนนี้มีเพียง Window Media Player รวมถึงความตั้งใจแรกของเขาคือบริการ portal วิดีโอให้คนเข้ามาดูได้ คล้ายๆ กับ Netflix นั่นเอง ซึ่งในอังกฤษเองช่องทีวี BBC ก็มีช่องทางสตรีมมิ่งแล้ว คนสามารถอ่านฟังข่าวแลดูรายการย้อนหลังได้ จ็อบมองเห็นช่องทางรายได้จึงตัดสินใจเอาไปเสนอช่องทีวีต่างๆ 

แต่ตอนนั้นอยู่ในปี 2012 เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตมือถือจาก 3G เข้าสู่ยุค 4G เรียกได้ว่าคนยังดูทีวีแบบปรกติคาบเกี่ยวกับดูออนไลน์อยู่ เขาจึงมองเรื่องดูย้อนหลังเป็นหลัก ส่วนไลฟ์เองยังไม่ได้เน้นมากเท่าไหร่ 

ชีวิตของจ็อบเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เขาเริ่มชวนคนรู้จักมาฟอร์มทีมทำงานด้วยกัน รวมถึงช่วงฤดูกาลฝึกงานก็จะชักชวนญาติที่ยังอยู่ในวัยนักศึกษามาฝึกงานแต่เป็นการฝึกที่ลงมือทำงานจริงๆ เลยก็ว่าได้ 

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาสักระยะหนึ่ง เราอดที่จะถามเขาไม่ได้ว่าแล้วจุดเริ่มต้นของสตรีมมิ่งเป็นอย่างไร เพราะนอกจากจะเป็นเรื่องที่ใหม่มากแล้วในยุคนั้น อีกทั้งเทคโนโลยียังต้องอาศัยการถ่ายทอดให้คนที่ไม่เคยรู้มาก่อนให้เข้าใจและเห็นภาพด้วย 

“โห ตอนแรกนี่ยากมากเลยนะ คำว่า สตรีมมิ่งเราต้องอธิบายก่อนเลยว่าคืออะไร แต่เราอาศัยเว็บของเมืองนอกในการอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพและเข้าใจนี้แหละ” 

อย่างที่เราเล่าไปข้างต้นว่า จ็อบไปเสนอช่องทีวีต่างๆ แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมา ถึงอย่างนั้นด้วยแพสชั่นที่ต้องการทำคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอออนไลน์ยังคุกรุ่น เขาปรับมุมมองและนั่งคุยกับตัวเองว่า หากไปทางช่อง

ทีวีไม่ได้ ก็ไปลองรับทำทางอีเวนต์ดู ด้วยเทรนด์ตอนนั้นที่เริ่มมีการไลฟ์อีเวนต์ในบางประเทศ เขาจึงเริ่มจากอีเวนต์และก่อตั้งบริษัทควบคู่ไปด้วยเพื่อความน่าเชื่อถือในการขายโปรเจต์ที่มีมูลค่าสูงและสร้างความมั่นคงให้กับทีมด้วยเช่นกัน 

“งานอีเวนต์ต้องบอกว่าเราก็ยังเจอปัญหาเดิมอยู่ คือ คนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไลฟ์ เราเลยใช้กลยุทธ์ไม่คิดเงิน ทำคอนเทนต์ขึ้นมาก่อน โดยไปไลฟ์งานแต่งของคนรู้จัก” แต่ยุคแรกของการไลฟ์ยังมีอุปสรรคเรื่องอุปกรณ์ที่เทอะทะ ตู้ขนาดใหญ่ อินเทอร์เน็ตยังต้องลากสายแลนต่อกับคอมพิวเตอร์ รวมๆ แล้วใช้เวลาติดตั้งเกือบสามชั่วโมง 

ช่วงปี 2553-2556 การรับงาน Thai Livestream ยังเป็นลักษณะทำงานเพื่อต่ออีกงาน บางงานมีกำไรก็เอามาโป๊ะงานที่ไม่มีกำไร เข้าหาหน่วยงานรัฐเป็นหลัก พอมีงานสะสมพอร์ตมากขึ้น จ็อบเริ่มขยับไปสู่งานที่น่าสนใจมากขึ้น โดยยึดพื้นฐานจากสิ่งที่คนสนใจ แตกไลน์งานอีเวนต์ออกเป็นหมวดหมู่ อาทิ งานสัมมนา กีฬา ดนตรี หรือเปิดตัวต่างๆ ชื่อของ Thai Live stream และคำว่าไลฟ์สตรีมมิ่งเป็นที่รู้จักในหมู่ลูกค้ามากขึ้น ด้วย Youtube Live ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ 

หลังจากนั้น Facebook เองก็หันมาทำ Live เช่นกัน หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว Thai Livestream รับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เพราะไม่ใช่แค่ทุกคนรู้จักการไลฟ์มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันทุกคนก็สามารถไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กได้เอง จ็อบบอกว่า จริงๆ การไลฟ์ก็เหมือนกับการถ่ายวิดีโอ ใครทำก็ได้แต่สิ่งที่ Thai Live Stream แตกต่าง คือ ให้บริการที่เอื้ออำนวยต่อความต้องการของลูกค้า อย่างกราฟิกเปิดปิดวิดีโอ หรือการคิด Creative Content กระทั่งการขายอุปกรณ์สำหรับไลฟ์ให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ 

ถึงอย่างนั้นชื่อของ Thai Livestream ยังเป็นที่รู้จักในวงจำกัด แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Thai Livestream เป็นที่รู้จักและท้าทายการทำงานของจ็อบก็มาถึงกับก้าวคนละก้าว โดยเขาเริ่มจากไลฟ์ให้กับวู้ดดี้ มิลินทจินดาที่ไปร่วมวิ่งกับตูน บอดี้แสลม วันที่ 2 ปรากฏว่ายอดบริจาคเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่เมื่อวันที่ 3 ที่ทีมงานตูนไลฟ์เองจากมือถือ ยอดบริจาคกลับแตกต่างจากวันที่ 2 ด้วยอุปกรณ์ที่ไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับไลฟ์โดยตรงเมื่อทำการไลฟ์จึงสะดุดขาดหายไปบ้าง ป๊อก-อิทธิพล สมุทรทอง หนึ่งในวิ่งทีมก้าวคนละก้าว ตัดสินใจชวนจ็อบและทีมมาทำการไลฟ์ครั้งนี้ด้วยกัน 

“ผมมองว่าการทำงานครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ทดสอบทีมงานของเรา”

นอกจากไลฟ์งานอีเวนต์แล้ว จ็อบแชร์ให้เราฟังว่า เคยไลฟ์การเก็บทุเรียนจากต้นด้วย โดยลูกค้าเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตหนึ่งที่ต้องการไลฟ์ให้เห็นความสดของวัตถุดิบ ตั้งแต่เก็บจากต้น ตัดลูกเก็บใส่รถ จุดเก็บสินค้าไปกระทั่งปอกเปลือกให้เห็นเนื้อ 

หลังจากที่สนทนากันมาอย่างยาวนาน เราปิดท้ายด้วยคำถามซิกเนเจอร์ของรายการที่ว่า หากย้อนกลับไปได้ อะไรคือสิ่งที่จ็อบอยากบอกกับตัวเอง 

“ไม่ว่าจะคิดอะไร ให้แน่วแน่และทำไปเลยให้ดี ถ้าเราทำได้ดีแล้ว แม้ผลจะไม่เป็นอย่างที่คิดหรือไม่โอเค ก็ไม่เป็นไรแต่ให้ถือเป็นบทเรียนแล้วไปทำสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น”  

เรื่อง : สัมภาษณ์โดย FounderCast และเรียบเรียงโดย ณิชา พัฒนเลิศพันธ์
ภาพ : Thailivestream.com 


บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ

trending trending sports recipe

Share on

Tags