Generation Gap เมื่อคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่เดินกันไปคนละทิศ

Last updated on ก.พ. 20, 2023

Posted on ต.ค. 22, 2021

Generation Gap เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจในวงกว้างอยู่ในขณะนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ วงสังคม ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน หรือที่ทำงาน ฟังดูอาจจะเป็นเหมือนช่องว่างระหว่างวัยธรรมดาที่มีกันทุกยุคทุกสมัย แต่วันนี้คุณอาร์ท อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ของบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัดจะพาเราไปทำความรู้จักกับ Generation Gap ให้ดียิ่งขึ้นพร้อมวิธีการรับมือกับในแบบง่าย ๆ กัน


ทำไมคนต่างวัยถึงคิดต่างกัน

Generation Gap เป็นความแตกต่างระหว่าง เวลา และ บริบทของเวลา (context) ที่เปลี่ยนไป หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นความแตกต่างที่เกิดจากการใช้ชุดความคิดความเชื่อจากบริบทเดิมของตนเองที่เรียกว่า pre-perception มาตัดสินหรือมองโลกในปัจจุบัน เช่น พ่อแม่ใช้บริบทจากสิ่งที่ดีในสมัยที่อายุเท่ากันกับลูกมาตัดสินว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกในยุคปัจจุบันนี้ เป็นต้น ในอดีตความแตกต่างระหว่างบริบทของเวลาอาจจะมีไม่มากนักหากเราเทียบระหว่างยุค Baby Boomer กับ Gen X แต่ปัจจุบัน Globalization และ Digitalization ทำให้เกิดความแตกต่างมากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันเป็นยุคที่คนสามารถเลือกเสพข่าวและข้อมูลได้หลายทิศทาง คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลและมีทักษะในการคิด ประมวล กลั่นกรองความรู้ได้มากกว่าคนรุ่นก่อน เกิดเป็นชุดความคิดความเชื่อในแบบเฉพาะตัวมากขึ้น ผู้ใหญ่ไม่สามารถบังคับที่จะป้อนข้อมูลในแบบทางเดียวได้อีกต่อไป เมื่อข้อมูลมีหลากหลาย คนในสังคมกล้าถกเถียงกันจากข้อมูลที่มีต่างกัน ไม่เชื่อข้อมูลที่ได้รับในทันที นอกจากจะช่วยเพิ่มทักษะในการเอาตัวรอดของปัจเจกบุคคล ยังช่วยส่งเสริมสังคมโดยรวมให้มีวุฒิภาวะมากขึ้นด้วย เพราะการเชื่อแต่สิ่งที่โดนป้อนเพียงอย่างเดียวอาจเป็นสิ่งที่อันตรายต่อสังคมโดยรวมมากกว่า

ช่องว่างระหว่างวัยนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแตกต่างของอายุเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของ pre-perception ว่ามีมากน้อยแค่ไหน หากผู้ใหญ่ไม่ยึดติดกับบริบทหรือประสบการณ์ในอดีตมาสอนเด็ก แต่พยายามทำความเข้าใจบริบทของสังคม ณ ปัจจุบันให้มากขึ้น ก็จะไม่มีคำว่า “เถียง” เกิดขึ้นในครอบครัวหรือองค์กร มีแต่คำว่า “ถกเถียง” เกิดการพูดคุยในประเด็นเดียวกันจากมุมมองของทั้งสองฝั่ง โดยต่างฝ่ายต่างพยายามทำความเข้าใจ (Empathize) และยอมรับซึ่งกันและกัน


“Life is a choice.” ประโยคที่ทุกคนในครอบครัวควรยึดถือ

ในมุมของครอบครัว หากผู้ใหญ่นำประสบการณ์ที่ตกผลึกมาแล้วผนวกเข้ากับความคิดความรู้ใหม่ ๆ ของคนรุ่นใหม่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางความคิดของคนรุ่นใหม่ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้ใหญ่พึงตระหนักว่า “Life is a choice.” การมีโอกาสได้เลือกสำคัญกว่าการเลือกถูก อย่าลืมที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับลูกหลานด้วยการให้เขาได้ออกไปลองผิดลองถูก โดยที่โอกาสที่เขาได้เลือกนั้นต้องกำกับด้วยตัววัดค่าความสำเร็จเพื่อให้เขาได้รู้ด้วยว่าสิ่งที่เขาเลือกนั้นถูกหรือผิด


Generation Gap ในองค์กรลดได้ด้วย Empathy, Growth Mindset, Design Thinking

ในแง่ของสังคมการทำงาน สิ่งสำคัญในการลด Generation Gap ในองค์กรได้นั้น คือ Empathy, Growth Mindset, และ Design Thinking ซึ่งต้องมาจากทั้งสองฝั่ง ฝั่งผู้น้อยต้องมองความแตกต่างด้านความคิดเห็นเป็นเรื่องท้าทายในการสื่อสาร หาจุดร่วมในการแก้ปัญหา (Growth Mindset) พยายามเข้าใจว่าฝั่งผู้ใหญ่ติดเรื่องอะไร มีเงื่อนไขอะไรที่เราไม่รู้หรือเปล่า (Empathy) จากนั้นปรับมุมมองทางความคิดในการนำเสนอด้วยรูปแบบใหม่ ๆ (Design Thinking) หากผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ อย่างน้อยผู้น้อยก็ได้รับความไว้วางใจมากขึ้น ในขณะเดียวกันฝั่งผู้ใหญ่ก็ต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิด ให้ความเคารพคนรุ่นใหม่ รับฟังการแก้ปัญหา สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายกล้าถกประเด็นต่าง ๆ อย่างตรงไปตรงมา เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน มองหาจุดแข็งของแต่ละฝ่ายในการทำงาน และนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันในที่สุด 

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลดความแตกต่างระหว่างวัยไม่ว่าจะเป็นในสังคมครอบครัวหรือสังคมการทำงานก็คือ “ความเข้าอกเข้าใจอีกฝ่าย” (Empathy) ปัญหาต่าง ๆ ที่มีเริ่มต้นแก้ไขได้ด้วยการหันหน้าคุยกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา จากนั้นจึงจัดการแก้ไขปัญหาอย่างให้ถูกจุด หากครอบครัวหรือองค์กรได้รู้และเข้าใจที่มาที่ไปของ Generation Gap นอกจากจะช่วยสร้างครอบครัวหรือองค์กรให้เติบโตแล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ภายในให้เข้มแข็งอีกด้วย

trending trending sports recipe

Share on

Tags