“สิ่งเดียวที่เราจะได้รับอนุญาตให้เชื่อได้ก็คือ การไม่เสียใจในสิ่งที่เราเลือก”
ประโยคหนึ่งของนักเขียนการ์ตูนที่ชื่อว่า ฮาจิเมะ อิซายามะ (Hajime Isayama) ซึ่งในปัจจุบัน ผลงานของเขาอย่าง Attack on Titan ได้สร้างความประทับใจให้กับคนดูทั่วโลก จนเป็นอีกหนึ่งตำนาน และปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมของโลกบันเทิง
Attack on Titan เป็นการ์ตูนที่มีโทนเรื่องเป็นแนวดาร์กแฟนตาซี ซึ่งต่างจากการ์ตูนดัง ๆ ทั่วโลกที่โดยมาก มักจะเป็นสื่อบันเทิงที่ขายได้ทุกเพศทุกวัย ว่าแต่ผู้สร้างมีแนวคิดยังไง ถึงทำให้การ์ตูนที่มีเนื้อหาหนักหน่วงเรื่องนี้โดนใจคนทั่วโลกกันนะ
ฮาจิเมะ อิซายามะ เปิดตัว Attack on Titan เป็นครั้งแรกในปี 2009 ด้วยแนวคิดว่า เขาต้องการสร้างเรื่องราวที่สะท้อนถึงความกลัว และความขัดแย้งของสังคมร่วมสมัย ซึ่งด้วยแรงบันดาลใจเหล่านี้ ทำให้อาจารย์อิซายามะ สร้างการ์ตูนที่มีเนื้อหามืดหม่นที่ว่าด้วยโลกที่ถูกคุกคาม จากสิ่งมีชีวิตรูปร่างคล้ายมนุษย์ขนาดมหึมาที่เรียกว่า ‘ไททัน’
และด้วยวิธีคิดทั้ง 7 ข้อนี้แหละ ทำให้งานของเขาโดยใจกลุ่มผู้ชมเป็นวงกว้าง จนทำให้หนังสือการ์ตูนมียอดขายถึง 100 ล้านเล่มทั่วโลก
⚡️ 1. สร้างโลกดาร์กแฟนตาซีที่สดใหม่ ⚡️
องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ Attack on Titan แตกต่างจากการ์ตูนเรื่องอื่น คือการสร้างโลกที่สะท้อนถึงการล่มสลาย มนุษย์ไม่ได้ตายเพราะมหันตภัยธรรมชาติ หากแต่เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ ที่ทำให้เราต้องย้ายเข้าไปอยู่ในกำแพงอันเปรียบเสมือนคอกขังมนุษย์แทน ประเด็นที่สดใหม่ ณ เวลานั้นดึงดูดผู้คนเป็นอย่างมาก เพราะมันสะท้อนถึงการที่มนุษย์ไม่ใช่จุดสูงสุดบนห่วงโซ่อาหารอีกต่อไป
⚡️ 2. นำประสบการณ์ชีวิตมาสร้างสรรค์ผลงาน ⚡️
ไอเดียที่ดี ไม่จำเป็นต้องเป็นประสบการณ์ที่แปลก อาจารย์อิซายามะเอง เป็นหนึ่งในคนที่มักหยิบไอเดียรอบตัวที่คนไม่ค่อยสนใจมาต่อยอดเรื่องราว โดยในบ้านเกิดของเขา มีกำแพงเขื่อนขนาดยักษ์ที่ทำให้คนที่ไปยืนอยู่ ดูตัวเล็กลงทันตา สิ่งนั้นจุดประกายเขาว่า ถ้าหากมียักษ์กินคนอยู่ที่หลังกำแพงนั้นจะเป็นยังไง
นอกจากนั้นครั้งหนึ่ง อาจารย์อิซายามะยังเคยเห็นคนเมาที่อาละวาดอย่างบ้าคลั่งตอนทำงานพิเศษ แทนที่เขาจะลืมเรื่องเหล่านี้ไป เขาได้หยิบพฤติกรรมของคนมาสร้างเป็นการเคลื่อนไหวอันน่าขนลุกของไททันในเรื่อง
⚡️ 3. ใช้ความหลากหลายของชาติพันธ์ุดึงคนเข้าสู่โลกแฟนตาซี ⚡️
แม้ว่าเรื่องราวของ Attack on Titan จะอยู่ในโลกสมมติ ทว่าผู้คนในโลกนั้นก็อิงมาจากมนุษย์บนโลกเรา ทั้งเชื้อชาติ หรือสีผิวก็ตาม สิ่งนั้นทำให้คนดูรู้สึกเชื่อมโยงกับความแฟนตาซีนี้ได้ เพราะแม้ว่าบริบทการมีไททันจะดูไกลตัว แต่การที่ผู้คนต่างเชื้อชาติมากมายต้องมาอยู่ร่วมกัน ทำให้เนื้อหาดูมีสีสันจนจับต้องได้ เราจะพบลักษณะนิสัยของคนบางเชื้อชาติสะท้อนผ่านตัวละคร ซึ่งทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวละครเหล่านี้ เปรียบเสมือนตัวแทนของชาติพันธ์ุพวกเขา
⚡️ 4. เนื้อหาที่ไม่มีตัวละครโลกสวย ⚡️
การ์ตูนปกติมักจะมีภาพของความดี และความชั่วแยกกันอย่างชัดเจน เราจะรู้ได้เลยว่าใครขาวใครดำ ทว่า Attack on Titan นั้นค่อนข้างแตกต่าง เพราะไม่มีใครที่ขาวสะอาดเลย แม้กระทั่งตัวเอกก็ยังต้องมือเปื้อนเลือดเพื่อเป้าหมายของตน ความซับซ้อนทางศีลธรรมของตัวละครนี่แหละ ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สำคัญของซีรีส์นี้ ซึ่งดึงดูดกลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่เข้ามาติดตาม จนเป็นกระแสปากต่อปากถึงความเข้มข้นของเนื้อหาเลยทีเดียว
⚡️ 5. รู้จักเสพสื่อให้มาก ⚡️
การเสพสื่อเยอะ ๆ จะทำให้เรามีคลังความรู้ และคลังวัตถุดิบในการต่อยอดไอเดียที่มากขึ้น นอกจากจะอ่านหนังสือแล้ว อาจารย์อิซายามะยังเป็นนักดูหนังตัวยง เขามักหยิบจับแรงบันดาลใจจากสื่อที่เขาดู มาใส่ในหนัง ซึ่งซีรีส์ Game of Thrones กับ Breaking Bad นั้นเป็นหนึ่งในตัวอย่างเด่นชัดที่เขาจับมาใช้ออกแบบตัวละครใน Attack on Titan ภาคสุดท้ายนี้
⚡️ 6. ดึงเรื่องราวที่ไกลตัว มาให้ใกล้ตัวเราเรื่อย ๆ ⚡️
‘แก่นของ Attack on Titan คือความขัดแย้งของมนุษย์’
ในตอนแรกนั้น เราจะพบว่าการ์ตูนเรื่องนี้คือการเอาชีวิตรอดกับการมองหาอิสรภาพนอกกำแพง ทว่าเมื่อตัวเอกได้เดินทางไปเรื่อย ๆ พวกเขากลับพบว่าโลกนอกกำแพงไม่เป็นไปดั่งที่หวัง เพราะมันคือโลกที่เต็มไปด้วยการขัดแย้ง ความกลัว และโฆษณาชวนเชื่อ สิ่งนี้เป็นการสะท้อนถึงโลกจริง ๆ ที่เราอยู่ เพราะมนุษยชาติหวาดกลัวต่อความไม่แน่นอน นั่นจึงทำให้โลกแฟนตาซีเหล่านี้ ค่อย ๆ กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ จนคนดูมีความรู้สึกร่วมในที่สุด
⚡️ 7. คอยเลี้ยงกระแสแฟรนไชส์อยู่เสมอ ⚡️
Attack on Titan เดินทางมามากกว่าหนึ่งทศวรรษก็จริง แต่ก็การ์ตูนเรื่องนี้ ก็ไม่ได้ฉายทุกปีหรือทุกวันหรอกนะ การที่การ์ตูนขาดช่วงออกอากาศไป อาจทำให้กระแสตกลง นั่นจึงทำให้ผู้สร้าง เลือกทางที่จะเลี้ยงกระแสไปได้เรื่อย ๆ นั่นคือการต่อยอดไปสู่สื่ออื่นที่ไม่ใช่แอนิเมชั่นอย่างเดียว อาทิ ภาพยนตร์คนแสดง, เกม, ให้ตัวละครไปเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือการ Collab เพื่อต่อยอดสินค้า, การวาง PR โปรโมตด้วยมีมที่รีเรทกับคนทุกกลุ่ม
โดยอาจารย์ฮาจิเมะ มักจะวาดโปสเตอร์ที่ตัวละครในเรื่องแทนตัวเองเป็นนักแสดง แล้วตัวละครเหล่านั้นก็ถ่ายงานเบื้องหลัง หรืองานเลี้ยงปิดกล้องหลังฉายจบ นั่นทำให้เราคิดได้ว่าอาจารย์น่าจะทรีตตัวละครเหมือนคาแรกเตอร์ ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นอะไรก็ได้ หากต้องการจะต่อยอดสิ่งเหล่านั้น ซึ่งการที่ Attack on Titan พยายามเลี้ยงกระแสอยู่สม่ำเสมอ จึงทำให้เรื่องนี้ยังถูกพูดถึงอยู่ตลอด และติดสิบอันดับใน Netflix ทุกครั้งที่ออกอากาศ
แปล เรียบเรียง: พีรพล สดทรัพย์
ที่มา
- Attack on Titan: A Modern Epic Comes To Its End
- Title: From Page to Screen: The Marketing Shift When Manga Gets an Anime Adaptation
- 10 Things You Didn't Know About Hajime Isayama, The Creator Of Attack On Titan