เมื่อการทำงานแบบ Hybrid เป็นที่แพร่หลาย คนเริ่มคุ้นชินกับการทำงานรูปแบบนี้ และทีมงานเริ่มเมินเฉยต่อข้อดีต่างๆ ของการทำงานที่ออฟฟิศ
โดยข้อมูลจาก “ดัชนีการทำงาน” (Work Trend Index) ของ Microsoft ปี 2021 พบว่า 46% ของพนักงานที่ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มที่จะย้ายงาน เพราะอยากทำงานที่สามารถทำ “ทางไกล” (Remote) ได้ และอีกกว่า 35% บอกว่าอาจจะออกจากงานเดิมหากต้องทำงานที่ออฟฟิศแบบ 100% ซึ่งการปรับตัวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำงานนี้กำลังสร้างปัญหาให้กับนายจ้างหลายๆ คน
เข้าใจถึงช่องโหว่ของการทำงานแบบ Hybrid
ช่องโหว่ของการทำงานแบบ Hybrid ส่วนมากเป็นเรื่องเล็กน้อยที่นายจ้างหลายคนมองข้าม เช่น การใช้อุปกรณ์สำนักงาน การที่บริษัทไม่มีนโยบายในการจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตหรือค่าไฟให้กับพนักงาน หรือการที่บริษัทไม่ได้จ่ายค่าโปรแกรมซอฟท์แวร์ที่ใช้สำหรับการติดต่อสื่อสาร หรือ การทำงานแบบ Virtual ให้มีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลจาก Microsoft พบว่าหลังจากทำงาน WFH มาได้ปีกว่า พนักงานกว่า 42% ไม่มีอุปกรณ์สำนักงานสำหรับใช้ที่บ้านหรือต้องซื้อมาใช้เอง และกว่า 1 ใน 10 ไม่มีอินเทอร์เน็ตเสถียรเพียงพอเพื่อใช้ในการทำงาน
นายจ้างจะรู้ถึงรายละเอียดเล็กน้อยแบบนี้ได้ก็ด้วยการ “ถามความเห็น” จากทีมงาน “ทุกคน” ว่ามีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการทำงานแล้วหรือยัง โดยอาจเพิ่มรายละเอียดคำถามอย่างเช่น พวกเขาคิดอย่างไรกับเครื่องมือที่บริษัทใช้ หรือพวกเขาต้องการเครื่องมือใดในการช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ออฟฟิศเอง
นอกจากเรื่องของเทคโนโลยีและเครื่องมือในการทำงานแล้ว นายจ้างยังต้องสังเกตข้อมูลชั่วโมงการประชุมของทีมงานว่าเป็นสาเหตุของอาการเหนื่อยล้าจากการประชุมทางไกลนานหรือถี่เกินไปหรือไม่ หากเยอะเกินไปต้องหานโยบายในการลดจำนวนการประชุม
ลงมือปฏิบัติ
จากข้อมูลของ Microsoft ยังพบอีกว่า พนักงานทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าวัฒนธรรมองค์กรต้องเริ่มจากระดับสูง เนื่องจากทีมงานอยากให้ความเห็นของพวกเขามีคุณค่าและได้รับการพิจารณา ซึ่งพวกเขารู้ว่าเมื่อไหร่ที่หัวหน้าพูดให้ปฏิบัติตาม แต่ตัวเองกลับไม่ปฏิบัติเอง
เมื่อหัวหน้ารับความเห็นมาแล้วก็ควรหาทางจะนำมาปฏิบัติให้ได้มากที่สุด และเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วก็ต้องมีการรับฟังผลลัพธ์ว่าที่นำไปใช้นั้นได้ผลหรือไม่ แต่ละคนมีความเห็นอย่างไร ผ่านการสื่อสารที่โปร่งใส ไม่ว่าจะติดต่อสื่อสารช่องทางใด ทุกคนจะต้องรับรู้ร่วมกัน
เปิดรับโอกาสใหม่เสมอ
ปกติแล้วเทคโนโลยีมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรืออัปเดตเสมอ ดังนั้นนายจ้างเองต้องหมั่นติดตามเรื่องนี้ให้ทัน ว่าเทคโนโลยีที่ใช้ตอนนี้ยังเหมาะกับการทำงานตอนนี้หรือไม่ หรือองค์กรอื่นใช้เครื่องมืออะไร มีนโยบายในการทำงานแบบใดที่จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประสบการณ์การทำงานของคนในองค์กรได้บ้าง รวมถึงหมั่นสอบถามความคิดเห็นจากทีมงานเป็นระยะ เพื่อประเมินว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือหรือเทคโนโลยีใดไหม
รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้นายจ้างต้องใส่ใจและก้าวตามให้ทัน การถามความเห็นจากทีมงานเอง จะทำให้นายจ้างมองเห็นรูรั่วด้านต่างๆ ของการทำงาน และหากคุณรับฟังทีมงานเหมือนที่รับฟังลูกค้า และใส่ความยืดหยุ่นเข้าไปในทุกเรื่องที่ปฏิบัติ ก็จะสามารถสร้างโลกแห่งการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้แน่นอน
ที่มาของข้อมูล
- Technology Can Help Unlock a New Future for Frontline Workers
- In a Hybrid World, Your Tech Defines Employee Experience