เยิรเงาสลัว หนังสือเล่มเล็กที่พูดถึงแสงเงาที่ละเมียดละไมและมีความพิเศษเป็นของตัวเอง

Last updated on ก.พ. 27, 2023

Posted on มิ.ย. 26, 2019

เยิรเงาสลัว (In Praise of Shadows) คำว่า “เยิร” ไม่มีคำแปลในพจนานุกรม แต่สามารถสื่อความหมายได้ว่า “เยินยอ” หรือชื่นชมนั่นเอง

หนังสือเล่มนี้อธิบายว่า “คนเอเชียชื่นชมในแสงเงา ในขณะที่คนยุโรปมักจะชอบเปิดไฟให้สว่างจ้า”

เยิรเงาสลัว เป็นหนังสือของจุนอิชิโร ทานิซากิ (Jun’ichiro Tanizaki) นักเขียนชาวญี่ปุ่น ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดย คุณสุวรรณา วงศ์ไวศยวรรณ และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Openbooks

นี่ไม่ใช่หนังสือ How-to ที่มีขั้นตอนชัดเจนว่าจะต้องทำอะไร แต่เป็นหนังสือเล่มบาง 192 หน้า ราคา 265 บาท ที่จะทำให้เราเข้าใจแสงสลัว ความสวยงามของความมืด และจังหวะความหมายแบบญี่ปุ่นอย่างลุ่มลึก ผ่านสำนวนของผู้แปลและความละเอียดของสำนักพิมพ์ ตั้งแต่การจัดวางตัวอักษระไปจนถึงกระดาษที่ใช้

ผู้เขียนอยากให้เราชื่นชมการออกแบบของคนเอเชียในยุคโบราณ และเปรียบเทียบกับความทันสมัยของคนยุโรป

ชามกระเบื้อง – ชามไม้ไผ่

คนยุโรปชอบแสงสว่างเงา ๆ สังเกตได้จากชามกระเบื้องเคลือบสีขาวที่มีการขัดเงา ในขณะที่ชามซุปมิโสะของคนญี่ปุ่นจะเป็นชามไม้ไผ่สีดำและมีสีแดงอยู่ด้านใน

ผู้เขียนบอกว่า ชามกระเบื้องของยุโรปมีข้อเสียคือมีน้ำหนักมาก และมีเสียงดังเกินไปเวลาเราวางหรือเมื่อกระทบกระทั่งกัน ส่วนชามไม้ไผ่ของญี่ปุ่นจะออกแบบให้เราสัมผัสได้ถึงมวลของซุปที่อยู่ในถ้วยขณะที่ถือชามอยู่ด้วยสองมือ

แสงสว่าง – ความมืด

คนยุโรปชอบเปิดไฟในบ้านให้สว่าง ในขณะที่คนญี่ปุ่นจะใช้แสงเทียนและประตูกระดาษ เพื่อไม่ให้แสงเข้ามามากเกินไป

เวลาเราเข้าไปที่วัดเก่าแก่ของญี่ปุ่นก็จะพบกับความมืดสลัว ๆ และเห็นพระพุทธรูปสีทองอยู่ข้างใน สีทองสามารถเล่นกับแสงได้ ทำให้องค์พระมีแสงสะท้อนออกมาเป็นประกายที่โดดเด่นสวยงามเมื่อมองในห้องที่มีแสงสลัว ต่างกับปัจจุบันที่มีการใส่แสงไฟเข้ามา ทำให้เมื่อเข้าไปในโบสถ์ก็จะเห็นทั้งองค์พระ หิ้งพระ กำแพง ตัวพระจึงไม่ได้มีความโดดเด่นมาก

กระดาษสีขาว – กระดาษโบราณ

กระดาษที่เราใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นกระดาษสีขาวสไตล์ยุโรป สีขาวจะสะท้อนแสงเข้าตา มีความหยาบกระด้าง และส่งเสียงดังเวลาเราพลิกกระดาษ

ในขณะที่กระดาษโบราณของญี่ปุ่นหรือจีนจะมีความเป็นสีเหลือง ซึ่งดูดซับแสงเข้าไปได้ เวลาเราขยำกระดาษก็ไม่ค่อยมีเสียงดัง

ความละเมียดของสำนวนในหนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนพรรณาที่มีความเป็นศิลปะและให้อารมณ์ความรู้สึกที่ดีมาก ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความตั้งใจเลือกใช้คำศัพท์ในขณะที่อ่านและซึมซับกับตัวอักษร เหมือนกำลังถือผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งอยู่เลยก็ว่าได้

ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

บทความที่เราแนะนำ

trending trending sports recipe

Share on

Tags