‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ สะท้อนเศรษฐกิจเกาหลีใต้ผ่านซีรีส์ Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น

Last updated on มี.ค. 2, 2023

Posted on มี.ค. 18, 2020

*บทความมีกล่าวถึงเนื้อหาสำคัญของซีรีส์

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก (สำนวน) ผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากดขี่ข่มเหง หรือเอาเปรียบผู้อ่อนแอ หรือผู้ที่มีอำนาจน้อยกว่า

             หลังจากที่ชมตอน 14 ของ Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น ซีรีส์เกาหลีที่กำลังมาแรงมากๆ พิสูจน์ได้จากเรตติ้งที่พุ่งสูงขึ้นทุกสัปดาห์จนล่าสุดขึ้นมาเป็น 14% ทั้งยังครองความนิยมอันดับ 2 ของ Netflix ประเทศไทย สำนวนด้านบนที่ตัวละครประธานชาแดฮีแห่งชางกา บริษัทอาหารอันดับหนึ่งในประเทศยึดเป็นวิถีการดำเนินชีวิตก็ช่างดูเหมาะสมกับเรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้เหลือเกิน

             Itaewon Class เล่าถึงชีวิตของ พัคแซรอย ชายหนุ่มผู้กล้าเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมอย่างไม่ประนีประนอม จนชีวิตต้องประสบกับความตกต่ำและสูญเสียพ่อจากอุบัติเหตุ เนื่องจากแรกเริ่มเดิมทีหลังจากเขากับพ่อโดนไล่ออก ทั้งสองคนตั้งใจจะเปิดร้านอาหารด้วยกัน เขาจึงตัดสินใจลุกขึ้นสู้ด้วยการทำธุรกิจร้านอาหารในย่านอิแทวอน โดยเป้าหมายการทำธุรกิจของชายหนุ่มคือการแก้แค้นบริษัทชางกาที่พ่อของเขาเคยทำงานคิดค้นสูตรเครื่องปรุงรสเมนูเด็ด กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญทำให้ชางกายิ่งใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ซีรีส์ Itaewon Class

             นอกจากความมุมานะของพัคแซรอยที่มุ่งมั่นทำตามความฝันของตัวเองจนทำให้เราติดตามเอาใจช่วยทุกตอนแล้ว เรื่องนี้ยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมอื่นๆ อย่างทรานเจนเดอร์ การเหยียดเชื้อชาติ และกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

             แต่ประเด็นที่เราสนใจเป็นที่สุดและคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคนไม่น้อยในสถานการณ์ช่วงนี้ คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มนายทุนใหญ่

             เพราะการต่อสู้ครั้งนี้ไม่ใช่แค่ศึกของพัคแซรอยกับประธานชาแดฮีเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ของทันบัม ร้านอาหารขนาดเล็กจากฝีมือกลุ่มคนรุ่นใหม่กับชางกา บริษัทอาหารอันดับหนึ่งของประเทศที่มีแฟรนไชส์ทั่วทุกหัวถนน เหมือนที่ธุรกิจไทยโดนผูกขาดจากผู้ประกอบการรายใหญ่ เราแทบไม่เห็นความหลากหลายของสินค้าหรือกระทั่งร้านค้าคนทั่วไป ซึ่งเมื่อลองพิจารณาลงลึกไปแล้วนี่ถือเป็นการจำลองภาพของโครงสร้างเศรษฐกิจเกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

โครงสร้างเศรษฐกิจที่สร้างผู้ได้เปรียบ เสียเปรียบ

         หากแบ่งฝั่งฝ่ายศึกธุรกิจของ Itaewon Class คงแบ่งได้เป็นฝั่งกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์กับกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่มีอำนาจและชื่อเสียงอยู่แล้ว

             แน่นอนว่า พัคแซรอยคือ ตัวแทนของกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยความรู้แค่มัธยมของพัคแซรอยและโปรไฟล์ที่ไม่สวยงามนัก ทำให้เขาต้องพยายามกว่าคนอื่นเป็นสิบๆ เท่า แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ชายหนุ่มทรงผมเกาลัดใช้เวลาวางแผนและทำตามเป้าหมายไปทีละจุดอย่างแน่วแน่แม่นยำ จนในที่สุดก็สามารถเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเองได้ เท่านั้นยังไม่พอ เถ้าแก่คนนี้ยังช่วยเหลือปรับปรุงร้านรวงอื่นๆ บนถนนเส้นที่เขาย้ายร้านทันบัมไปเปิดใหม่จนมีคนรู้จักเยอะขึ้นจากเดิมที่ทุกร้านเงียบเชียบแทบขายอะไรไม่ได้

ซีรีส์ Itaewon Class

ถึงกระนั้นเขาก็ยังประสบเหตุการณ์เลวร้าย ชวนให้ท้อแท้หลายต่อหลายครั้งจากคู่แข่งทางการค้า ซึ่งถ้าเราลองถอยออกมามองให้กว้างกว่าในซีรีส์ จะพบว่าปัจจุบันเกาหลีใต้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นคนรุ่นใหม่แต่พวกเขาไม่ค่อยกล้าลงทุนกัน หรือต่อให้ลงทุนแล้วส่วนใหญ่ธุรกิจมักไปไม่ค่อยรอด เพราะส่วนแบ่งในตลาดเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ผูกติดกับนายทุนใหญ่ เห็นได้จาก GDP หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของเกาหลีใต้กว่า 80 % ที่เป็นของแบรนด์ใหญ่ยักษ์ แทบไม่เหลือมาให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้ลืมตาอ้าปากและขยายธุรกิจตัวเองได้เลย

             ดังนั้น เราไม่แปลกใจที่เมื่อติดตามรับรู้รายละเอียดของบริษัทชางกาไปเรื่อยๆ ชวนให้นึกถึงแชโบลหรือกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการค้าและการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 1

             แชโบลถือกำเนิดจากการที่รัฐบาลต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในช่วงปี 1972 พวกเขาจึงคัดเลือกบริษัทเพื่อเข้ามารับผิดชอบการลงทุนที่สำคัญโดยมีรัฐบาลคอยสนับสนุน ซึ่งจุดเริ่มต้นของแชโบลนี้เองถือเป็นกลไกสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของแดนโสมให้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นหนึ่งในเสาหลักที่ทรงอิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเกาหลีใต้ในแทบทุกระดับ ซึ่งตัวอย่างชื่อบริษัทในกลุ่มแชโบลที่เราคุ้นเคยกัน ได้แก่ Samsung, Hyundai,  Lucky Goldstar (LG) Group LOTTE และสายการบินอย่าง Korea Air เป็นต้น

ด้วยความที่ธุรกิจของแชโบลได้รับการเอื้ออำนาจจากรัฐ และรัฐเองต้องพึ่งพาอาศัยบริษัทกลุ่มนี้เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ไม่ว่าพวกเขาจะกระทำความผิดเรื่องใดก็ตาม เช่น การทุจริต หลีกเลี่ยงภาษี หรือผูกขาดทางการค้า ความสัมพันธ์กับบุคคลสำคัญทางการเมืองจะช่วยพวกเขาให้รอดพ้นการลงโทษหรือได้รับโทษที่น้อยกว่าปกติทุกครั้ง จนประชาชนต้องลุกฮือมาประท้วงเรียกร้องอย่างเหตุการณ์ที่นายอีกุนฮี ประธานบริษัทซัมซุงกรุ๊ปที่ถูกดำเนินคดีในกรณีติดสินบน แม้จะได้รับโทษจำคุก แต่ก็ได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีลีมยองบัคในขณะนั้น หรือกรณีของนายเชแทวอน ประธานบริษัทเอสเคกรุ๊ป แชโบลยักษ์ใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีในปี 2012 ข้อหายักยอกเงินบริษัทมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปปกปิดภาวะขาดทุนทางการค้า ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับการอภัยโทษในรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีปาร์กกึนเฮ ผู้ตกเป็นข่าวทุจริตอื้อฉาวและถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

ซีรีส์ Itaewon Class

             และการที่ธุรกิจชางกาในซีรีส์เป็นที่หนึ่งในวงการธุรกิจอาหาร มีธุรกิจทำร้านอาหารครบทุกรูปแบบตั้งแต่ชางกาผับ ชางกาคาเฟ่ ไปจนถึงชางการามยอน ฯลฯ และร้านเหล่านี้ตั้งอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน ที่สำคัญชางกายังสามารถหลบเลี่ยงกฎหมายจากคดีฆ่าคนตายได้ มีความสัมพันธ์กับบุคลากรทางการเมืองและอสังหาริมทรัพย์ขนาดนั้น สิ่งเหล่านี้เองเป็นเครื่องการันตีถึงอำนาจระดับประเทศของชางกาที่ไม่ใช่แค่บริษัทอาหารทั่วๆ ไป 

สุดท้ายปลาเล็กก็หนีไม่พ้นปลาใหญ่

             คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริงไปนักว่าอุปสรรคและความอยุติธรรมที่พัคแซรอยเจอทั้งหมด มีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์ที่เขาโดนไล่ออกจากโรงเรียน พร้อมๆ กับพ่อเขาที่โดนไล่ออกจากบริษัทชางกา เพียงเพราะไปมีเรื่องกับลูกชายประธานชาแดฮี

             กว่าจะเก็บหอมรอมริบจนสามารถเช่าที่ราคาแสนแพงในย่านอิแทวอนเปิดผับเล็กๆ ได้ เขาต้องใช้เวลากว่า 7 ปีทำงานประมงน้ำลึกและกรรมกรอย่างหนักหนาสาหัส ด้วยความที่ไม่มีความรู้เรื่องการเปิดร้านและทำการตลาดมาก่อน ทำให้เถ้าแก่พัคแซรอยล้มลุกคลุกคลานไม่น้อยกว่าจะทำให้ร้านทันบัมกลายเป็นที่รู้จัก

ซีรีส์ Itaewon Class

             กระทั่งเวลาผ่านไป ปลาเล็กอย่างเขากลับโดดเด่นมากเกินไปจนทิ่มแทงตาประธานชาแดฮีแห่งชางกา มีหรือที่ปลาใหญ่จะปล่อยให้เขาเติบโตใน “บ่อน้ำเล็กๆ” นั้นอย่างเป็นสุข

             ไม่ว่าการขัดขวางใดๆ ก็ตามที่ชางกาทำต่อร้านทันบัม นอกจากความแค้นส่วนตัวแล้ว มันยังสะท้อนถึงการคุกคามของผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ถือเป็นพลังหลักของการพัฒนาประเทศต่อไปอีกด้วย

            ชางกาลงทุนซื้อตึกที่พัคแซรอยเช่าเพื่อทำร้าน ต้องการตัดท่อน้ำเลี้ยงเรื่องวัตถุดิบคุณภาพดีของร้านทันบัมด้วยการทำสัญญาผูกขาดให้ส่งแต่บริษัทชางกา ทั้งยังสร้างสถานการณ์เรื่องการลงทุนแฟรนไชส์จนเถ้าแก่หัวเกาลัดเกือบไปไม่รอด นี่ยังไม่นับรวมแบรนด์ลูกของชางกาที่ครอบคลุมอุตสาหกรรมอาหารเกือบทั้งหมด เช่น ร้านอาหาร ผับ คาเฟ่ แทบไม่เหลือพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้หายใจหายคอ

             เรียกว่าใครที่อยากเปิดร้านอาหาร แค่คิดคำถึงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะวันใดวันหนึ่งคุณอาจเจอร้านอาหารเจ้าใหญ่เจ้าดังที่มีอำนาจคับประเทศมาเปิดชนกับคุณก็เป็นได้

             ลองตัดภาพกลับไปที่ภาพรวมโครงสร้างเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อีกครั้ง

การที่แชโบลทำธุรกิจเกือบทุกอย่าง จากการขยายตลาดจากอุตสาหกรรมหลักที่ตนยึดครองไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ยิ่งเป็นการบีบและส่งผลกระทบกับผู้ประกอบขนาดกลางและรายย่อยให้หลุดกระเด็นออกจากวงจรธุรกิจในประเทศไปมากกว่าเดิม ทั้งยังสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เพราะพวกเขาไม่สามารถประกอบธุรกิจเองได้ กลายเป็นต้องระหกระเหินไปทำงานในบริษัทเครือแชโบลเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ

ในซีรีส์พัคแซรอยอาจไม่ยอมแพ้ แถมยังโชคดีที่มีเงินสำรองและคนคอยช่วยเหลือ ทำให้ทันบัมยังเปิดอยู่ได้แม้ต้องย้ายไปที่อื่น แต่ในโลกแห่งความจริงจะมีคนแบบพัคแซรอยสักกี่คนกัน ในพันหมื่นแสนคนนั้นมีกี่คนที่ทำธุรกิจแล้วล้มเหลว ติดหนี้หัวโต สิ้นหนทางไปต่อ

เราอดตั้งข้อสงสัยนี้ไม่ได้เลย

ไม่ใช่แค่คนไทย แต่คนเกาหลีใต้ก็ไม่อยากอยู่ประเทศตัวเอง

             จากผลวิจัยของสื่อเกาหลีใต้ Hankyoreh พบว่าคนเกาหลีใต้รุ่นใหม่ไม่อยากอยู่ประเทศตัวเองถึง 70% โดยเหตุผลส่วนใหญ่เป็นเรื่องเศรษฐกิจที่ไม่มีความเสมอภาค ความไม่มั่นคงในชีวิต และสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดัน

             แม้แดนกิมจิจะเจริญรุ่งเรือง ตัวเลขทางเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้นทุกปี ทั้งยังมีระบบการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่เศรษฐกิจที่ผูกขาดกับกลุ่มธุรกิจเพียงไม่กี่บริษัทถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนคนทั่วไปดำรงชีวิตอย่างยากลำบาก โอกาสในการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเติบโตเป็นล่ำเป็นสันช่างมีน้อยเหลือเกิน

ซีรีส์ Itaewon Class

             และถึงแม้ว่าที่ผ่านมา รัฐบาลจะพยายามเข้ามาลดบทบาทของกลุ่มแชโบลลง ทว่าสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ เนื่องจากผลประโยชน์มหาศาลที่นายทุนเหล่านี้ถือครองอยู่

             ไม่ต่างจากชางกาที่มีอิทธิพลสูงสุดในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารระดับประเทศ แทบไม่มีใครหน้าไหนกล้าทำอะไรประธานและลูกชาย แม้ความผิดที่พวกเขาทำจะตอกตำให้เห็นเต็มตา

ซีรีส์ Itaewon Class

จะมีก็แต่พัคแซรอยที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรมนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วเขาอาจต่อสู้เพื่อพ่อ ต่อสู้เพื่อผู้คนและร้าน หรือกระทั่งต่อสู้เพื่อตัวเองอยู่ก็ตาม

             ประโยค ‘ดูละครแล้วย้อนดูตน’ แว่วขึ้นในหัวเราหลังจากที่ดู  Itaewon Class จบ

แม้ว่าเรายังไม่ทราบถึงบทสรุปของการต่อสู้ในสงครามธุรกิจครั้งนี้ เพราะยังมีอีก 2 ตอนสุดท้ายรออยู่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า แต่ทุกตอนที่ผ่านมาพัคแซรอยทำให้เรามีพลังอยากเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีขึ้น มุ่งมั่งตั้งใจกับความฝันไม่ว่าระหว่างทางจะเจออะไรก็ตาม

ส่วนชางกา ทำให้เราหันมองโครงสร้างเศรษฐกิจของสังคมไทย และคิดทบทวนในใจว่าประเทศเรากำลังดำเนินรอยตามประเทศเกาหลีใต้อยู่หรือเปล่า

หรือเราเป็นยิ่งกว่าเขาแล้วด้วยซ้ำ

เรื่อง : 28 พฤศจิกายน
ภาพ
: Roooongsiri 

อ้างอิง :

trending trending sports recipe

Share on

Tags