เมื่อพูดถึงพื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจนึกถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางย่านสำคัญของเมืองเป็นลำดับแรกๆ แต่ประเด็นพื้นที่สาธารณะคราวนี้ เราอยากชวนทุกคนให้ลองมองในพื้นที่ขนาดเล็กลงมา จากสเกลเมืองสู่บริบทชุมชน ที่แม้จะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็มีสำคัญและส่งผลต่อผู้คนโดยรอบไม่น้อยไปกว่าโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะใหญ่ๆ และเป็นการเคลื่อนไหวจากพื้นที่ขนาดเล็กที่สามารถส่งผลใหญ่กระทั่งเข้าไปมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง
นี่คือสิ่งที่กลุ่มสถาปนิกแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่พยายามทำมาโดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
เมื่อเอ่ยชื่อกลุ่มสถาปนิก ใจบ้านสตูดิโอ (JaiBaan Studio) นักธุรกิจหรือสายอสังหาฯ ในเชียงใหม่อาจส่ายหน้าไม่รู้จัก แต่ถ้าลองเข้าไปถามชุมชนต่างๆ ในเชียงใหม่ พวกเขารู้จักกลุ่มสถาปนิกใจบ้านสตูดิโอกันเป็นอย่างดี ด้วยความเป็นสถาปนิกที่ลงไปทำงานถึงในพื้นที่ และออกแบบจากกลางใจของชุมชน จนเกิดเป็นโปรเจกต์น่าสนใจ
ใจบ้านสตูดิโอ เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เชื่อมั่นว่า งานออกแบบที่ดี สามารถก่อประโยชน์ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้นได้ จึงควรต้องถูกกระจายสู่ทุกคนในสังคม ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนกระจุกเดียวที่มีฐานะดีจึงมีโอกาสเข้าถึงได้
พวกเขาใช้ ‘พื้นที่สาธารณะ’ นำกระบวนการออกแบบเข้าสู่ชุมชน จนเกิดเป็นโปรเจกต์สร้างสรรค์จำนวนมากที่กำลังสร้างความเคลื่อนไหวน่าสนใจ และเป็นส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ให้ดีขึ้นในขณะนี้ อาทิ สวนผักคนเมืองเชียงใหม่ ที่พวกเขาเข้าไปเปลี่ยนพื้นที่ทิ้งขยะกลางเมืองเชียงใหม่ให้กลายเป็นสวนผักเลี้ยงปากท้องผู้คน, โปรเจกต์ Imagine Maekha ที่ชวนชุมชนคลองแม่ข่ามาร่วมแสดงจินตนาการที่อยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน จนนำไปสู่ไอเดียการออกแบบของชุมชนร่วมกับภาครัฐพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่าให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น
‘พื้นที่สาธารณะ’ ในนิยามของสตูดิโอใจบ้านคืออะไร และพวกเขามีวิธีการใช้พื้นที่สาธารณะในชุมชนแบบไหนจึงสามารถนำกระบวนการออกแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น วันนี้เราชวนตัวแทนจากใจบ้านสตูดิโอ ตี๋-ศุภวุฒิ บุญมหาธนากร,อ้อ-แพรวพร สุขัษเฐียร, เนท-ทนวินท วิจิตรพร และ ออม-ออมมาศ รัถยานันต์ มาล้อมวงคุย
พื้นที่สาธารณะของคนไม่กี่คน
“บางครั้งเราจะพบว่ามีพื้นที่สาธารณะจำนวนมากในประเทศถูกทิ้งให้ร้าง ไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าพื้นที่เหล่านี้ถูกออกแบบมาโดยไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนรอบพื้นที่นั้นจริงๆ ยกตัวอย่าง สมมุติว่ารัฐมีความคิดจะสร้างพื้นที่สาธารณะขึ้นมาสักอัน เขาก็จะดูว่า ตรงนั้นมีคนอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน กวาดออกให้หมด ย้ายไปอยู่ที่อื่น แล้วก็จัดการให้มันเป็นสวนสาธารณะ ให้คนมาวิ่งเล่นออกกำลังกาย ภาพมันก็ออกมาดูดี ดูสวย แต่สำหรับเราความสัมพันธ์ของคนที่เคยอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นแต่เดิมกับพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นมาใหม่จะไม่มีเลย แถมยังถูกทดแทนด้วยกิจกรรมที่พยายามจะป้อนให้พวกเขาเข้ามาใช้ในพื้นที่ ซึ่งการทำเช่นนั้นบางครั้งมันไม่ได้ตอบความต้องการของเขาเลย เขาก็ไม่เข้ามาใช้ ดังนั้นเวลาที่ใจบ้านสตูดิโอทำเกี่ยวกับประเด็นพื้นที่สาธารณะเราจะไม่เน้นที่นิยามของพื้นที่สาธารณะสักเท่าไหร่ แต่เราจะโฟกัสที่กิจกรรมที่ควรอยู่ในที่สาธารณะแห่งนั้น ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนรอบๆ บริเวณที่แห่งนี้ดีขึ้น” เนทเล่ากระบวนการออกแบบพื้นที่สาธารณะแบบใจบ้านสตูดิโอ ก่อนออมช่วยเสริม
“วิธีการคือ เราจะชวนทุกคนในพื้นที่มาร่วมทำด้วยกัน พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ก็จะมีมิติที่ต่างออกไป มากกว่าการบังคับให้เกิดขึ้นแล้วไล่คนพื้นที่นั้นออกไป เพราะคนยิ่งหลากหลายก็จะมีมิติการมองที่ต่างกัน ภาพจากไอเดียของแต่ละคนในชุมชนก็จะถูกนำมาใส่ในการออกแบบพื้นที่ ว่าเขาต้องการให้พื้นที่นี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง การปฏิสัมพันธ์เหรอ ความสวยงาม ความมีระเบียบเรียบร้อย เป็นพื้นที่ขายของในชุมชน หรือความเป็นเจ้าของร่วม เราจะไปเน้นตรงนี้ ซึ่งผลที่ออกมามันอาจจะไม่ตรงตามนิยามพื้นที่สาธารณะ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่พื้นที่ตรงนี้ก็ได้สร้างกิจกรรมที่ดีและตรงตามที่ผู้ใช้งานซึ่งก็คือผู้คนโดยรอบพื้นที่สาธารณะแห่งนี้ต้องการจริงๆ และทำให้เขาอยากเข้ามาใช้งานในพื้นที่ และช่วยกันดูแล”
พื้นที่สาธารณะของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน
“คำว่า พื้นที่สาธารณะ ในมุมมองของใจบ้านสตูดิโอ แบ่งออกได้เป็นสองแบบ อย่างแรกก็คือ พื้นที่สาธารณะเชิงกายภาพ อาทิ สวนสาธารณะ สวนสุขภาพต่างๆ เป็นต้น กับ พื้นที่สาธารณะเชิงนามธรรมที่เราพยายามสร้างให้เกิดขึ้นในชุมชน คือพื้นที่สำหรับให้ทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับย่านหรือชุมชนนั้น ไม่ว่าจะคนในชุมชน ผู้ประกอบการในพื้นที่ และหน่วยงานรัฐ ได้มีพื้นที่เข้ามาร่วมสร้างอนาคตของชุมชนไปด้วยกัน มันจะเป็นที่แบบไหนก็ได้ เป็นลาน เป็นศาลา เป็นบ้านของใครสักคนก็ตาม ขอแค่เขารู้สึกว่านี่เป็นที่ที่เขาสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นและร่วมกันหาทางพัฒนาชุมชนของตนเองได้ พื้นที่สาธารณะเช่นนี้อาจไม่ตรงตามนิยามของ Public Space ซะทีเดียว แต่เรามองว่า เมืองเป็นของทุกคน และมันก็ควรถูกสร้างร่วมกันโดยคนทุกคนในเมือง เราจะรักษาจิตวิญญาณแบบนี้ไว้ได้ยังไง เราจึงได้สร้างพื้นที่สาธารณะในเชิงนามธรรมนี้ขึ้นมา เป็นพื้นที่ให้คนได้กล้าคิด กล้าแสดงออก เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมออกแบบชุมชนของเขาด้วยกัน ปลายทางของมันก็จะกลายเป็นงานสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นจากทุกคน พอทำให้ทุกคนในชุมชนมีบทบาท มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนของเขาเอง เขาก็จะรู้สึกรักเมือง รู้สึกผูกพัน และรับผิดชอบชุมชนหรือเมืองที่เขาอยู่” ตี๋อธิบายพื้นที่สาธารณะในแบบใจบ้านสตูดิโอ
ย่าน 4.0 โครงการสร้างแผนผังเฉพาะ ธรรมนูญของชุมชน
จากแนวคิดการออกแบบโดยเปิดพื้นที่สาธารณะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทางไอเดีย นำพามาสู่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ ‘ย่าน 4.0’ ที่ใจบ้านสตูดิโอได้ลงพื้นที่เข้าไปในชุมชนต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่ภาพชุมชนในอนาคตร่วมกันของทุกคน ว่าควรเป็นไปในทิศทางไหน
“เรารู้สึกว่า เมืองสร้างสรรค์ คำพูดนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ได้ยินกันก็บ่อย มาร่วมกันออกแบบ ร่วมกันวางแผน แต่มันกลับไม่ค่อยมีความเป็นรูปธรรมเท่าไหร่ เป็นแค่คำพูดลอยๆ เราเลยคิดว่า ‘ผังเมืองเฉพาะ’ ที่เรากำลังทำน่าจะสามารถตอบโจทย์นี้ได้จริงๆ จึงเกิดเป็นโครงการ ย่าน 4.0 เป็นโครงการที่เรารับหน้าที่เป็นคนกลางในการพัฒนาย่าน ผ่านเครื่องมือการทำ ‘กฎหมายผังเมืองเฉพาะ’ ชวนผู้คนมาคุยกัน มาออกแบบย่านของตนเองร่วมกันในประเด็นต่างๆ มันจะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทำให้ย่านนี้เหมาะสมกับผู้คนในย่านจริงๆ เพราะตอนนี้ถ้าเราพูดถึงผังเมืองภาพรวม มันจะมีผังเมืองจังหวัด ผังเมืองเชียงใหม่ มันเป็นผังที่กว้างมาก เพราะเขียนมาสำหรับทั้งพื้นที่ เขียนไว้กว้างๆ ให้มันเข้ากับทุกพื้นที่ได้ เราคิดว่าผังเมืองเฉพาะที่เรากำลังทำ มันจะสร้างให้ผู้คนได้มาคุยกันได้ทุกเรื่องในพื้นที่เลย ได้ทั้งกายภาพ ความสัมพันธ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม เพราะทุกๆ เรื่องสามารถออกมาเป็นกฎหมายผังเมืองเฉพาะได้ เรามุ่งหวังให้ผู้คนได้มาคุยกัน ได้มาเห็น ได้มารู้จัก แลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อพยายามร่วมกันในการสร้างกิจกรรม กติกา ข้อบังคับที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในพื้นที่ดีขึ้น มันคือการกำหนดอนาคตของพื้นที่นั้นด้วยคนในพื้นที่นั้นๆ” อ้ออธิบายโปรเจกต์ที่ใจบ้านสตูดิโอกำลังทำกับชุมชนในจังหวัดเชียงใหม่
ผ่านพื้นที่สาธารณะนามธรรมในใจของผู้คนในชุมชนที่ใจบ้านตั้งใจสร้าง ทำให้ชุมชนที่พวกเขาลงไปทำโครงการ ย่าน 4.0 ผู้คนในชุมชนต่างก็กล้าที่จะเข้ามาร่วมประชุม เสนอความคิดเห็น และร่วมออกแบบชุมชนของตนเอง หนึ่งในชุมชนที่น่าสนใจก็คือ ชุมชนล่ามช้าง ของจังหวัดเชียงใหม่
“จากการได้ประชุมร่วมกับชุมชนล่ามช้าง เราค้นพบร่วมกันว่าชุมชนล่ามช้างมีคาแรกเตอร์ของการเดิน ชุมชนอยากให้ผู้ใช้เวลาในล่ามช้างด้วยการเดิน ก็มีการออกแบบให้เกิดการส่งเสริมการเดิน เช่นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ร่มเงาคนเดิน เราก็ไปดูว่าตอนนี้ล่ามช้างพอถ่ายรูปลงมามีพื้นที่สีเขียวคิดเป็นสัดส่วนต้นไม้ในย่านสมมุติเท่ากับ 6 เปอร์เซนต์ ถ้าจะเพิ่มให้เป็น 20 เปอร์เซ็นต์จะดีไหม มีเศรษฐกิจขนาดเล็กคอยตอบโจทย์ทั้งนักท่องเที่ยวและท้องถิ่น ให้โอกาสคนสองกลุ่มนี้มาปฏิสัมพันธ์กันเยอะขึ้นโดยใช้พื้นที่สาธารณะ หรือมีพื้นที่ชีวิตประจำวันร่วมกันเยอะขึ้น เช่น ร้านอาหารที่นักท่องเที่ยวกิน ชาวบ้านกินด้วยได้ไหม ตลาดที่ชาวบ้านไปซื้อนักท่องเที่ยวไปด้วยได้ไหม การประชุมกันภายในชุมชนสามารถช่วยกำหนดจุดเป็นพื้นที่สาธารณะในชุมชนได้ ซึ่งมันเป็นไปได้ตั้งแต่การเป็นพื้นที่สาธารณะชั่วคราวหรือพื้นที่สาธารณะเฉพาะกิจ เช่น บ้านประธานที่มาประชุมกัน ร้านตัดผมที่คนได้เข้ามาเม้ากัน หรือจะร่วมกันทำพื้นที่สาธารณะถาวรในชุมชนไปเลย
“การที่เราลิสต์ประเด็นต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนมาพูดคุยกัน อาทิ การใช้ประโยชน์ที่ดิน เราเอาผังที่ดินมาวิเคราะห์ว่าตอนนี้ในย่านล่ามช้างมีโรงแรมอยู่ 170 แห่ง เราเอาตัวเลขพวกนี้มาคุยกันว่า สัดส่วนเท่าไหร่ที่เหมาะกับย่านเรา แล้วถ้าจะมีโรงแรมเพิ่มในอนาคตเราควรจะกรอบเป็นบัญญัติย่านร่วมกันไหมว่า โรงแรมจะต้องมีการแบ่งพื้นที่สาธารณะให้คนในชุมชนเข้าไปใช้ได้ เป็นต้นประเด็นเหล่านี้สุดท้ายแล้วข้อสรุปทั้งหมดจะกลายเป็น ‘ผังเมืองเฉพาะ’ ที่ชุมชนเป็นผู้ร่วมกันร่างขึ้นมากำหนดความเป็นไปในชุมชนแล้วนำเสนอสู่ภาครัฐให้บังคับใช้ออกมาเป็นกฎหมายควบคุมอีกที ซึ่งการทำเช่นนี้เราจะได้แผนผังที่เกิดขึ้นจากผู้คนในพื้นที่จริงๆ และสามารถออกแบบตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างเข้าใจที่สุด” เนทผู้รับผิดชอบการออกแบบผังในชุมชนล่ามช้างอธิบาย
ใช่หรือไม่ว่ากระบวนการทำแผนผังเฉพาะที่ใจบ้านสตูดิโอกำลังทำร่วมกับชุมชนต่างๆ แท้ที่จริงก็คือ ธรรมนูญของชุมชน ที่เกิดขึ้นโดยเสียงส่วนมากของชุมชน เป็นกระบวนประชาธิปไตยขนาดย่อยในระดับชุมชน ที่นักออกแบบคนใด อยากจะสร้างผลงานให้ตอบสนองความต้องการตามความเป็นจริงของชุมชน ก็ควรจะต้องฟังเสียงข้างมากจากแผนผังเฉพาะนี้ กล่าวได้อีกอย่างว่า นี่อาจเป็นภาพขนาดย่อของภาพใหญ่ นั่นคือ ประเทศไทย ว่าทำไมถึงไม่มีโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้จริงๆ สักที …เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจเป็นเพราะประเทศไทยกำลังขาดพื้นที่สาธารณะทางนามธรรมแบบที่ใจบ้านสร้างให้กับชุมชน
เรื่องและภาพ: อนิรุทร์ เอื้อวิทยา
บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ
- Public Space พื้นที่ที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ คน เมือง และธรรมชาติเข้าด้วยกัน
- เมื่อโซลรีโนเวทพื้นที่ทิ้งร้างให้เป็นแหล่งเชื่อมต่อระหว่างคนกับธรรมชาติบนพื้นที่คลองซองกเยซอน
- พาดูเทรนด์การออกแบบที่อยู่อาศัยแนวใหม่ สอดรับการใช้ชีวิต New Normal