ถอด 22 แนวคิดแบบคุณดำรงชัย เจ้าของอาณาจักรคุกกี้กล่องแดง

Last updated on ก.ย. 10, 2024

Posted on ก.ย. 10, 2024

🍪 ❤️ หลายคนคุ้นเคยกับคุ้กกี้กล่องแดงกันอย่างดี ซึ่งเบื้องหลังบริษัทที่สร้างสรรค์สินค้าและการตลาดนั่นคือ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KCG ซึ่งล่าสุดได้เปิดตัว “KCG Logistics Park” ศูนย์กระจายสินค้าและคลังสินค้าแห่งความยั่งยืนและนวัตกรรม ด้วยการทุ่มงบประมาณก่อสร้างกว่า 350 ล้านบาท เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเติบโต 10,000 ล้านบาท

ความน่าสนใจในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การลงทุนอันมหาศาล แต่แนวคิดของ คุณดำรงชัย วิภาวัฒนกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เขามีวิธีคิดอย่างไรถึงทำให้อาณาจักร KCG กลายเป็นบริษัทเบอร์ต้น ๆ ของเมืองไทย

🎯 1. เคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องเกิดจาก 7 Business Pillars - Growth การเติบโต, People การพัฒนาบุคลากร, Export การส่งออก และการเติบโตในอนาคต, Innovation data & tech ใช้ Data ในการตัดสินใจ, Supply chain & Inventory เพราะ Supply chain คือกระดูกสันหลังขององค์กรกับการเปิดตัว KCG Logistics Park, Product & Automation โดยนำ Automation มาใช้ เพื่อลดต้นทุน และสุดท้าย Sustainable Development การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน


🎯 2. แนวคิดของการทำคุกกี้กล่องแดง คือรู้ว่าจุดแข็งเราคืออะไร KCG แต่เดิมผลิตเนยเป็นทุนเดิม และได้ต่อยอดมาทำเป็นคุกกี้ ซึ่งใช้ผลิตภัณฑ์เนยของตัวเอง เมื่อคุกกี้ได้รับความนิยม ก็มีคนสนใจที่จะซื้อเนยเพิ่อมากขึ้น กำลังผลิตก็ดีตาม ซึ่งทั้ง 2 สิ่งนี้เกื้อหนุนให้ธุรกิจเติบโตไปพร้อม ๆ กัน


🎯 3. Insight ที่น่าสนใจของกลุ่มวัยรุ่นที่ซื้อคุกกี้กล่องแดงคือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้ซื้อกล่องแดง แต่กลับซื้อเฉพาะไซส์ 25 กรัมเล็ก ๆ การที่เรารู้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลาย และแตกต่างกัน นำไปสู่การผลิตคุกกี้ไซส์ 25 กรัมมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องเก็บ แถมราคาไม่แพง กินชิ้นเดียวอร่อยพอดีคำ


🎯 4. การวางแผนเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างของ KCG จะรู้ว่าช่วงเทศกาลจะเพิ่มยอดขายเติบโต 3-4 เท่า ดังนั้นการเตรียมตัวเรื่องวัตถุดิบ และคลังสินค้า สำคัญมาก เราต้องมีแผนสำรองสำหรับเรื่องนี้


🎯 5. เพราะบุคลากรคือคนสำคัญขององค์กร การสร้างวัฒนธรรมองค์กร หรือ Cultural Pillar โดยยึดหลัก “Heart-driven - Expertise - Agile – Responsible – Teamwork” ด้วยความเชื่อมั่นว่าพนักงานเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุสู่เป้าหมายสูงสุด


🎯 6. ผู้บริโภคมีความต้องการหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้จำกัดสินค้าอีกต่อไป ซึ่งเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารห่วงโซ่อุปทานยุคใหม่ประกอบไปด้วย 3 เทรนด์ใหญ่ ๆ ดังนี้

🎯 7. เทรนด์ที่ 1: ผู้บริโภคมีความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย (360 Degrees Product Trend) มีความพิถีพิถันในการพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน โดยบริษัทฯ จะต้องมั่นใจได้ว่าทุกผลิตภัณฑ์จะถูกเก็บรักษาและส่งมอบด้วยมาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุด

🎯 8. เทรนด์ที่ 2: การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) บริษัทฯ ต้องให้ความสำคัญกับแนวคิดการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนใน 3 ปัจจัยหลักได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance, ESG) ในทุกกระบวนการของห่วงโซ่อุปทาน

🎯 9. เทรนด์ที่ 3: การนำเทคโนโลยีมาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค (Digitalization & Automation) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหาร เกิดความแม่นยำ รวดเร็วในการบริหารระบบความท้าทาย ทั้งนี้องค์กรยังคงมองหาและพิจารณาการลงทุนในเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถเกิดความได้เปรียบทางการแข่งขันและลดต้นทุนในระยะยาวของธุรกิจ


🎯 10. การใช้ Data ของที่ KCG เน้นไปที่การบริหารจัดการ จุดไหนควรทำต่อ จุดไหน Weak จุดไหน Strong การใช้ Data คือการหากำไร และเป็นการชี้วัดว่าสินค้าชิ้นไหนที่ควรลงทุนมากที่สุด


🎯 11. KCG สามารถทำรายได้เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้ โดยยึดหลักการปรับปรุงหน่วยสินค้า (SKU Rationalization) และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่


🎯 12. เราต้องจับเทรนด์แล้วนำมามาพัฒนาในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ คุณดำรงชัย เชื่อว่าการบริหารห่วงโซ่อุปทานและคลังสินค้า หรือ Supply Chain & Inventory Management เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจ และนี่คือการชูกลยุทธ์ “From Great to Growth” โดยนำทั้ง 3 เทรนด์ ของการบริหารห่วงโซ่อุปทานมาผนวกกับความเชี่ยวชาญจากประสบการณ์ 66 ปีที่เรามี KCG มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคที่เป็นต้นน้ำอยู่แล้ว


🎯 13. สร้างการเติบโตจากความเป็นเลิศด้านคุณภาพ (Quality Excellence for Growth)
การบริหารจัดการสต็อกตามประเภทวัตถุดิบที่หลากหลาย (Diverse Stock Management) KCG เชื่อว่าสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ เป้าหมายเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด โดยปัจจุบัน KCG Logistics Park รองรับการจัดเก็บได้มากถึง 14,000 พาเลท โดยมีวิธีการแบ่งตามประเภทสินค้า จำนวน 3 ประเภท ได้แก่ 1. Dairy Products 2. Food and bakery ingredients (FBI) 3. Biscuit หรือ แบ่งตามอุณหภูมิออกเป็น 4 ประเภท


🎯 14. KCG เป็นผู้นำอันดับ 1 ในด้านการจัดเก็บและการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ซึ่งการรู้จุดแข็งของตัวเองทำให้สามารถปรับตัว และตอบสนองต่อความต้องการของตลาดด้วยการจัดทำห่วงโซ่อุปทานสำหรับสินค้าที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เพื่อให้สินค้ามีความสดใหม่และลดการสูญเสียจากสินค้าที่เสียหายได้ โดยเลือกควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสินค้าและวัตถุดิบที่หลากหลายและต้องดูแลรักษา จัดเก็บในอุณหภูมิที่ต่างกัน ตั้งแต่การขนวัตถุดิบเข้ามายังคลังจัดเก็บ ออกแบบวิธีการเคลื่อนย้ายและการเก็บรักษา ตลอดจนการขนส่งออกไปหาลูกค้า


🎯 15. เทคโนโลยีคือเคล็ดลับของ KCG ระบบอัตโนมัติ (Automation) KCG Logistics park ใช้ระบบบริหารคลังแบบอัตโนมัติโดยใช้ระบบการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management System) ระบบบริหารจัดการการขนส่ง (Transportation Management System) ควบคู่กับระบบคลังสินค้าพร้อมจัดส่ง (Fulfillment System) ที่จะเข้ามาช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความถูกต้องแม่นยำ ความรวดเร็วในการค้นหาสินค้า ลดการสูญหายของสินค้า อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ รวมถึงลดความผิดพลาดในการทำงาน ผ่านการลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม


🎯 16. ความรวดเร็วต่อตลาด (Speed to Market) การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามความต้องการของตลาดเป็นการตอบสนองความรวดเร็วต่อตลาดในขั้นแรกที่มีความสำคัญอย่างมากในธุรกิจ ครอบคลุมทั้งในกลุ่ม B2B และ B2C ถัดมา การกระ​จายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ (Distribution Efficiency) ช่วยให้ส่งสินค้าไปยังลูกค้าในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น เพิ่มความพึงพอใจและความน่าเชื่อถือของลูกค้า โดยจะคำนวณระยะเวลาจัดส่งตามรัศมีของพื้นที่ลูกค้า เช่น สามารถขนส่งได้ภายใน 24 ชั่วโมง ในระยะรัศมี 100 กิโลเมตร จากจุดกระจายสินค้า และรองรับความพร้อมของความต้องการตลาด ด้วยจำนวนรถขนส่งที่มากกว่า 150 คัน โดยตั้งเป้าเป็นรถ EV 30% ของจำนวนรถทั้งหมดภายใน 3 ปี


🎯 17. Employee Safety หรือการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การบริหารสินค้าคงคลัง นอกจากจะเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็วแล้ว KCG ให้ความสำคัญและยึดมั่นการว่าจ้างที่สอดคล้องกับสำนักงานมาตรฐานแรงงานไทย โดยมีสวัสดิการและคุ้มครองพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับความคุ้มครองตามมาตรฐานสากล เช่น จากเดิมที่มีการแบกกระสอบน้ำตาลขึ้นไหล่ เพื่อขนถ่ายระหว่างรถขนส่งกับโกดัง ปัจจุบันได้ปรับเป็นเพียงการยกลงพาเลท และใช้โฟล์คลิฟในการเคลื่อนย้าย ซึ่งช่วยให้พนักงานได้รับความปลอดภัยในการทำงานจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย การใส่ชุดที่มีความปลอดภัยและการควบคุมระยะเวลาทำงานของพนักงานในพื้นที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิของคลังสินค้า ตลอดจนระบบจัดเก็บคลังสินค้ากึ่งอัตโนมัติ หรือ ชั้นวางระบบกระสวย (Rack shuttle system) ซึ่งช่วยให้พนักงานไม่ต้องจัดเก็บสินค้าในที่สูงด้วยตัวเอง


🎯 18. การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ที่ KCG มั่นใจเชื่อว่าการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสามารถลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งเป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนในระยะยาว โดยปัจจุบันได้มีการใช้รถบรรทุกไฟฟ้า รถโฟล์คลิฟที่ใช้แบตเตอรี่ลิเทียม และอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายใน KCG Logistics Park และโรงงานบางพลี รวมถึงศูนย์กระจายสินค้าของบริษัททั้ง 3 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 1,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าได้กับการปลูกต้นไม้กว่า 120,000 ต้น และจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 10 ล้านบาท


🎯 19. การลดของเสีย (Waste Reduction) ในกระบวนการโลจิสติกส์การลดของเสีย หรือ การลดขยะ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรและลดค่าใช้จ่ายในการจัดการของเสียทั้งจากกระบวนการจัดเก็บ การดูแลรักษา การควบคุมอุณหภูมิ โดยเฉพาะอาหารตะวันตกที่มีส่วนผสมหลักมาจาก นม เนย ชีส ที่ต้องใช้ความพิถีพิถันในการเก็บรักษาสูง ตลอดจนการขนส่งที่เพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบ Backhual Matching ปรับเส้นทางเดินรถ เพื่อไม่ให้ตีรถเปล่ากลับเข้าศูนย์ฯ เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้เชื้อเพลิง และลดการปล่อยมลพิษ รวมถึงการหลอมพาเลทที่ไม่ใช้แล้วเพื่อรีไซเคิลและลดการสร้างขยะ


🎯 20. อย่าหยุดหาโอกาส ต่อให้ตอนนี้ดีแล้วมันดีได้อีก KCG ได้เตรียมแผนบุกไปขยายตลาดแอฟริกาตอนใต้ กับตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นอีกหมุดหมายจะไป ซึ่งโอกาสเกิดจากเขาใช้ภาษาอังกฤษได้ และยังไม่มีใครลงไปทำจริงจัง


🎯 21. เวียดนามตลาดประชากร 90 ล้าน มากกว่าไทยถึง 20 ล้าน การไปบุกตลาดเวียดนามเราต้องรู้พฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ก่อน ซึ่งคนเวียดนามไม่ทานรสหวานจัด แต่ชอบกลิ่นแรงหอม ๆ ดังนั้นการเข้าใจพฤติกรรมนี้สำคัญ ซึ่งจะทำให้เราสามารถผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์คนประเทศนั้น ๆ ได้


🎯 22. ปัจจุบันตัวเลขส่งออกแค่ 3-5% เท่านั้นเอง การส่งออกไปต่างประเทศยังมาก ยังมีโอกาสอีกมาก


เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

trending trending sports recipe

Share on

Tags