เมื่อคราวที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่อง การพัฒนาตัวเองด้วยวิธีการแบบสตาร์ทอัพไปแล้วนะคะ และอย่างที่เราได้ทิ้งท้ายกันเอาไว้ ว่าเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ บางครั้งก็มีเรื่องราวซ่อนอยู่ข้างใน คล้ายโอริโอ้ที่มีไส้ให้เราต้อง บิด ชิมครีม จุ่มนม (ฮา)
แม้ว่าสตาร์ทอัพหลายแห่งจะเติบโตอย่างร้อนแรงมากมายอย่างที่เราได้คุยกันไว้ แต่ว่าที่จริงแล้ว กว่า 90% ของสตาร์ทอัพนั้นไม่ประสบความสำเร็จนะคะ บางเจ้าที่ได้ทำการ IPO ไป ก็ยังไม่ได้ผลตอบรับที่ดีอย่างที่คิด หรือว่าจะเป็นกรณีข่าวฉาวอันโด่งดังของ Theranos สตาร์ทอัพเกี่ยวกับสุขภาพ ที่ให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจเลือดของตัวเองจากที่บ้าน ผ่านเครื่องมืออันเล็กกะทัดรัด และรับทราบผลได้อย่างรวดเร็ว Theranos ระดมทุนไปกว่า 910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 3000 ล้านบาท) และมีมูลค่าสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 3 แสนล้านบาท) แต่สุดท้ายเทคโนโลยีทั้งหมดไม่สามารถทำได้จริง ตอนนี้เลิกกิจการไปแล้ว พร้อมกับคดีความ การฟ้องร้อง และเงินที่เสียไปไม่น้อยเลยของนักลงทุน พร้อมไปด้วยความเสี่ยงทางสุขภาพของผู้คนที่ได้ใช้บริการของ Theranos อีกด้วย
อะไรกันที่ทำให้สตาร์ทอัพหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ? แล้วเราจะเรียนรู้อะไรจากก้าวเดินที่ผิดพลาดของสตาร์ทอัพได้บ้าง ลองมาดูกันค่ะ
1. เลือกเดินทางลัด
ไม่น่าแปลกใจที่สตาร์ทอัพหลายแห่งเลือกที่จะบุกเบิกทางลัดของตัวเอง แทนที่จะเดินตามแนวทางเดิม ๆ ของธุรกิจ ก็เพราะว่าโมเดลของสตาร์ทอัพต้องการจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพื่อสร้างฐานผู้ใช้งาน จนเป็นที่ดึงดูดใจของนักลงทุนแทนการทำกำไร ไม่เหมือนกับธุรกิจทั่วไปแบบเดิมที่ยังไงก็ต้องมีกำไรเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ทำให้สตาร์ทอัพหลายที่เลือกจะโอ้อวดเทคโนโลยีจนเกินจริง ดำเนินธุรกิจโดยไม่สนใจกฏหมายของท้องถิ่น หรือว่าไม่รับผิดชอบกับผลกระทบในการใช้งาน การเดินทางสีเทา ๆ เป็นเหมือนการเดิมพันวัดใจว่าผลกระทบของเส้นทางนี้ กับความสำเร็จที่ตามหา อะไรจะเดินมาถึงก่อนกัน
แน่นอนว่าความเสี่ยงสูงอาจจะให้ผลตอบแทนที่สูงไปด้วย แต่การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม และเคารพต่อกฏหมายที่มีอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะหลีกเลี่ยงได้ เพราะสุดท้ายแล้วผลกระทบที่ตามมาก็อาจจะมากมายเกินรับไหวไม่ต่างจาก Theranos ก็ได้
ไม่ต่างจากชีวิตของเราเลยนะคะ ถ้าเราเลือกที่จะเดินทางลัดเพื่อความสำเร็จ โดยไม่สนใจถึงวิธีการ ยอมทำผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เลี่ยงโน่นนิดนี่หน่อย สุดท้ายแล้วเราก็คงหนีไม่พ้นกับการต้องมานั่งกังวลถึงผลที่ตามมาตลอด อีกทั้งผลสำเร็จที่เราคาดหวัง อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จะคิดทำอะไร มาลองนั่งคิดกันดี ๆ ดีกว่านะคะ ว่ามันคุ้มค่ากับการเดินทางลัดไปรึเปล่า
2. เอาเปรียบทีม
วัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องสำคัญของสตาร์ทอัพเกือบทุกแห่ง โต๊ะปิงปอง เครื่องทำกาแฟ หรือ Bean Bag ให้พนักงานนั่งทำงาน คงจะเป็นสิ่งที่เรานึกถึงพอมีการพูดคำว่าสตาร์ทอัพขึ้นมา แต่บ่อยครั้ง ที่วัฒนธรรมกลับกลายเป็นตัวบีบคั้นให้คนในองค์กรต้องยอมโอนอ่อนผ่อนตามไปกับเรื่องที่ไม่สมควรที่จะได้รับการยอมรับ เช่น เวลาทำงานที่ยืดหยุ่น กลายเป็นยืดตลอดแบบไม่มีหยุ่น ลงเอยเป็นทำงานทั้งวันทั้งคืนอย่างไม่มีวันหยุดเพื่อที่จะแสดงว่าคุณทำงานเต็มที่ โดยไม่มีค่า OT ตอบแทน การพูดจาก้าวร้าวคุกคามเพื่อนร่วมงาน โดยอ้างว่าเป็นการเสนอความคิดเห็นแบบตรง ๆ อย่างกรณีที่ร่ำลือกันของ Uber หรือการไม่มีสวัสดิการที่ควรมี เช่นประกันสุขภาพใด ๆ ให้เลย เพียงเพราะการมีเบียร์ฟรีดูคูลมากพอแล้ว
สุดท้ายแล้วทุกคนก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่ง หากคุณทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำเพียงเพื่อที่จะแสดงสปิริตว่าคุณได้งานอย่างเต็มที่เพื่อบริษ้ท หรือยอมอดทนกับวัฒนธรรมแย่ ๆ ขององค์กรมันก็คงน่าเศร้าถ้าคุณพลาดการใช้ชีวิตในมุมอื่น ๆ ไปนะคะ นี่ยังไม่ได้พูดถึงอีกว่าสุดท้ายแล้วการทำงานหลายชั่วโมงไม่ได้เพิ่ม productivity ให้กับคุณและบริษัทเลยแม้แต่น้อยอีกด้วย
ดังนั้นครั้งต่อไปที่คุณจะอยู่ทำงานดึกดื่นเพียงเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง หรือเอาเวลาที่ใช้กับครอบครัว ไปทำงานที่คุณคิดว่าจำเป็นเหลือเกิน ลองทบทวนดูดี ๆ อีกทีนะคะ ว่าสิ่งที่คุณกำลังตัดสินใจเลือกอยู่ มันเป็นผลดีกับคุณ คนรอบตัวของคุณหรือแม้กระทั่งบริษัทของคุณจริง ๆ รึเปล่า เช่นเดียวกันในฐานะคนที่มีอำนาจตัดสินใจ ลองใช้เวลาไปกับการบริหารงานให้ “แฟร์” กับคนในทีมดูค่ะ เช่น สวัสดิการที่เป็นความมั่นคงในชีวิตเช่นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือประกันสุขภาพ อาจจะดีกับการจ่ายเงินไปเพื่อให้มีเบียร์และอาหารกลางวันฟรี หรือการให้ทีมของคุณมีชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันนะคะ
3. ไม่โฟกัส
สตาร์ทอัพหลายที่ไม่สามารถเลือกโฟกัสกับสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ได้ แน่นอนว่าสิ่งล่อตาล่อใจในวงการมันมากมายเหลือเกินกว่าจะทนไหว Networking เราก็ต้องไป Blockchain ก็ต้องศึกษา ออฟฟิศสวย ๆ เราก็ต้องมี สวัสดิการดี เบียร์ฟรีก็ต้องทำให้พนักงาน ไปออกงานพูดบนเวทีก็ปฏิเสธไม่ได้ ยิ่งงาน PR ออกสื่อนี่ใครจะไม่ทำ แต่บางครั้งสตาร์ทอัพก็ลืมไปว่าสิ่งสำคัญที่สุดก็คือผู้ใช้งานและ product ของเราเอง ดังนั้น resources ทั้งหมดที่เรามีควรจะถูกใช้ไปเพื่อเป้าหมายเดียวนั้น แทนที่จะใช้ไปกับสิ่งที่ดูหรูหราน่าตื่นตาตื่นใจอื่น ๆ
สตาร์ทอัพที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่และไอเดียอันพุ่งพล่าน ย่อมมีสิ่งที่อยากทำมากมายเป็นเรื่องปกติ แต่คุณก็คงเคยได้ยินเรื่องกฏ 80/20 กันมาบ้างใช่ไหมคะ? เราสามารถเลือกทำ 20% ของงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ 80% ของทั้งหมดเลยทีเดียว เหลือแค่ให้เรามองออกให้ได้ว่า 20% ที่เราต้องทำจริง ๆ คืออะไร
Bandwidth ของคุณมีจำกัด และทรัพยากรที่มีค่าที่สุดคือเวลา แม้ว่า multi-tasking หรือการทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ จะสำคัญแค่ไหน ลองเลือกสิ่งที่เป็นเป้าหมายหรืองานที่สำคัญที่สุดของคุณมาซักสองสามอย่าง แล้วลองโฟกัสกับสิ่งนั้นดูนะคะ การที่คุณให้เวลากับสิ่งสำคัญ คุณจะทำมันได้ดีกว่าการพยายามทำหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกันแน่นอนค่ะ
สุดท้ายแล้ว สตาร์ทอัพไม่ใช่โมเดลสุดเจ๋งไร้ที่ติจากกระบี่ (เพราะกระบี่ไร้เทียมทาน?) ซึ่งก็ไม่ต่างจากบริษัทหรือบุคคลอื่น ๆ เลยค่ะ เราคงจะเห็นกันแล้วว่า ทุกเรื่องราวต่างก็มุมที่ดีและไม่ดี อาจจะขาวบ้าง ดำบ้าง หรือบางทีก็อาจจะเทา ๆ ให้เราได้คาดเดาแนวทางเอง แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้ไม่ว่าชีวิตเรากำลังได้สัมผัสกับเรื่องอะไร ก็คือการนำสิ่งนั้นมาลองเรียนรู้และปรับใช้กับตัวเองค่ะ ถ้าคุณมีประสบการณ์กับการทำงานในสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะด้านที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร อย่าลังเลที่จะมาแบ่งปันกันนะคะ 🙂
ภาพจาก Free-Photos, Pixabay
บทความโดย: คุณชลากร เบิร์ก
Product Owner at 30 Seconds to Fly
บทความที่เราแนะนำ
- บริหารทีมงานด้วยการเปิดเผยเงินเดือน
- 3 ทางรอด Agency ในวันที่จะไม่เหลือที่ยืนอีกต่อไป
- Digital Transformation ต้องเริ่มที่คนไม่ใช่ที่เครื่องมือ