ไอเดียอาจจะสำคัญสำหรับงานครีเอทีฟ แต่การหา Core Value ของโจทย์ให้เจอนั้น สำคัญกับงานครีเอทีฟยิ่งกว่า!
ในวันที่ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ถูกตั้งความหมายเอาไว้มากมาย ใคร ๆ ก็อยากจะทำให้ต่าง ทำให้จึ้ง ทำให้แปลกกว่าคนอื่น แต่จริง ๆ แล้วความคิดนี้อาจกำลังทำให้คนหลงทางได้ แล้วในการหาไอเดีย การขายงานกับลูกค้า เราจะบาลานซ์สิ่งเหล่านี้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดใหม่ ๆ
ด้วยเหตุนี้ทาง CREATIVE TALK จึงมีโอกาสได้มาเจาะลึกวิธีคิดเบื้องหลังของสองครีเอทีฟจาก LTMH Rocket หนึ่งในแบรนด์บ้านใกล้เรือนเคียงของลงทุนแมน โดยคุณเนย - ภัทร อินทรกำแหง Creative Director และคุณเคน - พีรกิติ์ พะหุโล Art Designer จาก LTMH Rocket ว่าการเป็นครีเอทีฟในยุคนี้เราจะสร้างชิ้นงาน สร้างไอเดีย หาความคิดสร้างสรรค์แบบไหน ถึงจะตรงใจ และตอบโจทย์ลูกค้าได้
ไอเดียใหม่ ๆ เกิดได้ด้วยข้อจำกัดใหม่ ๆ อย่าจำกัดตัวเองเพียงเพราะมองว่ากำแพงสูงเกินไป
ต้องบอกก่อนว่า LTMH Rocket เป็นดิจิทัลเอเจนซี ที่ทำงานให้กับลูกแบบครอบจักรวาลการเงิน การลงทุน และการตลาด ให้มีความ Spark, Simply และ Impacts ซึ่งแน่นอนว่าในการพูดเรื่องการเงิน การลงทุน ย่อมเจอข้อจำกัดมากมาย ทั้งในเชิงการสื่อสาร และภาษาที่ต้องระวังพวกอัลกอริทึมอีกด้วย
แต่ถ้าเรามองว่าข้อจำกัดนั้นเป็นกำแพงที่ปีนได้ยาก มันก็ย่อมปีนข้ามไปไม่ได้ กลับกันถ้าเราได้ลองหาวิธีปีนดู ก็อาจจะทำให้พบการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยนึกถึงมาก่อนก็ได้
เช่นเดียวกันกับคุณเนย และคุณเคนที่มองว่า ทุกอุตสาหกรรม ทุกโปรดักส์ต่างก็มีโจทย์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นการที่มีข้อจำกัดผุดขึ้นมา ก็ไม่ได้หมายถึงทางตันของไอเดีย แต่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ครีเอทีฟ ได้ลองคิดไอเดียใหม่ ๆ เพื่อที่จะไปให้เกือบถึงเส้นเพดานนั้น หรือข้ามเส้นเพดานนั้นไปเลยก็ยังได้
ยกตัวอย่างเช่น LTMH Rocket ได้ทำงานกับลูกค้าธนาคารเจ้าหนึ่ง ที่อยากจะทำคอนเทนต์การเงินให้เข้าถึงง่าย แต่ก่อนเราอาจจะเห็นนักลงทุนมาคุยกับนักลงทุน บางทีก็น่าเบื่อ LTMH Rocket อยากให้เรื่องการเงินการลงทุนไปถึงทุกคน อยากให้คนมาฟังเยอะ ๆ จึงลองเสนอจากการที่เอานักลงทุนมาพูด เปลี่ยนเป็น KOL มาพูดดูบ้างลงช่องทาง TikTok
ด้วยเทรนด์ที่เปลี่ยน ความสนใจคนเปลี่ยน คนก็หาข้อมูลเองได้เยอะขึ้น ผลปรากฎว่ามีคนดูถล่มทลาย จนลูกค้าธนาคารอีกเจ้าก็อยากจะทำด้วย โดยใช้รูปแบบการสื่อสารในสไตล์นี้เหมือนกัน นี่ก็เป็นตัวอย่างของหลุดจากข้อจำกัดแบบเดิม ๆ แล้วเปลี่ยนวิธีการสื่อสารถึงคนในรูปแบบใหม่ ๆ บ้าง
Creative จะเวิร์คได้ ต้องเข้าใจ Core Value และ Insight ให้ไว ไม่ใช่หาแต่ความแปลกใหม่
คุณเนยเล่าว่า หนึ่งในสิ่งที่คนมักคิดว่าคนทำงานครีเอทีฟ ควรมีเป็นอันดับแรกเลยคือเรื่องของไอเดีย แต่สำหรับคุณเนยมันคือเรื่อง ‘การอ่านจับใจความ แล้วหา Core Value บางอย่างได้รวดเร็ว’
ในยุคที่เวลาทำงานน้อยลง แต่งานเยอะขึ้น การทำงานให้ไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำคัญมาก แม้ในวันที่เราจิตใจไม่ปกติ แปรปรวน เราจะยังสร้างสรรค์ให้ออกมาดีเหมือนเดิมได้อย่างไร ดังนั้นก่อนจะไปถึงการคิดไอเดียใหม่ ๆ คนทำงานครีเอทีฟต้องหา Core Value ของโจทย์ให้เจอก่อน
เราต้องคิดเสมอว่าผลิตภัณฑ์บนโลกใบนี้ แม้แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ก็ถูกออกแบบมาให้แก้ไขปัญหาบางอย่างเสมอ เราแค่ต้องจับให้ได้ว่าเขาออกมาทำไม แล้วมันตอบโจทย์ painpoint เหล่านี้อย่างไร เมื่อเราตั้งคำถามได้ดี เราก็จะหาข้อมูลได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ซึ่งการจะจับ Core Value ให้ไว ก็ต้องมาพร้อมกับการมีความรู้ในเรื่องนั้นที่ดีด้วย เพราะถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็จะต้องใช้เวลาในการตีโจทย์นั้นนานกว่าคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นแน่นอยู่แล้ว ต้องถามตัวเองว่าถ้าสมมุติวันนี้ต้องมาตีโจทย์เรื่องการลงทุน แต่ไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย แล้วเราจะเข้าใจทั้งหมดนี้ได้เมื่อไหร่ แล้วเมื่อเข้าใจเราจะทำงานได้จริงเมื่อไหร่?
จากนั้นจึงค่อยนำมาสู่การหาไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอด แต่ไอเดียเหล่านั้นก็ต้องเป็นไอเดียที่แก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ เพราะความคิดสร้างสรรค์คือวิธีการหนึ่งของการแก้ปัญหา ถ้าธุรกิจลูกค้ามีปัญหาแต่คนทำงานเลือกจะหาไอเดียเพื่อทำหนังไปชิงรางวัล แปลว่าเราแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
“ต้องถามว่าลูกค้าได้อะไร มันต้องไปด้วยกัน”
ครีเอทีฟที่ดีต้องเป็นทั้งนักบิด และนักขโมย คือบิดไอเดียที่มีในหัวออกมาให้เป็นรูปเป็นร่างที่ตอบโจทย์ได้ และเป็นนักขโมยที่หาข้อมูล ไอเดียจากหลาย ๆ แบบมาประกอบกัน แล้วปั้นให้ออกมาเป็นไอเดียใหม่ในแบบของเรา
สรุป Creative จะผลิตงานออกมาเวิร์คได้ยุคนี้ต้อง…
- จับ Core Value ให้ไว ตรงโจทย์
- เก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มาก ตั้งคำถามให้เยอะ
- เสพคอนเทนต์ให้เยอะพอจะสร้าง Dictionary Idea ของตัวเองได้
ไม่ใช่แค่ ‘อิน’ แล้วจะเป็นอินไซต์ แต่ต้องเข้าใจ และหาดาต้ามาประกอบให้มากพอ
อีกหนึ่งงานสำคัญของชาวครีเอทีฟคือ ‘การขายงาน’ และการจะขายงานให้ลูกค้ายอมซื้อไอเดีย แค่จับเทรนด์ และใช้ความอินของเราเข้าสู้อย่างเดียว มันไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
การหาอินไซต์ และดาต้าที่มากพอจะช่วยให้ลูกค้าเห็นภาพ และเข้าใจในสิ่งที่เรานำเสนอมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เราเห็นในโซเชียลพูดถึงชีเสิร์ฟ ถ้าจะขายไอเดียนี้ต่อให้กับลูกค้า ที่หน้า Feed บนโซเชียลปกติก็อาจจะไม่เคยเห็นคำนี้มาก่อนเลยในชีวิต ถ้าเอาคำนี้ไปขายทื่อ ๆ สุดท้ายลูกค้าก็จะไม่ซื้อ เพราะเขาไม่เข้าใจ และไม่เห็นภาพว่าการสื่อสารนี้จะตอบโจทย์ได้อย่างไร
ดังนั้นในฐานะครีเอทีฟ ต้องหาข้อมูลมาให้มากพอเพื่ออัดข้อมูลเข้าไป ก่อนจะขายไอเดียที่คิดมา เพื่อให้ลูกค้า ‘เข้าใจ’ แม้ว่าเขาจะไม่อินก็ตาม แต่ข้อมูลจะช่วยพิสูจน์ให้ลูกค้ามั่นใจกับการลงทุนในคอนเทนต์การสื่อสารแบบใหม่ ๆ มากขึ้น
เพราะก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางแบรนด์ก็ขยับตัวไวไม่ได้ มีหลายปัจจัย ความเสี่ยงเยอะ การจะให้ลูกค้ายอมพุ่งไปกับไอเดียของเรา ก็ต้องทำให้เขามั่นใจได้มากพอนั่นเอง
อีกตัวอย่างที่ LTMH Rocket กำลังทำคือการสื่อสารเรื่องการเงิน เพื่อให้เข้าถึงทุกคนจริง ๆ ด้วยแนวคิดที่ว่าการเงินการลงทุนอยู่รอบตัว ทุกคนควรเข้าถึงง่าย แต่บางครั้งบางแบรนด์อาจมองข้ามอินไซต์จริง ๆ ของผู้บริโภคไป ยกตัวอย่างเช่น ทำไมเวลาคนลงทุน ได้กำไรมา 2% รู้สึกว่าน้อย กลับกันไปผ่อนของ เจอดอกเบี้ย 2% รู้สึกว่าแพง?
แม้ว่าในความเป็นจริงจะเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้ แต่ในเชิงอินไซต์ ความรู้สึกของคนที่เขาคิดต่อเรื่องการเงิน และตัวเลขแบบนี้มันเป็นแบบนั้นจริง ๆ ถ้าเราเข้าใจอินไซต์ และความต้องการเหล่านี้ได้จริง ๆ ก็จะหาไอเดียออกมาได้ตอบโจทย์ความต้องการของคนจริง ๆ ได้มากขึ้นด้วย
เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK