“ขอล้างจานและเก็บจานเข้าที่สักครู่นะคะ” คำทักทายอันสดใสจากเสียงปลายสายเอ่ยขึ้น แน่นอนว่าเราผู้เป็นเสียงต้นสายตอบตกลงด้วยความยินดี
ขณะที่รอ เราเลื่อนไทม์ไลน์ทวีตเตอร์พลางๆ สายตาก็ไปหยุดอยู่ที่รูปน้ำพริกมะม่วงกับชะอมไข่ที่เรียงไว้อย่างสวยงาม แอ็กเคานต์นี้ชอบทำให้ต่อมความหิวของเราทำงานอยู่เสมอๆ โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้กระทั่งตอนที่เราเพิ่งจะกินข้าวเสร็จเมื่อครู่นี้ก็ตาม
แอ็กเคานต์ที่เรากำลังพูดถึง คือ ‘Maekwansri (แม่ขวัญศรี)’
แม่ขวัญศรี สร้างสรรค์คอนเทนต์ผ่านแนวคิด Home cooking เธอชอบทำอาหารกินเองและแบ่งปันให้กับผู้คนบนโลกออนไลน์ ขณะนี้แอ็กเคานต์มียอดฟอลโลเวอร์กว่า 3 แสนคนบนทวีตเตอร์ และยอดกดไลก์เพจเฟซบุ๊กกว่า 1 แสนคน ยังไม่นับรวมช่องทางอื่นๆ ที่ครองใจผู้คนเช่นเดียวกันอย่างยูทูบและอินสตราแกรม
นี่เป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาสำหรับเรา ทำไมการทำอาหารทานที่บ้านสารพัดเมนูทั้งไทยและเทศ ไม่ว่าจะเป็นเมนูง่ายๆ อย่างไข่เจียว ข้าวผัดซีฟู๊ด หรือกระทั่งซีซาร์สลัด ฯลฯ ที่ชวนเรียกน้ำย่อยในกระเพาะ นอกจากความน่าทานของอาหารแล้ว อะไรคือเคล็ดลับหรือแนวคิดที่ต่างมัดใจผู้คนในโซเชียลที่ต่างอยากฝากตัวเป็นลูกแม่ขวัญศรีกันถ้วนหน้า
“สวัสดีค่ะ” เสียงเจ้าของแม่ขวัญศรีเอ่ยชวน เริ่มบทสนทนานี้ขึ้น
ขั้นตอนที่ 1 ตระเตรียมวัตถุดิบ
ออกไปใช้สอยจ่ายตลาด เสาะหาวัตถุดิบ คือ ขั้นตอนแรกของการทำอาหาร และนี่เป็นก้าวแรกของแม่ขวัญศรีเช่นกันที่เธอถูกหล่อหลอมให้เข้าครัวและบ่มเพาะการทำอาหารตั้งแต่เด็ก
“พี่เป็นคนประเภทเข้าครัวกับแม่มาตั้งแต่เด็ก โดยมีหน้าที่อยู่ 2 อย่าง คือ 1. ไปตลาดกับแม่ 2. ช่วยหยิบนู่นหยิบนี่ว่าง่ายๆ คือเป็นลูกมือนั่นเอง
“อาหารจานแรกที่พี่ทำในวัยเด็กน่าจะเป็นน้ำพริกกับผักต้ม เอาเป็นว่าครอบครัวหรือญาติเรียกพี่ว่าเป็นมือตำประจำบ้าน”
เมื่อเริ่มเข้าเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ และต้องพักอาศัยอยู่หอ แม่ขวัญศรีก็เลือกทำอาหารกินเองเป็นส่วนใหญ่ เพราะอาหารที่ขายให้นักศึกษาไม่ได้หลากหลายเหมือนปัจจุบัน อีกทั้งการเป็นเด็กหอจำนวนเงินที่ได้มาค่อนข้างจำกัดดังนั้นเธอจึงต้องประหยัด
“พี่รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ทำอาหารกินกันเอง โดยพี่จะเป็นตัวตั้งตัวตีว่าวันนี้จะทำอะไร โดยใช้ความรู้จากแม่มาทำอาหาร ทว่าตอนนั้นพี่ทำเป็นแต่อาหารง่ายๆ เช่น สารพัดเมนูไข่ ต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือยำปลากระป๋อง”
แน่นอนว่าเส้นทางในการทำอาหารของแม่ขวัญศรีไม่หยุดเพียงเท่านั้น เมื่อถึงวัยก่อร่างสร้างครอบครัว เธอจึงหันมาทำอาหารอย่างจริงจัง
“เนื่องจากสามีพี่ไม่ทานหมู ฉะนั้นการทานอาหารนอกบ้านจึงมีข้อจำกัด แล้วด้วยความที่พี่อยากให้สามีทานอาหารดีๆ ดังนั้นพี่ก็เริ่มเรียนรู้การทำอาหารที่มากขึ้น อะไรที่ทำไม่เป็นก็ต้องโทรไปถามแม่ตัวเองหรือ ญาติสามีบ้าง”
นับจากวัยเด็กที่เป็นลูกมือแม่ในครัว วัยมหาวิทยาลัยที่ทำอาหารทานเองกับเพื่อนในหอ กระทั่งปัจจุบัน เส้นทางการทำอาหารของแม่ขวัญศรีดำเนินมาเกือบ 20 ปี อย่างไรก็ตามการทำอาหารทานเอง บางครั้งเธอก็นึกเมนูไม่ออกจึงมีบ้างที่ได้กินแต่อาหารซ้ำๆ แม่ขวัญศรีฉุกคิดว่าไม่ควรทำอาหารใส่จานแล้ววางๆ ธรรมดาทั่วไป
“อาหารที่พี่ทำต้องดึงดูดให้คนที่เห็นรู้สึกเหมือนกับว่า อาหารจานนี้เป็นการทานที่ร้าน ความรู้สึกของผู้กินจะได้ไม่เบื่อ”
สำหรับการจัดจานแม่ขวัญศรีบอกว่า เน้นเรื่องของสีสันอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ผักต้องเขียวสด ปลาต้องเหลืองกรอบ และจานที่เลือกต้องเหมาะสมกับอาหาร ที่สำคัญเวลาจัดจานต้องดูทุกองค์ประกอบโดยรวมทั้งหมดในจาน
“สำหรับพี่เองแล้วอาหารคือ งานศิลปะ ทุกๆ อย่างที่จัดลงไปจะต้องดูเข้ากัน”
แม้กระทั่งเมนูอย่างสปาเกตตีที่ไม่ใส่เนื้อสัตว์ก็ต้องมีพาร์สลีย์สับๆ ใส่ลงไปให้เห็นสีเขียวๆ เกาะเส้น เธอคลี่คลายเคล็ดลับของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์และไม่ว่าใครหากเลื่อนฟีดผ่านแล้วเห็นภาพเมนูต่างๆ ที่ชวนท้องร้อง
ขั้นตอนที่ 2 ต้ม ผัด แกง ทอด พร้อมปรุงรส
ตระเตรียมวัตถุดิบเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปถึงเวลาโชว์ฝีมือ นี่เป็นขั้นตอนที่แม่ขวัญศรีได้ลองผิดลองถูกในการใช้ชีวิต แม้แต่ละจานของแม่ขวัญศรีที่ทุกคนได้เห็นจะดูช่ำชองสมบูรณ์ทุกๆ เมนู แต่เธอบอกว่า เธอก็เคยผิดพลาดกับการทำอาหารเช่นเดียวกับลูกเพจเหมือนกัน โดยเมนูนั้นคือเค้กส้ม
“ตอนนั้นที่พี่ทำเสร็จแล้วก็เอาเค้กออกมาวางแต่แป้งข้างล่างไม่สุกแต่ข้างบนสุกหมดแล้ว ก็สังเกตว่าเอ๊ะสิ่งนี้เกิดจากอะไรจนได้คำตอบว่าพี่ไม่ได้วอร์มเตาให้ร้อนเสียก่อน”
นอกจากนั้นยังมีอาหารต่างๆ ที่แม่ขวัญศรีเคยทำแล้วไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่แรกที่ทำอย่างการลวกผักต่างๆ ให้ออกมาเป็นสีเขียวตามที่ต้องการ
“พี่ไปอ่านมาหลายสูตร แต่ละสูตรก็หลากหลายวิธี บางสูตรให้ใส่น้ำตาล ให้ใส่เกลือ หรือให้ใส่น้ำมัน พี่ลองหมดแต่ไม่ได้ผล พี่มาสังเกตแล้วเรียนรู้ด้วยตนเองจนพบว่าอากาศและระยะเวลาการต้มที่ไม่พอดีเป็นปัจจัยที่ทำให้ผักดำ เช่น มะเขือเวลาต้มต้องให้ผักจมน้ำไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งสัมผัสกับอากาศ หรือ ผักบุ้ง ถั่วพู ต้องลวกให้สุกได้ที่ซึ่งควรใช้เวลาเกือบ 2 นาที ไม่ใช่แค่ 30 วินาที”
เธอเน้นย้ำว่าการเป็นแม่ครัวควรมีทักษะด้านการสังเกต เพราะสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในกระบวนการทำล้วนแต่ส่งผลต่อรสชาติ หน้าตาของอาหาร
ขั้นตอนที่ 3 ตักใส่จานพร้อมเสิร์ฟ
ขั้นตอนเกือบสุดท้าย เป็นวินาทีที่ส่วนตัวเราชื่นชอบ นอกจากเราจะได้ลิ้มรสความอร่อยแล้ว ขั้นตอนนี้ยังเปรียบเสมือนความสำเร็จที่เราแบ่งปันให้คนรอบข้างมีความสุขร่วมไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับแม่ขวัญศรีที่แบ่งปันลงโซเชียลพร้อมกับคำทักทายผู้คนประจำวันอย่างเป็นกิจวัตร
“พี่ไม่รู้ว่าจะเล่าเรื่องอะไรกับเพื่อน แต่ว่าพี่ชอบลงอะไรที่คนอื่นเห็นแล้วก็มีความสุข พี่เลยคิดว่า ‘อาหาร’ นี่แหละดีที่สุด”
ไม่แม้แต่แพลตฟอร์มทวีตเตอร์เท่านั้น หากเราสังเกตแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊กบนหน้าฟีดเองก็เต็มไปด้วยอาหารเสมือนแกลเลอรีอาหารออนไลน์ที่แลกเปลี่ยนความสุขนี้กับเพื่อนๆ
“การได้ยินฟีดแบ็กว่าจากคนที่ติดตามพี่ว่า อยากเป็นลูก อยากเป็นเพื่อนแม่ขวัญศรี พี่รู้สึกดีและมากไปกว่านั้นพี่เอ็นดูที่ทุกคนคอยสอบถามวิธีการทำ วัตถุดิบอะไรต่างๆ ที่เขาอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเมนูนั้นๆ หลายคนเองก็ส่งการบ้านที่ทำอาหารตามให้พี่ดู”
และอีกหนึ่งความรู้สึกประทับใจมากที่สุด คือ เวลาที่ลงอาหารแล้วสามารถส่งต่อความสุขในการทำอาหารให้ผู้คนได้ หลายคนบอกว่าอยากจะทำอาหารให้ครอบครัวกินบ้างหรือบางเมนูเองก็ทำให้พวกเขานึกถึงคนในครอบครัว
“พี่รู้สึกชื่นใจที่อาหารของพี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความคิดถึงคนอื่นๆ ผ่านอาหาร”
อย่างไรก็ดีเมื่อมีคนติดตามมากขึ้นเรื่อยๆ การมีสปอนเซอร์เข้ามาก็เป็นเรื่องปกติ
“พี่รู้สึกประทับใจตรงที่ลูกเพจหรือคนฟอลโลว์ยังลุ้นว่าวันนี้พี่ทำเมนูอะไรจากสินค้าแบรนด์นี้”
เพราะการทำโฆษณาไม่ใช่ศาสตร์ที่ทุกแอ็กเคานต์จะประสบความสำเร็จ หลายแอ็กเคานต์ละทิ้งตัวตน เสน่ห์หรือไม่สามารถผสมผสานเอกลักษณ์ของคอนเทนต์ตัวเองเข้ากับโฆษณาได้ ยอดรีทวีต กดไลก์ แชร์จึงต่างกันอย่างลิบลับ แต่แอ็กเคานต์ของแม่ขวัญศรีเป็นอีกหนึ่งแอ็กเคานต์ที่เรารู้สึกประทับใจในการสร้างสรรค์คอนเทนต์โฆษณา (Advertorial) อย่างมาก
ทั้งนี้เธอเล่าถึงวิธีคิดการทำคอนเทนต์โฆษณาโดยยกตัวอย่างเมนูกุ้งชุบแป้งทอดเลย์ โดยเมนูนี้คิดร่วมกันกับรุ่นน้องคนหนึ่ง โจทย์สำคัญคือจะทำอะไรให้มากกว่านำเลย์ไปโรยตกแต่งหน้าอาหารต่างๆ
“พี่มองว่าเลย์ คือ มันฝรั่ง ซึ่งตามท้องตลาดทั่วไปมันก็มีแป้งมันฝรั่ง เลยคุยกับรุ่นน้องว่า
อย่างนั้น เรานำเลย์มาทำกุ้งชุบแป้งกันดีกว่า ทีนี้เมนูนี้จะยากตรงที่ทอดเพราะตัวเลย์เป็นมันฝรั่งที่อบกรอบมาแล้ว จะทำอย่างให้ทอดแล้วสีของเลย์ไม่ดำคล้ำขณะเดียวกันกุ้งต้องสุกด้วย ฉะนั้นพี่ต้องทอดในน้ำมันที่ไม่ร้อนจนเกินไป แล้วค่อยๆ ทอด และก่อนทอดก็ต้องนำตัวเลย์มาบดให้ละเอียดอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เลย์เกาะตัวกุ้งได้มากที่สุด
“คราวนี้มาที่น้ำจิ้ม พี่ก็คิดอีกไม่อยากกินน้ำจิ้มไก่ธรรมดา เราลองหาไอเดียมาผสมกันจนออกมาเป็นน้ำจิ้มโคชูจังผสมเข้ากับน้ำจิ้มบ๊วย ซึ่งรสชาติที่ออกมาก็เข้ากันดี”
นอกจากสินค้าที่ไม่ได้เกี่ยวกับอาหารแล้ว เรายังเห็นแม่ขวัญศรีสร้างสรรค์ของคอนเทนต์โฆษณาได้อย่างน่าสนใจ เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามถึงเมนูไก่เกาหลีกับแบรนด์สก๊อตช์-ไบรต์ว่าเมนูนี้มีจุดเชื่อมโยงอย่างไร
“สก๊อตช์-ไบรต์คือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ล้างจาน คราวนี้พี่คิดว่าการทำอาหารต้องมีบางเมนูที่ทำแล้วมีคราบหรือซอสติดภาชนะ นั่นแปลว่าเราต้องใช้สก๊อตช์-ไบรต์ช่วยขัดถูถึงจะล้างออก ดังนั้นอาหารที่จะทำครั้งนี้ต้องเป็นประเภทที่มีคราบ เมื่อไล่เรียงความคิดแล้ว เมนูไก่เกาหลีก็ลอยเข้ามา เพราะว่าอาหารชนิดนี้ใช้ซอสที่ต้องคลุกในกระทะ และที่สำคัญเด็กๆ หรือฟอลโลว์ในทวีตเตอร์ชื่นชอบอาหารเกาหลีอยู่แล้ว”
แม่ขวัญศรีเสริมว่า โดยปรกติแล้วใช้เวลาคิดคอนเทนต์โฆษณา 2-3 วัน เพราะอาหารทุกอย่างที่ออกมาแม้จะเป็นคอนเทนต์สำหรับโฆษณาก็ตาม แต่เธอถือคติว่า อาหารที่ทำออกมาแล้วต้องสร้างความอยากทาน กระทั่งว่านอกจากความสร้างสรรค์แล้วอาหารจานนั้นทานได้หรือเปล่า นี่จึงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้อาหารของแม่ขวัญศรีออกมาดูน่าทานทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่คอนเทนต์โฆษณา ที่มียอดแชร์ไม่ต่างจากคอนเทนต์ปกติ
ขั้นตอนสุดท้าย เก็บกวาดครัวและสร้างสรรค์สำหรับเมนูวันใหม่
นอกจากความสุขที่ได้ทำอาหารแล้ว แม่ขวัญศรียังบอกเราถึงสัดส่วนความสุขอื่นๆ ที่ได้ทำอาหาร สัดส่วนความสุขแรก คือ แม่ขวัญศรีได้เห็นฟีดแบ็กทั้งสีหน้าและคำพูดที่บอกว่า อาหารของเธออร่อย
เธอเสริมว่า เวลาที่ได้ทำอาหารให้สามีทานทั้งเมนูอย่างน้ำพริกปลาทู หรือแม้กระทั่งเมนูบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แล้วเขาทานเยอะๆ สีหน้าเต็มไปด้วยความสุข เธอก็จะรู้สึกว่าอาหารที่ทำ
ต้องอร่อยมากแน่ๆ และสัดส่วนความสุขที่สอง คือ การได้อยู่กับตัวเองอย่างมีสติ
“เวลาทำอาหารทำให้พี่มีสมาธิอยู่กับสิ่งที่พี่ต้องทำไม่ฟุ้งซ่าน พี่จะหั่นเนื้อ พี่ก็พูดกับตัวเองว่าจะหั่นเนื้อ พี่จะต้มผักต้องคอยระวัง การทำอาหารทำให้พี่มีสติมากขึ้น”
เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์และรชา เหลืองบริสุทธิ์
ภาพ : แม่ขวัญศรี