Trust Economy เทรนด์การตลาดที่สำคัญปี 2025 โดยคุณสโรจ เลาหศิริ

1 เทรนด์ที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการตลาด (Marketing) คาดการณ์เทรนด์โดยคุณบี สโรจ เลาหศิริ นั่นก็คือ “Trust Economy” หรือเศรษฐกิจแห่งความไว้ใจ เชื่อใจ

Last updated on ม.ค. 11, 2025

Posted on ม.ค. 6, 2025

Trust Economy ผู้บริโภคในปี 2025 มีความตื่นธรรม เป็นคนตื่นแบรนด์มากขึ้น

ขึ้นชื่อว่าเทรนด์ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘การตลาด’ มันมีเยอะมาก แต่ถ้าให้คัด 1 เทรนด์ ที่ไม่ว่าใครจะทำธุรกิจอุตสาหกรรมไหน จำเป็นต้องรู้ และต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้! นั่นคือเรื่องของ “Trust Economy” หรือเศรษฐกิจแห่งความไว้ใจ เชื่อใจ!  เพราะในปัจจุบันผู้บริโภคตื่นธรรม และตื่นแบรนด์มากขึ้น นี่จะกลายเป็นเทรนด์ที่สำคัญของนักการตลาด และคนทำธุรกิจในปีนี้! 

ต้อนรับปี 2025! กับ 1 เทรนด์ที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการตลาด (Marketing) คาดการณ์เทรนด์โดยคุณบี - สโรจ เลาหศิริ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการตลาด / เจ้าของเพจสโรจขบคิดการตลาด

ต่อให้กลยุทธ์คุณจะเทพแค่ไหน แต่ถ้าผู้บริโภคไม่ไว้ใจ เชื่อใจคุณ คุณก็ไปไม่รอด!

7 เหตุผล ทำไมเทรนด์ ‘Trust Economy’ ถึงสำคัญ

นี่จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า ทำไมเทรนด์ ‘Trust Economy’ ถึงมีความสำคัญ แล้วมีเรื่องไหนบ้างที่เราควรให้ความสำคัญในการทำการตลาด และการทำธุรกิจในปีนี้!

1. ผู้บริโภคตื่นธรรม และตื่นแบรนด์มากขึ้น

ผู้บริโภคมีความไว้วางใจกับแบรนด์ และโลกภายนอกลดลง ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่เจอวิบัติการณ์มากมาย ไม่ว่าจะ 

  • พี่มิจร้ายกาจด้วยเล่ห์กลโกงใหม่ ๆ, คนโดนโกง โดนหลอกมากขึ้น
  • บางแบรนด์ก็ไม่ซื่อ ขายแพงเกินจริง หรือดาราบางคนก็เชื่อไม่ได้แล้ว
  • ตอบแชทลูกค้าไม่ดี ตอบไม่เคลียร์ ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ
  • AI ทำภาพ ทำข้อมูล คนเริ่มไม่เชื่อในสิ่งที่เห็น

เมื่อความไว้วางใจลดลง ผู้บริโภคหรือลูกค้า จึงต้องระมัดระวังมากขึ้น พวกเขามีความตื่นธรรม และตื่นแบรนด์มากขึ้นกว่าแต่ก่อน 


2. การสร้างแบรนด์ในยุคนี้ คือการสร้างความไว้ใจ

ผู้บริโภคโดนหลอกจากภาพ AI มากขึ้น รวมถึงข้อมูลหลุดก็เกิดมากขึ้น กลายเป็นว่าวันนี้ ผู้บริโภคหรือลูกค้าคิดเยอะขึ้น พิจารณามากขึ้น ไม่ได้เชื่อทันทีจากสิ่งที่เห็น และมักจะคิดไปว่านี่เป็นของจริง หรือของปลอม สิ่งนี้ AI ทำหรือเปล่า

เริ่มเกิดการตรวจสอบมากขึ้น อีกด้านที่เป็นปัญหาสำคัญคือการที่ข้อมูลหลุดบ่อยครั้ง แทบจะใช้คำว่าคนไทยชาชินกับเรื่องนี้ไปแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องเลวร้ายมาก นั่นคือ Privacy of Data ทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าไม่อยากให้ข้อมูลกับแบรนด์

การทำธุรกิจมันต้องจริงใจ เพราะมันมีเรื่องชื่อเสียง หรือ Branding ในวันนี้การทุ่มเงินเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ มันอาจจะไม่ใช่วิถีของความยั่งยืน แต่ถ้าหากใครช้าแต่ชัวร์ ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะรู้จักผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้ใจ โดยไม่ทุ่มเม็ดเงิน แต่เน้นความจริงใจ จะทำให้การสร้างแบรนด์ยั่งยืนของจริง เพราะการสร้างแบรนด์ในวันนี้มันต้องเริ่มต้นจากความไว้ใจ เพราะการที่เราจะไว้ใจใคร ต้องประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ

  • ภาพลักษณ์ของแบรนด์
  • คำมั่นสัญญาของแบรนด์
  • การกระทำของแบรนด์

แล้วมันจะถูกวิ่งมาที่การสร้างแบรนด์ที่จะถูกพูดถึงความไว้วางใจมากขึ้น คือแบรนด์ต้องดีจากเนื้อในจริง ๆ ผลกระทบที่จะเป็นลูกโซ่ต่อมาก็คือ ‘การโฆษณา’ การสื่อสารที่จะต้องจริงใจ จะไป Disclaimer เยอะ ๆ ไม่ได้ ไม่ตรงปกคนก็จะโวยวาย ดังนั้นเรื่องนี้ควรพิจารณาให้มาก 


3. การสื่อสารต้องโปร่งใส รวดเร็วทันใจ และจริงใจ 

มีเคสที่น่าสนใจจากแบรนด์ Disney โดยจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นจาก Travel Agency Brand แบรนด์หนึ่ง ที่รับจองตั๋วเรือดิสนีย์ (Disney Cruise) ซึ่งมีเหตุการณ์ดราม่า จากการที่ไม่ตอบลูกค้า และไม่ได้มี Confirmation หรือการยืนยันอะไรกลับมา ทำให้ผู้บริโภคระแวงว่าจะโดนหลอก และขาดความไว้ใจ แม้ว่าเคสนี้สุดท้ายแอดมินจะเข้ามาตอบ แต่ก็สายเกินไปแล้ว กลายเป็น Trust Issues ในที่สุด

เหตุการณ์ 1 ครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้ผู้บริโภคหรือลูกค้า รู้สึกผิดหวังและเกิดความไม่ Trust พอเกิดความไม่ Trust จะจริงหรือไม่จริง สื่อสารไม่เร็วพอ ก็กลายเป็นการทำลายภาพลักษณ์แบรนด์ได้เลย มันดูไม่โปร่งใส ดูหมกเม็ดได้เหมือนกัน

เราสามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร ?

เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงมิจฉาชีพได้ มิจมันเก่งขึ้นทุกวัน แต่การแก้ไขที่ดีที่สุดคือ อย่าโยนความรับผิดชอบในการตรวจสอบมิจฉาชีพให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าของเรา หากลองสังเกตดูดี ๆ วิธีการที่แบรนด์ทำ ถ้าผลักไปให้ผู้บริโภค เช่น การโพสต์บอกแค่บนโซเชียลมีเดีย 1 ที่ เสมือนการติดประกาศโดยไม่มีคนเห็น ใครที่ไม่ได้ตามแพลตฟอร์มนั้น ๆ ก็จะไม่มีวันรู้เรื่องเลย เป็นต้น

ดังนั้น “Trust is a process” ความไว้ใจ ความมั่นใจ มันขึ้นอยู่กับกระบวนการสื่อสาร ถ้าจะสร้างแบรนด์ที่จริงใจ ให้คนมั่นใจ ซื้อ Trust คนได้ มันมีค่า แต่ในทางกลับกันก็ถูกทำลายได้ง่าย ถ้าแบรนด์สามารถช่วยแก้ไขทันที ของดีจริง ไม่หมกเม็ด สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที แล้วทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ มันกลายเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ามาก ๆ สำหรับแบรนด์

ตัวอย่างของไทยก็มีนะ นั่นคือ 'เจ๊จง'

อย่างตอนที่เศรษฐกิจไม่ดี เจ๊จงมีการบอกตรง ๆ กับลูกค้าในการปรับต้นทุนขึ้น ปรับราคาขึ้น ก็มาเปิดต้นทุนให้ดูเลยว่าทำไมต้องขึ้นราคา แปลว่าเขาแฟร์กับผู้บริโภค แล้วถ้าช่วงไหนต้นทุนลด ก็ออกมาประกาศอีกว่าลดแล้ว ราคาสินค้าก็จะลงตาม คือแฟร์ตั้งแต่ของราคาแพง ไปจนถึงของราคาลง ก็ยังแฟร์ชี้แจงให้เห็น


4. เรื่องของ Mindset จะกลายเป็นตัวชี้วัดของคนทำงาน

การมีทัศนคติที่ดี พร้อมจะปรับตัวเป็นเรื่องที่ดี โดยมี 3 เรื่องสำคัญนี้ จะเป็นตัวชี้วัดให้กับนักการตลาด และคนทำธุรกิจได้ตระหนัก ไตร่ตรองกับมันมากขึ้น และพร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อการสร้างแบรนด์ที่ผู้บริโภคไว้ใจ

4.1 ทำสิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อเราทำสิ่งที่ถูกต้อง โปร่งใส มีจริยธรรม แม้การสร้างความเชื่อใจอาจจะมาช้า แต่มาแล้วมาเลย เพราะความไว้ใจมันสร้างยาก ในขณะเดียวกันถ้าเราพลาดแค่ครั้งเดียว มันเหมือนกระจก เมื่อมันแตกจะต่อยังไงก็ไม่เหมือนเดิม เหมือนเครดิตมันหายไป กลับมาสร้างยาก

4.2 อย่ามองยอดขายระยะสั้น

คนไทยจะอยากรวยเร็ว เงินอยู่ตรงหน้าขอเอาตัวรอดก่อน ใช่แหละโดยบริบทประเทศไทย แต่สิ่งสำคัญคือเราควรมองระยะยาว อย่าไปมองยอดขายระยะสั้นมากจนเกินไป ต่อให้จะมีคนรอบตัวทำธุรกิจเพื่อหวังผลในระยะสั้น ก็ไม่ได้จำเป็นต้องไปอยู่ในเกมเดียวกับเขา เราควรกลับมามองเกมยาว ยืนหยัดได้ สุดท้ายแล้วเกมยาวเราจะชนะ

4.3 คนชั่วรวยเร็ว แต่ตายก่อน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โลกนี้มันสีเทา หนึ่งใน Quote ที่แสดงถึงจรรยาบรรณของ Google คือ

"We can be successful without being evil" เราสามารถประสบความสำเร็จได้โดยไม่ต้องเป็นคนเลว ดังนั้นอย่า Don't be evil" จงจำไว้ว่าอย่าทำชั่ว แต่ควรกลับมาโฟกัสที่ Core business และการบริหารต้นทุน รวมถึงการวางกลยุทธ์ที่ถูกต้อง มันต้องกลับมาถามตัวเองว่า

  • ของเราดีกับลูกค้าจริงไหม
  • ราคาเป็นธรรมไหม แล้วเราอยู่ได้ไหม
  • ลูกค้าอยู่ได้ไหม วิเคราะห์สิ่งเหล่านี้ให้ดี

ถ้าวันนี้ราคาดีกับลูกค้า แต่ธุรกิจอยู่ไม่ได้ ก็ให้กลับไปโฟกัสเรื่องการบริหารต้นทุน กลับไปจัดการต้นทุนซะ หรือถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้น ก็ต้องแฟร์บอกลูกค้าตรง ๆ เสมือนเคสของเจ๊จง แปลว่าเราทำอะไรผิด เราต้องไปแก้ส่วนนั้น

ซึ่งอยากฝากให้ทุกคนที่ทำธุรกิจ หรือนักการตลาดทุกคน “คิดถึงเขาให้มาก รักษาให้ได้ด้วย” พยายามคิดแทนลูกค้า คิดถึงเขาให้มาก เพื่อให้เห็นภาพว่าเราจะพยายามรักษาผู้บริโภคและกลุ่มลูกค้าได้ดี เพราะทั้งหมดนี้มันคือการสร้างแบรนด์ โดยไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Trust Issues


5. เราต้องอยู่ในธุรกิจที่ยังมีคนต้องการ 

ธุรกิจมันยากขึ้นทุกปี ไม่มีปีไหนที่ไม่ยาก เพราะต่อให้เศรษฐกิจไม่ดี ก็ยังมีคนหรือแบรนด์ที่สำเร็จ เพราะงั้นในปีหน้า อยากให้ทุกคนกลับมามองที่เรื่องพื้นฐานมากขึ้น ไม่ใช่เรื่อง Tactic เช่น 

  • สินค้านั้นต้องดี โดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพ
  • สินค้านั้นราคาเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย
  • สินค้านั้นคนต้องการ เพราะเราต้องอยู่ในธุรกิจที่ยังมีคนต้องการ

6. ปรับตัวให้ทัน และต้องคิดทุกวัน

วันนี้โลกมันเปลี่ยนไวมาก บางคนเสียดายกอดธุรกิจตายไปพร้อมกัน แล้วเราก็จะเริ่มจากการโวยวายก่อนเลย จีนเข้ามาสู้ไม่ได้ แต่กลับไม่คิดว่านั่นคือระยะยาว แต่ที่ปรับได้เลยคือ การเป็นเจ้าของกิจการมันต้องคิดทุกวันเลยคือ เราจะ Survive เราจะอยู่รอดไปพร้อม ๆ กับคนในองค์กร ไปพร้อม ๆ กับธุรกิจได้อย่างไร

จงจำไว้ว่า “อย่าพึ่งรีบเอาเงินออกจากกิจการ มาสร้าง wealth ให้ตัวเอง” อย่าพึ่งรีบรวย! แต่ควรเริ่มจากสำรองเงินเข้ากิจการ เพื่อปรับปรุง และปรับตัวให้มาก เพราะโลกนี้เงินหายากขึ้น ประสบความสำเร็จยากขึ้น การจะลงทุนกับธุรกิจให้งอกเงยและแข็งแรงขึ้นทุกปีจึงสำคัญมาก ๆ


7. จริงใจให้สุด! ขายข้อเสียก่อนได้ ก่อนจะพูดถึงข้อดี

“คิดถึงมุมของแบรนด์ มากกว่าแค่ขายของ” เพราะถ้าสินค้าเหมือนกันหมดไม่มีจุดต่าง มันก็จะกลับมาที่ Branding แบรนด์มันมีมูลค่าที่ทำให้คนยินดีจ่ายแพงขึ้น ถ้าเราสู้ด้วยราคาไม่ได้ ก็ต้องสู้ด้วยสิ่งที่แตกต่าง  โดยทั้งหมดมันก็วิ่งกลับมาที่ความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่การแต่งตัวของแบรนด์, ภาพลักษณ์ของแบรนด์, เสียงของแบรนด์, การกระทำของแบรนด์ 

คือให้คิดถึงมุมของแบรนด์ มากกว่าแค่ขายของ

เพราะการสร้างแบรนด์ในปี 2025 นี้ คนจะไม่จ่ายเงินเพื่อการสร้างแบรนด์ แต่จะกลับมาโฟกัสที่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การตอบคำถาม, การแก้ปัญหาให้ลูกค้า และโฟกัสที่ลูกค้าจริง ๆ บอกต่อ มากกว่าดาราบอกต่อ แล้วก็แบรนด์ที่จะไปต่อได้ ถ้าจะใช้ KOC ก็สามารถติได้ บอกได้แบบไม่ต้องอวย

ทุกวันนี้เราเปิดรีวิว เห็นใครก็ตามแต่แทบจะมีแต่เรื่องดี ๆ ไม่มีคนมาเล่าข้อเสียเลย ดังนั้นปี 2025 นี้ “เทคนิคให้บอกข้อเสียก่อนบอกข้อดี จะเป็นหัวใจสำคัญให้คนจะซื้อของเรา” หรืออาจจะขายข้อดีก่อนก็ได้ แต่ข้อเสียต้องคั่นกลาง ตัวอย่างเช่น แบรนด์ดอยคำ น้ำมะเขือเทศ ถูกผู้บริโภคส่วนใหญ่บอกว่าไม่อร่อย ก็มีการ แถลงการณ์ใหญ่โต เพื่อบอกว่าที่ไม่อร่อย แต่แฝงไปด้วยประโยชน์ คุณค่าทางอาหาร เพราะเขาใช้ของดีทำ รวมไปถึงยังนำเสนอทางเลือก ให้ลองเลือกกินน้ำมะเขือเทศรูปแบบอื่นที่ไม่หนักเท่าตัวออริจินัล

ทั้งหมดนี้คือ Trust Economy มันไม่ใช่แค่เรื่องของการตลาดอีกต่อไป แต่มันคือการสร้าง Culture การยึดกับ Value แล้วสร้างความเชื่อมั่นให้แบรนด์ในทุกมิติ ตั้งแต่การขาย, วัฒนธรรมองค์กร, Data Driven, AI Driven รวมถึง Branding มันคลุมทุกอันและวิ่งกลับมาที่เรื่องของ Trust

เพราะในวันนี้ฟองสบู่แห่งความเชื่อใจ….มันแตกไปแล้ว จงอย่าให้ Brand ของคุณแตกไปพร้อมกับ “ความเชื่อมั่นของลูกค้า”


เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

trending trending sports recipe

Share on

Tags