เราไม่มีทางรู้เลยว่า โอกาสในการเสนอไอเดีย-ขายความเป็นตัวเองจะเข้ามาเมื่อไหร่ ฉะนั้น การเตรียมตัวให้พร้อมเสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญ
หนึ่งในกลยุทธ์ดังกล่าว คือการฝึกแนะนำตัวเองแบบสั้นๆ กระชับ ฉับไว แต่ได้ใจความ ทำอย่างไรให้โอกาสแสนสั้นสร้างความประทับใจได้อยู่หมัด ซึ่งเทคนิคนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Elevator Pitch’ ที่ไม่ได้แปลตรงตัวว่า การแนะนำตัวในลิฟต์เสมอไป แต่จะทำอย่างไรให้เวลาสั้น ๆ ทรงพลังมากที่สุด
‘โช เดวาน’ (Sho Dewan) โค้ชผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพให้คำแนะนำการฝึกแนะนำตัวแบบ ‘Elevator Pitch’ ว่า ควรเป็นประโยคสั้น ๆ ขมวดจบได้ภายใน 30-60 วินาที หรือไม่เกิน 75 คำ เป็นบทสรุปที่กระชับแต่ทรงพลัง ช่วยกระตุ้นความสนใจให้กับสิ่งที่ต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียหรือโปรดักต์ที่กำลังทำอยู่ก็ตาม โดย ‘เดวาน’ มีเทคนิคสั้น ๆ 5 ข้อ มาให้ลองทำตามกัน จะเป็นอะไรบ้าง ‘CREATIVE TALK’ สรุปมาให้อ่านกันแล้วตามนี้เลย
😎 เริ่มด้วยการแนะนำตัวให้ชัดเจน
เป็นเรื่องปกติที่จะเริ่มด้วยการแนะนำชื่อ ตำแหน่งปัจจุบัน และประวัติส่วนตัวสั้น ๆ เป็นอันดับแรก แต่ขอให้ลองบิดวิธีการสักหน่อย หากต้องการให้การแนะนำตัวครั้งนี้น่าสนใจมากขึ้น แทนที่จะจั่วหัวด้วยรูปแบบเดิม ๆ ‘เดวาน’ แนะนำว่า ให้เริ่มต้นด้วยสิ่งที่คุณกำลังทำเพื่อดึงความสนใจจากอีกฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น “สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จัก ตอนนี้ผมกำลังสร้างแปรงสีฟันแฮนด์ฟรีแบรนด์แรกของโลก ผมชื่อโช เป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Flybrush ครับ”
ไม่ว่าโปรดักต์ที่กำลังก่อร่างอยู่จะฟังดูเข้าใจยากแค่ไหน นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่มากไปกว่านั้นคือภาษากายที่ทรงพลัง จังหวะหนักเบาในการพูด พลังงานที่ส่งผ่านจากเสียงและท่าทาง เวลาทักทายอย่าลืมสบตาผู้พูดด้วยรอยยิ้มเสมอ
😎 เล่าพื้นเพของตัวเองให้กระชับที่สุด
สรุปปูมหลังของตนเองแบบชัด ๆ สั้น ๆ หากมากเกินไปจนกลายเป็นการอวดความสำเร็จในอดีตจะทำให้มู้ดแอนด์โทนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออก เช่น ประวัติการศึกษา หรือทักษะเฉพาะทาง เคล็ดลับคือให้ลองนึกถึงสิ่งที่คุณต้องการให้อีกฝ่ายจดจำเกี่ยวกับตัวคุณมากที่สุด เน้นย้ำจุดนั้นชัดๆ เพื่อชูเป็นจุดแข็ง
😎 เน้นไปที่เป้าหมาย แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดเยอะเกินไป
หลังจากนั้นให้มุ่งเป้าไปที่วัตถุประสงค์ในการพูดคุย และวิธีการที่ทั้งคุณและอีกฝ่ายช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกันได้ ยังไม่ต้องลงรายละเอียดในส่วนของเป้าหมายมากเกินไป แต่ให้กระชับด้วยประโยคสั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น “ผมตั้งใจจะขยายเครือข่ายในอุตสาหกรรมที่กำลังทำอยู่” หรือ “ผมต้องการจะสำรวจโอกาสในการระดมทุนธุรกิจสตาร์ทอัพ” วิธีการนี้จะทำให้การนำเสนอของคุณฟังดูสมเหตุสมผลมากขึ้น
หรือถ้าคุณเคยติดตามการทำงานของอีกฝ่ายมาก่อนหน้านี้ ลงรายละเอียดสักเล็กน้อยด้วยการพูดถึงการทำงานของเขาดู เช่น ก่อนหน้านี้คุณเห็นว่า ทีมของเขามีความเชี่ยวชาญในการทำการตลาดในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลหลักที่คุณมีความสนใจอยากร่วมงานด้วย
😎 สรุปปิดท้ายด้วย Call to action
ปิดจบด้วยวลีเด็ดที่ช่วยกระตุ้นความสนใจ หรือทิ้งท้ายด้วยคำถามที่ชวนให้ผู้ฟังกลับไปคิดต่อ อาทิ ชวนให้เข้ามาดูเว็บไซต์หน้าบ้านของคุณ หรือทิ้งนามบัตรเพื่อให้อีกฝ่ายติดต่อกลับมาได้ทุกเมื่อ หรือหากต้องการแสดงให้เห็นว่า คุณสนใจในตัวอีกฝ่ายจริงๆ ลองหาวิธีในการประสาน-ติดตามผลในภายหลัง ที่สำคัญ คำนึงถึงเวลาที่เขาใช้ไปจากการฟังคุณพิชชิ่งครั้งนี้ด้วย แสดงท่าทีขอบคุณสำหรับเวลาและการเอาใจใส่ต่อสิ่งที่คุณพูดก่อนจากลา
😎 ถ้ายังทำไม่เป็น จงฝึกให้เยอะๆ เข้าไว้
ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่แรก หากยังแนะนำตัวด้วยเทคนิค ‘Elevator Pitch’ ไม่คล่องแคล่ว ไม่ต้องกดดันตัวเองจนเกินไป ฝึกฝนให้มากขึ้น ลองเขียนออกมาเป็นโน้ตคร่าวๆ แล้วอ่านออกเสียงตามดู หากใช้เวลานานเกินกว่า 60 วินาที อาจทำให้อีกฝ่ายเบื่อหรือเปลี่ยนจากผู้ฟังเป็น ‘ผู้นำ’ ในบทสนทนานี้แทนคุณ ฉะนั้น ลองตัดรายละเอียดที่ไม่จำเป็นดูอีกครั้ง จำไว้ว่า การนำเสนอที่กระชับสำคัญมากสำหรับเทคนิคนี้ ไม่ต้องเสียดายรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ สั้น กระชับ ได้ใจความ คือหัวใจสำคัญที่สุด
แปล เรียบเรียง: กองบรรณาธิการ CREATIVE TALK
ที่มา