เราไม่เคยจ้างคนทำงานแค่สำหรับวันนี้ แต่ Microsoft อยากจ้างคนทำงานเพื่อวันนี้และอนาคตด้วย
โลกในปี 2025 มันคือ ‘Diverse’ มนุษย์เรามีความหลากหลายมากขึ้น อย่างการรับคนเข้าทำงานในองค์กร Microsoft Thailand ใคร ๆ ก็สามารถมาทำงานที่ Microsoft Thailand ได้ ไม่ว่าคุณจะเพศอะไร ไม่ว่าคุณจะจบอะไรมา ไม่ว่าคุณจะผ่านมากี่งาน เราเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม ขอแค่คุณมี Qualification ที่ตรง และที่สำคัญ คุณต้องเป็นคนที่มองวันนี้ และมองถึงอนาคต
มีหลากหลายเรื่องราวที่ CREATIVE TALK ตั้งใจนำเสนอผ่านมุมมองผู้บริหารยุคใหม่ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือที่ทุกคนจะได้รู้จักกันในนาม ‘คุณเต้ย’
Microsoft คือบริษัทที่เชื่อว่าทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี และที่สำคัญบริษัทแห่งนี้ให้ความสำคัญกับ เรื่องของ คนทำงาน, Culture แห่งการเรียนรู้ และการอยู่อาศัย
บทความนี้จะลงลึกถึง 4 วิธีคิดในแต่ละมิติของบริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft Thailand ที่จะช่วยตกตะกอนทางความคิดของทุกคน ในการนำไปปรับใช้กับงาน และการทำธุรกิจ ผ่านมุมมองจากประสบการณ์จริงของ คุณเต้ย แม่ทัพใหญ่ จาก Microsoft Thailand
-
Recruitment Thinking - เราไม่ได้ต้องการคนทำงานที่เหมือน ๆ กันทั้งหมด แต่คนทำงานยุคใหม่ ต้องเข้ามาเพื่อเป็น Culture add หรือการเติมเต็มในสิ่งที่องค์กรยังไม่มี เพื่อให้องค์กรเกิดความหลากหลาย และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในการขับเคลื่อนไปด้วยกัน
-
Culture Thinking - อย่าสร้างองค์กรด้วยความชอบ แต่จงสร้างองค์กรด้วย ‘ข้อมูลที่ดี และอ้างอิงได้จริง’
-
Mindset Thinking - มี Tools ที่ดีแต่ไม่มีคนใช้ได้จริง ก็ไม่มีประโยชน์ ในวันนี้ใครที่ยังไม่เริ่มใช้ AI และองค์กรไหนยังไม่เริ่ม Adoption คุณจะเสียประโยชน์อย่างมหาศาล
-
AI Thinking - ไม่ใช่คนใช้ AI เป็นจะได้เปรียบ แต่คนที่มีจินตนาการ และใช้ AI ได้อย่างชำนาญจะได้เปรียบ! วันนี้เรา Create AI Agent เป็นแล้วหรือยัง ?
1. เราไม่ได้ต้องคนทำงานที่เหมือน ๆ กันทั้งหมด แต่คนทำงานยุคใหม่ ต้องเข้ามาเพื่อเป็น Culture add ให้กับองค์กรด้วย
จากการพูดคุยกับคุณเต้ย แม่ทัพใหญ่ จาก Microsoft Thailand สิ่งหนึ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ “การให้ความสำคัญกับบุคลากร และวัฒนธรรมองค์กร” อย่างการเปิดรับคนแต่ละครั้ง Microsoft Thailand ไม่เคยมีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องจบมาจากไหน อย่างในปัจจุบัน Microsoft Thailand ก็มีคนทำงานตั้งแต่นักศึกษาจบใหม่ ไปจนถึงคนอายุ 45 ก็มี ไม่ว่าคุณจะ Generation ไหน หรือเพศไหน หรือจบมาจากไหน ทุกคนเท่าเทียมกันทั้งหมดถ้าคุณมีหัวใจที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ และพร้อมจะปรับใช้มันได้อยู่ตลอดเวลา
คุณเต้ยเล่าต่ออีกมุมมองที่น่าสนใจคือ การจะรับคนมาทำงานหน้าที่ของพี่คือการดูเรื่องของ Mission & Mindset ดังนั้นจะมีทีมอีกมากที่จะเข้าไปคัดเพื่อเป็นเกณฑ์ที่ชัดเจนในการตัดสินใจ ตั้งแต่ทักษะความสามารถ ไปจนถึง Mindset ตัวอย่างเช่น
- ดู aspiration หรือเขาอิน มีความทะเยอทะยานไปกับเป้าหมายขององค์กรไหม
- เขาเป็นคนที่มี Mindset แบบไหน
- เขาสามารถมี Growth Mindset ที่กำลัง Implement ในองค์กรได้หรือไม่
- แล้วเขาสามารถเข้ากับวัฒนธรรมในองค์ได้หรือไม่
- และที่สำคัญมันจะไม่ใช่แค่ Culture fit แต่จะเป็น Culture add ได้อย่างไร
การรับคนที่เหมือน ๆ กันเข้ามา ไม่ได้ตอบโจทย์กับองค์กรเรา แต่เราต้องการคนทำงาน ที่จะเข้ามาเติมเต็มเพิ่มมิติใหม่ ๆ ให้กับองค์กร ซึ่งนี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งในการคัดสรรเท่านั้นในการ Interview คนทำงานขององค์กรระดับโลกอย่าง Microsoft Thailand
2. อย่าสร้างองค์กรด้วยความชอบ แต่จงสร้างองค์กรด้วย ‘ข้อมูลที่ดี และอ้างอิงได้จริง’
คุณเต้ย แม่ทัพใหญ่ จาก Microsoft Thailand ย้ำอยู่เสมอว่า ข้อมูลไม่เคยหลอกเรา ความชอบของ ‘คนในองค์กร’ มีความหลากหลาย เราต่างก็มีสิ่งที่ชอบ สิ่งที่ไม่ชอบแตกต่างกัน
ข้อมูลที่ดี จะช่วยจำกัดให้เรื่องส่วนตัวของส่วนรวมน้อยลง
Microsoft Thailand มีการเก็บข้อมูลจริงในการใช้ห้องประชุมต่าง ๆ ในองค์กร รวมไปถึงการเข้าออฟฟิศของคนในองค์กรมีมากน้อยแค่ไหน หรือส่วนไหนของออฟฟิศที่คนทำงานได้ใช้ประโยชน์สูงสุด ซึ่ง Data พวกนี้มันไม่เคยหลอกเรา และที่สำคัญเราไม่ได้เก็บ Data แค่เดือนเดียว แต่เก็บย้อนหลังไป 3 ปี จึงเป็นที่มาว่าทำไมข้อมูลถึงสำคัญ เพราะข้อมูลจะทำให้เรื่องที่เป็นความชอบ หรือความคิดเห็นส่วนตัวน้อยลง
ออกแบบองค์กร โดยไม่ได้เริ่มจากดีไซน์ก่อน แต่เรานิยามให้ธีมก่อน
สำหรับเป้าหมาย Microsoft Mission ในประเทศไทย หนึ่งในธีมสำคัญในปีนี้คือคำว่า ‘Tech + Thai’ โดยเริ่มนำ Principle หลักขององค์กร หรือหัวใจสำคัญของการสร้างวัฒนธรรม ซึ่ง Microsoft Thailand ให้ความสำคัญกับ Wellness, Inclusivity, Modern Workplace และ Sustainability
พอเรามีหลัก มีธีมที่แข็งแรง เวลาเราดีไซน์ไม่ว่าจะลงรายละเอียดอะไรก็แล้วแต่ เราจะเริ่มตั้งคำถามเสมอว่า ในแต่ละจุดการออกแบบ มันส่งเสริมกับ 4 เรื่องนั้นไหม หลังจากที่ออกแบบเสร็จเราก็ไม่ได้จบแค่นั้น แต่เราจะต้องแชร์ให้กับคนในองค์กรได้รับรู้ถึงวิธีคิดการออกแบบ มีการโหวตเพื่อความแฟร์ของทุกคน อย่างการตั้งชื่อห้องประชุมเอง
พนักงาน Microsoft Thailand เองก็สนุกกันมาก เพราะทุกคนอินร่วมกัน ตั้งชื่อห้องประชุมเป็นทั้งชื่ออาหาร เช่น Khao-soi Meeting Room, Khao-Yum Meeting Room, Tom Yum Meeting Room เป็นต้น โดยเน้นเรื่องของ Inclusivity เราต้องการอาหารทุกภาคนะ เพราะนี่คือแก่นของความหลากหลายอย่างเป็นธรรม
ดังนั้นคีย์สำคัญของทั้งการสร้างองค์กรให้น่าอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การอยากทำ แต่ต้องเริ่มจากเข้าใจ มีการเก็บข้อมูลที่ดี เพื่อหยิบนำมาใช้ได้อย่างถูกจุด รวมถึงการมี Principle ที่ถูกต้องและเกิดการเห็นด้วยร่วมกัน แล้วพอถึงขั้นตอนลงรายละเอียด การให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะโหวต หรือเก็บ Feedback มาปรับปรุงจริง ๆ พอมันเป็นแบบนี้ ทุกคนในองค์กรก็จะยอมรับร่วมกันได้จริง
3. มี Tools ที่ดีแต่ไม่มีคนใช้ได้จริง ก็ไม่มีประโยชน์ ในวันนี้ใครที่ยังไม่เริ่มใช้ AI และองค์กรไหนยังไม่เริ่ม Adoption คุณจะเสียประโยชน์อย่างมหาศาล
ในวันนี้เราเริ่มเห็นประโยชน์อย่างชัดเจนในเรื่องของ AI หากองค์กรของเราไม่โฟกัส ให้เกิด Adoption ได้จริงมันจะเกิดความเสี่ยงอย่างแน่นอน เพราะการที่เรามัวแต่ลังเลในการใช้ AI หรือ Experiment ทดลองไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้นำมาประยุกต์ใช้จริง ให้เกิด ROI (Return on investment) ที่ดี ให้เกิด Customer Impact ที่ดี อันนี้จะเสียประโยชน์อย่างมหาศาล
คุณเต้ยยังเน้นย้ำต่อว่า เวลาเราพูดถึง Adoption มันไม่ใช่แค่เรื่องของเทคนิคอย่างเดียว เพราะถ้าคนทำงานไม่สามารถทำงานร่วมกับ AI ได้หรือใช้ประโยชน์กับ AI ไม่ได้ มันก็ไม่มีประโยชน์ มี Tools แต่ไม่มีคนใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์อยู่ดี ดังนั้นมันก็จะกลับมาเรื่องของ Reskill & Upskill
เราจะทำอย่างไรให้คนทำงานของเรามีทักษะในการใช้ AI ไม่ใช่แค่ใช้เป็น!
- แต่ต้องใช้เพื่อสร้างประโยชน์ แก้โจทย์ แก้ปัญหา ได้อย่างดีที่สุด
- ใช้เพื่อสร้างอะไรใหม่ ๆ ‘Create New Think’ สร้าง Creativity ได้ดีขึ้น
อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กับการ Reskill & Upskill คือถ้าคนทำงานยังมี Fixed Mindset หรือคนที่ยึดติด อยู่ในกรอบเดิม ๆ อันนี้น่าเป็นห่วง คุณเต้ยได้คาดการณ์ถึงการเปลี่ยนในครั้งนี้ของเทคโนโลยีไว้ว่า
“AI จะไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนเพียงแค่พฤติกรรม แต่มันจะเข้ามาลึกถึงการเปลี่ยน Mindset”
นี่คือหนึ่งในชาเลนจ์สำคัญขององค์กร ในการจะสร้าง Growth Mindset หรือ Open Mindset ให้กับคนทำงาน เพราะนี่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากกว่าครึ่งได้เลย
อีกส่วนที่สำคัญมาก ๆ คือ Adoption จะไม่เกิด ถ้า Leader ไม่ตัดสินใจ
Leader หรือผู้นำองค์กรต้องกล้าเคาะ กล้าตัดสินใจ และให้ Tools กับคนทำงาน เพราะถ้าในวันนี้อยากสนับสนุนองค์กรให้ใช้ AI แต่ไม่ได้มอบ Tools ให้คนในองค์กรมันก็ไม่ใช่ แล้วทุกคนในองค์กรก็จะไปสมัคร Tools กันเองที่เป็นเวอร์ชัน public ซึ่งสิ่งนี้อันตรายมาก เพราะข้อมูลขององค์กรเราอาจจะรั่วไหลไปข้างนอกได้
ดังนั้น คำว่า ‘Adoption’ จะเกิดขึ้นได้จริง “Leader มีส่วนสำคัญ คุณต้องมี Leadership” ต้องกล้าที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ในการใช้ AI จริง! ทำจริง และมีการนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันก็ต้อง provide resource เช่น Budget, Tools และทักษะการใช้ AI
4. ไม่ใช่คนใช้ AI เป็นจะได้เปรียบ แต่คนที่มีจินตนาการ และใช้ AI ได้อย่างชำนาญจะได้เปรียบ! วันนี้เรา Create AI Agents เป็นแล้วหรือยัง ?
ตัวอย่างเรื่องของ Agentic AI มันหลากหลายมหาศาลมาก หนึ่งในตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดและทุกคนใช้ได้คือ Microsoft 365 - Copilot ซึ่งในนั้นจะมี Tools ที่เราสามารถสร้าง AI Agents ขึ้นมาได้ ดังนั้นเราจึงสามารถใส่ข้อมูลเข้าไปใน Share Point ได้ แล้วจากนั้นก็ให้ Copilot สรุปข้อมูลมาให้เรา หรือเราจะใช้ Share Point เป็น
knowledge base ในการที่จะให้ทุกคนในองค์กรเข้าถึงได้ ด้วยการเริ่มต้นจากการใช้เอง
ในวันนี้เทคโนโลยีมัน Advance ขึ้นแล้ว ซึ่งมันเป็น No code / low code เราไม่ต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมก็สามารถใช้ AI ได้ แต่ทางด้าน High-code มันก็จะมา Unlock ในอีกหลายเรื่องเช่นกัน อย่างเช่น Multimodal ซึ่งหนึ่งในเคสที่ทำได้จริงแล้วคือ
-
‘Optimistic HR’ สัมภาษณ์งานผ่าน Video Call แล้วให้ AI สัมภาษณ์ ซึ่งเราสามารถทำให้ทั้งรูปและเสียง ออกมาเป็น Text แล้วนำมาสรุปให้กับคน ซึ่งมันจะช่วยได้ดีในการไม่ต้องให้ HR เข้าไปสัมภาษณ์ในรอบแรก และ AI ช่วยสกรีนให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยให้คน หรือ HR ไปสัมภาษณ์ต่อในรอบที่สอง ซึ่งจะช่วยสร้าง Productivity อย่างมหาศาล และไม่ใช่แค่นั้น AI Agents ยังสามารถหา Job ให้ผู้สมัครได้อีก ถ้าเกิดผู้สมัครมีคุณสมบัติแบบนี้ ประสบการณ์แบบนี้ ความชอบแบบนี้ คุณน่าจะเหมาะกับ Job ไหน
-
เราสามารถครีเอต AI Agents สรุปข้อมูลทั้งภายในองค์กร หรือในอีเมลของเรา หรือแม้กระทั่งสรุปข่าวต่าง ๆ จากด้านภายนอก เพื่อเตรียมให้ manager ก่อนจะไปเจอลูกค้ามีข้อมูลอย่างเพียบพร้อม ดังนั้นเขาไม่ต้องใช้เวลาเยอะเลย และเวลาคุยกับลูกค้าก็จะเชื่อมโยงกันง่ายขึ้น เพราะ manager คนนี้รู้ว่ามีข่าวอะไรบ้าง มีข้อมูลที่ตรงใจกันมากขึ้น เกิด relationship ที่ดีต่อกัน
ในวันนี้คนที่ใช้ AI ได้อย่างชาญฉลาด จำเป็นต้องมี จินตนาการอย่างมาก เพราะการจะ Create AI Agents ไปใช้ทำอะไร หรือจะทำยังไงให้สามารถเบรกงานของเรา หากวันนึงเรามีงาน 50 task เราสามารถให้ AI ช่วยงานเราตรงไหนได้บ้างใน 50 task นี้
“เพราะ AI ไม่ใช่แค่มาช่วยทำงานเรา แต่ยังช่วยให้เรามีเวลาที่เหลือไปสร้าง Value ใหม่ ๆ และช่วยเราเรื่อง Well Being ได้ แทนที่เราจะหมดแรง ไม่อยากตื่น แต่เราลดเวลางานบางส่วนด้วย AI เพื่อเติมพลังงานที่สดใส และเป็นบวกได้ในทุกวัน”
มันถึงเวลาแล้วจริง ๆ ที่เราจะต้อง ‘Behavior Change’
วันนี้เราคิดถึงอะไรก็ตาม เรานึกถึง AI แล้วหรือยัง ถ้าเรายังอยู่ในกับดักเดิม เราจะไม่กล้าเปลี่ยน
การจะเปลี่ยนพฤติกรรมเดิม หรือ Behavior Change ในการใช้ AI สิ่งสำคัญคือ
- ในวันนี้มือถือคุณ คอมพิวเตอร์คุณ มีแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับ AI แล้วหรือยัง ?
- วันนี้ หากเรามีคำถาม เราคุยกับ AI แล้วหรือยัง ?
- หากเราต้องแก้ปัญหา เราลองให้ AI ช่วยแล้วหรือยัง ?
- และหากเราอยากได้คำปรึกษา เคยได้ลองปรึกษา AI แล้วหรือยัง ?
จุดเริ่มต้นง่าย ๆ ของการเปลี่ยนแปลง คือการยอมรับสิ่งใหม่ แล้วเริ่มทันที หนึ่งในความสำเร็จของบริษัทระดับโลกอย่าง Microsoft ซึ่งคุณเต้ย ได้ฝากไว้ของคุณ Satya Nadella CEO of Microsoft เคยพูดไว้ว่า
Culture เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะ ‘Success ของ Microsoft เกิดขึ้นได้ด้วย Culture’ เพราะถ้าเราไม่ได้ Appreciate หรือรู้สึกจากใจจริงถึงความแตกต่าง เราอาจจะพลาดไอเดียดี ๆ แทนที่จะได้ทำมันจากใจจริง
ซึ่งสิ่งนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจจากคุณ Satya Nadella ที่กล่าวไว้ว่า “Learn it all, for all จงเรียนรู้ในทุก ๆ สิ่ง” ซึ่งมันมีความสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ การที่ Microsoft ให้ความสำคัญกับ Culture ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี ให้ความสำคัญกับความรู้ มันไม่ได้มีเพื่อให้ดูเท่ แต่มีไว้เพื่อซัพพอร์ตลูกค้าของเรา ซัพพอร์ตผู้บริโภคของเรา
เพราะการจะซัพพอร์ตลูกค้า และผู้บริโภคของเราได้จริง แก่นแท้ของคนทำงานเราคือ การมี Empathy ยิ่งเราเข้าอกเข้าใจลูกค้าในบางสถานการณ์ เอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วประเมินจากมุมมองที่แตกต่าง ในความยากลำบากนั้นของลูกค้ามักมีโอกาสที่ซ่อนอยู่ เพราะสิ่งเหล่านั้นแหละ มันจะเข้ามาขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับ Microsoft อย่างแท้จริง!
สัมภาษณ์, เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ