Non-Verbal สื่อสารไร้เสียง ข่าวดีสำหรับคนพูดน้อย

Last updated on เม.ย. 23, 2020

Posted on มิ.ย. 11, 2019

ในหัวข้อของ Non-Verbal หรือ อวัจนภาษา เราขอยกตัวอย่างหนึ่งใน Speaker ของงาน RISE ที่น่าสนใจท่านหนึ่งคือ เสี่ยวเย่ (Xiaoye) บล็อกเกอร์ชาวจีนที่โด่งดังจากการทำคลิป ที่เชื่อว่าคุณต้องเคยได้ดูคลิปของเธออย่างน้อย 1 คลิป

เสี่ยวเย่ (Xiaoye) อวัจนะภาษา

หากคุณรู้สึกว่าชื่อนี้ไม่คุ้นหู เธอคือ Ms. Yeah สาวออฟฟิศที่มักจะโผล่มาพร้อมกับการทำอาหารในที่ทำงานด้วยวิธีการแปลก ๆ จากอุปกรณ์ที่หาได้ในที่ทำงาน ทั้งทำซาลาเปา เกี๊ยวซ่า ไก่ย่าง ไปจนถึงเค้ก ซึ่งความน่าสนใจที่ Ms. Yeah ได้พูดในงาน RISE คือ สิ่งที่ทำให้วิดีโอของเธอกลายเป็นไวรัลและโด่งดังไปทั่วโลกนั้นคือ การที่เธอสื่อสารโดยใช้ Universal Language หรือสิ่งที่คนทั้งโลกเข้าใจตรงกัน ชอบเหมือน ๆ กัน อย่างแรกเลยเธอใช้การทำอาหารในการสื่อสาร แล้วใครบ้างหละไม่ชอบอาหาร จริงมั้ย?

Nonverbal Communication คืออะไร

Nonverbal Communication หรือ Non-Verbal Language คือ อวัจนะภาษา เป็นการใช้ภาษากายในการสื่อสาร จะเห็นว่าตลอดทั้งคลิปของ Ms. Yeah จะไม่มีการพูดเลย ตั้งแต่การไปซื้อของ ทำอาหาร ไปจนถึงการแบ่งอาหารให้กับเพื่อนเธอก็ทำแค่ยื่นให้กับทุกคน นับว่าสิ่งที่ Ms.Yeah มาใช้ในการทำวิดีโอของเธอนั้นน่าทึ่ง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย หากเราลองนึกดูดี ๆ แล้วในอดีตมีสื่อบันเทิงมากมายที่ประกอบขึ้นจากการนำ Universal language มารวมกัน

ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) อวัจนะภาษา

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1914 ชาร์ลี แชปลิน (Charlie Chaplin) หนึ่งในดาราตลกผู้โด่งดังที่สร้างเสียงหัวเราะให้ผู้ชมผ่านการแสดงไร้เสียงของเขา หรือตลกแดนอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Mr.Bean ซิทคอมที่ไม่มีบทพูดเลยตลอดทั้งเรื่อง แต่ด้วยลักษณะท่าทางหรือสิ่งที่ตัวละครสร้างขึ้น ก็สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนทั่วโลก ทั้งสองเรื่องสร้างขึ้นจากส่วนผสมเดียวกัน นั่นคือ ความตลก ที่คนทั่วโลกชื่นชอบ และอวัจนภาษาที่คนทั้งโลกสามารถเข้าใจได้ตรงกัน

ขยับมาดูฝั่งการ์ตูนกันบ้าง ภาพยนตร์การ์ตูนรักโรแมนติกระหว่างหนุ่มหุ่นยนต์เก่า ๆ และหุ่นยนต์สาวทันสมัยอย่าง Wall-E (วอลล์-อี) ที่ตลอดทั้งเรื่องมีแค่ 2 คำเท่านั้น คือ “วอลล์-อี” และ “อีวา” หากดูจนถึงช่วง End Credit  เราจะพบว่าจริง ๆ แล้วทางทีมงานให้ความสำคัญกับการพากย์มาก

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้ Key Takeaway ว่าจริง ๆ แล้วแม้ว่าเราอาจจะเป็นคนพูดเก่ง พูดโน้มน้าวใจได้ดี หรือพูดได้หลายภาษา แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทำให้เราสื่อสารข้อความหรือความคิดของเราได้ดีที่สุด อาจเป็นการสื่อสารแบบไร้ภาษาหรือ อวัจนภาษา

ในชีวิตประจำวันมีการสื่อสารด้วยอวัจนภาษากว่า 65% ซึ่งก่อให้เกิดความประทับใจแรก (First Impression) ที่เกิดขึ้นเร็วมากในระยะเวลาเสี้ยววินาที หรือ 1/10 วินาที (0.1 วินาที) สำคัญขนาดนี้ เราไปดูกันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง

1. น้ำเสียง พูดด้วยเสียงสุภาพนุ่มนวล หรือตะคอก ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน

2. ท่าทาง การใช้นิ้วชี้เพื่อบอกเส้นทาง

3. การแต่งกายและบุคลิก เราอาจจะยังไม่ทันได้พูด แต่คู่สนทนาตัดสินไปแล้วว่าเราน่าพูดคุยด้วยหรือไม่ จากการแต่งกาย ทรงผม บุคลิกต่าง ๆ

4. วัฒนธรรม ในบางครั้งเราสื่อสาร Non-Verbal ที่เราคิดว่าเรารู้ตัวว่าทำอะไร สามารถเกิดความผิดพลาดโดยไม่รู้หรือไม่ได้ตั้งใจได้ เนื่องจากในแต่ละประเทศอาจมี non verbal ที่แตกต่างกัน เช่น การส่ายศีรษะของคนไทยคือการปฏิเสธ แต่สำหรับคนอินเดียหรือคนศรีลังกาคือการตอบตกลง หรือการยกน้ำซุปดื่มจากชาม คนญี่ปุ่นหรือคนจีนจะซดดัง ๆ เพราะมันแปลว่าอร่อย แต่ถ้าคนไทยซดดังจะโดนว่าไม่มีมารยาท หรือจะเป็นการโดนตัวกันในสังคมไทย ถือเป็นการล่วงล้ำความเป็นส่วนตัว แต่ต่างชาติ การจับมือแน่น ๆ เป็นเรื่องธรรมดา ยิ่งแน่นยิ่งดี

Peter Drucker ได้กล่าวไว้ว่า “The most important thing in communication is to hear what isn’t being said” หรือการสื่อสารที่ดีที่สุด คือการรับรู้ได้จากการสื่อสารที่ไม่ได้ถูกเอ่ยออกมา

อย่างไรก็ตาม ความน่ากลัวของ Non-Verbal คือ หลายครั้งเราเผลอสื่อสารแบบ Non-Verbal ออกไปโดยไม่รู้ตัวและทำให้คนอื่นเข้าใจผิด เช่น บางครั้งเราอาจจะเผลอขมวดคิ้ว ทำให้เราดูเหมือนเครียด ทั้ง ๆ ที่เราตั้งใจ บางครั้งเราต้องพูดกำกับไปว่าจริง ๆ เราแค่ตั้งใจนะไม่ได้เครียด หรือการถอนหายใจ ที่เราไม่ได้ยิน ไม่ได้สังเกตตัวเอง แต่เพื่อนได้ยิน และตีความว่าเราเครียด ไม่พอใจ หนึ่งในอาจารย์วิชา Psychology 101 บอกว่าหนึ่งในวิธีสังเกตมนุษย์ ว่ารู้สึกปิดกั้นสิ่งที่กำลังฟังอยู่มั้ย คือ การสังเกตว่าเขาเผลอกอดอกเวลานั่งฟังหรือคุยอยู่หรือเปล่า

ถอดความจาก: Morning Call Podcast โดยคุณเก่ง สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม

บทความแนะนำ

trending trending sports recipe

Share on

Tags