นั่งทำงานอย่างไร ไม่ให้ออฟฟิศซินโดรม

Last updated on พ.ค. 9, 2023

Posted on ก.พ. 28, 2022

เราใช้เวลากว่า 1 ใน 3 ของชีวิตไปกับการทำงาน และอาจเพิ่มมากกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ หากวิทยาการก้าวไกลจนทำให้อายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

นั่นแปลว่าเวลาการทำงานก็ยาวนานขึ้นตามไปด้วย  ส่งผลให้เกิดการนั่งติดโต๊ะนานกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และนั่นเป็นสาเหตุหลักของ “ออฟฟิศซินโดรม” อาการยอดฮิตของคนทำงาน  หากเกิดอาการนี้ขึ้นแล้ว ก็คงทำได้เพียงทำกายภาพหรือทานยา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  แต่จะดีกว่าไหมถ้าป้องกันได้ เราจึงมี 5 เทคนิคมาฝากกัน

  1. ปรับเก้าอี้นั่ง โต๊ะทำงานโดยปกติสูง 29 – 30 นิ้ว ดังนั้น ปรับเก้าอี้ให้ได้ระดับการนั่งที่พอดี โดยให้ข้อศอกของคุณตั้งฉากกับโต๊ะทำงาน สำหรับคนตัวเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง เมื่อปรับเก้าอี้แล้ว หากขาลอยจากพื้น ให้หาฐานรองเท้า จะใช้เป็นอะไรก็ได้ที่ทำให้เท้าคุณวางได้ใม่เมื่อย
  2. ปรับหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอมอนิเตอร์ หรือแล็ปท็อป โดยระยะเหมาะสม คือ หน้าจอจะต้องห่างจากสายตาประมาณ 1 ช่วงแขน ระยะความสูงของหน้าจอควรอยู่ระดับเดียวกับสายตา การจัดระยะที่เหมาะสมนี้จะช่วยให้สายตาไม่เมื่อยล้าจากการเพ่งจอมากเกินไป สำหรับคนที่ใช้สองหน้าจอ สามารถปรับได้สองแบบ คือ แบบที่ใช้หน้าจอเดียวเป็นหลัก ให้ใช้หน้าจอหลักตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนหน้าจอเสริมอยู่เฉียงด้านข้าง สำหรับแบบที่ใช้ทั้งสองหน้าจอเท่าๆ กัน ให้หันหน้าจอทั้งสองจอเฉียงเข้าหากันทำเป็นมุมตรงกลาง ทำให้คุณสามารถมองทั้งสองจอได้โดยไม่ต้องหันบ่อย ส่วนคนใช้แล็ปท็อป แนะนำให้หาแท่นวางสำหรับแล็ปท็อปโดยเฉพาะ จากนั้นใช้เป็นคีย์บอร์ด และเมาส์แยกต่างหาก
  3. จัดตำแหน่งคีย์บอร์ดและเมาส์ เลื่อนคีย์บอร์ดให้มาอยู่ใกล้ตัวคุณ หรือเกือบชิดขอบโต๊ะ และวางเมาส์ข้างๆ คีย์บอร์ด ไม่ให้คุณต้องเอื้อมมือลากเมาส์ไกลจนทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องใช้เป็นประจำ ก็ควรอยู่ในระยะเอื้อมหยิบได้ง่ายเช่นกัน
  4. จัดมุมวางโทรศัพท์ ถ้าใช้โทรศัพท์บ่อยจริงๆ แนะนำให้ใช้เป็น Headset จะดีกว่า
  5. ขยับเขยื้อนบ้าง
    • ท่าแรก ให้เก็บคาง (บริหารต้นคอ)
    • ท่าที่สอง ให้เอียงคอไปข้างๆ (ซ้ายและขวา) จากนั้นใช้มือข้างเดียวกันกดจนรู้สึกตึง (บริหารต้นคอ)
    • ท่าที่สาม นั่งหลังตรงแล้วยืดไหล่ไปด้านหลัง (บริหารไหล่)
    • ท่าที่สี่ นั่งหลังตรงดันเอวเข้ามาข้างหน้า (บริหารหลังด้านล่าง)
    • สำคัญที่สุด คือ พยายามลุกจากที่นั่งทุกๆ ชั่วโมง ไปเข้าห้องน้ำ หาน้ำดื่ม ทำอะไรก็ได้ ขอแค่ได้ลุกทุกชั่วโมงและขยับบ้าง

การทำงานอาจเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่คุณก็ไม่ควรมุ่งมั่นกับการทำงานจนไม่สนใจดูแลสุขภาพ และปล่อยให้สายเกินแก้ สำหรับใครที่ต้องทำงานนั่งโต๊ะเป็นประจำ ลองนำเทคนิคทั้ง 5 ไปปรับใช้ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในการทำงาน เพราะท้ายที่สุด สมรรถนะในการทำงานจะก้าวหน้าได้  ต้องอาศัยกายที่พร้อม และส่งผลให้ใจพร้อมในการลุยงานอย่างมีความสุขค่ะ

trending trending sports recipe

Share on

Tags