ทำไมการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในโลกธุรกิจถึงสำคัญ!
คงไม่มีใครคิดจะทำธุรกิจแล้วอยากชิลไปวัน ๆ หรือคงไม่มีใครอยากขาดทุนซ้ำแล้วซ้ำอีก จนท้ายที่สุดต้องปิดกิจการ เรื่องที่ผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือ ‘เรากำลังอยู่ในยุคที่มีการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงในความไม่แน่นอนสูง!’
ทุกวันนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนก็ตามการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ดังนั้นการประเมิน การวิเคราะห์ในด้านกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องสำคัญมาก ไม่ใช่แค่รู้เรื่องภายในเพียงอย่างเดียว แต่ต้องประเมินได้ว่าภายนอกบริษัทมีการเคลื่อนไหวอย่างไร แล้วเราจะเอาชนะ หรือมีชัยเหนือคู่แข่งได้อย่างไร เพื่อรักษาการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเรื่องนี้ได้ดีมีชื่อว่า ‘Porter’s Five Forces’ ถูกพัฒนาโดย คุณ Michael E. Porter ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในปี 1979 เครื่องมือนี้ถูกคิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ธุรกิจเข้าใจโครงสร้างของอุตสาหกรรม และพัฒนากลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง ด้วยการวิเคราะห์ 5 แรงกดดันทางการแข่งขันหลัก หรือพูดง่าย ๆ คือหากเรารับรู้ปัจจัยภายนอกที่จะส่งผลต่อธุรกิจของเรา เราจะสามารถรับมือและสร้างกลยุทธ์ที่เหนือกว่าได้นั่นเอง เพื่อที่ให้บริษัทสามารถค้นหาโอกาส รับมือกับความเสี่ยง และสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้
อ่านเกมล่วงหน้าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดเป็น! ด้วยเครื่องมือ Porter’s Five Forces 5 เทคนิครับความเสี่ยงเป็น เท่ากับรับโอกาสในการเติบโต!
1. การแข่งขันระหว่างคู่แข่งในตลาดด้วยกัน (Competitive Rivalry)
แรงกดดันนี้เกิดจากการแข่งขันโดยตรงระหว่างบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดและความสามารถในการทำกำไร โดยปัจจัยที่มีผลต่อระดับการแข่งขัน มีดังนี้!
จำนวนคู่แข่ง
หากมีคู่แข่งจำนวนมาก แต่ละแบรนด์ต้องแข่งขันกันที่ราคา จนเกิดสงครามราคาได้ ทำให้ส่งผลไปถึงกำไรที่ลดลง
อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม
ในตลาดที่เติบโตเร็ว คู่แข่งจะไม่แย่งชิงกันรุนแรงมากนัก เพราะมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ในตลาดที่อิ่มตัว คู่แข่งจะต้องแย่งชิงลูกค้าจากกันโดยตรง
ความแตกต่างของสินค้า
หากสินค้าคล้ายกันมาก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก, กระดาษ หรือสินค้าโภคภัณฑ์ การแข่งขันจะดุเดือด และกำไรอาจไม่แน่นอน ต่างจากสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ต้นทุนในการออกจากตลาดสูง
บางธุรกิจไม่สามารถออกจากตลาดได้ง่าย เช่น อุตสาหกรรมที่มีต้นทุนคงที่สูง ทำให้บริษัทที่ขาดทุนยังคงแข่งขันต่อไป
ธุรกิจที่เรามักจะเห็นการแข่งขันระหว่างคู่แข่งในตลาดด้วยกันเป็นอันดับต้น ๆ คือ ‘ธุรกิจอาหาร’ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง เนื่องจากมีต้นทุนเริ่มต้นต่ำ เมนูและบริการมักคล้ายกัน และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แบรนด์ต้องแข่งขันกันดึงดูดลูกค้าตลอดเวลา
การสร้างความแตกต่างจะทำให้ชนะในเกมนี้!
- McDonald's สร้างความแตกต่างผ่านเมนูพิเศษตามประเทศ (Localization Strategy) เช่น "แมคข้าวเหนียว" ในไทย หรือ "McSpaghetti" ในฟิลิปปินส์
- Apple สามารถแข่งขันในตลาดสมาร์ตโฟนที่มีการแข่งขันรุนแรงได้ เพราะใช้กลยุทธ์ Branding และ Product Differentiation อย่างชัดเจน
- Starbucks เน้น Customer Experience & Loyalty Program ไม่ใช่แค่ดื่มกาแฟแล้วจบไป แต่กลับสร้างบรรยากาศร้านและประสบการณ์การดื่มกาแฟ ที่ทำให้ Starbucks ไม่ใช่แค่ร้านกาแฟ แต่เป็นสถานที่ทำงานและพบปะสังสรรค์
2. อำนาจต่อรองของซัพพลายเออร์ (Bargaining Power of Suppliers)
แน่นอนว่าทุกธุรกิจต้องพึ่งพาอาศัยร่วมกันกับซัพพลายเออร์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ, พันธมิตรทางธุรกิจ หรือผู้จัดจำหน่าย ซึ่งซัพพลายเออร์ที่มีอำนาจต่อรองสูงสามารถทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมสูงขึ้น และส่งผลต่อกำไรของบริษัทได้ โดยวิธีที่พวกเขาใช้อำนาจต่อรอง ได้แก่
ผลกระทบจากอำนาจของซัพพลายเออร์
- จำกัดคุณภาพหรือปริมาณวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่าผู้ซื้อ
- ขึ้นราคาวัตถุดิบ โดยอ้างว่าเป็นสินค้าที่ขาดไม่ได้ หรือมีความเฉพาะตัวสูง
- ขยายธุรกิจมาสู่ปลายน้ำ (Forward Integration) เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบเริ่มผลิตสินค้าเอง แทนที่จะขายให้บริษัทอื่น
ปัจจัยที่ทำให้ซัพพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูง
การกระจุกตัวของตลาด
หากมีซัพพลายเออร์รายใหญ่น้อยราย และมีคู่แข่งน้อย พวกเขาสามารถควบคุมตลาดและกำหนดราคาได้
ต้นทุนการเปลี่ยนซัพพลายเออร์สูง
หากการเปลี่ยนซัพพลายเออร์มีความยุ่งยาก หรือมีค่าใช้จ่ายสูง บริษัทอาจถูกบังคับให้ใช้รายเดิม แม้จะไม่พอใจกับเงื่อนไข
ไม่มีตัวเลือกอื่น
หากไม่มีวัตถุดิบหรือเทคโนโลยีทดแทนได้ ซัพพลายเออร์จะมีอำนาจต่อรองสูง เช่น เทคโนโลยีที่จดสิทธิบัตร หรือแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง
หากซัพพลายเออร์มีอำนาจต่อรองสูง ธุรกิจจะเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และอาจได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบหรือสินค้า วิธีที่ธุรกิจสามารถรับมือได้ควรกลับมาคำนึงถึง 4 เรื่องนี้
-
การกระจายความเสี่ยง โดยใช้ซัพพลายเออร์หลายราย แทนที่จะพึ่งพาซัพพลายเออร์รายเดียว บริษัทควรมีซัพพลายเออร์สำรองเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกควบคุมราคา
-
ลงทุนในวัตถุดิบและการผลิตของตนเอง ตัวอย่างเช่น Tesla ลงทุนสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่เอง (Gigafactory) แทนที่จะพึ่งพาซัพพลายเออร์รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย
-
สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวที่ดีขึ้นกับผู้ผลิตวัตถุดิบ
-
เจรจาสัญญาระยะยาวเพื่อลดความผันผวนของราคา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับซัพพลายเออร์จะช่วยให้ได้ราคาที่แน่นอน และลดความเสี่ยงจากการขึ้นราคากะทันหัน
3. อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining Power of Buyers)
นอกจากซัพพลายเออร์แล้ว ลูกค้าเองก็มีอำนาจต่อรองกับธุรกิจเช่นกัน โดยสามารถกดดันให้บริษัทลดราคา, ปรับปรุงคุณภาพ, เพิ่มบริการเสริม หรือเสนอเงื่อนไขที่ดีกว่าได้ ซึ่งอำนาจต่อรองของลูกค้าจะสูงขึ้นในกรณีต่อไปนี้
ปัจจัยที่ทำให้ลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง
มีผู้ซื้อน้อยราย แต่มีอำนาจซื้อสูง
ธุรกิจแบบ B2B ที่ขายให้กับบริษัทขนาดใหญ่ มักต้องให้ส่วนลดจำนวนมากหรือสัญญาพิเศษ เช่น บริษัทที่ซื้อน้ำมันหรือวัตถุดิบเป็นจำนวนมากย่อมมีอำนาจต่อรองสูงกว่าผู้บริโภครายย่อย
เปลี่ยนไปใช้แบรนด์อื่นได้ง่าย
ถ้าลูกค้าสามารถเปลี่ยนซัพพลายเออร์ได้ง่าย โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเวลา เช่น ผู้บริโภคที่สามารถเปลี่ยนยี่ห้อแชมพูได้ทันที อาจทำให้แบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการรักษาฐานลูกค้า เป็นต้น
ลูกค้าให้ความสำคัญกับราคาเป็นหลัก
เมื่อลูกค้าซื้อสินค้าปริมาณมาก หรืออยู่ภายใต้แรงกดดันทางการเงิน พวกเขามักจะมองหาตัวเลือกที่ถูกที่สุด แทนที่จะสนใจเรื่องคุณภาพหรือฟีเจอร์เสริม
ผู้ซื้อสามารถผลิตสินค้าเองได้
ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตัวเอง (Private Label) เพื่อลดการพึ่งพาซัพพลายเออร์ และสร้างอำนาจต่อรองได้มากขึ้น
ตัวอย่างเคสจริง: Walmart และ Target
- ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น Walmart และ Target เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้ซื้อที่มีอำนาจต่อรองสูงมาก เพราะการซื้อสินค้าปริมาณมหาศาล จากบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) ทำให้สามารถต่อรองราคาต้นทุนได้ต่ำกว่าร้านค้าปลีกทั่วไป และด้วยต้นทุนที่ต่ำมาก พวกเขาสามารถขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่า และใช้กลยุทธ์ "Everyday Low Prices" ดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก ทำให้วงจรนี้ช่วยให้ Walmart และ Target สามารถแข่งขันได้ แม้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากฝั่ง E-Commerce อย่าง Amazon
โดยสรุปเมื่อผู้ซื้อ หรือลูกค้ามีอำนาจต่อรองสูง ธุรกิจต้องหากลยุทธ์ในการรักษาฐานลูกค้า ไม่ใช่แค่เรื่องราคา แต่รวมถึงการสร้างความแตกต่างที่จับต้องได้ เช่น บริการเสริม, ความสะดวกสบาย, จัดส่งเร็ว หรือการสร้างประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้ของคู่แข่ง
4. ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of Substitution)
สินค้าและบริการทุกอย่าง ล้วนมีตัวเลือกทดแทนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เหมือนกัน หรือสินค้าที่ให้ผลลัพธ์เดียวกันแต่ใช้วิธีที่ต่างออกไป สินค้าทดแทนสามารถลดกำไรของอุตสาหกรรมได้ หากพวกมันสามารถมอบมูลค่าที่ดีกว่าในด้านต่าง ๆ เช่น ราคาถูกกว่า, คุณภาพสูงกว่า หรือสะดวกสบายกว่า เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สินค้าทดแทนเป็นภัยคุกคาม
ฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกัน
สินค้าทดแทนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน 100% แต่แค่ให้ผลลัพธ์ที่คล้ายกันก็เพียงพอ เช่น คนอาจเปลี่ยนจากการดื่มน้ำอัดลมไปเป็นน้ำผลไม้ หรือจากการใช้แท็กซี่ไปเป็นการเรียก Grab เป็นต้น
ราคาถูกกว่าอย่างเห็นได้ชัด
ถ้าทางเลือกใหม่มีราคาต่ำกว่ามาก ผู้บริโภคก็พร้อมจะเปลี่ยน เช่น ปกติใช้สินค้านอกจากฝั่งยุโรป แต่วันนี้สินค้าจีนราคาถูกกว่ามาก แถมฟังก์ชันก็ไม่ต่างกัน! เป็นต้น
ให้ประโยชน์มากกว่า
สินค้าทดแทนที่ให้ประสบการณ์ที่ดีกว่า เร็วกว่า หรือใช้งานง่ายกว่ามักดึงดูดผู้บริโภคได้ เช่น กล้องถ่ายรูปแบบดิจิทัลที่เคยนิยม ถูกแทนที่ด้วยกล้องมือถือที่พกพาสะดวกกว่า เป็นต้น
ตัวเลือกที่เกิดจากเทคโนโลยีหรือกฎหมายใหม่
นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายอาจทำให้สินค้าทดแทนเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด เช่น การที่กฎหมายสนับสนุนพลังงานสะอาด ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เป็นต้น
ตัวอย่างเคสจริง: Netflix และ Spotify ปิดตำนานธุรกิจเช่าหนัง-เพลง
แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง Netflix และ Spotify เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของสินค้าทดแทนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม
-
Netflix แทนที่ร้านเช่าวิดีโอ อย่าง Blockbuster ด้วยความสะดวกสบายและราคาที่ถูกกว่า โดยผู้ใช้สามารถดูหนังและซีรีส์ได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องออกจากบ้าน
-
Spotify เข้ามาแทนที่ซีดีเพลง และการดาวน์โหลดเพลงแบบเดิม ด้วยการให้บริการสตรีมมิงที่มีเพลงจำนวนมหาศาล ในราคาสมาชิกที่เข้าถึงได้ง่าย
โดยสรุปแล้วสินค้าทดแทน คือความเสี่ยงที่ทุกธุรกิจต้องจับตา การอยู่รอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราดีกว่าคู่แข่งตรง ๆ หรือไม่ แต่ต้องดูว่ามีทางเลือกอื่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่าเราหรือไม่ การสร้างความแตกต่างและเพิ่มคุณค่าที่ชัดเจน เป็นหนึ่งในทางรอดในการทำธุรกิจ
5. ภัยคุกคามจากผู้เล่นรายใหม่ (Threat of New Entrants)
ในทุกอุตสาหกรรม ผู้เล่นรายใหม่ มักถูกดึงดูดเข้ามาในตลาดที่มีศักยภาพทำกำไรสูง ซึ่งการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่ เพิ่มปริมาณสินค้าและบริการในตลาด และ แย่งส่วนแบ่งการตลาด จากผู้เล่นเดิม ส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทที่อยู่มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมบางประเภทสามารถ ป้องกันคู่แข่งหน้าใหม่ ได้ด้วยปัจจัยต่อไปนี้
ปัจจัยที่ทำให้ผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก
ต้นทุนการผลิตและขนาดของธุรกิจ
- อุตสาหกรรมที่ต้องการ ‘ต้นทุนการผลิตต่ำ’ มักต้องอาศัยการผลิตในปริมาณมาก (Economies of Scale)
- ผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่มีสายการผลิตขนาดใหญ่ จะแข่งขันด้านราคาได้ยาก และอาจทำให้สินค้าของตนมีต้นทุนสูงกว่าผู้เล่นเดิม
ความภักดีต่อแบรนด์
แบรนด์ที่มี ชื่อเสียงแข็งแกร่ง และมีฐานลูกค้าที่ภักดี ทำให้ผู้เล่นใหม่ต้องใช้เวลานาน ในการสร้างการรับรู้และดึงดูดลูกค้า เช่น อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือที่แบรนด์อย่าง Apple และ Samsung มีฐานลูกค้าภักดี ทำให้ผู้เล่นใหม่แข่งขันยาก เป็นต้น
ต้นทุนในการเข้าสู่ตลาด
บางอุตสาหกรรมต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เช่น
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ต้องมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่
- อุตสาหกรรมยา ที่ต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา
- อุตสาหกรรมการบิน ที่ต้องซื้อเครื่องบินและจ่ายค่าบำรุงรักษา
ทำให้ผู้เล่นใหม่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล และอาจไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
ข้อบังคับและกฎระเบียบ (Regulation)
บางอุตสาหกรรมมีกฎหมายและข้อบังคับที่ซับซ้อน ทำให้การเข้าสู่ตลาดเป็นเรื่องยาก เช่น ธุรกิจการเงินและธนาคาร ที่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล หรือ อุตสาหกรรมพลังงาน ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก
อุตสาหกรรมยานยนต์
- ตลาดรถยนต์มี ต้นทุนสูงมาก ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงเครือข่ายการจัดจำหน่าย
- ผู้บริโภคมี ความภักดีต่อแบรนด์สูง เช่น Toyota, Honda, BMW ทำให้การสร้างแบรนด์ใหม่ต้องใช้เวลานาน
- มีข้อกำหนดด้านความปลอดภัย และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน
- ทำให้ผู้เล่นใหม่อย่าง Tesla ใช้เวลาหลายปีและต้องอาศัย นวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเจาะตลาดได้สำเร็จ
อุตสาหกรรมสตรีมมิงเพลง
- แม้ตลาดสตรีมมิงจะเปิดกว้าง แต่ผู้เล่นหลักอย่าง Spotify, Apple Music, YouTube Music ครองตลาด
- ผู้เล่นใหม่ต้องเผชิญ ต้นทุนด้านลิขสิทธิ์เพลงสูง และการสร้างฐานผู้ใช้ใหม่ต้องอาศัยโปรโมชั่นที่ใช้ต้นทุนสูง
อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail & E-commerce)
- Amazon, Walmart, Shopee, Lazada มีเครือข่ายซัพพลายเชนขนาดใหญ่ ทำให้สามารถเสนอราคาสินค้าได้ถูกกว่าผู้เล่นหน้าใหม่
- การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ อาจทำได้ง่าย แต่การสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า และระบบโลจิสติกส์เป็นเรื่องที่ยากมาก
อุตสาหกรรมสายการบิน
- มี ต้นทุนคงที่สูง เช่น ค่าซื้อเครื่องบิน, ค่าซ่อมบำรุง และค่าจ้างนักบิน เป็นต้น
- กฎระเบียบด้านความปลอดภัยของการบิน เข้มงวดมาก ทำให้ไม่ใช่ใครก็สามารถเปิดสายการบินได้ง่าย
ในวันนี้หากอุตสาหกรรมใดมีอุปสรรคเข้าสู่ตลาดสูง ผู้เล่นเดิมก็จะได้เปรียบและมีการแข่งขันน้อยลง แต่หากอุปสรรคต่ำ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร หรือแฟชั่น ผู้เล่นใหม่สามารถเข้ามาแข่งได้ง่าย ทำให้ตลาดผันผวน สิ่งสำคัญคือ
- การวิเคราะห์ภัยคุกคามจากผู้เล่นรายใหม่ ช่วยให้ธุรกิจเดิมสามารถป้องกันการแข่งขัน และช่วยให้ผู้เล่นใหม่เตรียมกลยุทธ์เจาะตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ส่วนผู้เล่นใหม่ที่ต้องการเข้าตลาด ก็ต้องหาจุดแข็งที่แตกต่างเพื่อลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด
- ธุรกิจที่เข้าใจปัจจัยเหล่านี้ จะสามารถสร้างกลยุทธ์ให้ได้เปรียบ และยั่งยืนในระยะยาว
แม้ว่า Porter’s Five Forces จะมีข้อจำกัดและถูกวิพากษ์วิจารณ์ในยุคปัจจุบัน แต่ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจวางกลยุทธ์ได้อย่างมีข้อมูลรองรับ ด้วยกรอบแนวคิดนี้จะช่วยทำให้คนทำธุรกิจ และแบรนด์ สามารถระบุโอกาส คาดการณ์ความเปลี่ยนแปลง และตอบสนองต่อปัจจัยที่สามารถควบคุมได้
เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร แทนที่จะปล่อยให้ธุรกิจถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอก การเข้าใจและใช้ Porter’s Five Forces อย่างเชี่ยวชาญจึงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยเฉพาะในยุคที่ธุรกิจเผชิญกับความไม่แน่นอน
เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ
ที่มา
- Porter’s Five Forces: The Ultimate Competitive Strategy Blueprint
- The Five Competitive Forces That Shape Strategy
- Porter's Five Forces Explained and How to Use the Model
- Porter’s Five Forces Analysis: Key Insights and Applications