คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิก ผู้เชื่อว่า ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดียังเป็นหัวใจสำคัญของพื้นที่สาธารณะเมืองไทย

Last updated on มี.ค. 29, 2024

Posted on มิ.ย. 24, 2020

“Public Space ไม่ใช่แค่พื้นที่ว่างหรือสวนสาธารณะ อย่างพื้นที่รกร้างเองก็ถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นเดียวกัน”

คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Landprocess เอ่ยถึงนิยามของคำว่า Public Space หรือพื้นที่สาธารณะ ที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าพื้นสาธารณะคือสวนสาธารณะที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวขจี

เมื่อปี 2562 คุณกชกรเป็นคนไทยที่ติดอันดับนิตยสาร TIME ถึงสองรายการด้วยกัน รายการแรก คือ 15 Women Leading the Fight Against Climate Change และรายการที่สอง TIME 100 Next 2019 สาขา Innovators  และนอกจากนั้นแล้วคุณกชกรยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโปรเจกต์พื้นที่สาธารณะที่หลายคนรู้จักกันดีอย่างอุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี สวนบำบัดลอยฟ้า โรงพยาบาลรามาธิบดี, อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี  และโปรเจกต์ล่าสุดสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำที่ยาวที่สุด เจ้าพระยา สกายปาร์ค ที่ร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่ปรับปรุงโครงสร้างเดิมของรางรถไฟฟ้าลาวาลินบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้าเป็นสวนสาธารณะลอยฟ้า

พื้นที่สาธารณะในเมืองไทย ทำไมถึงมีน้อยและจำกัดในรูปแบบสวนสาธารณะ

เวลาเราสร้างเมืองมาแต่อดีต เราไม่ได้มีการวางแผนรองรับการขยายตัวของเมือง เราเพียงสร้างจากเมืองที่เราเห็นเราไม่ได้พัฒนาเมืองและเคารพบริบทเดิมทางธรรมชาติของพื้นที่ การมีอยู่อย่างคลองหรือของต้นไม้ในพื้นที่นั้น แล้วคนไทยก็อาจจะไม่ได้โตมากับคำว่าพื้นที่สาธารณะที่ดี

ฉะนั้นพื้นที่สาธารณะในเมืองไทยเราก็จะรู้สึกว่า เราหาพื้นที่ว่าง ที่พอเหมาะไม่ได้เลย แม้ถนนคนเดินสาธารณะก็จะมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ร้านอาหาร รถเข็น ต้นไม้และคนเดินก็ไม่ได้ให้ความสำคัญที่แท้จริงแต่มันเป็นคาแรกเตอร์ ของเมือง และคนเมืองที่โตมากับพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นสิ่งไม่จำเป็น หรือ พื้นที่สาธารณะที่ดีนั้น ควรเป็นอย่างไร  และเราเริ่มรู้สึกถึงผลเสียแล้วว่าพื้นที่สาธารณะนั้นสำคัญ เพราะมันเป็นสาธารณูปโภคทางสุขภาพของเมือง

การออกแบบที่ดี เราต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

Public Space ที่เราพูดกัน ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ว่างที่เรามาใช้ร่วมกัน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเข้าใจมองเมืองผ่านพื้นที่ของการใช้ชีวิตแต่ละช่วงเวลาของในแต่ละวัฒนธรรมของคนในเมืองนั้นด้วย พื้นที่ที่สะท้อนข้อจำกัดของแต่ละเมือง ของแต่ละสังคมที่ไม่เหมือนกัน  

ฉะนั้นเราไม่ได้คิดหรือทำแค่ออกแบบเชิงรูปแบบ แต่เรายังต้องเข้าใจการใช้งาน นิสัยของคน สภาพความท้าทายภูมิอากาศที่แปรเปลี่ยน อย่างในปัจจุบัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้งของฝุ่น PM2.5 หรือความท้าทายในความปกติใหม่ การเกิดโรคระบาดที่ทำให้เราเผชิญกับวิถีชีวิต New Normal การออกแบบพื้นที่สาธารณะจึงต้องรองรับ การใช้งานร่วมได้กับกลุ่มคนที่เราต้องเข้าใจบริบทในด้านอื่นๆ ของการที่เป็นคนใช้ รวมถึงบริบทของความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเชิงของสิ่งแวดล้อมด้วย

การสร้างพื้นที่สาธารณะ ให้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ ความท้าทายที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วจึงต้องอาศัยนวัตกรรมการออกแบบบนข้อจำกัด เช่น การออกแบบพื้นที่สาธารณะบนพื้นที่หลังคารกร้าง ที่ต้องคิดถึงเรื่องอาหารและช่วยประหยัดพลังงานอาคาร หรือเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ที่สร้างสุขภาวะให้กับเมือง

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่สะท้อนถึงพื้นที่สาธารณะของแต่ละเมือง 

เราก็ต้องสังเกตว่า ผู้คนมีพฤติกรรมใช้พื้นที่สาธารณะอย่างไร อย่างเมืองไทยเป็นเมืองร้อน นั่นแปลว่าช่วงกลางวันยังไงเราก็ไม่ไปเดินออกไปข้างนอกเพื่อตากแดด ถึงแม้ว่าพื้นที่จะมีร่มขนาดไหนทุกคนก็รู้สึกร้อนอยู่ดี คนไทยส่วนมากจึงชอบออกมาใช้ชีวิตกันในช่วงเช้าแล้วก็ตอนเย็น เราจึงต้องออกแบบพื้นที่สาธารณะให้ร่มรื่นมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ต้นไม้ก็ใช้เวลาในการโต การที่เราจะได้อาศัยร่มเงาตั้งแต่วันแรกของพื้นที่สาธารณะต่างๆ หรืองานภูมิทัศน์ต่างๆ อาจต้องย้ายล้อมต้นไม้มาจากป่า เราจึงควรให้ความเข้าใจสาธารณะเรื่องนี้ด้วย

ขณะเดียวกันอย่างเมืองนอกอากาศเขาค่อนข้างหนาว ฉะนั้นเขาก็อาจจะไม่ได้ไปใช้พื้นที่สาธารณะในฤดูหนาว จึงทำให้เขารู้สึกว่าพระอาทิตย์ แสงแดดหรือความอบอุ่นมีค่า พอถึงหน้าร้อน ฉันต้องออกไปข้างนอกไปตากแดด ฉะนั้นการออกแบบอยู่ที่นิสัยใจคอของการใช้งานของคนด้วย ซึ่งปัจจัยนี้อาจเป็นความเข้าใจในการออกแบบก็ว่าได้

เบื้องหลัง แนวคิดของแต่ละโปรเจกต์

พื้นที่สาธารณะ คือพื้นที่ที่เราสร้างโอกาสการนำกลับมาของพื้นที่ธรรมชาติ สร้างสมดุลกลับมาสู่เมือง อย่างโปรเจกต์อุทยาน 100 ปีของจุฬาฯ สำหรับอุทยานนี้เราไม่ได้อยากให้พื้นที่สาธารณะที่เต็มไปด้วยความเขียวของต้นไม้เพียงอย่างเดียว แต่เรารู้สึกว่าอยากทำอะไรให้ที่นี่สร้างโจทย์ใหม่ๆ ที่ท้าทายกับเมืองที่เรื่องของสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)  

ฉะนั้นพื้นที่สีเขียวในอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ เราผู้ออกแบบก็มองว่า จุฬาฯ น่าจะเป็นต้นแบบในการที่จะสร้างสาธารณูปโภคสีเขียว (Green infrastructure) เพื่อเมืองยืดหยุ่น Resilience city  หรือสวนสาธารณะที่ช่วยเมือง แก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมด้วย ทุกวันนี้กรุงเทพฯ ถูกเคลือบไปด้วยคอนกรีต อย่างที่บอกไปว่าการโตของเมืองไร้ทิศ การออกแบบเมือง ทำลายคูคลองและพื้นที่ชุ่มน้ำจนเสียศักยภาพเมืองน้ำไป เมืองของเราตอนนี้เหมือนกับเอาพื้นคอนกรีตไปฉาบบนพื้นที่ชุ่มนี้ (Wetland) อาจารย์ก็เลยรู้สึกว่าน่าจะมีคำตอบที่พัฒนาเมืองหรือการเติบโตของเมืองที่จะสามารถอยู่ได้กับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงไม่ออกแบบอุทยาน 100 ปีของจุฬาฯ เป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวอย่างเดียว นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวแล้ว เรายังคำนึงถึงการเอียงของสวนรับน้ำที่เป็นการสร้างแก้มลิงให้กับเมือง

โปรเจกต์ที่สอง อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พื้นที่ของธรรมศาสตร์ เป็นเรื่องการใช้พื้นที่หลังคาอาคารที่สร้างปัญหาเรื่องเกาะความร้อน (Urban Heat Island) มาสร้างพื้นที่สีเขียวที่สร้างแหล่งอาหารให้กับเมือง

ปัจจุบันพื้นที่แหล่งอาหารถูกแทนที่ด้วยการสร้างเมือง และยังโยงไปถึงวงจรอาหารที่สร้างปัญหาอย่างหนักให้กับโลก คำถามคือแล้วเมืองที่มีคนหนาแน่นเอาอาหารมาจากไหน แล้วพื้นที่หลังคาคอนกรีตเมืองที่สร้างปัญหากลับมาสร้างประโยชน์ และแก้ปัญหาเรื่องอาหารที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของชาวโลกได้อย่างไร

โปรเจกต์นี้เราก็เลยเปลี่ยนส่วนหลังคาของอาคารให้กลายเป็นสวนผักบนหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย แล้วเรายังคิดถึงเรื่อง Circular Economy ก็คือเรื่องขยะ อาหารในโรงอาหาร สร้างปุ๋ยมาลงสวนผักตรงนี้ สวนผักตรงนี้กลับไปที่โรงอาหาร ซึ่งทางธรรมศาสตร์เองก็ปลูกข้าวกันทุกปีอยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ลงตัวอย่างที่อาจารย์บอกไปตั้งแต่แรกเลยว่าเราออกแบบพื้นที่ต่างๆ เราต้องดูวัฒนธรรมของแต่ละที่ด้วย เขามีวัฒนธรรมอะไรเราก็ต้องเข้าใจคนที่จะมาใช้พื้นที่สาธารณะด้วย การออกแบบอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี จึงเป็นสถาปัตยกรรมหลังคาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และเป็นรูปแบบนาขั้นบันได และมีแนวคิดปัญหาเรื่อง Food Sercurity ประหยัดพลังงาน และสร้างนวัตกรรมเรื่องพื้นที่สาธารณะรูปแบบใหม่

ส่วนโปรเจกต์ล่าสุด เจ้าพระยาสกายปาร์ค เป็นการนำโครงสร้างรถไฟฟ้าลาวาลินเดิมที่ไม่ได้ถูกใช้งานมา 30 ปี ทีนี้อาจารย์รู้สึกว่าโปรเจกต์นี้ คือการนำโครงสร้างเดิมที่ไร้ประโยชน์และสร้างการใช้สอยใหม่เชิงพื้นที่สาธารณะให้กับเมือง ถ้าเราคิดไปในอนาคตว่าสุดท้ายแล้วเมืองก็ต้องมีโครงสร้างเก่า สุดท้ายแล้วเมืองก็คือขยะคอนกรีตกองมหึมา และการสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ถ้าคิดเพียงการทุบแล้วก็สร้างใหม่ ซึ่งเรารู้กันว่าโลกของเราไม่สามารถที่จะมีทรัพยากรให้ผลาญแบบคนที่ยุคก่อนๆ มีแนวคิดแบบนั้นแล้ว

ฉะนั้นเราต้องกลับมาคิดว่าแล้วเราจะ Recycle ให้โครงสร้างเหล่านี้ Upcycle เกิดประโยชน์ เกิดมิติ หรืออื่นๆ ในการที่เป็นเมืองเดินได้มากขึ้น ลดการใช้รถให้น้อยลง เพิ่มพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่ว่าการสร้างเมืองเราต้องคิดอะไรจากการสร้างใหม่ จากศูนย์เสมอ แต่การคิดจากสิ่งติดลบให้บวกได้ เป็นสิ่งที่น่าท้าทาย

อะไรที่บ่มเพาะให้คุณสนใจภูมิสถาปนิกในด้านพื้นที่สาธารณะ

อาจารย์รู้สึกว่า เส้นทางการเป็นภูมิสถาปนิกของอาจารย์ไม่ได้เกิดจากการที่เราโตจากสิ่งที่เรามี (พื้นที่สาธารณะ) แต่เรารู้สึกว่าเราโตมากับสิ่งที่เราขาด แล้วเราก็เชื่อว่าคนในเมืองที่เราโตมาด้วยกันก็ขาดสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน อย่างบางเมืองที่มีอยู่แล้วเขาก็จะมีความรู้สึกหวงแหนอนุรักษ์ต้นไม้เก่า พื้นที่สีเขียวในสิ่งที่มันมีมา แต่ของเราเกิดมาในเมืองที่ขาด เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะทำให้เมืองไทยมีสิ่งเหล่านี้ กลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี เราอยากมีอากาศที่สะอาด แล้วเราก็รู้สึกว่าการปลูกต้นไม้ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม เราทำอย่างหนึ่งแล้วสิ่งนี้มีคุณประโยชน์หลายมิติ ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาในรูปแบบที่แก้เป็นจุดๆ และสร้างปัญหาอีกนับไม่ถ้วน เมืองจะพัฒนาไปเพื่ออะไร ถ้าคนในเมืองไม่มีแม้อากาศที่ดีในการหายใจ น้ำที่สะอาด ชีวิตที่ปลอดภัย เราจะเจริญไปเพื่ออะไร 

สุดท้ายแล้วเมื่อเราเห็นคนมาใช้พื้นที่สาธารณะที่เรามีส่วนร่วมเหล่านี้แล้ว เรารู้สึกว่าเรามีความสุข นี่แหละที่เราไม่ใช่ในฐานะผู้ออกแบบแต่เป็นในฐานะคนที่อาศัยคนหนึ่งในเมืองต้องการ

พื้นที่สีเขียวยังเป็นคำตอบของพื้นที่สาธารณะในยุค New Normal

อาจารย์ยังยืนยันในสิ่งที่ภูมิสถาปนิกทำ แม้จะก่อนช่วงโรคระบาด สิ่งนั้นคือสิ่งเดิมที่แน่วแน่คือพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นที่เมืองที่ดีต้องมี เป็นสิ่งจำเป็น ไม่ว่าโรคระบาดจะเกิดอีกกี่ครั้ง เศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปในรูปแบบไหน อาจารย์ก็ยังเชื่อว่าในการเป็นภูมิสถาปนิก การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดียังเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อสุขภาพมวลรวมของประชาชน

สิ่งที่เรายึดมั่นทำมามันไม่ได้ผิดเพี้ยนไป โรคระบาดด้วยซ้ำกลับย้ำชัดว่า สวนสาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ดี ที่พอเพียง ทำให้สุขภาวะของคนในช่วงโควิด-19 หรือสุขภาวะมวลรวมของคนในย่านนี้ดีขึ้น ทำให้คนไม่ต้องไปแออัด (Social Distancing) ช่วยลดการติดเชื้อ ประคับประคองสถาวะจิตใจ คนไทยโชคดีมากที่มีระบบสาธารณสุขที่แข็งแรง บุคลากรทางแพทย์ที่ทุ่มเท แต่เราก็ต้องการตัวช่วย อีกหลากหลายกับการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับเมืองและโดยภาพรวม Biodiversity ความหลากหลายทางชีวภาพ การอยู่รวมกันของคนและสัตว์ป่า เราต้องการป่าในเมืองด้วยซ้ำไปเราต้องการที่อยู่ของคนที่ดี และสัตว์ป่าที่ดี หยุดการรุกราน ทั้งหมดเรากำลังเผชิญปัญหา เล็กในปัญหารวมของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ​ (Climate Change) ถ้าแต่ก่อนเราพูดแบบนี้ คนอาจจะรู้สึกว่าเรื่องนี้ไกลตัว แต่ตอนนี้ผลกระทบมันใกล้ชาวโลกคนเราเข้าใจ

ฉะนั้นอาจารย์คิดว่าสิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่ทุ่มเทไปในพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สาธารณะก็ยังเป็นสิ่งที่เมืองก็ยังขาด ยังต้องการ  พื้นที่สาธารณะเป็นคำตอบทั้งก่อน และหลังยุคโควิด-19 โรคระบาดนี้เพียงให้เราว่าความต้องการนี้ยิ่งชัดเจนมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ ทำให้การออกแบบของเราต้องคำนึงถึงความชัดเจนในมิติของสาธารณสุขมวลรวม (Public Health) พื้นที่สาธารณะต้องตอบโจทย์ทางด้านสุขภาวะอย่างจับต้องได้ อาจารย์ก็คิดว่าสถานการณ์นี้จะยิ่งทำให้คุณค่าที่เราทำไปชัดเจนมากขึ้น

คนโหยหาธรรมชาติ ท่ามกลางเมืองคอนกรีต เมืองไทยเติบโตจากรากวัฒนธรรมเกษตร คนไทยก็เลยรู้สึกว่าพื้นที่ธรรมชาตินั้นเหมือนมีอย่างสมบูรณ์มากมาย จริงๆ แล้วสมดุลนั้นสูญไปอย่างเรียกกลับคืนมาไม่ได้ เมืองที่ไร้พื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ธรรมชาติ จนเราตระหนักแล้วล่ะว่า จริงๆ แล้วนั้นคือส่วนสำคัญ ของสุขภาพของเมือง สุขภาพของเรา

คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกกล่าวทิ้งท้ายสำหรับบทสนทนาครั้งนี้

เรื่อง : ณิชา พัฒนเลิศพันธ์

ภาพ : TED TALK
LANDPROCESS
Panoramic Studio
Property Management of Chulalongkorn University

trending trending sports recipe

Share on

Tags