เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นด้วยกับคนอื่นในทุก ๆ เรื่อง ความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการต่อยอด เพื่อพัฒนางานโปรเจกต์นั้น ๆ ให้ยอดเยี่ยมขึ้นได้ เราอาจต้องถอยกลับมาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขโจทย์โดยไม่หลงลืมแกนใดแกนหนึ่งที่สำคัญไป ยิ่งเห็นมุมมองรอบด้านมากเท่าไหร่ เราก็จะเพิ่มหรือลดทอนได้อย่างถูกจุด ทำให้ไอเดียนั้นคมคายและเป็นรูปธรรม โดนใจลูกค้าหรือเจ้านายได้มากที่สุด
CREATIVE TALK ขอยก 10 ขั้นตอนช่วยให้คุณเบาได้เบา เพื่อไม่ให้ความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง เพราะบรรยากาศการทำงานที่ดีต่อใจจะช่วยให้เราสนุกกับความท้าทายของงานและสร้างทีมที่มีจุดแข็งได้
1. ใจเย็นๆ เก็บสีหน้า ไม่แสดงอาการเดือดดาล กดอารมณ์ที่อยากจะชน อยากจะค้านเอาไว้ก่อน อย่าเพิ่งลั่นอะไรออกไป ลองนั่งหลังตรง ยืดไหล่ไปข้างหลัง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกช้าๆ ใช้ร่างกายช่วยให้ใจผ่อนคลาย
2. ไม่ควรออกปากตำหนิ ตักเตือน หรือโจมตีใครต่อหน้าคนจำนวนมาก ไม่ว่าคุณจะมีตำแหน่งใหญ่โตขนาดไหน เพราะจะเหมือนไปหักหน้า ลดศักดิ์ศรี ไม่ให้ค่าความพยายามของเขา ทั้งยังสร้างบรรยากาศตึงเครียดให้เกิดขึ้นระหว่างการประชุม เป็นไปได้ควรจะขอเวลานอก พูดคุยกันในห้องส่วนตัว เพื่อจะเสนอแนะ หารือ ชี้ปัญหาให้อีกฝ่ายฟังด้วยความจริงใจ ใช้น้ำเสียงจริงจังแต่ไม่ใส่อารมณ์ จะช่วยลดกำแพงของผู้ฟังคำวิจารณ์ลงมาได้ ลดความรู้สึกอยากต่อต้าน ทำให้เขาอยากเอาความคิดเห็นของเราไปใช้ปรับปรุงงาน เขาจะรับรู้ได้ถึงความเป็นพวกเดียวกันและความห่วงใย แต่ถ้าคุณเผลอใช้อารมณ์ พลั้งปากพูดจารุนแรงออกไปแล้ว ก็ควรขอโทษกันตรงนั้นต่อหน้าคนอื่นๆ เพื่อที่ต่อไปเขาจะกล้าเข้ามาปรึกษา ไม่กลัวคำวิจารณ์ของคุณ และอยากได้ความเห็นจากคุณ
3. คิดเสียว่าความขัดแย้งนั้นเป็นธรรมดาโลก เราต่างควรยอมรับกันตรง ๆ ว่ากำลังมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น ไม่ว่าในตอนนั้นจะมีทางแก้หรือไม่ก็ตาม
4. ลองมองหาข้อตกลงตรงกลางเพื่อยุติความขัดแย้ง แต่หากเจรจากันแล้วยังตกลงกันไม่ได้ จำเป็นต้องแยกคู่กรณีออกจากกัน รอให้อารมณ์เย็นลงก่อน ให้โอกาสแต่ละฝ่ายไปหาข้อมูลมาโต้แย้งอย่างเป็นเหตุเป็นผล จึงค่อยกลับมาไกล่เกลี่ยกันใหม่จนได้ข้อสรุป
5. ทำความเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่าย บ่อยครั้งปัญหามักเกิดจากความเข้าใจผิดต่อกันเสียเป็นส่วนใหญ่ หากมีคนกลางที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใด มีวุฒิภาวะและความยุติธรรมสูง มีคุณวุฒิเพียงพอที่จะเข้าใจปัญหาทางเทคนิค มานั่งรับฟังความจากทั้งสองฝ่าย เพื่อจะเข้าใจปัญหาขัดแย้งอย่างถ่องแท้ แล้วถึงจะหาทางคลี่คลายปัญหาที่แท้จริง
6. บางครั้งแม้แต่เจ้าของปัญหาเองก็อาจจะเข้าใจผิด ไม่ได้รู้รากของปัญหาที่แท้จริง ทำให้แก้อย่างไรก็แก้ไม่หาย มีความเป็นไปได้ว่าอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น อาจมาจากความเหนื่อยล้า ปัญหาจุกจิกสะสม และเวลาที่งวดใกล้ถึงวันส่งงาน เป็นตัวเร่งให้เกิดเรื่องแตกหักระหว่างคนทำงานขึ้นมาได้โดยง่าย
7. ตกลงวันเวลาพูดคุยประนีประนอม ไม่ให้เกิดความรู้สึกหมางเมินกันยืดเยื้อยาวนานเกินไป
8. เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว ต้องแน่ใจว่าต่างฝ่ายต่างยินดีดำเนินการแก้ไขตามที่ได้ตกลงกันไว้อย่างราบรื่น ไม่มีเรื่องที่ตกค้างหรือติดใจกัน
9. คนกลางหรือเพื่อนร่วมทีมอาจต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของคู่กรณีว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นหรือไม่ ให้ต่างฝ่ายได้ขอโทษและขอบคุณซึ่งกันและกัน และช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดีให้กลับมาคืนดีกันได้โดยไม่มีใครมึนตึงใส่กัน
10. หากท้ายที่สุดแล้วยังไม่ได้ผล เพื่อนร่วมทีมไม่สามารถลดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายลงได้ ยังมีเหตุปะทุกันขึ้นมาอยู่เรื่อย ๆ ทำให้บรรยากาศในที่ทำงานอึดอัดอึมครึมไม่จบสิ้น จำเป็นจะต้องรายงานต่อฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารระดับสูงที่สามารถจัดการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ท่ามกลางความขัดแย้ง… ขอเพียงต่างฝ่ายยอมเปิดใจ พยายามเข้าอกเข้าใจกัน ที่สำคัญปัญหาจะแก้ได้ ถ้าเริ่มต้นจากความจริงใจ
อ้างอิงจาก : Indeed Career Guide – Conflict Resolution Skills: Definition and Examples