เจาะลึกเทรนด์ค้าปลีกไทย 2025 ในงาน Priceza Thailand’s E-Commerce Trends 2025

SCB EIC พาเจาะลึกเทรนด์ค้าปลีกไทย 2025 ในงาน Priceza Thailand’s E-Commerce Trends 2025 จีนบุกแล้ว ไทยต้องปรับตัวยังไงต่อ

Last updated on ม.ค. 23, 2025

Posted on ม.ค. 23, 2025

ปีนี้นับเป็นปีแห่งความกล้าของทุกธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจที่มีความผันผวนอยู่ตลอดทุกวัน

การจะฝ่าทุกอุปสรรคไปได้นอกเหนือจากพลังใจของผู้ประกอบการ, คนทำธุรกิจ และทีมงานของเราแล้ว การมีความรู้ ความเข้าใจถือเป็นหัวใจที่สำคัญมาก เพื่อปลดล็อกอนาคตอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2025

หัวข้อที่น่าสนใจของผู้ประกอบการและคนทำธุรกิจจำเป็นต้องรู้ในปีนี้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ Modern Trade และค้าปลีกในปี 2025 โดยคุณชญานิศ สมสุข นักวิเคราะห์,ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, SCB EIC  ในงาน Priceza Thailand’s E-Commerce Trends 2025 โดยข้อมูลทั้งหมดนี้ถูกรวบรวมการวิเคราะห์โดย SCB EIC 


เจาะลึกภาพรวมของตลาดค้าปลีกในประเทศไทยในปี 2025

ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในปี 2025 คาดว่าจะเติบโตราว 5.1% จากเดิม 4.8% ในปี 2024

กลุ่ม Modern Trade คาดว่าจะเติบโตที่ 4.6% ในปี 2025

ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจค้าปลีก เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2024 ต่อเนื่องถึงปี 2025, จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นและกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด การคาดการณ์การปรับขึ้นค่าแรง

ช่องทาง Non-store รวมถึง E-Commerce ยังคงเติบโต โดยสัดส่วนยอดขาย E-Commerce อาจเพิ่มเป็น 25.4% ในปี 2025

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจเผชิญความท้าทายจาก ราคาสินค้ายังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อของผู้บริโภค, ต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง, ความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐ, Disruption จาก Online marketplace นอกประเทศ

โดยสรุปตลาดค้าปลีกยังเติบโตต่อเนื่องในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่จำเป็น แต่ผู้ประกอบการไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เช่น ราคาสินค้าที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความไม่แน่นอนนโยบายภาครัฐ เป็นต้น


เจาะลึกพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเปลี่ยนไปในปี 2025

มูลค่าตลาด E-Commerce มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2025 ราว 7% โดยมีปัจจัยหนุนจากพฤติกรรมที่ผู้บริโภคเน้นความสะดวกสบาย ในขณะที่ร้านค้าต่าง ๆ มีทางเลือกให้ลูกค้าทั้งการซื้อหน้าร้าน หรือช่องทางออนไลน์ รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยที่เน้นการขายออนไลน์มากกว่าหน้าร้าน

สัดส่วนมูลค่า E-Commerce เพิ่มขึ้น 7% ในปี 2019 โดยเป็น 25% ในปี 2024 และคาดว่าจะอยู่ที่ราว ๆ 25.4% ในปี 2025 ทำให้ร้านค้าต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มช่องทางขายทั้งออนไลน์และหน้าร้าน นอกจากนี้ Social Commerce ก็ทยอยมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม GenZ ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น


การเข้ามาแข่งขันของ Temu น่าจับตาในปี 2025

Temu เป็น Marketplace ของจีนที่เพิ่งเปิดตัวในไทย คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการค้าปลีกและผู้ผลิต โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นและของแต่งบ้าน จากความได้เปรียบด้านราคาและมีตัวเลือกที่มากมาย โดย 4 เหตุผลต้องจับตามอง Temu ประกอบด้วย Aggressive pricing and unfair competition, Market manipulation, Impact on small business และ Privacy concerns

วิเคราะห์กลยุทธ์สำคัญของ Temu

ราคา: ตีตลาดด้วยราคาสินค้าที่ต่ำมาก เพราะไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยสินค้าส่วนใหญ่จะขายในราคาผู้ผลิต โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าในปริมาณมาก

ความหลากหลาย: มีสินค้าหลากหลายมาก ทำให้ผู้บริโภคสามารถหาสินค้าที่ต้องการได้ในที่เดียว

การตลาด: ลงทุนสุดมาก เช่น การให้ส่วนลดมาก ๆ ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว และดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ได้ภายในเวลาไม่นาน

การขนส่ง: แม้สินค้าจะขนส่งจากจีน แต่ก็ใช้เวลาจากกวางโจวมาถึงกรุงเทพ เพียงแค่ 5 วัน

วิเคราะห์การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย

Product differentiation: ผู้ค้าปลีกอาจสามารถสร้างความแตกต่างด้วยการเน้นสินค้าที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งนำเสนอสินค้าที่มีเอกลักษณ์

Customer experience: ปรับปรุงประสบการณ์การชอปปิงทั้งในร้านค้า และช่องทางออนไลน์ด้วยการให้บริการลูกค้าที่เหนือกว่า

Speed & Convenience: การจัดส่งจากร้านค้าภายในประเทศนั้นทำได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการควรทำให้การจัดส่งรวดเร็วและเชื่อถือได้

Marketing & Brand loyalty: ลงทุนในแคมเปญการตลาดที่แข็งแกร่งและการสร้าง Loyalty program


เจาะลึก กลุ่ม Modern grocery (การเติบโตในปี 2025)

ภาพรวมธุรกิจ Modern grocery 2025 มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องราว 4.6% แม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภคเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็นยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง

หากรัฐบาลดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามที่คาดการณ์ไว้ กลุ่ม CVS กลุ่ม Hypermarket และธุรกิจค้าส่ง จะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2024 และคาดว่าต่อเนื่องถึงปี 2025 และยังได้รับอานิสงส์เพิ่มเติมจากนโยบาย E-tax ของภาครัฐ หากรัฐบาลเร่งให้ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบ E-tax อย่างต่อเนื่อง

หากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจค้าส่งและค้าปลีกเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจเหล่านี้พึ่งพาแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีทุนมากกว่าใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายระยะยาวและเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน

โดยสรุป
ภาพรวมธุรกิจ Modern grocery 2025 เป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ (CVS) และ Hypermarket โดยคาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายภาครัฐ แต่กลุ่มธุรกิจนี้ยังต้องเผชิญความท้าทายจากต้นทุนที่สูงขึ้น


เจาะลึก กลุ่ม Department store (การเติบโตในปี 2025)

การเติบโตของยอดขายธุรกิจกลุ่ม Department store อยู่ที่ราว 4.6% ในปี 2025 แม้กำลังซื้อยังฟื้นตัวจำกัดและส่งผลต่อการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับสู่ระดับก่อนโควิด รวมถึงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2025 ที่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย

ปัจจัยครั้งสำคัญของธุรกิจ Department store คือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคสู่ช่องทางออนไลน์ และการแข่งขันในตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัว ทั้งนี้นอกจากการลงทุนใน Omni channel แล้ว จะต้องให้ความสำคัญกับประสบการณ์ที่ดีในการชอปปิง ทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ร่วมด้วย

โดยสรุป
กลุ่ม Department store คาดว่าได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยว แต่กำลังซื้อที่เปราะบางส่งผลต่อการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวกระตุ้นยอดขายและรับมือกับการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์ที่รุนแรงขึ้น


เจาะลึก กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม (การเติบโตในปี 2025)

การเติบโตของกลุ่มธุรกิจ Health & Beauty จะอยู่ที่ราว ๆ 4.9% ในปี 2025 ซึ่งจะสอดคล้องกับการที่ผู้บริโภคหันไปให้ความสนใจทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น

ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของธุรกิจนี้มาจากกระแสรักสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุและคนวัยทำงาน

E-Commerce เป็นช่องทางการขายสินค้าความงามที่สำคัญ ทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นเช่นกัน และช่องทาง Travel retail เป็นอีกช่องทางที่เติบโตค่อนข้างดี เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหันมาขายสินค้าความงามในพื้นที่ท่องเที่ยวมากขึ้น เช่น Mistine และ Beauty Buffet ที่ได้รับความนิยมมากในนักท่องเที่ยวจีน

ช่องทางออนไลน์อย่าง Marketplace และ Social Media ทำให้เกิดผู้ประกอบการรายย่อยในตลาดมากขึ้น และยังทำให้การแข่งขันในหมวดสินค้าสุขภาพและความงามรุนแรงตามไปด้วย

โดยสรุป
แนวโน้มยังคงเติบโตต่อเนื่องจากเทรนด์ใส่ใจสุขภาพและความงาม ส่งผลให้ผู้ประกอบการเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการเข้ามาของแบรนด์ใหม่ ๆ โดยเฉพาะแบรนด์ที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์


เจาะลึก กลุ่ม Home & Garden (การเติบโตในปี 2025)

ยอดขายสินค้าหมวด Home & Garden ในปี 2025 มีแนวโน้มเติบโตแค่ชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ราว 4% สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ดังนั้นสินค้าหมวดนี้อาจได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการ Renovate เช่น บ้านมือสอง และผลจากน้ำท่วมปี 2024

Home Improvement: ยอดขายเพิ่มขึ้นจากตลาด Renovate เป็นหลัก และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากสถานการณ์อุทกภัย โดยผู้ค้าปลีกยังเน้นการนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมที่หลากหลายมากขึ้น

Home furnishing: มีแนวโน้มเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากช่องทาง E-Commerce ทำให้ผู้ประกอบการต้องการเร่งปรับตัว โดยขายสินค้าที่มีเอกลักษณ์ คุณภาพดีกว่า แบรนด์ที่น่าเชื่อถือ จัดส่ง/บริการติดตั้ง และบริการหลังการขายที่ร้านค้าออนไลน์ให้ไม่ได้

ผู้บริโภคนิยมซื้อเฟอร์นิเจอร์จากกลุ่ม Modern trade ในขณะที่ช่องทางออนไลน์กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เช่น ไทยวัสดุ, homepro ราว ๆ 55% และ Shopee, Lazada ราว ๆ 30% เป็นต้น

โดยสรุป
ยอดขายกลุ่มสินค้าตกแต่งและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มเติบโตและลดลงจากหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยที่หดตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากความต้องการ Renovate ที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านมือสองและผลกระทบจากน้ำท่วม


เจาะลึก กลุ่ม Fashion (การเติบโตในปี 2025)

สินค้าแฟชั่นค่อนข้างเติบโตต่อเนื่องที่ราว 4.6% ในปี 2025 โดยยอดขายของกลุ่มนี้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกลุ่มสินค้าที่เป็น Fast fashion ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง

ในปี 2025 ยอดขายสินค้าแฟชั่นยังคงค่อย ๆ เติบโตอยู่ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ผู้บริโภคอาจเลือกสินค้าแฟชั่นที่มีราคาถูก เช่น สินค้าจากจีน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางส่วนอาจเลือกสินค้าแฟชั่นที่มีราคาสูงขึ้นมา แต่มีความคุ้มค่าและสามารถใช้งานได้เป็นเวลานาน

เรื่องที่น่าโฟกัสคือผู้ประกอบการ Marketplace รายใหญ่จากจีนก็เริ่มเข้ามาตีตลาดไทย ส่งผลต่อผู้ประกอบการค้าส่ง/ค้าปลีก ที่เน้นขายสินค้าแฟชั่นจากจีน ให้อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ดังนั้นร้านค้าเหล่านี้จำเป็นต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ ในการจัดการกับต้นทุน เช่น การหาแหล่งจัดหาสินค้าที่มีราคาต้นทุนต่ำกว่า หรือการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดเพื่อรักษาอัตรากำไร

ช่องทางส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าแฟชั่นคือ

  • 48% จาก Brand store
  • 46% จาก ห้างสรรพสินค้า
  • 42% จาก online Marketplace
  • 25% จาก Social Media
  • 23% จาก ตลาดนัด
  • 16% จาก ร้านตามทำเลอื่น ๆ
  • 11% จาก เสื้อผ้ามือ 2

โดยสรุป
สินค้าแฟชั่นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่ม Fast Fashion อย่างไรก็ดี ความท้าทายที่สำคัญที่ต้องจับตาคือแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นจากจีน


จากข้อมูลทั้งหมดนี้หวังว่าผู้ประกอบการ และนักการตลาดจะสามารถนำไปปรับใช้ กำหนดทิศทางการทำธุรกิจ Modern Trade และค้าปลีกในปี 2025 ได้อย่างมั่นใจขึ้น และสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าในปี 2025 กันนะ 


เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

trending trending sports recipe

Share on

Tags