หาไอเดียครีเอทีฟ ด้วยเทคนิคการละคร ที่เรียกว่า ‘Rolestorming’

ในการหาไอเดียใหม่ ๆ มาทำงาน วิธีหนึ่งที่ทุกคนมักใช้กัน ก็คือวิธี Brainstorming แต่อีกวิธีที่อยากจะชวนอ่านวันนี้คือการระดมความคิดด้วยการใช้ ‘การแสดง’

Last updated on ส.ค. 29, 2023

Posted on ส.ค. 24, 2023

Rolestorming เป็นหนึ่งในวิธี Brainstorming ที่มีพื้นฐานมาจากแนวคิดในการใช้บุคลิกอื่น โดยส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วม สวมบทบาทเป็นตัวละครต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างโซลูชันที่สร้างสรรค์จากสิ่งนี้ได้

Rolestorming เป็นเทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นแทนการระดมความคิดแบบดั้งเดิม โดย Rick Griggs ได้ค้นพบว่าผู้คนจะเขินอายน้อยลง เมื่อได้เสนอแนวคิดในนามของบุคคลอื่น นั่นทำให้เขาจึงได้แนวคิดการ Brainstorming ด้วยการสลายความกลัวออกมาใช้

การสวมบทบาทคือการทลายความกลัวในใจ
ด้วยการ Rolestorming ทำให้คนสามารถขจัดความกลัวในการเสนอไอเดียเวลาทำงานเป็นกลุ่มได้ พร้อมทั้งทำให้ทีมสามารถคิดนอกกรอบ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากขึ้น

วิธี Rolestorming เริ่มยังไง?

1. กำหนดบทบาท ด้วยตัวละครที่มีความเฉพาะตัว

ในการเริ่มต้นของ Rolestorming นั้น ให้เราเรียกระดมทีม จากนั้นจึงทำการเลือกบทบาทโดยที่ไม่ให้คนในทีมรู้ บทบาทต่าง ๆ จะสร้างขึ้นจากบุคลิกที่แตกต่างกันเพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้ "ลองสวม" บทบาทนั้น ตัวอย่างเช่น

  • ลูกค้าธรรมดา และลูกค้าที่เรื่องมากชอบแก้งาน
  • สมาชิกของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร
  • บุคคลจากประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในด้านความคิดสร้างสรรค์
  • ตัวละครที่มี mindset เฉพาะตัว
  • ซูเปอร์ฮีโร่ หรือจอมวายร้าย

แม้การรวมบทบาทจะทำให้เราได้คิดในมุมของคนอื่น แต่บทบาทที่ได้รับก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัญหาที่เราเผชิญในขณะนั้นก็ได้


2.เอาตัวเองไปอยู่ในหมวกของคนอื่น

เพื่อให้สัมพันธ์กับบทบาทนั้น ลองเล่นเป็นตัวละครที่ได้สัก 2-3 นาที โดยคำถามต่อไปนี้อาจเป็นประโยชน์ในการสวมบทบาท เช่น

  • บุคลิกของตัวละครนี้จะเป็นอย่างไร?
  • มุมมองของตัวละครนี้ต่อสังคมเป็นแบบไหน?
  • ตัวละครนี้จะแก้ปัญหาที่เจอได้ยังไง?
  • จุดแข็ง และจุดอ่อนของตัวละครนี้มีอะไรบ้าง?

3. เริ่มการแสดงละคร

นี่คือขั้นตอนที่ทุกคนเริ่มระดมความคิดตามบทบาทที่ได้รับ โดยทีมสามารถเสนอไอเดียที่อิสระ และมองสถานการณ์ที่เป็นปัญหาจากมุมใหม่ ๆ ซึ่งแนวคิดที่หลากหลายนี้สามารถนำไปสู่ไอเดียอันสร้างสรรค์ที่พุ่งกระฉูดได้

เมื่อทุกคนมีบทบาทแล้ว ให้ทีมดูรายการคำถามเกี่ยวกับตัวละครของพวกเขา และให้เวลาพวกเขาเตรียมคำตอบ ขึ้นอยู่กับหัวข้อ และประเภทตัวละครที่ได้ โดยคำถามอาจมีตั้งแต่ "เหตุใดตัวละครของเราจึงต้องการสินค้า" ไปจนถึง "พลังพิเศษของตัวละครของเราคืออะไร"

ตัวอย่างเช่น: เจนผู้เป็นลูกค้า กำลังโต้เถียงกับบ็อบซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายอยู่ในห้าง

เจน (ลูกค้า): กำลังโวยวายว่าสินค้ามาไม่ทันเวลา แถมสินค้าอาจมีปัญหาอื่นตามมา โดยผู้สวมบทเจนอาจระบุปัญหามากขึ้นเช่น การจัดส่งล่าช้า หรือมีสินค้าที่ชำรุด

บ๊อบ (คนขาย): เป็นผู้จัดการฝ่ายขายที่ไม่ค่อยพูด ซึ่งความลับของบ็อบคือเขาเป็นซูเปอร์แมน โดยบ็อบจะใช้ดวงตาเอกซเรย์ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมกับหาวิธีโต้ตอบกับเจนในสไตล์คนพูดน้อย


4. ทำซ้ำจนกว่าจะได้ไอเดียที่สร้างสรรค์

หลังจากเซสชันการสวมบทบาท ลองให้ผู้สวมบทบาทได้อภิปรายแนวคิดของตน เพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหาที่มีศักยภาพจากบทบาทนั้น แน่ล่ะว่าบทบาทเดียวไม่อาจตอบโจทย์ความคิดสร้างสรรค์ได้ทั้งหมด ขอแนะนำว่าให้ทำซ้ำขั้นตอนทั้งหมดโดยมีบทบาทใหม่ที่หลากหลาย เพื่อให้พนักงานคุ้นเคยกับการสวมบทบาท และหาโซลูชันกับการสวมบทบาทนั้น


การระดมบทบาทเป็นวิธีง่าย ๆ ในการให้พนักงานใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ของตน และแบ่งปันสิ่งนี้กับกลุ่มโดยไม่รู้สึกเขินอาย โดยวิธีนี้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการสำรวจมุมมองที่หลากหลาย จะทำให้ผู้เข้าร่วม Rolestorming สามารถจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ ไปจนถึงการแก้ปัญหาด้วยจินตนาการที่สร้างสรรค์ได้


ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags