รู้จัก SIX PATHS FRAMEWORK ตัวช่วยให้ธุรกิจก้าวไปสู่ BLUE OCEAN

Last updated on ส.ค. 12, 2024

Posted on ส.ค. 3, 2024

ธุรกิจในยุคนี้แตกต่างจากในอดีต

ในอดีตเราอาจจะแข่งขันกันด้วยปริมาณ หรือคนที่มาก่อนได้เปรียบ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่อีกต่อไป! หลายธุรกิจ หลายผู้ประกอบมักแข่งกันด้วย ‘ความคิดสร้างสรรค์’ หรือ ‘การคิดค้นนวัตกรรม’ คิดค้นไอเดียที่โลกต้องตะลึง นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ เรียกได้ว่าการแข่งขันถูก Disruption กันอย่างเข้มข้น

แม้ในโลกธุรกิจปัจจุบันการแข่งขันด้านความคิดสร้างสรรค์จะสำคัญมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดเดียวเสมอไป กลับกันคนที่สร้างสรรค์เก่ง และตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคอย่างแท้จริง และอย่างยั่งยืนจะได้เปรียบอย่างมาก เพราะคนกลุ่มนี้แหละคือผู้พิชิตน่านน้ำสีฟ้า (Blue Ocean)

หนึ่งในเทคนิคต่อจากนี้ เชื่อเลยว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย และองค์กรที่กำลังมองหาพื้นที่ใหม่, ตลาดใหม่ และโอกาสในการสร้างสรรค์ธุรกิจ สิ่งนี้เราเรียกว่า “SIX PATHS FRAMEWORK” เฟรมเวิร์กที่จะช่วยให้ธุรกิจของทุกคน สามารถคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบเพื่อก้าวไปสู่ Blue Ocean

SIX PATHS FRAMEWORK คืออะไร ?

หนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้บริหาร หรือ Entrepreneur ตรวจสอบความเสี่ยงในการค้นหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายบริษัทประสบพบเจอ และสามารถค้นพบ Blue Ocean พื้นที่เน้นความต้องการของลูกค้าเป็นหลักได้ เพื่อเป็นเส้นทางเปิดโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ โดย SIX PATHS FRAMEWORK ถูกคิดค้นพัฒนาโดย คุณ Chan Kim และ Renée Mauborgne เป็นศาสตราจารย์ด้านกลยุทธ์ที่ INSEAD และเป็นผู้อำนวยการร่วมของ INSEAD Blue Ocean Strategy Institute ในเมืองฟงแตนโบล ประเทศฝรั่งเศส

เทคนิคการใช้งาน SIX PATHS FRAMEWORK ?

SIX PATHS FRAMEWORK ประกอบไปด้วย 6 เส้นทางในอุตสาหกรรมที่เราอยู่ ซึ่งเป็นวิธีการคิดอย่างเป็นระบบทั้ง 6 วิธี ที่จะช่วยตรวจสอบธุรกิจของเรา และค้นหา Blue Ocean โอกาสทางการแข่งขันใหม่แทนที่จะมองภายในขอบเขตแบบเดิม ๆ แต่ SIX PATHS FRAMEWORK จะช่วยทำให้ธุรกิจของคุณก้าวข้ามอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั้งในด้านของ Industry, Strategic Group, Buyer Group, Scope of Product or Service Offering, Functional-emotional Orientation และ Time

เรามาดูกันดีกว่าว่า ทั้ง 6 เส้นทางนี้มีอะไรบ้าง

🎯 เส้นทางที่ 1 (PATH ONE) - มองข้ามกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

รูปแบบการแข่งขันของ Red Ocean มักจะแข่งขันกันเองในอุตสาหกรรมเดิม

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

จะลองเริ่มจากการถามตัวเองว่า อุตสาหกรรมทางเลือกของคุณคืออะไร ทำไมลูกค้าจึงเปลี่ยนใจ ไปซื้อสินค้าที่ใกล้เคียงกับแบรนด์ของเรา, ทำไมเขาถึงมาซื้อสินค้าของคู่แข่งมากกว่าของเรา แล้วเราจะสร้างความแตกต่างใหม่นี้ได้อย่างไร คุณต้องตอบเรื่องนี้ให้ได้ และมองข้ามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ตัวเองอยู่ อย่ายึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ NetJets

หนึ่งในคนที่คิดสร้างสรรค์ และทำเรื่องนี้ได้เก่งมาก ๆ คือแบรนด์ ‘NetJets’ ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมการบิน ที่ว่ากันว่าการแข่งขันสูง, มีอัตรากำไรต่ำ และมีพื้นที่เติบโตน้อยมาก โดย NetJets เริ่มจากการสังเกตเห็นว่า กลุ่มนักธุรกิจเป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำกำไรได้มากที่สุด โดยส่วนใหญ่ก็จะบิน Business Class หรือ First Class แต่สายการบินอื่น ๆ เขาก็ทำกัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้แตกต่าง ?

สิ่งที่ทำให้ NetJets โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมการบินอื่น ๆ คือการเล็งเห็นว่ามีลูกค้าระดับผู้บริหารที่ชอบบินส่วนตัว ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็ทำเงินให้บริษัท สิ่งนี้จึงเป็นโมเดลใหม่ที่น่าสนใจ “คือการให้บริษัท (corporations) ซื้อตั๋วพิเศษสำหรับการเดินทาง” เราเรียกสิ่งนี้ว่า Fractional Jet Ownership คือลูกค้าสามารถมีความเป็นเจ้าของในเครื่องบินส่วนตัวได้ โดยจะเปิดสิทธิ์ถือครองให้จำนวนหนึ่ง ใครอยากบินส่วนตัวก็แค่ซื้อตั๋วพิเศษนี้ พร้อมทั้งเซอร์วิสสุดพิเศษที่ทางสายการบินจะดูแลให้ทุกอย่าง เสมือนเป็นเครื่องบินของลูกค้า ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยลดต้นทุน แถมยังช่วยตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ ผู้บริหารบางคนต้องการความเป็นส่วนตัว, ประหยัดเวลา, มีบริการที่ครบทำให้เขาสามารถเดินทางไปไหนต่อไหนได้สะดวก ไม่แออัดเวลาต้องแย่งกันขึ้นเครื่อง แถมยังเลือกเวลาเดินทางได้อิสระ นี่แหละคือหนึ่งในจุดแข็งที่ทำให้ NetJets สร้างตลาดแข่งขันใหม่ขึ้นมาเอง


🎯 เส้นทางที่ 2 (PATH TWO) - หาโอกาส ผสมผสานจุดเด่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Strategic Group) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

มักจะไม่หลุดกรอบ เน้นการแข่งภายในกลุ่มธุรกิจใกล้เคียงกัน

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

หาโอกาส ผสมผสานจุดเด่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดย Strategic Group ในที่นี้หมายถึง กลุ่มบริษัทในอุตสาหกรรมที่ดำเนินกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกัน โดยปกติเราก็มักจะแข่งขันกับแบรนด์ที่มีสินค้าใกล้เคียงกัน แต่คีย์สำคัญที่จะทำให้เราก้าวข้ามไปสู่ Blue Ocean ได้คือ “จะทำอย่างไรให้เราแตกต่าง และมีจุดเด่นกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และต้องเข้าใจถึงกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการของลูกค้า ทั้งขาขึ้นและขาลง”

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ HealthMedia

ธุรกิจซอฟต์แวร์การฝึกสอนด้านสุขภาพที่ครั้งนึงเคยจมอยู่กับ Red Ocean ในอุตสาหกรรมเดียวกันมักใช้กลยุทธ์อยู่ 2 แบบ คือ กลุ่มที่รับคำปรึกษาจากทางโทรศัพท์ ส่วนอีกกลุ่มคือการหาอ่านข้อมูลดิจิทัลทั่วไป แสดงว่าในตลาดยังไม่มีพื้นที่ใหม่นอกเหนือจากนี้

และนั่นทำให้ HealthMedia ศึกษาตลาดอย่างจริงจัง เพื่อเข้าสู่ Blue Ocean ได้สำเร็จ ด้วยการหยิบ 2 กลยุทธ์ที่มีอยู่ในตลาดมาผสมผสาน เพื่อหาจุดแข็งที่ตัวเองมีและปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ โดยการสร้างพื้นที่ตลาดใหม่ซึ่งเรียกว่า ‘digital health coaching’ โดยการนำเอา 2 กลุ่มที่อยู่ในตลาด มาปรับให้เป็นรูปแบบใหม่ของตัวเอง โดยอิงเหตุผลที่ว่าเพราะปัญหาสุขภาพของทุกคนไม่เหมือนกัน ในเชิงต้นทุนต่ำอย่างการสร้างเนื้อหาดิจิทัลก็ใช้วิธีการสร้างแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และจับคู่ปัญหาเพื่อสร้างแผนสุขภาพที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม เป็นการ Personalization ลูกค้าอย่างแท้จริง โดยภายในเพียง 2 ปี HealthMedia สามารถสร้าง Blue Ocean ที่ดึงดูดใจจนทำให้ Johnson and Johnson เข้ามาซื้อกิจการในราคา 185 ล้านเหรียญสหรัฐไปในที่สุด


🎯 เส้นทางที่ 3 (PATH THREE) - กำหนดนิยามของผู้ซื้อ หาให้เจอใครคือผู้ซื้อสินค้าและบริการของเรา (Buyer Group) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

เน้นให้บริการกลุ่มผู้ซื้อเดิม พัฒนาให้ดีขึ้น

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

มักจะกำหนดนิยามของผู้ซื้อ ว่าผู้ซื้อสินค้าและบริการของเราคือใคร เราไม่จำเป็นต้องรอถามว่าลูกค้าอยากได้อะไร แต่เราต้องรู้ให้ได้ว่าเรามีของดีอะไร แล้วเราคาดการณ์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าตัวเองได้ในระดับไหน เพื่อนำเสนอให้ลูกค้าได้ซื้อสินค้าและบริการของเราอย่างเกินความคาดหวัง!

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ Bloomberg

ไม่มีใครไม่รู้จัก Bloomberg หนึ่งในผู้ให้บริการทางการเงินจากสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างดั้งเดิมของการมองข้ามลำดับของผู้ซื้อและกำหนดกลุ่มผู้ซื้อใหม่ในอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ เพราะก่อนที่ Bloomberg จะเข้าสู่ตลาดในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก็มีคู่แข่งมากมายมหาศาลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ Bloomberg มองเห็นว่า ‘เทรดเดอร์และนักวิเคราะห์ เป็นคนสำคัญ’ คนเหล่านี้ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ทุกวินาทีมีค่าสำหรับเขา

ดังนั้น Bloomberg จึงออกแบบระบบที่มุ่งเน้นให้คุณค่าให้กับเทรดเดอร์ ให้พวกเขา easy-to-use มากที่สุด โดยการทำให้ระบบมี terminals และ keyboards ที่ใช้งานง่าย ระบบยังมีจอภาพสองจอเพื่อให้เทรดเดอร์สามารถดูข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการได้ในคราวเดียว และความสามารถในการวิเคราะห์ในตัวด้วยการกดปุ่มเพียงปุ่มเดียว

ยังไม่จบแค่นั้น สิ่งที่ Bloomberg ทำเพิ่มอีกต่อจากการที่เล็งเห็นว่า ชีวิตของเทรดเดอร์และนักวิเคราะห์มีรายได้สูงแต่กลับไม่มีเวลาได้ใช้เงิน เพราะต้องมานั่งเทรดหุ้นแทบจะทั้งวัน ดังนั้น Bloomberg จึงเพิ่มบริการพัฒนาชีวิตส่วนตัวของเทรดเดอร์ เช่น ก่อนที่ตลาดหุ้นจะเปิดให้บริการ พวกเขาสามารถซื้อดอกไม้, เสื้อผ้า, เครื่องประดับ, จัดการการเดินทาง, รับข้อมูลไวน์ หรือค้นหาอสังหาริมทรัพย์ได้บนออนไลน์จาก Bloomberg แบบ Exclusive

ด้วยวิธีคิดนี้จึงทำให้ในปัจจุบัน Bloomberg กลายเป็น Blue Ocean ผู้ให้บริการข้อมูลธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีผลกำไรสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยที่ไม่ต้องไปถามลูกค้าสักคำว่าอยากได้อะไร แต่กลับลงมาคิดให้ตามการวิเคราะห์ข้อมูล และการวิจัยอย่างดี และกล้าที่จะคิดต่างนั่นเอง


🎯 เส้นทางที่ 4 (PATH FOUR) - มองข้ามสินค้าที่ทดแทนกัน และบริการเสริม (Scope of Product or Service Offering) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

มุ่งเน้นที่การเพิ่มมูลค่าสูงสุดของผลิตภัณฑ์ และบริการภายในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

หากเราจะไปสู่ Blue Ocean เราต้องมองข้ามสินค้าที่ทดแทนกัน หรือบริการเสริมต่าง ๆ อย่าให้สินค้าของเรามาทดแทนกันได้ เราต้องก้าวข้ามด้วยความแตกต่าง และคำนึงถึงพฤติกรรมที่ผู้บริโภคกำลังมองหา นี่คือคีย์สำคัญของการไปสู่น่านน้ำ Blue Ocean

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ Philips Electronics

เรื่องนี้เกิดขึ้นที่สหราชอาณาจักร โดยอุตสาหกรรมในช่วงเวลานั้นที่กำลังมาแรงคือ ‘กาน้ำร้อนไฟฟ้า’ ซึ่งเป็นหนึ่งในไอเทมที่ทุกบ้านต้องมี สำหรับ afternoon tea ของชาวอังกฤษ แน่นอนว่าถ้าความต้องการหนาแน่นขนาดนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับ Red Ocean ดี ๆ นิเองที่ยิ่งทำให้อัตรากำไรต่ำ และอัตราการเติบโตน้อย

ท่ามกลางการแข่งขันแบรนด์ที่โชว์ความโดดเด่นออกมาคือ Philips Electronics โดยไม่ได้โฟกัสไปที่มุ่งเน้นพัฒนาของเดิม แต่กลับพยายามไปเข้าใจกระบวนการซื้อทั้งหมด ตั้งแต่ไปดูว่ามี Painpoint อะไรหลงเหลืออยู่บ้าง มันอาจจะไม่ได้มีปัจจัยแค่กาน้ำร้อนไฟฟ้าเท่านั้น และในท้ายที่สุดก็ค้นพบว่า ‘เป็นเพราะเกลือแคลเซียมในน้ำประปาของเทศบาล’ ทุกครั้งที่คนอังกฤษจะดื่มชา เขาต้องคอยตักแคลเซียมลอย ๆ ออกจากชาด้วยช้อนเสมอ และการมองวิกฤตให้เป็นโอกาสนี้ Philips จึงผลิตกาน้ำร้อนรุ่นใหม่ที่มีตะแกรงกรองถ่านที่สามารถกำจัดเกลือเหล่านั้นได้ เมื่อเทชาออก ซึ่งทำให้จากเดิมที่อุตสาหกรรมนี้เติบโตช้า กลายเป็นเติบโตอย่างรวดเร็ว แถมยังยกระดับจุดขาย สร้างรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่จากตะแกรงกรองถ่านที่เปลี่ยนได้


🎯 เส้นทางที่ 5 (PATH FIVE) - กลับมาคิดใหม่ ต้องรู้ว่าลูกค้าซื้อสินค้าเพราะฟังก์ชัน หรืออารมณ์ (Functional-emotional Orientation) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านราคา, ฟังก์ชันการใช้งาน, สร้างความรู้สึกดี ๆ โดยแข่งกันเองภายในอุตสาหกรรม

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

กลับมาคิดใหม่ ต้องรู้ว่าลูกค้าซื้อสินค้าเพราะฟังก์ชัน หรืออารมณ์ คีย์สำคัญคือการผสมผสานของฟังก์ชัน และอารมณ์เข้าด้วยกัน โดยมักจะถูกสร้างขึ้นจากผลิตภัณฑ์หรือบริการจากพื้นฐานหนึ่งไปยังอีกพื้นฐานหนึ่ง หรือผสมผสานให้น่าดึงดูดใจขึ้น

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ Beyond Meat

Beyond Meat (ทางเลือกเนื้อสัตว์จากพืช)
หนึ่งในแบรนด์ที่เดินทางสู่ Blue Ocean อย่างแท้จริงในด้านธุรกิจโปรตีนทางเลือก ทดแทนเนื้อสัตว์ โดยได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรสชาติเนื้อสัมผัสและประสบการณ์การปรุงอาหารของเนื้อสัตว์จริงเพื่อรองรับผู้ที่ทานเนื้อสัตว์แบบยืดหยุ่นและผู้ลดเนื้อสัตว์ที่ยังคงโหยหาประสบการณ์ที่คุ้นเคย

Beyond Meat ยังคงพัฒนาต่อยอดตัวเองแบบไม่มีที่สิ้นสุด ได้ลองผสมผสานฟังก์ชันที่ตัวเองเก่ง คือการขายโปรตีนทางเลือก และกระตุ้นด้วยอารมณ์ให้กับลูกค้าในการคิดค้นเมนูใหม่ ๆ พัฒนาสูตรขายแซนด์วิชเนื้อเทียม ที่มีขายในสตาร์บัคส์ หรือการขายเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำมาจากพืช ก็เรียกได้ว่า Rethinks แทบจะตลอดเวลา และสร้างความรู้สึกใหม่ให้กับลูกค้าได้ลิ้มลอง ได้เปิดรสชาติใหม่ ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งเคสที่ไม่ได้ขายแค่โปรตีนแช่แข็ง แต่ต่อยอดอย่างไม่หยุดด้วยการไปทดลองทำของใหม่อยู่ตลอดเวลา


🎯 เส้นทางที่ 6 (PATH SIX) - มองให้ออกถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (Time) 🎯

🔥 Red Ocean (แข่งขันในตลาดเดิม)

จะมุ่งเน้นการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมตามกาลเวลาที่เกิดขึ้น

🌊 Blue Ocean (สร้างตลาดใหม่)

ไม่ได้แค่ปรับตัว แต่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเทรนด์เมื่อเวลาผ่านไป เรียกได้ว่า Blue Ocean สามารถกำหนดเทรนด์ให้เกิดขึ้นได้ และสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับลูกค้าได้!

🤔 เคสตัวอย่างจากแบรนด์ iTunes (Apple)

ในขณะที่ทุกธุรกิจต้องอยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในยุคนั้นกลับมีแบรนด์ที่คิดจะสร้างสรรค์เพื่อปลดล็อกโอกาสใหม่ ๆ ต้องยอมรับเลยว่า Apple เก่งในด้านนี้จริง ด้วยการเปิดตัว iTunes แอปเปิลปลดล็อก Blue Ocean แห่งพื้นที่ใหม่ในตลาด digital music ในเวลานั้น ซึ่งพวกเขาได้ครองตลาดมานานกว่าทศวรรษ

แอปเปิลสังเกตเห็นกระแสการแชร์ไฟล์เพลงผิดกฎหมายอย่างมหาศาลที่เริ่มต้นขึ้นในช่วง 1990 ซึ่งได้รับการอำนวยความสะดวกโดยแพลตฟอร์มเช่น Napster และ Kazaa ในปี 2003 มีการแลกเปลี่ยนไฟล์เพลงผิดกฎหมายกว่า 2 พันล้านไฟล์ต่อเดือน

เมื่อเทคโนโลยีเอื้อให้ทุกคนดาวน์โหลดเพลงดิจิทัลฟรี แนวโน้มสู่ดนตรีดิจิทัลก็ชัดเจน แนวโน้มนี้ยังได้รับการพิสูจน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสําหรับเครื่องเล่น MP3 ที่เล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพา เช่น iPod ของแอปเปิลที่ประสบความสําเร็จอย่างสูง แอปเปิลได้ใช้ประโยชน์จากแนวโน้มเด่นชัดนี้ด้วยการสร้าง iTunes ในปี 2003

iTunes นําเสนอการดาวน์โหลดเพลงถูกกฎหมาย ง่ายต่อการใช้งาน และยืดหยุ่น โดยอนุญาตให้ผู้คนซื้อเพลงเป็นรายเพลงและกําหนดราคาอย่างยุติธรรม iTunes ช่วยแก้ปัญหาหลักของลูกค้าที่ต้องซื้อซีดีทั้งอัลบั้มเมื่อต้องการเพียงเพลงเดียวหรือสองเพลง

iTunes ยังมอบมูลค่าเหนือกว่าบริการดาวน์โหลดฟรี ผ่านคุณภาพเสียง รวมถึงฟังก์ชันการนําทาง, ค้นหา ซึ่งใช้งานได้ง่ายขึ้น

มูลค่ามหาศาลที่ไม่เคยมีมาก่อนของ iTunes กระตุ้นให้ลูกค้าทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาที่ iTunes พร้อมกับความชนะของบริษัทเพลงและศิลปินด้วย ปัจจุบัน iTunes มีเพลงมากกว่า 37 ล้านเพลง รวมถึงภาพยนตร์, รายการทีวี, หนังสือ และพอดคาสต์ เรียกได้ว่ามาก่อนกาลของแทร่กันเลยทีเดียว


และทั้งหมดนี้คือ SIX PATHS FRAMEWORK หวังว่าเพื่อน ๆ จะนำเครื่องนี้ไปปรับใช้กัน ลองกางออกมาทั้งหมด 6 ข้อ ว่าตอนนี้เรามีจุดแข็ง จุดเด่น เรื่องใดบ้าง
และเราจะก้าวจากเดิมที่อยู่ Red Ocean ไปสู่ Blue Ocean ได้อย่างไร


แปล เรียบเรียง: กิตติภพ ปานล้ำเลิศ

ที่มา

trending trending sports recipe

Share on

Tags