หลายปีมาแล้วที่ สิงคโปร์ ฮ่องกง โซล (เกาหลีใต้) ไทเป (ไต้หวัน) ถูกจัดเป็น 4 เมืองชั้นนำแห่งเอเชีย และทั้ง 4 เมืองนี้ยังไม่ได้เป็นแค่เพียงเมืองที่ร่ำรวยของภูมิภาคเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองที่ยกระดับตัวเองจนกลายเป็น Smart City สุดล้ำได้อย่างทุกวันนี้ ทว่าพวกเขามีจุดเริ่มต้นแบบไหนและมีแนวคิดอย่างไรถึงพาเมืองของตนมาได้ไกลถึงจุดนี้ ลองมาหาคำตอบกัน
เมื่อราวๆ 10 ปีที่แล้ว หรือช่วง ค.ศ. 2010 ทั้ง สิงคโปร์ ฮ่องกง โซล และไทเป ได้ริเริ่มการวางแผน Smart City ของตัวเองในช่วงเวลาใกล้ๆ กัน ทว่านับจากเวลานั้นการพัฒนาของทั้ง 4 เมืองล้วนมีวิถีที่ต่างกันออกไป
สำหรับสิงคโปร์และฮ่องกงนั้น สองเมืองนี้ ต่างมีแผนระดับ Master Plan หรือแผนแม่บทของตัวเอง ซึ่งเป็นการวางแผนจากภาพกว้างก่อนแล้วค่อยไปสู่การลงรายละเอียด สิงคโปร์มาพร้อมกับแผน Smart Nation เป็นแผนแม่บท ส่วนฮ่องกงก็มี Smart City Blueprint ของตัวเอง ขณะที่ไทเปและโซล มีจุดเริ่มต้นที่ต่างจากสิงคโปร์และฮ่องกง ตรงที่ในขั้นริเริ่ม Smart City ของสองเมืองนี้ พวกเขาให้การโฟกัสกับการเอาใจใส่ผู้คนในเมืองเป็นหลัก นับตั้งแต่ขั้นการเริ่มต้นวางแผนตลอดจนการดำเนินงานไปข้างหน้า
‘จุดเด่นและเอกลักษณ์ของ Smart City 4 เมืองต้นแบบแห่งเอเชีย’
1. โซล : Smart City แห่งข้อมูลที่ทุกคนเข้าถึงได้และใช้ประโยชน์ได้
แม้ว่าทั้งโซลและไทเป จะเป็นเมืองที่ได้จัดอยู่ในระดับของเมืองที่ล้ำหน้าไปแล้วทั้งคู่ ในเรื่องของแอปพลิเคชั่นและเทคโนโลยีที่พลเมืองใช้ แต่ทั้งสองเมืองนี้ก็มีรูปแบบของ Smart City ที่ต่างกัน
หากพูดถึงโซล เราอาจยกตัวอย่าง จากสำนักนายกเทศมนตรีดิจิทัล ที่นั่นมีจอขนาดยักษ์ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีอะไรกำลังเกิดขึ้นในเมืองบ้าง พร้อมกับข้อมูลแบบ real-time ณ ขณะนั้น สำหรับการคมนาคมขนส่ง นอกจากนั้นยังมีข้อมูลด้าน คุณภาพอากาศ , อุบัติเหตุและภัยพิบัติซึ่งดึงข้อมูลได้จากระบบ monitor เกือบ 300 ระบบ และ กล้อง CCTV อีกกว่า 1,200 ตัว และข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้มีไว้สำหรับนายกเทศมนตรีเท่านั้น แต่ข้อมูลทั้งหมดนี้มีพร้อมให้พลเมืองทุกๆ คนได้ใช้ประโยชน์
2. ไทเป : Smart City ที่พลเมืองออกแบบเองได้
ขณะที่ไทเปก็เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้อยู่ในลำดับสูง ของ Global Open Data Index หรือ ดัชนีการเปิดเผยข้อมูลทั่วโลก และไทเปยังเป็นเมืองที่มีการดำเนินการในเรื่องของห้องปฏิบัติการที่มีชีวิต สำหรับ Smart City อีกด้วย ซึ่งห้องปฏิบัติการนี้หรือห้องทดลองนี้ ก็เป็นสถานที่ที่ไม่ว่าใครก็ตามสามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น , ทดลอง และสร้างไอเดียความคิดต้นแบบให้กับเมืองของตนได้
ซึ่งในแต่ละปี ห้องทดลองแห่งนี้ยังได้รับคำแนะนำกว่าหลายร้อยคำแนะนำจากพลเมืองสำหรับโครงการต่างๆ ซึ่งคำแนะนำที่ดีที่สุดจะถูกนำไปเป็นต้นแบบอย่างรวดเร็ว และจะถูกทดสอบโดยท้องถิ่น เพื่อดูว่าแนวความคิดเหล่านี้ใช้งานได้จริงไหม และเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน และถ้าความคิดใดที่ประสบความสำเร็จก็จะถูกทำให้เกิดผลจริงกับเมืองทั้งเมือง
3. สิงคโปร์ : Smart City ที่อยากให้พลเมืองมีส่วนร่วมกับอนาคต
จุดแข็งที่ยอดเยี่ยมที่สุดของสิงคโปร์ ก็คือวิธีการที่รัฐบาลของสิงคโปร์มีความตั้งใจที่จะเผยแพร่ประเด็นเรื่อง Smart Nation ต่อพลเมืองในประเทศ เพื่อสร้างความแน่ใจกับพลเมืองทุกคนว่า เทคโนโลยีนั้นสามารถยกระดับชีวิตประจำวันของพวกเขาได้มากแค่ไหน ซึ่งสิงคโปร์ก็มีความต้องการที่จะให้พลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการนี้
และสิงคโปร์ยังเป็นเมืองเก่งในเรื่องของการสร้างการมีส่วนรวมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเรื่องของแอปพลิชันในอนาคตสำหรับเทคโนโลยีอัจฉริยะอีกด้วย
4. ฮ่องกง : Smart City แม่แบบของเมืองแห่งอนาคต
สำหรับฮ่องกง ถือเป็นเมืองที่มีความเป็นผู้นำสูงในด้านการจัดวางโครงสร้างระดับใหญ่ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้เห็นการพัฒนาของเมืองอัจฉริยะ ในฐานะของแผนการแห่งอนาคตสำหรับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่แม้ต้นแบบของฮ่องกง จะไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือยึดถือไว้อย่างถาวร แต่ทิศทางของแผนก็ยังคงมาจากการจัดตั้งโดยคณะกรรมการกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งนำโดยผู้บริหารสูงสุด
หัวใจสำคัญของการเป็น ‘Smart City’
การจะเป็น Smart City นั้น อาจไม่ใช่แค่การมีเงินทองมากมาย หรือมีเทคโนโลยีขั้นสุดยอดเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญของ Smart City คือการตอบคำถามให้ได้ว่า Smart City นั้น ‘Smart’ สำหรับใคร? และคำตอบที่ควรจะเป็นของคำถามนี้ ก็คือ Smart City นั้น ‘Smart’ กับพลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง และการเป็น Smart City นั้นสามารถช่วยให้ทุกคนในเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้…
ยิ่งเมืองนั้น มีเทคโนโลยีมากเท่าไหร่ การตั้งคำถามว่าพลเมืองของพวกเขาต้องการมันไหม ก็ยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเท่านั้น และการแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่ผู้คนต้องการ และเทคโนโลยีแบบไหนที่ผู้คนรู้สึกลังเลที่จะใช้ ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะพลเมืองไม่เพียงแต่มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวของข้อมูล แต่พวกเขายังกังวลถึงเรื่องของการเคารพให้เกียรติด้วย ว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเคารพและให้เกียรติพลเมืองแค่ไหน หรือว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นเห็นพวกเขาเป็นเพียงแค่เรื่องของข้อมูลเท่านั้น
และเรื่องนี้ยังย้อนไปถึงระบบการจัดการของเมืองๆ นั้นได้ด้วยเช่นกัน เพราะการควบคุมการจัดการข้อมูลของเมืองคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการจะสะท้อนบอกว่าเมืองแห่งนั้นมีการจัดการอย่างไร ซึ่งทั้งไทเปและโซลต่างมีกฎหมายที่ให้พลเมืองของตนมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ข้อมูลต่างๆ ขณะที่สิงคโปร์กับฮ่องกงไม่ได้มีสิทธิ์แบบเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความแตกต่างเรื่องใหญ่ทีเดียว
ในท้ายที่สุดแล้วการที่เมืองสักเมืองจะอัปเกรดตัวเองให้กลายเป็น ‘Smart City’ ได้จึงอาจไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด เพราะแท้จริงแล้วหัวใจสำคัญรวมถึงจุดเริ่มต้นและปลายทางของมัน ก็คือการเป็น Smart City เพื่อพลเมืองของตน
ซึ่งมันก็ชัดเจนจริงใจ และเรียบง่ายเท่านั้นเอง
อ้างอิง