พากันมาจับเข่าคุย อัปเดตทิศทางความเคลื่อนไหว พร้อมแชร์ไอเดียและแนวทางที่จะภาครัฐจะสามารถสนับสนุนกลุ่มคนสายงานนี้ได้อย่างไร้รอยต่อ รวมถึงคำแนะนำสู่เหล่านักออกแบบรุ่นใหม่ที่จะก้าวไปเป็น “Legend” คนต่อไป ซึ่งเราขอเรียบเรียงออกมาเป็น Q & A ให้อ่านได้แบบเข้าใจง่าย
นำโดย
- คุณสยาม อัตตะริยะ PINK BLUE BLACK & ORANGE
- คุณพิพิธ โค้วสุวรรณ SALT & PEPPER
- คุณอัญชนา ทองไพฑูรย์ SALT & PEPPER
- คุณชินภานุ อธิชาธนบดี TRIMODE STUDIO
- คุณศรัณย์ อยู่คงดี SARRAN
- คุณสมชนะ กังวารจิตต์ PROMPT DESIGN
Q: วงการออกแบบจะหนุนอุตสาหกรรมอื่นใน Soft Power ได้อย่างไรบ้าง?
วงการ “ออกแบบ (Graphic Design)” นับเป็น 1 ในหัวใจสำคัญที่แทรกซึม และเชื่อมโยงอยู่ในทุกอุตสาหกรรม Soft Power อยู่แล้ว ช่วยให้แบรนด์ ธุรกิจ องค์กรต่าง ๆ สามารถสื่อสารออกมาได้น่าสนใจขึ้น ทำให้เกิดความเข้าใจง่าย เห็นภาพขึ้นกว่าเดิม อยากให้ทุกคน (อุตสาหกรรมอื่น ๆ) เห็นคุณค่าของการใช้ประโยชน์จากงานออกแบบที่ถูกต้องจริง ๆ ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะงานใดขาดการออกแบบ งานนั้นย่อมไม่น่าสนใจ คล้ายอาหารที่ขาดการปรุงรส ไม่มีการตกแต่งจานมาดึงดูด มันก็อาจจะดูทั่วไป ไม่น่ากิน
ซึ่งในอนาคตเราก็อยากจะเห็นงานออกแบบได้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย เพราะมิติของงานออกแบบมีความหลากหลาย เปรียบเสมือนน้ำที่กลมกลืนเข้าไปได้ทุกภาชนะที่ใส่ เชื่อมต่อกันได้หมด
Q: ภาครัฐจะส่งเสริมวงการออกแบบ และ Soft Power อย่างไรได้บ้าง?
1. เสนอให้มีทั้งนโยบายหน้าบ้าน
คือทำอย่างไรให้นักออกแบบไทยได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง และนโยบายหลังบ้านในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่มีความล่าช้าให้ทำงานง่ายขึ้น เช่น กระบวนการขอสิทธิบัตรที่ปกติต้องใช้เวลาดำเนินการ ก็อยากให้มีความรวดเร็วขึ้น จดแจ้งลิขสิทธิ์ได้เร็วขึ้น ซึ่งตรงนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม โดยมีความคิดเห็นจากบรรดานักกฎหมาย และทนายความสิทธิบัตรที่มาร่วมกันแชร์แนวทางเพื่ออัปเดตกระบวนการให้รับกับสากล พร้อมให้เกิดความชัดเจน และการเข้าใจร่วมกันว่างานแบบไหนต้องจดลิขสิทธิ์บ้าง งานไหนยังไม่ต้อง
2. อยากแนะให้มีการปรับแนวทาง “การวัดผลใหม่”
จากเดิมที่เราได้รับการปลูกฝังมานานว่าทำแล้วต้องเห็นผลเลย มี KPI ชัดเจนให้จับต้องได้ดั่งใจ อย่างทีวีก็วัดด้วยเรตติ้ง หรือในกรณี Soft Power เรามักจะไปมองปลายทางกันมากกว่า เช่น อยากได้เม็ดเงินจากต่างประเทศ อย่างเกาหลีใต้กว่าจะมีวันนี้ได้ เขาก็พยายามลองผิดถูก แก้ พัฒนามาต่อเนื่อง ทำมานานจนเกิดแรงกระเพื่อมในวงกว้าง
แท้ที่จริงแล้วเราควรกลับมาที่ “ระหว่างทาง” กันก่อน พัฒนารากฐาน และคุณภาพความเป็นไทย ทำอย่างไรให้คนไทยชอบ Soft Power ไทยด้วยกันก่อน อะไรที่เป็นวัฒนธรรม ประเพณีเดิมก็ควรนำลงจากหิ้ง มาปัดฝุ่น เติมสีสันให้ร่วมสมัยบ้าง ลำลองบ้าง เปิดกว้างให้ทดลองผิดถูกได้ อย่างภาพยนตร์ “หลานม่า” ก็เป็นอีกตัวอย่างดี ๆ ที่คนทำงานได้ทำในสิ่งที่เชื่อ แล้วสิ่งนั้นมันเชื่อมโยงกับชีวิตคนเลยสำเร็จมหาศาล ตรงนี้หากภาครัฐมองว่าคอนเทนต์ดี มีความสอดคล้องกับนโยบาย ก็สามารถสนับสนุนได้เต็มที่ทั้งในแง่เงินทุน และด้านต่าง ๆ
3. สร้างความ “เข้าใจร่วมกัน”
คนในวงการมักได้รับฟีดแบ็คมาว่า “อะไรคือ Soft Power?” เพราะสังคมยังคงไม่อาจหานิยามตรงกลางที่จะเข้าใจได้ง่ายไปด้วยกัน ตรงนี้จึงอยากเสนอให้สร้าง “ชุดความคิด” ขึ้นมาหนึ่งอย่างแบบง่าย ๆ ก่อน โดยให้นึกถึงวงการกาแฟเป็นกรณีศึกษา มีการระบุชัดเจนว่าเมนูต่าง ๆ มีส่วนผสมแบบไหน อย่างไร ทำกงล้อออกมาเป็นภาพแบบนั้นให้ได้ จากนั้นระบุว่าแกนไหนบ้างที่เป็น Soft Power แล้วค่อย ๆ ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ พอมีชุดความคิดที่ชัดเจน มีหลักการ คนทำงานก็สามารถหยิบเอาไปต่อยอดได้ง่ายขึ้นตามลำดับ
4. มองเห็น “พลังแห่งการออกแบบ”
แน่นอน คนในวงการย่อมรู้ถึงคุณค่าของขุมพลังนี้เป็นอย่างดี แต่บ่อยครั้งนักออกแบบไทยกลับต้อง
เจออุปสรรค และความท้าทาย ตั้งแต่การลงทุนจ้างงานที่ไม่สอดคล้องไปกับคุณภาพงาน เช่น เน้นคนที่ให้ราคาถูกที่สุด ซึ่งตรงนี้ควรมีการปรับให้มองในด้านคุณภาพมากกว่า ถ้ามีการลงทุนกับคนที่เหมาะ อะไรที่เหมาะ มันจะสร้างผลตอบแทนบางอย่าง จึงขอเสนอให้ทางภาครัฐช่วยส่งเสริมในมุมนี้มากขึ้น เปลี่ยนวิธีจัดซื้อจัดจ้างให้ตอบโจทย์มากขึ้น คนทำงานได้รับค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล ตลาดเองก็ได้รับงานที่มีคุณภาพกลับไปใช้ต่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ
เช่น การจัด Free Pitching โดยให้ลูกค้ากับนักออกแบบมาเจอกัน ให้โจทย์แล้วทำมาเสนอ ถูกใจผลงานใครก็เลือกคนนั้น ซึ่งยังขาดความโปร่งใส ยังตรวจสอบรายละเอียดเกณฑ์ข้างในไม่ได้ แม้กระทั่งบางครั้งเกิดการแอบขโมยผลงานที่ดีที่สุดไปให้คนที่ราคาถูกสุดทำ แต่บ่อยครั้งนักออกแบบหลายคนยังไม่มีทางเลือก จึงต้องมาร่วมนำเสนอ ตรงนี้ก็เป็นปมปัญหาที่ต้องมาคิดร่วมกันว่าจะแก้ไขอย่างไร? อยากให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของงานออกแบบอย่างแท้จริง
Q: งาน THACCA ช่วยส่งเสริมวงการออกแบบอย่างไร?
วัฒนธรรมเป็นเหมือนทรงกลมที่อดีตมีขนาดเล็ก แล้วค่อย ๆ ขยายอิทธิพลใหญ่ในอนาคต การแผ่ขยาย
บางอย่างอาจซับซ้อน แต่การเคลื่อนไหวของเทคโนโลยีจะทำให้เข้าถึงง่ายขึ้น วัฒนธรรมจะมีการเดินทางเคลื่อนไหวได้ตลอด ฉะนั้นถ้าเราเป็นจุดเล็ก ๆ ก็ต้องพยายามทำให้ shape นั้นน่าสนใจ มันอาจเป็นมุมเล็ก ๆ ที่เป็นได้หลายแบบ
อย่างวันนี้เราบอกว่างานออกแบบสำคัญ แต่ถ้าคนตั้งคำถามว่างานที่ใช้อยู่มันมีคุณภาพมากแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราต้องตั้งคำถามว่าสังคมให้ความสำคัญหรือเปล่า? จะทำอย่างไรให้นักออกแบบไทยได้งานในบ้านมากขึ้น จากที่ได้ในต่างประเทศ ซึ่ง THACCA นี้จะทำให้เกิดการตั้งคำถาม และ Social Movement มากขึ้น ทำให้พวกเราตอบได้แบบไม่ต้องอ้าปาก
Q: ขณะเดียวกัน วงการออกแบบยุคนี้ที่มีการยอมรับกว้างขวาง คนรุ่นใหม่เก่งขึ้น แต่ก็เจอกับความยากขึ้นด้วย เมื่อคู่แข่งจะไม่ใช่คนออกแบบด้วยกันอย่างเดียว แต่ยังมีทั้ง AI และ Tools ต่าง ๆ ที่ทำให้ คนทั่วไปก็ออกแบบเองได้ ดังนั้นสิ่งที่นักออกแบบรุ่นใหม่ต้องปรับตัวมีอะไรบ้าง?
1. ต้องสร้าง Key ที่มีเฉพาะนักออกแบบอาชีพ
มองหาและมองเห็นสิ่งที่ “ใครก็แทนไม่ได้” ในตัวคุณให้เจอ เช่น การทำให้ลูกค้าไว้ใจ แม้จะมีคนที่ให้ราคาถูกกว่า เก่งกว่า เขาก็อยากมาหาคุณ อะไรที่เป็นคุณสมบัติเหล่านี้ คุณต้องไปคิดเอง และใช้มันมามัดใจคนที่ทำงานด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้คุณยืนระยะได้ ไม่ว่าโลกอนาคตจะมีเทคโนโลยีเข้ามาอย่างไร “Emotional Connection” ระหว่างมนุษย์ ก็ยังจำเป็น ไม่เปลี่ยนแปลง
ความเป็นปัจเจกแต่ละคนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะนักออกแบบรุ่นใหม่ อยากให้เชื่อมั่นสิ่งที่ตัวเองทำ ทำต่อไป ทำให้สุด ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่อน้ำหนักของผลงานที่ทำมีมากขึ้น ผลงานมันก็จะตอบโจทย์เองว่าทำไมต้องเป็นคุณ
2. ตกผลึก และเข้าใจตนเอง
ถ้าทำไปสักพักแล้วมันไม่ใช่วิชาชีพคุณ ก็เลิกทำ แต่ถ้าทำแล้วรัก ก็ทำต่อไปให้ยั่งยืน ทำและค้นหามุมมองใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ ทำสิ่งที่ใกล้ตัวให้มันขยายต่อเนื่อง ทำด้วยใจจริง งานมันจะตอบเราเองว่าจะใช่ไม่ใช่
3. เอาปมในใจ มาใช้ในงาน
ถ้ามีปมอะไรในใจ อย่าเล่าให้ใครฟัง แต่ให้ลองเอาสิ่งนี้มาเป็นแรงผลักดันสร้างงานออกแบบ แชร์ให้ทุกคนรับรู้ ทั้งฟังก์ชัน ดีไซน์ มันจะช่วยแก้ปมคุณได้ไม่มากก็น้อย
4. ทำงานที่ไม่ถนัด+ถอดรหัสงานดี ๆ
พยายามเพิ่มขอบเขต ทำให้มันสำเร็จเท่าที่มันจะทำได้ และควรใช้เวลาให้คุ้มค่า ทุกครั้งที่ว่างหรือมีโอกาสให้ลองถอดรหัสงานดี ๆ มาตีโจทย์ วิเคราะห์ ต่อยอดปรับใช้กับงานเราอย่างดีที่สุด
ไม่แน่ว่าวันหนึ่ง อาจมาถึงเราในที่สุด วันที่วงการออกแบบจะก้าวไปเป็น “Legend” ด้วยกันโดยไม่ต้องแอบบอกผ่านผลงานอีกต่อไป