เหตุผลของหัวหน้าห่วย ๆ ที่เราควรทำความเข้าใจ

Last updated on พ.ย. 5, 2020

Posted on พ.ย. 3, 2020

เชื่อว่าหลายคนเคยผ่านการทำงานภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าในทีม และน่าจะมีความคิดที่ว่า “เอ๊ะ…หัวหน้าเราเป็นอะไร ทำไมพูดจาแปลก ๆ หรือทำตัวแปลกในหลาย ๆ อย่าง” เช่น ชอบจับผิด ชอบให้งานนอกเวลา บางครั้งก็ตำหนิพนักงานต่อหน้าคนอื่น 

จะว่ากันตามตรงการเป็นหัวหน้าใครสักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ใครที่ไม่เคยอยู่ในตำแหน่งนี้อาจจะจินตนาการไม่ออก เพราะมันมีเหตุผลเบื้องหลังมากมายที่ทำให้หัวหน้าของเรามีพฤติกรรมแบบนั้น เราเลยอยากจะชวนทุกคนทำความเข้าใจถึงเบื้องหลังความคิด ความรู้สึกของหัวหน้าที่อาจไม่เคยอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจ

เนื้อหาถอดจากบทสัมภาษณ์ในรายการ Peopleship Podcast

1. ทำไมหัวหน้า ต้องชอบจับผิด

บางทีมันก็มีเส้นบางๆ กั้นอยู่ระหว่าง “หัวหน้ากำลังจับผิด” หรือ “เขาแค่อยากคุยกับเราเฉยๆ” แต่พอมันออกมาจากปากหัวหน้า ลูกน้องก็มักจะถูกตีความว่า เขาจับผิด 

ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่เรานั่งทำงานแล้วเปิด Youtube ไปด้วย เมื่อหัวหน้าเห็น เขามักจะถามเราว่า “เราว่างหรือ” หรือบางวันที่เราแต่งตัวมาทำงานเรียบร้อยเกินไป หัวหน้าก็ชอบแซวว่า “แต่งตัวดีแบบนี้ไปสมัครงานใหม่มาหรอ” รวมไปถึงคำถามยอดฮิตอย่าง “คุณกลับบ้านเร็ว หมายความว่างานเสร็จแล้วหรอ” จริงแล้วหัวหน้าเขามีเหตุผลของการถามแบบนี้หรือไม่ 

การที่เขาสามารถตรวจสอบความผิดปรกติ หรือตำหนิคนในออฟฟิศได้ ก็เป็นหนึ่งวิธีที่ใช้สำหรับการแสดงออกว่า เขายังมีอำนาจอยู่ในมือ หรือยังมีคนที่เคารพ เชื่อฟังเขาอยู่ เขาเลยต้องมีวิธีที่ทำให้คนในออฟฟิศ รู้สึกเกรงใจเขาบ้าง

ในมุมของหัวหน้า เขาอาจจะกำลังกังวลถึง Deadline ของงาน ว่าจะเสร็จทันหรือเปล่า เขาอาจจะคิดว่า งานก็เยอะ แต่ทำไมเรามีเวลามาเปิด Youtube เพราะถ้างานเราเสร็จไม่ทันกำหนด ก็จะกระทบคนอื่นที่เขาวางแผนเอาไว้ ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณสามารถทำงานได้เสร็จตามกำหนด รวมถึงการมีเหตุผลอธิบายที่ดีพอในการทำแบบนั้น สามารถบอกหัวหน้าได้เลย โดยไม่ต้องกังวลเลยว่ามันคือความผิด เช่น การเปิด Youtube ดูในเวลางาน เพื่อการค้นคว้าหาข้อมูล เรียนรู้ หรือทำในเรื่องที่เกี่ยวกับงานนั้นๆ และถ้าวันไหนเรากลับบ้านเร็ว เราก็แค่บอกออกไปว่า เราทำงานเสร็จแล้ว ซึ่งหัวหน้าก็ต้องเห็นว่างานเสร็จแล้วจริงๆ ด้วย

ถ้าเราเข้าใจว่า เขากำลังบริหารอำนาจของเขาอยู่ และเราทำให้เขารู้สึกว่า เขาไว้วางใจเราได้ ความรู้สึกของการโดนจับผิดก็จะค่อย ๆ หายไปเอง เพราะสิ่งสำคัญในเรื่องนี้คือการสื่อสารเพื่อการมีความเข้าใจที่ตรงกันนั่นเอง

ดังนั้น ข้อสรุปของเรื่องนี้ก็คือ ตัวพนักงานเองควรจะมีพฤติกรรมที่ดี ไม่ทำหน้าที่การงานให้บกพร่อง เพื่อให้หัวหน้าไว้วางใจ สุดท้ายเขาก็จะเลิกจับผิดเราไปเอง คล้ายกับสำนวนที่ว่า ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน 

2. ทำไมหัวหน้าชอบสั่งงานตอนเย็น รวมถึงการทำงานนอกเวลางาน 

เหตุผลที่ดีของการแจ้งงานใกล้เวลาเลิกงานหรือนอกเวลางาน อาจจะอยู่ในมุมมองที่ว่า “งานนั้น กำลังอยู่ในช่วงเร่งด่วนจริง ๆ” หรือ “ลูกค้าต้องการตอนนี้เท่านั้น”  

บางธุรกิจที่หลายครั้ง ลูกค้าต้องการให้เราทำงานอยู่ตลอดเวลา และบางครั้งบริษัทไม่สามารถปฏิเสธคำสั่งของลูกค้าได้ รวมถึงลูกค้ามีตารางการทำงานคนละช่วงเวลากับเรา และเขาก็จำเป็นต้องได้งานภายในช่วงเวลานี้เท่านั้น 

ในความเป็นจริงหัวหน้าก็ไม่สามารถบอกให้ลูกค้า “รอ” ได้ หรือบอกลูกค้าว่า “ตอนนี้ อยู่นอกเวลางานแล้วนะ” ทำให้หัวหน้าเองก็ต้องตัดสินใจอย่างยากลำบาก และลูกน้องหลายคนก็ควรจะมี mindset ที่ว่า หัวหน้าเขาก็โดนลูกค้าสั่งงานมาอีกที 

หัวหน้าห่วย

แต่หัวหน้าที่ดีต้องแบ่งรับแบ่งสู้ก่อนเสมอ หากช่วงนั้นอยู่นอกเวลางาน ก็ให้ประเมินสถานการณ์ก่อนส่งงานลูกน้อง พร้อมกับคิดด้วยว่างานนี้เร่งด่วนขนาดไหน ให้ลูกน้องช่วยงานเฉพาะส่วนที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ หัวหน้าต้องอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจด้วยว่า สถานการณ์ของเรามันเป็นอย่างไร 

หัวหน้าที่ดีมีความเป็นผู้นำ จะต้องหาทางแก้ปัญหาโดยที่ไม่มีลูกน้องคอยช่วยไว้เสมอ ต้องคิดว่า “ถ้าลูกน้องทำงานที่ส่งไปไม่ได้ ทางออกจะเป็นอย่างไร” เพราะหลายครั้งที่เป็นวันหยุด แล้วเขาไม่สามารถทำงานให้เราได้จริง ๆ 

หัวหน้าที่เก่งจะพยายามคุยกับลูกค้าให้เข้าใจตรงกันว่า เรื่องไหนด่วนที่สุด หรือเรื่องไหนที่ต้องทำตอนนี้เท่านั้น เพื่อลดปริมาณงาน หรือหาทางให้ทำงานด่วนชิ้นนี้ให้ออกมาดีที่สุด 

สิ่งที่ห้ามทำก็คือ การสั่งงานอย่างเดียว โดยที่หัวหน้าไม่คิดแก้ปัญหาก่อนมอบหมายงานให้ลูกน้อง และสิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือ การให้รางวัล ให้คำชม เมื่อลูกน้องทำงานสำเร็จ 

ในมุมของลูกน้องก็อย่าลืมว่า ถ้างานนั้นเป็นงานของเราคนเดียว แล้วลูกค้าเคยแจ้งไว้ตั้งแต่ก่อนเริ่มงาน ว่าเราต้องมีการเตรียมพร้อมสำหรับทำงานในวันหยุดบ้าง เราก็ควรจะมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่นั้น ๆ เพราะถ้าเราไม่แสดงความรับผิดชอบในส่วนนี้ อาจจะทำให้บริษัทเกิดความเสียหายได้ สุดท้ายเราเองที่จะถูกลงโทษ 

3. ทำไมต้องแซวหรือตำหนิลูกน้อง ทำให้เขาอับอายต่อหน้าคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ถ้าเป็นในเรื่องของการ Bully เหตุผลก็คือ บางครั้งหัวหน้าทำเพราะอยากจะให้รู้สึกสนิทกันมากขึ้น แซวน้อง ๆ เพื่อให้รู้สึกว่าเขาได้รับความสนใจ หลายครั้งที่เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นโดยที่หัวหน้าไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมักจะมาในรูปแบบของคำพูด การกระทำ น้ำเสียง แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ทำแบบนี้อาจจะลืมคิดไปว่า แต่ละคนมีระดับของการยอมรับในเรื่องนี้แตกต่างกัน บางคนรับได้ บางคนรับไม่ได้ 

ดังนั้น ใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองมีพฤติกรรมชอบแซวคนอื่น อยากให้ไตร่ตรองดี ๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของเขา และจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง เพราะในมุมของคนที่โดน Bully บ่อย ๆ เขามีแนวโน้มที่จะรับไม่ได้กับสิ่งนั้น มันอาจจะทำให้เขารู้สึกว่า เขาไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่นี่ หรือที่ทำงานนี้ไม่เหมาะกับเขา 

หัวหน้าห่วย

คนที่โดน Bully จะรับมืออย่างไร? ในมุมของคนที่โดนหัวหน้าแซวบ่อย ๆ แล้วเรายังอยากรักษาความสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เราควรบอกเขาตรงๆ ว่าแบบนี้เรายอมรับไม่ได้ ไม่เช่นนั้นสุดท้ายแล้ว หัวหน้าก็จะเป็นแค่หัวหน้าด้วยตำแหน่งเท่านั้น

ถ้าพูดถึงเรื่องการทำผิดพลาด หัวหน้าหรือว่าลูกน้องทุกคนมีโอกาสทำผิดพลาดได้ สิ่งที่เราควรจะโฟกัสคือ หลังจากที่ทำผิดแล้ว คุณตอบสนองกับเรื่องนั้นอย่างไรต่างหาก 

ในมุมของหัวหน้า ถ้าลูกน้องเกิดทำงานผิดพลาด หัวหน้าสามารถกล่าวตักเตือนได้อย่างมีเหตุผล โดยหากเป็นความผิดของตัวบุคคล ก็ควรจะพูดกันตรง ๆ และพูดคุยกันแบบส่วนตัว ถ้าเป็นความผิดที่ไม่อยากให้คนอื่นทำผิดตาม สามารถพูดถึงความผิดนี้ได้ในที่ประชุมได้ แต่ต้องไม่พาดพิงตัวบุคคล เพื่อไม่ให้เรื่องนี้ ไปลดกำลังใจของทีม รวมถึงตัวลูกน้องคนนั้น อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การกล่าวพาดพิงตัวบุคคล จะทำให้คนนั้นรู้สึกว่าเขาโดนประจานนั่นเอง

ทั้งนี้ทั้งนั้น การตำหนิก็ยังดีกว่าการต่อว่า เหตุผลก็เพราะ การต่อว่ามีผลกระทบมากกว่า มีความรุนแรงมากกว่า และไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ต้องทำแบบนั้นต่อหน้าคนอื่น และหัวหน้าเองต้องยอมรับให้ได้ว่า ถ้าคุณต่อว่าลูกน้องต่อหน้าคนอื่นเมื่อไร คนในทีมก็อาจจะมองคุณว่า เป็นหัวหน้าที่ไม่ควรได้รับความเคารพ และความเชื่อถืออีกเลย ดังนั้น มันไม่มีเหตุผลที่ดีเลยที่เราจะต่อว่าใคร 

เรียบเรียงจาก Design You Don’t See Podcast
เรียบเรียงโดย  สนธยา สุตภักดิ์

trending trending sports recipe

Share on

Tags