หากพูดถึงคำว่า “ผู้นำ” ภาพแวบแรกที่คุณเห็นในจินตนาการนั้น เป็นผู้ชาย หรือ ผู้หญิงก่อนกัน จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าสังคมไทยโดยเฉพาะในเรื่องของการทำงาน เรายังคงให้ความสำคัญกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะเริ่มมีบทบาทในตำแหน่งที่ใหญ่โตมากกมายในหลายๆ องค์กร แต่ก็ต้องยอมรับกันว่า ภาพลักษณ์ ของคำว่า “ผู้นำ” ของใครหลายๆ คนก็ยังคงเป็นภาพผู้ชายอยู่ดี
เรื่องราวอุปสรรคที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างก็ต้องเจอนั้น ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรและการจัดการอย่าง อลิส เอคลีย์ (Alice Eagly) ได้ออกมาพูดถึงปัญหานี้ในบทความ “Women and the Labyrinth of Leadership” ว่า คนเรามักที่ความคิดแบบเหมารวม หรือ Stereotype โดยเฉพาะเรื่องของบทบาททางสังคมที่แบ่งแยกหน้าที่ของคนในสังคมที่ชัดเจนมากจนเกินไป ทั้งนี้อาจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้ ชุดความคิดดังกล่าวจึงนำไปสู่ความคาดหวังที่ว่า ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ในขณะที่ผู้หญิงต้องมีความเอาใจใส่ อ่อนโยน
เมื่อเราใช้ชุดความเชื่อดังกล่าวไปกับการทำงาน บ่อยครั้งเมื่อผู้หญิงคนใดทำหน้าที่เป็นผู้นำและแสดงพฤติกรรมที่เข้มแข็ง ไม่อ่อนโยน ผู้หญิงคนนั้นจึงมักถูกสงสัยว่า ทำงานได้ดี แต่นิสัยไม่ดี ไปโดยปริยาย ทำให้หลายๆ องค์กรยังไม่ค่อยให้ความเชื่อถือหรือไว้วางใจผู้หญิงให้เป็นผู้นำมากนัก
ข้อมูลจาก Fortune 500 สนับสนุนเรื่องราวอุปสรรคนี้ของผู้หญิง เมื่อพิจารณารายชื่อ CEO ทั้งหมดจาก 500 องค์กรในสหรัฐอเมริกา มีผู้นำที่เป็นผู้หญิงเพียงแค่ 10% เท่านั้นเอง หรือแม้กระทั่งการทดลองวิจัยเรื่องการรับสมัครคนในตำแหน่งหัวหน้า โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนฝ่ายบุคคลที่เลือกคนเข้าบริษัท เงื่อนใขคือต้องคัดเลือกจาก resume เท่านั้น กลุ่มผู้เข้าร่วมทดลองส่วนใหญ่จะเลือก resume ของผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ทั้งๆ ที่คุณสมบัตินั้นอาจมีเท่ากัน หรือ ใกล้เคียงกันก็ตาม
4 วิธีการที่จะช่วยให้เราแก้อุปสรรคที่มองไม่เห็นเหล่านี้ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ
- แชร์เรื่องนี้ออกไปให้มากที่สุด ทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความคิดเหมารวมที่ไม่ควรจะมีต่อผู้หญิง อันจะเป็นอุปสรรคในการขึ้นเป็นผู้นำ
- สกัดกั้นความคิดอคติ เมื่อมีคนพูดถึงหรือมีความคิดที่เป็นในเชิงอคติต่อผู้หญิงในสังคม เราต้องกล้าที่จะพูด หรือ ท้วงติงขึ้นมา เพื่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่ถูกต้อง
- สร้างความคิดที่ว่าเรื่องของผู้หญิงก็คือเรื่องของทุกคน สร้างสังคมที่มีคุณภาพ สังคมที่เปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ไม่ตัดสินกันแค่เรื่องของเพศเพียงอย่างเดียว
- เพิ่มตัวแทนองค์กรที่เป็นผู้หญิง หากเราเพิ่มผู้หญิงให้เป็นตัวแทนขององค์กรมากขึ้น คนก็จะเริ่มเห็นบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นตามไปด้วย การสร้างตัวแทนนอกจากจะเป็นกำลังใจให้กับผู้หญิงด้วยกันเองแล้ว ยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กๆ และเยาวชน ถือเป็นการวางรากฐานใหม่ในอนาคตไปพร้อมๆ กัน
ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิง หรือไม่ เราก็ควรสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคมในอนาคตด้วยการกำหนดว่า “เพศ” ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือก “ผู้นำ” อีกต่อไป แต่เราควรจะมองที่ศักยภาพ ความสามารถ และจิตใจในการทำหน้าที่เป็นหลักกันจะดีกว่า