4 เหตุเกิดบนท้องถนน ถ้าเจอแบบนี้ทำยังไงดีนะ

Last updated on มี.ค. 18, 2021

Posted on มี.ค. 13, 2021

ต้องเมาแค่ไหนถึงเรียกว่า ‘เมาแล้วขับ’?
ขอปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอลจะผิดไหม? 
ความเร็วแค่ไหนถึงเรียกว่าขับรถโดยประมาท?
วิญญูชนคนทั่วไปพึงคาดหมายได้หมายความว่าอะไร?
ละเลยการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดีทำไมถึงมีความผิด?
ช่วงล่างรถพังเพราะถนนขรุขระจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่?

หลายคำถามน่าสงสัย ที่ CREATIVE TALK ชวน ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ CEO of iTAX หรือ ‘อาจารย์มิก’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม มาเปิดห้องยก 4 เคสบนท้องถนนที่คุณควรรู้เพื่อไม่ให้เสียรู้

เคสที่ 1. เจอด่านตรวจ ‘เมาแล้วขับ’ เรามีสิทธิ์จะไม่เป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอลได้ไหม

ไม่เป่าอาจมีโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ยิ่งถ้าบ่ายเบี่ยง เจ้าหน้าที่จะสันนิษฐานและคาดโทษไว้ก่อนว่าเมาแล้วขับ หากยอมตรวจแต่โดยดี พบปริมาณแอลกอฮอลในเลือดไม่เกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ถือว่าไม่เมา แต่ถ้าคนขับอายุไม่ถึง 20 ปี เกณฑ์จะลดต่ำลงมาเหลือ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์เท่านั้น

เคสที่ 2. ถ้าคุณชะลอรถให้คนข้ามถนนพ้นเลนไปแล้ว แต่เกิดเขาถอยหลังกลับมา ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น จะนับเป็นความผิดของคนขับไหม

เคยมีคดีตัวอย่างที่ศาลฎีกาตัดสินว่าคนขับไม่มีความผิด เพราะวิญญูชนคนทั่วไปพึงคาดหมายไม่ได้ คือเหนือคาดนั่นเอง นับเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่เจตนา และสามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ขับไม่ประมาท ซึ่งเกณฑ์การตีความความประมาท คือ ขับรถในเมืองความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ขับรถนอกเมืองความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. 

เคสที่ 3. ในกรณีที่มีคนเจ็บ เห็นมีคนอยู่ช่วยแล้ว ถือเป็นความผิดที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดีหรือไม่ถ้าไม่ลงไปช่วย

ไม่มีความผิด แต่หากพบเห็นอุบัติเหตุ ขับรถไปเจอคนเจ็บกลางทาง เรามีหน้าที่ต้องช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นความผิดที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่พลเมืองดี แต่รับโทษปรับสถานเบา

อีกกรณีที่ผู้ประสบเหตุชี้ว่าเราที่เป็นพลเมืองดีที่เข้ามาช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลเป็นคนผิด เราเพียงปฏิเสธข้อกล่าวหา สามารถให้ตำรวจสืบพยาน ตรวจสอบหลักฐาน เช่น บริเวณกระจังหน้ารถหรือฝากระโปรงบุบและมีรอยเลือดรึเปล่า

แต่หากเกิดอุบัติเหตุโดยเราถูกอีกฝ่ายเฉี่ยวชน แต่อีกฝ่ายเจ็บหกนักกว่า แล้วเราไม่อยู่ช่วยคู่กรณี จะถือว่าชนแล้วหนี ตาม พรบ.จราจรทางบก ดังนั้น ถ้าใครขับรถเป็นประจำจึงควรติดกล้องหน้ารถเพื่อบันทึกหลักฐานภาพเหตุการณ์เอาไว้ป้องกันตัวเอง

เคสที่ 4. ถ้าเราขับรถไปกลับเส้นเดิมเป็นประจำ สภาพถนนใหญ่ขรุขระแต่ต้องทนวิ่งทุกวันทำให้ช่วงล่างรถพัง เราจะฟ้องร้องเอาผิดหน่วยงานรัฐที่ดูแลถนนเส้นนั้นได้หรือไม่

เราสามารถฟ้องศาลปกครองเรียกร้องค่าเสียหายได้

ติดตามซีรี่ย์ ‘ใครถูกใครผิด’ EP.ต่อไป เวลา 22:00 ทุกวันพฤหัสบดีที่ Clubhouse ร่วมฟังสาระสนุกย้อนหลัง ยกมือนับคะแนนกันสดๆ ใครทีมพี่เก่ง ใครตามพี่โจ้ มาดูซิว่าคุณเข้าข้างฝ่ายไหน แล้วเข้าใจกันถูกๆ ผิดๆ อยู่รึเปล่า

trending trending sports recipe

Share on

Tags