“ความคิดของมนุษย์ ทำให้ทุกอย่างค่อย ๆ ต่อยอด แต่การจะต่อยอดได้เร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เคยทำมาแล้ว สามารถทำซ้ำได้ไหม”
วันนี้ CREATIVE TALK จะมาชวนมาถอดความสำเร็จของสตาร์ทอัพที่เติบโต ต่อติด แล้วไปต่อได้ในยุคนี้ กับคุณพลวัฒน์ ตันติวงศ์อำไพ CEO, ThinkerFint
มากกว่าแค่ทรานส์ฟอร์ม แต่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถ
ThinkerFint คือสตาร์ทอัพที่นำ AI มาช่วยในการตัดสินใจด้านสินเชื่อให้ง่าย และรวดเร็วขึ้น โดยการนำความเชี่ยวชาญของคนมาผสมเข้ากับเทคโนโลยี เป็นธุรกิจที่ทำทั้งฝั่ง Bank และ Non-bank
เป้าหมายของ ThinkerFint คือต้องการเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดความผิดพลาดจากการทำงานระบบ ซึ่งจะทำให้เราสามารถนำคนไปทำการพัฒนาสิ่งใหม่ต่อยอดให้บริษัทได้โดยไม่มีข้อจำกัดด้านความเชี่ยวชาญและเวลาที่จำกัด
ทีนี้เมื่อพูดถึงการทำ Digital transformation ก็จะนึกถึงการย้ายกระดาษมาเป็นดิจิทัล กระบวนการทั้งหมดท้ายที่สุดก็จะมีจุดหนึ่งที่ใช้คนอยู่ดี ซึ่ง ThinkerFint ก็อยากท้าทายข้อจำกัดนี้ ด้วยการปรับให้เป็นดิจิทัลเหมือนกันจะเป็นไปได้ไหม?
ยกตัวอย่างเช่น ด้านการเงิน ทาง ThinkerFint ก็ได้นำมาพัฒนาเป็นระบบอนุมัติสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์การอนุมัติที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเสนอสินเชื่อที่ตรงกับลูกค้ามากที่สุด โดยให้ผู้เชี่ยวชาญมาสอนระบบทำงานแทนเขาได้เลย ในงานที่ต้องตัดสินใจแบบ routine
เราจะโคลนนิ่งความเชี่ยวชาญ มาช่วยในการทำ Digital Transformation ส่วนคนทำงานเดิมก็ไปพัฒนาต่อยอดส่วนอื่นต่อ
ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เราสามารถนำโปรดักส์ไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ได้อีกหลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้าน insurance, health care, product & campaing suggestion.
ถอด 3 ‘Error’ ของสตาร์ทอัพที่สเกลต่อ-ต่อติดกับองค์กรใหญ่ไม่ได้
ThinkerFint เป็นสตาร์ทอัพที่ได้ทำงานร่วมกับธนาคาร องค์กรใหญ่มากมาย ทางคุณพลวัฒน์ก็ได้เล่าสรุปสิ่งที่ทำให้สตาร์ทอัพไปต่อไม่ได้ หรือต่อไม่ติดกับองค์กรใหญ่ คือ
- สตาร์ทอัพทุนไม่เยอะ ขาดทุน องค์กรใหญ่เริ่มขาดความเชื่อใจ ไม่รู้ว่าจะไปต่อกับเขาได้ไหม
- โปรดักส์สตาร์ทอัพ ตอบโจทย์ไม่ตรงใจเดียวกันกับองค์กรใหญ่
- วิธีการทำงานของสตาร์ทอัพ และองค์กรใหญ่ไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้คุณพลวัฒน์ยังแชร์อีกว่า ทาง ThinkerFint เองก็ไม่ได้ต่อติดกับองค์กรใหญ่ ๆ ได้ตั้งแต่วินาทีแรก แต่ก็ถูกปฏิเสธมามากมาย แต่เทคนิคหนึ่งคือต้อง ‘คุยให้มาก’ ไม่ว่าเขาจะดีลหรือไม่ดีลกับธุรกิจของเราก็ตาม รับ Feedback มาต่อยอดและพัฒนาต่อ เพื่อทำให้โปรดักส์เป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ
3 คำแนะนำถึงสตาร์ทอัพรุ่นใหม่
ค้นหาแรงบันดาลใจ: คิดดูว่าเราต้องการสร้างธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งใหม่ในตลาด และทำความเข้าใจในที่มาที่ทำให้เราอยากเปิดธุรกิจ
สร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่คนต้องการ: อาจจะยากตอนแรก ให้ลองผิดลองถูกและพัฒนาสิ่งที่คนต้องการและสร้างความต้องการให้กับสินค้าหรือบริการของเรา
วางแผนธุรกิจและควบคุมการเงินให้ดี: สร้างแผนธุรกิจที่ให้ความสำคัญในการวิเคราะห์ตลาด กำหนดเป้าหมายและยุทธการในธุรกิจ รวมถึงจัดการเงินให้ดี เพื่อรักษาธุรกิจให้อยู่อย่างยั่งยืน
ท้ายที่สุดสตาร์ทอัพทุกคนต้องทำไอเดียของตัวเองให้แข็งแรงก่อน จะไปต่อ จะต่อติดอย่างไร เส้นทางต่าง ๆ ก็จะถูกต่อเติมขึ้นมาเอง เมื่อทำครบทั้งสองอย่างนี้แล้วสิ่งสุดท้ายคือการวางแผน และเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ