เชื่อว่าหลายคนมีอาการแบบนี้…
👉 อยากนอนเร็ว แต่หัวก็แล่นไม่หยุด
👉 ยิ่งดึก ยิ่งคึก ไอเดียยิ่งมา
👉 กลางวันประชุมหนัก งานหลักเลยต้องมาจัดตอนกลางคืน
ถ้าห้าทุ่มแล้วยังเปิดอ่านบทความนี้เราคือเพื่อนกัน…ถ้าไม่นับงานที่ยังไม่เสร็จ หรือการทำงานแบบเกินเวลา คนส่วนใหญ่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนที่ชอบเอางานมานั่งคิด นั่งปั่นตอนกลางคืนมากด้วยหลาย ๆ เหตุผล ผู้บริหารหลายคนในไทยที่ผู้เขียนเคยได้พูดคุยด้วยก็มักจะบอกว่าพวกเขามักคิดไอเดียธุรกิจใหม่ ๆ ออกในช่วงกลางคืนเช่นเดียวกัน
มีงานวิจัย ผลสำรวจจากหลายที่เลยที่บอกว่า การทำงานตอนกลางคืนช่วยให้เรามีไอเดียสร้างสรรค์มากกว่าตอนกลางวัน
คำถามคือมันเป็นเพราะอะไร?
1. เงียบกว่า เสียงรบกวนน้อยกว่า
ช่วงกลางคืนคือเวลาไพร์มไทม์ที่จะไม่ต้องคุยงานกับคนอื่น ไม่มีเสียงดังจากคนที่ออฟฟิศ ไม่ถูกขัดจังหวะช่วงโฟกัสงาน เลยช่วยให้เราทำงานออกมาได้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องมากกว่า
2. ช่วงดึกคือช่วง ‘ระเบิดพลังงาน’
มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าบางคนจะไฟแรงช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน ถึงจะดูเหนื่อยมาจากการทำงานทั้งวันแล้วก็ตาม
3. ผ่อนคลายกว่า สบายใจกว่า
สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะร่างกายเราปล่อยฮอร์โมนความเครียดน้อยลง เมื่อใกล้ถึงเวลากลางคืน จะต่างจากตอนกลางวันที่ทำงานอย่างเข้มข้นจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง
4. อยากเปลี่ยนความฟุ้ง ให้เป็นความจริง
เขาบอกว่าคนเราจะมีช่วงของ REM Sleep (Rapid eye movement) นอนแบบที่สมองยังทำงานอยู่เหมือนตอนตื่น เป็นช่วงที่จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์จะทะลักมาก ๆ หลายก็เลยจะรู้สึกดีกว่าถ้าไม่นอน แล้วเอาไอเดียนั้นมาขยายต่อ
และยังมีอีกหลาย ๆ เหตุผลเลยที่ทำให้เราเป็นคนที่ชอบทำงานตอนกลางคืนมากกว่าตอนกลางวัน ในบทความของ focuscommit ยังได้แชร์เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานตอนกลางคืนเอาไว้หลายข้อ เราเลยขอสรุปสั้น ๆ มาให้ตามนี้
- หา ‘Most productive hour of the night’ ช่วงเวลาที่เราทำงานได้ดีที่สุดตอนกลางคืน
- ช่วงเวลาไหนตอนกลางคืนที่รู้สึกว่าสติมีน้อย เพลีย ๆ ก็เอาช่วงนั้นไปใช้ในการพักผ่อนแทน
- รักษาตารางเวลาการนอนให้สม่ำเสมอ ถึงจะนอนดึก แต่ก็พยายามตั้งเวลานอนเอาไว้ อย่าถึงขั้นอดหลับอดนอน
- ถ้าเลี่ยงตื่นเช้าไม่ได้ ทำให้เวลานอนมันน้อยเกิน ก็เอาเวลาช่วงเช้ามาจัดการกับงาน Routine ที่ไม่ต้องใช้สมองเยอะ เพื่อให้เวลาสมองได้ตื่นสักพักนึง
- จดบันทึกช่วงเวลาการทำงานตอนกลางคืนของตัวเอง เพื่อติดตามผลประกอบการตัวเอง อาทิ กินอะไรแล้วหัวแล่น ฟังเพลงแบบไหนแล้วทำงานได้ดี รูปแบบการทำงานของเราแบบไหนทำแล้วเหนื่อยกว่าเดิมในตอนกลางคืน เป็นต้น
- เสียงนาฬิกาปลุกเป็นภัยกับคนนอนน้อยอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าอาจจะใช้ ‘แสงแดด หรือแสง’ ในการช่วยปลุกเราแทน ให้มันเป็นแสงที่ค่อย ๆ สว่างขึ้นอย่างช้า ๆ เสียงนาฬิกา
- สุดท้ายคือต้องดูแลสุขภาพให้มากกว่าเดิมด้วย
นักจิตวิทยาคลินิกจาก HuffPost บอกว่าแม้ตอนกลางคืนจะทำให้เรามีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า ทำงานได้นานขึ้นก็จริง แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากเหมือนกันหากทำแบบนี้ติดกันเป็นเวลานาน เหมือนที่เราก็เคยได้ยินกันแหละ ว่าอะไรที่ ‘มากเกินไป’ ก็ไม่ดีเสมอไป
ถ้าอ่านจบมาถึงตรงนี้แล้ว ใครที่เป็นแบบเดียวกันก็มาแชร์ริ่งวิถีคนทำงานตอนดึกกันได้ เสร็จแล้วก็รีบไปขึ้นเตียงนอนพักผ่อนให้สมองกันด้วยนะ
ที่มา