คุยกับ คุณยอด ชินสุภัคกุล ถึงเส้นทางการก่อตั้ง Wongnai

Last updated on ส.ค. 17, 2020

Posted on ส.ค. 11, 2020

** ถอดบทสัมภาษณ์จาก FounderCast Podcast ตอน คุยกับ คุณยอด CEO & Co-Founder, Wongnai เนื้อหาบางส่วนมีการอัปเดต 

Wongnai คือ แพลตฟอร์ม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชัน ที่มีวิสัยทัศน์คือ “เชื่อมต่อสิ่งดีๆ ให้คนไทย” ผ่านการจัดระเบียบ จัดเรียงข้อมูลให้เข้าถึงง่าย เพื่อให้ผู้ใช้ ได้พบเจอกับสิ่งดีๆ ได้ง่ายที่สุด ซึ่งสิ่งดีๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของ Wongnai คือ ร้านอาหาร รวมถึงทุกอย่างที่เกี่ยวกับการกิน ตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งของร้าน การให้คะแนน รวมไปถึงรีวิวที่ได้มาจากผู้ใช้งานโดยตรง และนอกจากนี้ Wongnai ก็ยังครอบคลุมเนื้อหาด้านอื่นอีกด้วย เช่น ความสวยความงาม และการท่องเที่ยว

ก่อนพี่ยอดทำ Wongnai พี่ยอดทำอะไรมาก่อน

หลังเรียนจบ ผมก็เข้าทำงานที่สำนักข่าว Reuters อยู่ประมาณ 4 ปีกว่า ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก็คือ Manager หลังจากนั้นก็ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) ด้าน MBA และกลับมาทำ Wongnai นี่แหละ

แล้วทำไมถึงอยากทำ Wongnai

เราเริ่มจากอยากทำธุรกิจ Startup เพราะว่า ตอนเรียนอยู่ LA เราเจอสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเพื่อน ๆ สาย Technology และทุกคนก็อยากทำ Startup กันหมด แม้จะไม่ได้อยู่ใน Silicon Valley ก็ตาม ทุกสิ่งอย่างมันเลยส่งอิทธิพลให้เราอยากเริ่มทำธุรกิจ Startup ขึ้นมาด้วย

จริงๆ ตอนเรียนอยู่ผมก็เคยทำเว็บไซต์ Startup มาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เลยตั้งใจว่าหลังจากเรียนจบ จะกลับมาแก้มือการทำ Startup ในเมืองไทย ก็เลยใช้ความรู้ทั้งหมด ทำให้ Wongnai เกิดมานั่นเอง 

เริ่มต้นทำ Wongnai ในปี 2010 ซึ่งก็เงียบมาก ไม่มีใครสนใจเลย การเริ่ม Startup ในเมืองไทยเป็นเรื่องที่ยากมาก การระดมทุนทำได้ยาก เพราะเหมือนกับว่า Venture Capital มันไม่มีอยู่จริง สุดท้ายก็เลยเริ่มธุรกิจโดยการใช้เงินตัวเอง 

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ Wongnai รอดมาถึงทุกวันนี้ 

ปัจจัยหลัก ๆ ก็คือทีมและความอึดของทีม ที่ไม่ยอมแพ้ในช่วง 2 ปีแรก แห่งความยากลำบาก ซึ่งทำให้เราสร้าง Product ที่มีประโยชน์กับผู้ใช้งานได้จริง ๆ 

ไม่ทราบว่าเคยมีหน้าม้า มาเขียนรีวิวบ้างไหม

จริง ๆ มันก็มี ซึ่งอาจจะมาจากร้านค้าที่ไม่ถูกกันบ้าง หรือมีคนที่ชอบร้านนี้มาก ๆ จนเขียนรีวิวให้ดีเกินไป แต่ผมก็คิดว่าจำนวน User แบบนี้มีไม่เกิน 0.1-0.2% 

Wongnai เองก็มีวิธีป้องกันเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว อันดับแรกเราจะป้องกันโดยใช้ Algorithm ก่อนเลย อันดับที่สองก็คือ Social Police ที่มาจากผู้ใช้งาน ซึ่งสามารถกด Report การรีวิวที่ดูไม่เป็นธรรมชาติได้ แล้วเราก็จะมีทีมของ Wongnai คอยเช็ก 

ทำ Wongnai มาถึงตอนนี้ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคืออะไร

ตอบตามตรงคือว่า มันไม่มีปัญหาไหนที่ใหญ่กว่า “ปัญหาไม่มีคนใช้งาน” อีกแล้ว คือช่วง 2-3 ปีแรกที่ Wongnai ยังไม่มีคนรู้จัก มีคนใช้งานน้อยมาก พอมีคนใช้งานน้อย รายได้ที่เข้ามาก็แทบไม่มี ทำให้บางเดือนก็จ่ายเงินเดือนพนักงานไม่ตรงเวลาบ้าง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เครียดมากที่สุด เพราะว่าเพื่อนร่วมงานบางคนที่เป็นเพื่อนของเรา เขาลาออกจากงานประจำ แล้วเอาอนาคตมาฝากไว้กับเรา ซึ่งปัญหาแบบนี้ผมเรียกว่าเป็น “Bad Problem”

แต่หลังจากนั้นก็มีปัญหาอยู่เรื่อย ๆ เช่น ลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงินบ้าง มีคนพยายามจะโกงบ้าง มันก็มีหลากหลายปัญหาที่ทุกธุรกิจต้องเจอ แต่เมื่อเทียบกับเรื่อง “ไม่มีคนใช้งาน” ปัญหาอื่น ๆ จะดูเล็กไปเลย ปัญหาแบบนี้ผมเรียกว่าเป็น “Good Problem” เพราะอย่างน้อยเรามีลูกค้า เราแก้ปัญหาแบบนี้ได้ง่ายกว่า 

สิ่งที่ทำให้เราผ่านปัญหาต่าง ๆ มาได้ เพราะเราเชื่อใน Startup นี้มาก ๆ และเราเชื่อว่ามันมีคนต้องการใช้งานจริง ๆ สังเกตจากคนที่ใช้แล้วบอกต่อหรือคนที่รัก และกลับมาใช้งานแพลตฟอร์มของเราซ้ำๆ 

การจัดการธุรกิจถือว่ายากลำบากไหม กับการบริหารจัดการคน

ในตอนที่มีพนักงานประมาณ 20 คน เราสามารถส่งพลังงานไปให้กับคนรอบข้างได้อย่างสบาย ๆ การบริหารธุรกิจก็ยังไม่ซับซ้อนมาก เพราะการบริหารงานทุกอย่าง สามารถออกจากตัวเราได้เลย พอมีพนักงานมากขึ้น กระบวนการต่าง ๆ มันก็มากขึ้น รวมไปถึงการสร้าง Culture ในองค์กร และการให้ความสำคัญกับคนในองค์กร ที่มีความยาก มีความสำคัญมากขึ้นตามไปด้วย

คำว่าการสร้าง Culture ในความหมายของคุณยอด คือหมายความว่าอย่างไร

หนึ่งในความหมายของคำว่า Culture ของเรา คือ “How do we do things” หมายความว่า “เราทำอะไรต่างๆ ในองค์กร อย่างไร” โดยเรายึด Core Value 4 อย่างของบริษัท นั่นก็คือ Impact, Speed, Grit และ Flexible **

** มีการอัปเดตเนื้อหาล่าสุด 10 ส.ค. พ.ศ. 2563

  • Impact คือ กล้าทำงานใหญ่ ไม่กลัวแรงกดดัน
  • Speed คือ คิดแล้วทำทันที เรียนรู้จากความผิดพลาด และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว
  • Grit คือ ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะบรรลุเป้าหมาย
  • Flexible คือ เต็มใจช่วยเหลือ แม้ไม่ใช่งานของตน เพราะรู้ว่าเหมาะสมและได้เรียนรู้

แต่คำว่า Culture มันก็ไม่ได้จบแค่นั้นนะ มันยังหมายถึงคำถามที่ว่า “Wongnai เกิดมาเพื่ออะไร Why do we exist” หรือ “Mission และ Purpose ของเราคืออะไร” คำถามเหล่านี้มีส่วนสำคัญมากที่ช่วยให้เราสร้าง Culture ในแบบของเราได้ 

ที่สำคัญคือ  อย่าลืมว่าเราต้อง “Live” มันด้วย เราต้องใช้ชีวิต หรือทำหลายสิ่งอย่างในชีวิต ให้ตรงกับ Culture ที่เราพูดออกมาด้วย 

“สิ่งที่เราทำและสิ่งที่เราพูด ควรจะมีทิศทางเดียวกัน มันถึงจะเกิดเป็น Culture ขึ้นมาได้”

พี่ยอดกลัวคู่แข่งจากต่างประเทศไหมครับ 

กลัว แต่ไม่ได้กลัวคู่แข่งที่แข่งที่เกี่ยวกับเราโดยตรงนะ ตอนนี้คู่แข่งที่เรากลัวก็คือ สื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น Instagram, Facebook หรือ Google Map เพราะสื่อเหล่านี้ มี Service ที่เหมือนกับเรา และสิ่งที่เขาได้เปรียบก็คือ จำนวนผู้ใช้งาน ที่เขามีมากกว่าเราถึง 10 เท่า เพียงแต่ Service นี้ มันไม่ใช่ธุรกิจหลักของเขา 

เรากลัวเพราะว่า มีหลายเคสที่เราสู้สื่อ Social Media ไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่น Instagram ที่เวลาดาราไปกินอาหารร้านไหน แล้วถ่ายรูปสวยๆ ลง IG ของเขา คนก็จะตามไปกินร้านนั้น ๆ ในสถานที่ต่างจังหวัดเราพอสู้ IG ได้ แต่ในกรุงเทพเนี่ย เราสู้ยาก  ดังนั้นเราเลยพยายามคิดว่า “จะทำอย่างให้ Wongnai ดีกว่า Facebook หรือ Instagram”

ถ้าสามารถย้อนเวลากลับไปตอนที่ตั้ง Wongnai ขึ้นมาใหม่ ๆ ได้ แล้วบอกตัวเองได้ 1 ข้อ พี่จะบอกตัวเองว่าอะไร

“ถ้าเกิดว่าจะทำธุรกิจที่ไม่ได้มีอยู่ในประเทศไทยอย่างเดียว จะต้องสร้าง Global Team ตั้งแต่วันแรกเลย เพราะหนึ่งสิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือว่า บริษัทที่มี Global Vision แล้วสามารถขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศได้เนี่ย เขาต้องมี Global Team ตั้งแต่ Day One เพื่อใช้ประโยชน์ของการเป็น First Mover ในพื้นที่นั้นๆ”

เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ อย่างน้อยก็อยากบอกตัวเองแบบนี้ เพื่อไม่ให้ตัวเองคิดว่า “ตอนนี้ขอทำธุรกิจในไทยก่อน แล้วค่อยออกนอกประเทศทีหลัง” และให้คิดว่า “ในวันแรกที่เริ่มธุรกิจ เราอยากอยู่แค่ในประเทศไทย หรืออยากขยายไปต่างประเทศด้วย” เนื่องจากผมได้เรียนรู้มาว่า หลายบริษัทที่เขาเติบใหญ่ไปได้ไกล เขามีวิธีคิดแบบนี้ตั้งแต่ต้น เขาคิดถึงตลาดที่ใหญ่กว่า เพื่อไม่ให้ติดกับดักของการขยายธุรกิจ 

ถ้าวันหนึ่งพี่ยอดตื่นขึ้นมา และไม่มี Wongnai อีกต่อไปแล้ว พี่จะไปทำอะไร

ถ้าไม่ต้องกังวลเรื่องเงินนะ แน่นอนว่า “ผมก็จะสร้าง Startup อีกหนึ่งอัน ผมจะไปหาอะไรที่มันเป็นเรื่องพื้นฐานและมันเป็นเรื่องใหญ่สุดๆ” ผมจะมอง Startup ที่มันมีตลาดรองรับใหญ่จริงๆ เป็นธุรกิจที่มันพื้นฐานมากๆ เช่น Search, Chat, Transportation, Payment

สุดท้าย คุณยอด ยังฝากข้อคิดไว้ว่า

“ถ้าอยากทำก็ลงมือทำเลย อยากให้เน้นที่การลงมือทำครับ”

เรียบเรียงจาก FounderCast
เรียบเรียงโดย สนธยา สุตภักดิ์
ภาพประกอบจาก Facebook Yod Chinsupakul

trending trending sports recipe

Share on

Tags