การมีลูกทีมที่เก่งและประสบความสำเร็จนับเป็นความท้าทายของคนเป็นหัวหน้าไม่น้อย เพราะไม่ว่าจะเคยผ่านเส้นชัยมากี่ครั้ง เชื่อหรือไม่ว่า คนเก่งเหล่านี้ก็ยังต้องการคำแนะนำเพื่อเติบโตไปอีกระดับ เมื่อเส้นความสำเร็จไม่เคยมีจุดสิ้นสุด ‘หัวหน้า’ จึงเป็นบุคคลสำคัญในฐานะโค้ชข้างสนาม ที่จะช่วยให้ความต้องการของลูกน้องคนเก่งชัดเจนมากยิ่งขึ้น
‘รูธ โกเชียน’ (Ruth Gotian) หัวหน้าฝ่ายการเรียนรู้ และรองศาสตราจารย์ด้านการศึกษา สังกัด Weill Cornell Medicine บอกว่า แม้บุคคลประเภท ‘High Achievers’ จะคุ้นเคยกับความสำเร็จ แต่ในอนาคตก็ยังต้องเผชิญกับความล้มเหลวและอุปสรรคอยู่ดี จุดอ่อนของคนที่ผ่านความสำเร็จมามาก คือพวกเขาอาจมีความมั่นใจมากเกินไป ได้รับการปฏิเสธมาน้อยครั้ง หน้าที่ของหัวหน้า คือสร้างความยืดหยุ่น-เปิดมุมมองที่กว้างขึ้น เพื่อบอกกับคนเหล่านี้ว่า ความล้มเหลวไม่ใช่จุดสิ้นสุดของโลกใบนี้
ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ นี่คือ 3 แกนหลัก ที่หัวหน้าสามารถนำไปปรับใช้กับลูกน้องที่ผ่านความสำเร็จมามากมายได้
🗣 ปลูกฝัง ‘Growth Mindset’ สำเร็จได้ ก็ล้มเหลวได้
การรักษามุมมองแบบ ‘Growth Mindset’ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เจอได้บ่อยในคนกลุ่มนี้ คือพวกเขามักยอมรับความล้มเหลวได้ยาก สิ่งที่หัวหน้าต้องทำ คือช่วยให้พวกเขายอมรับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น มองว่า ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเติบโต ไม่มีอะไรสูญเปล่า เพราะนี่คือ ‘Failing Forward’ หรือการล้มไปข้างหน้า ซึ่งหมายถึงการมองข้อผิดพลาดเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ สิ่งเหล่านี้มีค่ามากกว่าจะมองเห็นความล้มเหลวเพียงอย่างเดียว
ลองแชร์เรื่องราวความผิดพลาดของคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มาแล้ว อาจเป็นความล้มเหลวในลักษณะคล้ายกัน ดูว่าคนเหล่านั้นเรียนรู้ความผิดพลาดแล้วไปถึงจุดที่สูงกว่าได้อย่างไร ช่วยลูกน้องแจกแจงสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้เป็นข้อ ๆ อธิบายว่า เช็กลิสต์ที่กล่าวมามีส่วนผลักดันให้พวกเขาเติบโตได้อย่างไร ให้มองความผิดพลาดเป็น ‘ความปกติ’ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จ ที่สำคัญ หัวหน้าต้องคอยประคองเพื่อรักษาความยืดหยุ่น และรักษาระดับความมั่นใจในตัวเองของลูกน้องไปด้วยกัน แม้ว่าบางสิ่งจะไม่เป็นไปตามแผนก็ตาม เพราะแผนเปลี่ยนได้เสมอ
มากไปกว่านั้น อาจจะตั้งคำถามท้าทายความคิดลูกน้องด้วยสถานการณ์ที่แย่สุด ๆ แล้วลองดูว่า พวกเขาแก้โจทย์เหล่านั้นอย่างไร วิธีนี้จะช่วยผลักลูกน้องออกจากเซฟโซนที่คุ้นเคย ทดลองเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ปรับแก้กันไประหว่างทาง โดยใส่แนวคิดเรื่องการทดลองแบบไม่มีถูกหรือผิด แต่ให้พวกเขากล้าลองทำอะไรใหม่ ๆ เสี่ยง ๆ ดู เพื่อให้คุ้นชินกับความผิดพลาด และในที่สุด เมื่อได้ลงมือทำพวกเขาก็จะได้เรียนรู้ว่า ก่อนสำเร็จต้องล้มลุกคลุกคลานเป็นเรื่องธรรมดา
🗣 ฝึกลับคมความคิด ได้มี ‘Self-Reflection’ กับตัวเอง
แม้จะประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังต้องการที่ปรึกษาเพื่อทำความเข้าใจตัวเองได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ทักษะด้านการทำงานเท่านั้นที่จะช่วยให้คนทำงานเติบโต แต่ทักษะ ‘Self-Reflection’ และการมี ‘Emotional Intelligence’ มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรอบคอบ
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ให้หัวหน้าลองจัดเซสชันนำเสนอโปรเจกต์ขึ้นมาสักครั้ง คนที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วมักจะถูกปล่อยให้ทำตามใจตัวเอง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนกัน หัวหน้าต้องทำให้แตกต่างซึ่งสิ่งที่อาจจะเจอ คือความหงุดหงิดของลูกน้องคนนี้กับเพื่อนร่วมงานที่คิดไม่เร็วพอ ไม่ได้ดั่งใจเขาเท่าไหร่ หนักหน่อยอาจมีเผลอระเบิดอารมณ์ออกมาก็เป็นไปได้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะช่วยให้ลูกน้องได้รับรู้มุมมอง-บทสนทนาใหม่ ๆ ทำให้ทักษะที่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนได้รับการยกระดับมากขึ้น
🗣 ช่วยขยายวงคอนเนกชัน ทำมากกว่าสอน
สำเร็จมาได้ขนาดนี้คงจะมีคอนเนกชันกับตัวไม่น้อย แต่คงจะดีมากขึ้นไปอีกถ้าหัวหน้าเป็นผู้ชักนำให้ลูกน้องได้ขยายเครือข่ายกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ลองให้ลูกน้องได้มีส่วนร่วมในวงประชุมสำคัญๆ เปิดพื้นที่ให้เขาได้เสนอความคิดเห็น
จากนั้น อย่าลืมหาเวลามาสรุปความต้องการร่วมกัน คนกลุ่มนี้ต้องใช้แนวทางการโค้ชชิ่งที่มีกลยุทธ์ เน้นไปที่การส่งเสริมการเติบโต พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ และขยายคอนเนกชัน เพื่อให้พวกเขาแตะความสำเร็จใหม่ๆ ได้อีกครั้ง ไม่ใช่แค่คำสอน แต่ยังต้องช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่ทำให้ลูกน้องไม่หยุดพัฒนาตัวเองด้วย
ที่มา